เจษฎา สุขทิศ, CFA

จากที่คุณอาสา ได้เคยเขียนบทความเรื่อง “PIIGS : ปีเสือ แต่หมูดุกว่า” ไปเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2553 ที่ผ่านมา ที่ได้ระบุถึงปัญหาพื้นฐานทางเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศโปรตุเกส, ไอร์แลนด์, กรีซ, และสเปน (อ่านได้ที่ http://bit.ly/PIIGS ) จากนั้นเป็นต้นมาปัญหาของประเทศกรีซ โปรตุเกส และสเปน ก็อยู่ในความสนใจของตลาดอย่างต่อเนื่อง และส่งผลกระทบต่อราคาสินทรัพย์ หลายชนิด ราคาทองคำได้ทำสถิติสูงสุดในประวัติศาสตร์, ตลาดหุ้นผันผวนอย่างมากตามข่าวของกรีซรายวันเช่นเดียวกับราคาน้ำมัน, ราคาพันธบัตรสหรัฐฯปรับตัวเพิ่มขึ้นจากการที่นักลงทุนโยกเงินหนีความเสี่ยง ขณะที่ราคาพันธบัตรของกรีซก็ปรับลงไปอย่างมาก บทความในวันนี้เป็นมุมมองใน “ระยะยาว” ประมาณ 1 ปีของผู้เขียน ต่อปัญหาเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศยุโรป ซึ่งอาจจะตรง หรือไม่ตรงกับความคิดเห็นของหลายท่าน ซึ่งสามารถร่วมแลกเปลี่ยนมุมมองกันได้ที่ http://fundmanagertalk.com/forum/ ครับ

ในขณะที่เศรษฐกิจโลกกำลังฟื้นตัวหลังจากผ่านวิกฤต Hamburger Crisis ในรอบ 2 ปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจยุโรป ดูจะไม่เป็นเช่นนั้น ในขณะที่อัตราการว่างงานของสหรัฐฯ ค่อย ๆ ทยอยปรับตัวลดลง อัตราการว่างงานของยุโรปในปี 2553 กลับทยอยปรับตัวเพิ่มขึ้น จากร้อยละ 9 ในปีที่แล้ว ขึ้นมาเป็นร้อยละ 10 ในปีนี้ แต่ในบางประเทศสถานการณ์ร้ายแรงกว่านั้น เช่น สเปนอัตราการว่างงานปรับตัวสูงขึ้นเรื่อย ๆ จากร้อยละ 9 ในปี 2551 ขึ้นมาเป็นร้อยละ 15 และ 19 ในปี 2552 และ 2553 ตามลำดับ ซึ่งการว่างงานที่เพิ่มสูงขึ้นย่อมสอดคล้องไปกับการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลงในปีนี้ ปีหน้า

spain-unemployment

มาตรการต่าง ๆ ที่ออกมาในช่วงที่ผ่านมา เทียบได้กับมาตรการ TARP ของสหรัฐในปีที่แล้ว กล่าวคือเป็นการตั้งกองทุน มูลค่ารวมประมาณ 1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อเข้าพยุงค่าเงินยูโร และราคาพันธบัตร และให้ประเทศที่มีหนี้ที่ต้องชำระกู้ เป็นหลัก ทำให้ประเทศในยูโรลดโอกาสในการล้มละลาย (Debt Moratorium) ในเวลาอย่างน้อยอีก 3 ปีข้างหน้า ซึ่งช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนในพันธบัตร และสินทรัพย์สกุลยูโร และช่วยลดปัญหา Mark to market loss สำหรับสถาบันการเงินที่ถือครองพันธบัตรรัฐบาลของประเทศยุโรป ป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาเป็น Domino

