ตลาดหลักทรัพย์ไทยจนถึงวันนี้ก็มีอายุ 40 ปีแล้วนะครับถ้าเทียบเป็นคนก็นับว่าเป็นวัยฉกรรจ์กำลังลุยแหลกเลยทีเดียว ขณะที่กองทุนรวมในประเทศไทยนั้นมีมาเกือบ ๆ 40 ปีเช่นกัน แต่เพิ่งจะมาเติบโตมากในช่วงหลังวิกฤตต้มยำกุ้งในปี 2540  ภายหลังรัฐบาลใช้นโยบายการคลังแบบขาดดุลออกพันธบัตรรัฐบาล และตั๋วเงินคลังมากขึ้นทำให้กองทุนประเภทตราสารหนี้เติบโตขึ้น โดยเริ่มจากกองทุนตลาดเงิน และกองทุนประเภท Term Fund ต่อมาก็เริ่มมีกองทุนประเภทที่ลงทุนในต่างประเทศ หรือ FIF ในปี 2545 (อ่านบทความ เรียนรู้จากประวัติศาสตร์… 12 ปีประเทศไทยกับกองทุน FIF ที่ http://fundmanagertalk.com/thai-fif-funds-industry/ ) โชคไม่เข้าข้างเนื่องจากโลกเข้าสู่วิกฤตเศรษฐกิจอีกครั้งในปี 2551 ทำให้ทั้งกองทุนหุ้นไทยและกองทุนหุ้นต่างประเทศต่างได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง มีเพียงกลุ่มนักลงทุนที่แบ่งเงินลงทุนในตราสารหนี้ระยะยาว และทองคำเท่านั้นที่สามารถลดผลกระทบได้จากการกระจายความเสี่ยง แท้จริงแล้วการศึกษาทางวิชาการมากมายต่างก็บอกอยู่แล้วว่ามากกว่า 90% ของผลตอบแทนที่นักลงทุนได้รับนั้นมาจากการจัดสินทรัพย์ลงทุน (Asset Allocation) ไม่ได้มาจากการเลือกลงทุนรายหลักทรัพย์ (Security Selection) แต่กลับยังมีนักลงทุนจำนวนไม่มากนักที่จัดพอร์ตกระจายการลงทุนกันอย่างจริงจัง

การเติบโตกองทุนรวม

จนมาถึงในรอบ 2 – 3 ปีที่ผ่านมาภายหลังตลาดหุ้นโลกปรับตัวเพิ่มขึ้นท่ามกลางสภาพคล่องมหาศาลจากการผ่อนคลายนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ ญี่ปุ่น และยุโรป ประกอบกับตลาดหุ้นไทยเริ่มหยุดร้อนแรง จึงทำให้ความนิยมในการลงทุนในต่างประเทศกลับมาอีกครั้ง เช่นในไตรมาส 1 ปี 2558 ที่ผ่านมา กองทุนหุ้น FIF สามารถเติบโตได้ถึง 30% เมื่อเทียบกับปลายปี 2557 ขณะที่อุตสาหกรรมกองทุนรวมเติบโตเพียงเล็กน้อยเท่านั้น สิ่งที่ผมสังเกตเห็นอีกประเด็นคือ ณ จุดนี้ นักลงทุนจำนวนมากได้สั่งสมประสบการณ์ในรอบ 10 ปีที่ผ่านมาพอสมควร และเริ่มปรับเปลี่ยนมุมมองจากการลงทุนเป็นรายผลิตภัณฑ์ ดูกำไรขาดทุนเป็นกองๆ หรือหุ้นเป็นตัว ๆ มาเป็นการมองภาพรวมของพอร์ตการลงทุนมากขึ้น รวมไปถึงความรู้ความเข้าใจเรื่องการกระจายการลงทุนที่มีมากขึ้นเช่นกัน บทบาทของผู้ให้บริการก็เริ่มมีพัฒนาการที่สำคัญเช่นกัน จากเดิมที่นักลงทุนจะเน้นดูว่า “ผู้จัดการกองทุน” ค่ายไหนที่ให้ผลตอบแทนดี ก็เริ่มมาเป็นการมี “ที่ปรึกษาการลงทุน” (หรือที่เรียกกันว่า Financial Advisor, Investment Planner, Investment Consultant) มาช่วยจัดพอร์ตการลงทุนให้กับนักลงทุน มีคำแนะนำออกมาอย่างต่อเนื่องว่าแต่ละช่วงเวลาควรจัดพอร์ตอย่างไร ไปลงทุนในประเทศไหน สินทรัพย์อะไร รวมไปถึงมีความ Active ในการปรับพอร์ตการลงทุนมากขึ้น จากเดิมที่กลยุทธ์ของแต่ละสถาบันการเงินที่เน้นออกผลิตภัณฑ์การลงทุนใหม่ ๆ ก็เป็นการสร้างทีมที่ปรึกษาการลงทุนออกไปดูแลลูกค้าในแต่ละกลุ่มเป้าหมาย ให้คำแนะนำในการจัดพอร์ตการลงทุนที่มีทั้งการลงทุนทั้งในและต่างประเทศ รวมไปถึงเริ่มมีการใช้เครื่องมือการทำ Asset Allocation ต่าง ๆ มากขึ้น เช่น Core/Satellite Approach หรือ Strategic/Tactical Asset Allocation (อ่านบทความ “The Ultimate Investment Solutions ได้ที http://fundmanagertalk.com/investment-talk-the-ultimate-investment-solutions/ )

