เรามาสู่ยุคที่หลาย ๆ คนโดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ต้องการทำงานที่มีอิสระในชีวิต และมีความเป็นมนุษย์เงินเดือนน้อยลง
ทำให้อาชีพ “ฟรีแลนซ์ (Freelance)” มีความนิยมมากขึ้นเรื่อย ๆ ในปัจจุบัน หรือหลาย ๆ คนก็ตัดสินใจตั้งบริษัทสตาร์ทอัป (Startup) ของตัวเอง เพื่อจะได้ทำสิ่งที่ตัวเองฝัน และจัดการเวลาชีวิตอย่างที่ตัวเองต้องการ แต่ชีวิตจริงมันไม่ได้สวยหรูเหมือนที่แต่ละคนจินตนาการไว้ ว่างานอิสระจะทำให้เราไปเที่ยวได้ จัดเวลาของตัวเองได้ เล่นเกมระหว่างวันได้ สำคัญที่สุดคือการหารายได้ให้พอกับค่าใช้จ่ายในการดำรงชีวิตในแต่ละเดือนที่เหล่าฟรีแลนซ์มักจะมีรายได้ไม่สม่ำเสมอ บางเดือนที่งานไม่เข้าถึงกับไม่มีเงินจ่ายค่าข้าวกินเลยก็มี ในวันนี้ผมจะขอนำท่านผู้อ่านไปรู้จักอาชีพอิสระในสายงานการเงินที่เรียกกันว่า Independent Financial Advisor (IFA) ซึ่งเป็นงานที่บอกเลยว่าไม่หมู แต่ก็ไม่หินจนเกินไป ที่สำคัญคือสามารถสร้างรายได้ประจำคล้ายกับการเป็นมนุษย์เงินเดือนได้อีกด้วย
Financial Advisor (FA) คืออะไร ?
Financial Advisor (ที่ปรึกษาทางการเงิน) คือคำที่มีความหมายโดยกว้างสำหรับมืออาชีพที่ให้คำปรึกษาในการบริหารเงิน ซึ่งรวมถึงหุ้น กองทุน ประกัน อสังหาฯ การวางแผนการศึกษา วางแผนเกษียณ ฯลฯ
ขณะที่ Financial Planner (นักวางแผนการเงิน) จัดเป็นชนิดหนึ่งของอาชีพ Financial Advisor ที่เน้นเรื่องการวางแผนการเงินให้กับลูกค้าเพื่อให้บรรลุเป้าหมายทางการเงิน (ที่มา Investopedia)
นอกจากนี้ยังมีอาชีพ Investment Advisor (ที่ปรึกษาการลงทุน) ซึ่งก็จัดเป็นอีกชนิดหนึ่งของ Financial Advisor เช่นกัน ซึ่งในบ้านเรามีคำเรียกหลายคำมาก ได้แก่ Investment Advisor (ที่ปรึกษาการลงทุน), Investment Consultant (ผู้แนะนำการลงทุน), Investment Planner (ผู้วางแผนการลงทุน) ตามแต่ละหน่วยงานจะเรียก โดยที่ปรึกษาการลงทุนนั้น หมายถึงมืออาชีพที่ให้คำแนะนำผลิตภัณฑ์การลงทุน รวมถึงแนะนำกลยุทธ์การลงทุนให้แก่นักลงทุน
อาชีพ FA ทำอะไร ?