อย่างไรก็ตามมาตรการดังกล่าวผมมองว่าเป็นการ “เกาไม่ถูกที่คัน” หากเป็นเพียงมาตรการป้องกันปัญหาที่จะเกิดขึ้นต่อระบบการเงินในระยะสั้นครับ ปัญหาตอนนี้ของยุโรปคือเศรษฐกิจถดถอย ขณะที่หนี้สินเยอะ วิธีแก้คือ การทำให้เศรษฐกิจเติบโต หรือลดหนี้สินลง ซึ่งพูดง่าย แต่ทำยาก และมีวิธีหลายอย่าง ดังนี้

ภาคเอกชนต้องบริโภค และลงทุนมากขึ้น (C, I) ซึ่งโอกาสเกิดขึ้นยาก เพราะหนี้ภาคครัวเรือน และอัตราการว่างงานอยู่ในระดับสูง

ใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจากการใช้จ่ายภาครัฐ (G) ซึ่งจนถึงตรงนี้เป็นไปได้ยาก เพราะหลายประเทศกำลังอยู่ในช่วงที่ต้องรักษาวินัยทางการคลัง และลดการขาดดุลงบประมาณ

ลดค่าเงินอย่างมาก เพื่อให้เกินดุลการค้า (X – M) ถ้าไม่รวมกันเป็นเงินสกุลเงินเดียวกัน วิธีนี้มีโอกาสเกิดขึ้นสูง แต่ปัญหาคือตอนนี้ใช้เงินสกุลยูโรเหมือนกันหมดทั้ง 14 ประเทศ การลดค่าเงินยูโรอาจเกิดประโยชน์กับประเทศที่มีปัญหาเช่นกรีซ แต่ก็มีโทษกับประเทศหลายประเทศเช่นเยอรมัน ที่จะทำให้หนี้ต่างประเทศทวีมูลค่าขึ้น และสินค้านำเข้าที่มีราคาแพงขึ้น รวมถึงปัญหาต่อระบบการเงินที่จะลดความเชื่อมั่นต่อสกุลยูโร

ลดหนี้สินลง ก็คือต้องทำการปรับโครงสร้างหนี้ หรืออีกคำหนึ่งก็คือ “เบี้ยวหนี้บางส่วน” แล้วเอาเงินที่ต้องชำระหนี้ไปกระตุ้นเศรษฐกิจ ก็ทำได้ยากเพราะเนื่องจากรวมกันเป็นสหภาพยูโร การไม่จ่ายหนี้ย่อมทำให้เกิดการสูญเสียความเชื่อมั่นต่อกลุ่มประเทศยูโรทีเดียวทั้งกลุ่ม

เพิ่มความสามารถในการแข่งขัน จากการลดค่าแรง ลดราคา ลงทำให้สินค้าของประเทศยุโรปถูกลง และส่งออกได้มากขึ้น ขณะเดียวกันให้ค่าเงินเป็นไปในทิศทางอ่อนค่า วิธีนี้ดูเหมือนเป็นทางออกที่เจ็บปวด และยาวนาน วิธีเดียว ณ จุดนี้

จากการวิเคราะห์ข้างต้น ผมมองว่ามีความเป็นไปได้สูงที่เศรษฐกิจของยุโรป จะตกอยู่ในภาวะซึมเซาในช่วงหลายปีข้างหน้า ซึ่งผมขอตั้งชื่อว่า “GIROS Crisis” เนื่องจากวิกฤตดังกล่าวเริ่มต้นขึ้นที่ประเทศกรีซ เหมือนกับวิกฤตปี 40 ที่หลายคนชอบเรียกว่า “Tom Yum Kung Crisis” ครับ (Giros เป็นอาหารประจำชาติของกรีซ ลักษณะคล้ายเคบับของประเทศตุรกี )

clip_image002

ภาพ: Giros Pita, อาหารประจำชาติของประเทศกรีซ

ติดตาม และแลกเปลี่ยนบทความของคุณเจษฎา สุขทิศ, CFA ได้ผ่านทาง www.settrade.com เลือก “เว็บบล็อก” หรือติดตามภาวะการลงทุนแบบทันสถานการณ์ด้วยทวีตเตอร์ที่ http://twitter.com/FundTalk สำหรับวันนี้ สวัสดีครับ…