ScreenHunter_28 Apr. 27 14.39

หากหันไปมองประเทศอย่างอเมริกาที่ตลาดหุ้น หรือกองทุนมีอายุยาวนานกว่าประเทศไทยอย่างมาก ที่ปรึกษาการลงทุนนั้นก็ได้รับความนิยมจากนักลงทุนมากว่า 30 ปีแล้ว ดูง่าย ๆ จากจำนวนผู้ที่มีใบอนุญาต CFP หรือ Certified Financial Planner ในสหรัฐฯ ณ สิ้นปี 2014 มีกว่า 7 หมื่นคน ขณะที่บ้านเรายังมีเพียง 129 คนเท่านั้น ในต่างประเทศนั้นมีบริษัทที่ทำธุรกิจ Financial Advisor จำนวนมากทั้งบริษัทขนาดเล็กและขนาดใหญ่นับเป็นพัน ๆ แห่ง ขณะที่แนวทางการให้คำปรึกษาได้ไปไกลถึงเรื่อง Family Office คือการบริหารความมั่งคั่งให้กับทั้งครอบครัว คล้าย ๆ กับกงสีบ้านเรา หรือการทำ Multi-Generation Investment คือการให้คำแนะนำการลงทุนข้ามเผื่อไปถึงการตกทอดสู่รุ่นถัด ๆ ไป ซึ่งผู้เขียนมีมองว่าอีกไม่กี่ปีต่อจากนี้ก็จะถึงเวลาของประเทศไทยที่จะได้เห็นบุคลกร และบริษัทที่ปรึกษาการลงทุนมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยบริษัทจัดการลงทุนจะเป็นเหมือนโรงงานผลิตสินค้า ขณะที่ Financial Advisor จะเป็นผู้เลือกสรรสินค้าที่ดีที่สุดในแต่ละประเภทให้กับลูกค้า (Best-in-class product) ผลิตภัณฑ์ประเภทหวังผลในระยะเวลาสั้น ๆ จะเริ่มลดความนิยมลง เช่นกองทุน Term Fund หรือ Trigger Fund โดยนักลงทุนจะมองระยะเวลาการลงทุนที่ยาวขึ้น และมองเป็นองค์รวมของพอร์ตการลงทุนมากขึ้น ที่ตรงนี้ซึ่งบทบาทของที่ปรึกษาการลงทุนจะมีมากขึ้นในการให้คำแนะนำการจัดพอร์ตการลงทุนอย่างต่อเนื่องทั้งการลงทุนในประเทศ และต่างประเทศในหลากหลายชนิดสินทรัพย์ (Global Asset Allocation)

ทั้งหมดก็เป็นมุมมองในเรื่องของแนวโน้มการพัฒนาอุตสาหกรรมด้านการเงินการลงทุนในบ้านเราที่นำมาฝากกันในวันนี้ครับ

เจษฎา สุขทิศ, CFA (@FundTalk)