FA คืออาชีพที่ให้บริการวางแผนทางการเงิน และแนะนำการลงทุนให้กับลูกค้า ถ้าเป็น FA ที่เน้นเรื่องการให้คำแนะนำการลงทุนบ้านเรามักจะใช้คำเรียกว่า Investment Advisor (IA) หรือ Investment Planner (IP) ซึ่งจะเน้นไปที่การวางแผน และจัดพอร์ตการลงทุนในหลักทรัพย์ โดยเฉพาะ “กองทุน” ทั้งกองทุนรวมและกองทุนส่วนบุคคล
ขณะที่ FA ที่เน้นเรื่องการวางแผนการเงินบ้านเรามักจะเรียกว่า Financial Planner (นักวางแผนการเงิน) ซึ่งจะเน้นเรื่องการวางแผนเกษียณ วางแผนการศึกษา โดยใช้ประกันชีวิต/ประกันภัย เข้ามาเป็นส่วนประกอบในแผนการเงินร่วมกับกองทุนรวมและสินทรัพย์ลงทุนอื่น ๆ เพื่อให้ลูกค้าแต่ละท่านบรรลุเป้าหมายทางการเงินในระยะยาว
Independent Financial Advisor (IFA – ที่ปรึกษาทางการเงินอิสระ)
IFA นั้นหมายถึงที่ปรึกษาทางการเงินที่ไม่ได้สังกัดกับสถาบันการเงิน ทั้งธนาคาร บริษัทหลักทรัพย์ และบริษัทประกัน แต่อยู่ภายใต้สัญญาตัวแทนอิสระที่แนะนำผลิตภัณฑ์การลงทุนต่าง ๆ และรับรายได้จากสถาบันการเงินในรูปของส่วนแบ่งค่าธรรมเนียม (Fees)
รายได้คล้ายมนุษย์เงินเดือนอย่างไร ?
เนื่องจากส่วนแบ่งค่าธรรมเนียมที่ IFA ได้รับจากสถาบันการเงินนั้นมีส่วนที่จ่ายต่อเนื่องเป็นประจำรายเดือน/รายปีด้วย (Trail Fees) ยกตัวอย่างเช่น กรณีกองทุนรวมนอกจากส่วนแบ่งที่ได้จากค่าธรรมเนียมการขายหน่วยลงทุน (Front End Fee) แล้ว ยังมีส่วนแบ่งค่าธรรมเนียมที่ได้รับจากค่าธรรมเนียมการจัดการ (Management Fee) ของแต่ละกองทุนด้วย หรืออย่างกรณีของผลิตภัณฑ์ประกันชีวิต ซึ่งมีการแบ่งค่าธรรมเนียมให้กับ FA อย่างต่อเนื่องเป็นรายปีตลอดอายุสัญญากรมธรรม์ ยกตัวอย่างเช่น
กรณีที่ IFA แนะนำการลงทุนในกองทุนรวมหุ้น สมมติว่าได้รับส่วนแบ่งค่าธรรมเนียมการการจัดการในอัตราร้อยละ 0.5% ต่อปี
สมมติ IFA ดูแลนักลงทุน 100 คน ลงทุนในกองทุนหุ้นรวมคนละ 1,000,000 บาท จะเท่ากับมีสินทรัพย์ภายใต้คำแนะนำการลงทุน 100 x 1,000,000 = 100,000,000 ล้านบาท
IFA จะได้รับส่วนแบ่งค่าธรรมเนียมการจัดการต่อปี = 0.5% x 100,000,000 = 500,000 บาทต่อปี
โดยส่วนแบ่งค่าธรรมเนียมการจัดการจะได้รับเป็นรายเดือนต่อเนื่องตราบใดที่ลูกค้ายังคงเงินลงทุนในกองทุนรวมที่ IFA เป็นผู้แนะนำ
นอกจากค่าธรรมเนียมการจัดการที่ได้รับเป็นรายเดือนแล้ว IFA จะได้รับส่วนแบ่งค่าธรรมเนียมการขายหน่วยลงทุนครั้งแรกที่ได้รับแบบครั้งเดียวอีกด้วย
กรณีแนะนำผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตประเภท Term Insurance สมมติว่าได้รับส่วนแบ่งค่าธรรมเนียมในอัตรา 10% ของเบี้ยประกันชีวิตต่อปีตลอดอายุสัญญากรมธรรม์
สมมติ IFA ดูแลลูกค้า 100 คน ที่ทำประกันคุ้มครองประเภท Term Insurance เป็นระยะเวลา 15 ปี โดยแต่ละคนจ่ายค่าเบี้ยประกันเฉลี่ยคนละ 80,000 บาทต่อปี จะเท่ากับมีเบี้ยประกันรวม 100 x 80,000 บาท = 8,000,000 บาท
IFA จะได้รับส่วนแบ่งค่าธรรมเนียมเป็นมูลค่า 10% x 8,000,000 = 800,000 บาทต่อปีตลอดอายุกรมธรรม์ 15 ปี
จากตัวอย่างข้างต้นจะเห็นได้ว่าอาชีพ IFA นั้นต่างจากอาชีพฟรีแลนซ์ทั่ว ๆ ไปที่มีรายได้ไม่สม่ำเสมอขึ้นอยู่กับจำนวนโปรเจกต์งานที่ได้รับในแต่ละเดือน ขณะที่งาน IFA นั้นสามารถสร้างรายได้แบบต่อเนื่องเป็นประจำทุกเดือน ทุกปี ซึ่งตอบโจทย์การสร้างความมั่นคงในด้านการเงินกับผู้ที่ประกอบอาชีพนี้ ขณะที่ยังคงไว้ซึ่งความอิสระในการทำงานในเวลาเดียวกัน
อย่างไรก็ตามอาชีพ FA นั้นก็เป็นอาชีพที่ต้องมีความรู้ ความรับผิดชอบ และต้องมีจรรยาบรรณในการประกอบวิชาชีพสูง เพราะแก่นของอาชีพนี้คือการรับผิดชอบเงินออม เงินลงทุน ของผู้คนที่เก็บหามาทั้งชีวิต ลูกค้าแต่ละคนมีครอบครัวหลาย ๆ ชีวิตที่ต้องดูแล ผู้ที่ประกอบอาชีพนี้จึงต้องมีความซื่อสัตย์ต่อตัวเอง และต่อผู้อื่น รวมถึงต้องมีความรู้เรื่องการวางแผนการเงิน และการแนะนำการลงทุนที่ถูกต้อง โดยผู้ที่จะประกอบอาชีพนี้ต้องมีใบอนุญาตจากหน่วยงานกำกับดูแล เช่น ใบอนุญาตผู้แนะนำการลงทุน ใบอนุญาตตัวแทน/นายหน้าประกันภัย และควรมีคุณวุฒิอย่าง CFP (Certified Financial Planner) CFA (Chartered Financial Analyst) หรือ FChFP (Fellow Chartered Financial Practitioner) เพื่อเป็นเครื่องการันตีความรู้ความสามารถในงานสายนี้อีกด้วย
ทั้งหมดเป็นความรู้เรื่อง “Financial Advisor (FA) อาชีพอิสระที่สามารถสร้างรายได้คล้ายมนุษย์เงินเดือน” ที่ผู้เขียนนำมาฝากกันในวันนี้ซึ่งผมเชื่อว่าในอนาคตอีกไม่กี่ปีข้างหน้า FA จะกลายเป็นอาชีพที่ได้รับความนิยมจากคนไทยจำนวนมาก และจะมีส่วนช่วยให้คนไทยหลายล้านคนสามารถเกษียณได้อย่างมีคุณภาพ และส่งบุตรหลายเรียนหนังสือได้อย่างตั้งใจ อันเป็นผลมาจากการวางแผนการเงิน และการจัดการเงินลงทุนของตัวเองอย่างมีคุณภาพมากขึ้น โดยทาง FINNOMENA ซึ่งเป็นบริษัทที่ผู้เขียนทำงานก็มีการทำงานเป็น partnership กับ IFA ด้วยเช่นกัน สนใจดูรายละเอียดได้ที่ https://www.finnomena.com/fa/ สำหรับวันนี้ สวัสดีครับ
📌 งานสัมมนา FINNOMENA FA Summit 2021 เปิดประตูสู่การเป็น Financial Advisor โอกาสครั้งสำคัญในสายอาชีพ สร้าง “รายได้หลักแสน” กับการเป็น Financial Advisor มืออาชีพ พร้อมฟังเรื่องราวความสำเร็จ กลยุทธ์ และเทคนิคจาก FINNOMENA FA ตัวจริงเสียงจริง
อ่านเพิ่มเติม 4 โอกาสที่คุณจะได้เจอในงาน FA Summit 2021
ผู้ที่สนใจร่วมงานสามารถลงทะเบียนได้ที่ https://finno.me/fa-summit-2021-wb
FundTalk รายงาน
ที่มาบทความ: https://www.bangkokbiznews.com/blog/detail/648034