มหาสมุทร DeFi สู่ Digital Financial Market

เราอยู่ในต้นทศวรรษที่ 20 ซึ่งเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญของระบบการเงินโลก เมื่อ DeFi ย่อมาจาก Decentralized Finance แปลว่าระบบการเงินไร้ตัวกลางกำลังเติบโตอย่างรวดเร็วสุดขีดในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา ซึ่งดูเหมือนตลาดการเงินโลก (Global Financial Market) บน Blockchain ได้เกิดขึ้นแล้วในวันนี้ สิ่งนี้น่าสนใจอย่างไร ไปดูกัน

จุดเริ่มต้นของเรื่องนี้มาจากการเกิดขึ้นของ Bitcoin และ Blockchain ซึ่งขอไม่กล่าวรายละเอียดเชิงลึกในบทความนี้ โดย Bitcoin เป็นเหมือนสัญลักษณ์ของการเกิดขึ้นของระบบ Blockchain ที่ทำหน้าที่ในการส่งมอบ Bitcoin กันในช่วงเริ่มแรก

จากนั้นก็เกิด ETH (Ethereum) ขึ้นซึ่งเป็น Blockchain Protocol ในการถ่ายทอด Value กันบน Blockchain โดยสามารถเขียน smart contract กำกับทำให้เกิด Token ขึ้นมากมายบนโลก

นำมาซึ่งการเกิด ICO (Initial Coin Offering) เมื่อสองสามปีก่อน เป็นปรากฏการณ์ว่า ICO จะมาแทนที่ IPO หรือไม่ และมีการเสนอเหรียญครั้งแรกเกิดขึ้นทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทยด้วย เช่น JFIN Coin, Six Network, OMG เป็นต้น

หนึ่งในโครงการ ICO ที่ต้องจารึกไว้ในประวัติศาสตร์ก็คือการ ICO เหรียญ BNB ซึ่งนำทุนที่ได้ไปสร้าง Binance ซึ่งเป็น Exchange ที่มีมูลค่าการซื้อขายสูงสุดในทุกวันนี้นั่นเอง (ที่สนุกคือสุดท้าย Binance ก็สร้างโปรโตคอล BEP-20 มาแข่งกับ ERC-20 ของ Ethereum เข้าตำรา “ลูกศิษย์คิดล้างครู”)

ขณะที่ Bitcoin และ Ethereum เป็นแกนนำในตลาด Cryptocurrencies เหล่านักลงทุน และธนาคาร Investment Bank ชั้นนำทั่้วโลกต่างดูแคลนว่าทั้งหมดนี้เป็นมหากาพย์ Pump and dump ไม่ต่างอะไรกับราคาดอกทิวลิปของประเทศฮอลแลนด์ หรือกระแสจตุคามรามเทพที่เกิดขึ้นในประเทศไทยเรา

มหาสมุทร DeFi สู่ Digital Financial Market

ฟองสบู่ดอกทิวลิปในช่วงปี 1636–37

และแล้วก็เหมือนจะเป็นตามคำแช่งเมื่อราคา Bitcoin ปรับฐานอย่างรุนแรงจาก $20,000 เหลือเพียง $5,000 ในปี 2018 และพักฐานอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานานกว่าสองปี เช่นเดียวกับราคาเหรียญ ICO นับร้อยที่ตกต่ำ และมีหลายโครงการที่ต้องปิดตัวไป รวมถึงหลายโครงการก็ถูกครหาว่าเป็น Fraud หรือการหลอกเอาเงินนักลงทุน

แต่แล้วในครึ่งหลังของปี 2020 ราคา Cryptocurrencies ยกแผงก็ปรับตัวขึ้นอีกครั้ง โดยที่ครั้งนี้มีองค์ประกอบที่เพิ่มขึ้นหลัก ๆ สองตัว ซึ่งทำให้ระบบนิเวศน์ของ Crytocurriencies สมบูรณ์กว่าที่เคย

สิ่งแรกคือ Stable coin ซึ่งผู้เขียนมองว่าสิ่งนี้แหละคือ Digital currencies ของจริง เหรียญอื่นไม่อยากให้ใช้คำว่า Currencies เลย น่าจะเหมาะกับคำว่า token หรือ coin มากกว่า

Stable coin คอนเซปท์นั้นก็คือเหรียญที่ราคาผูกกับเงินตราในโลก CeFi (Centralized Finance) หรือโลกการเงินปัจจุบันนั่นเอง โดยเหรียญแรกที่เกิดขึ้นคือ USDT หรือ Tether และตามมาด้วยหลายเหรียญอีกมากมายเช่น USDC, BUSD, DAI

ที่ผู้เขียนมองว่า Stable coin เหมาะกับคำว่า Digital currencies เนื่องจากมันสามารถทำหน้าที่ในการเก็บรักษามูลค่า (Store of value) ได้ ซึ่งต่างจากบิทคอยน์ที่ราคาผันผวนมาก เก็บรักษามูลค่าได้ไม่ดีเพราะความผันผวนของมัน

มหาสมุทร DeFi สู่ Digital Financial Market

มูลค่าของ USDT (Tether) ณ 2 พ.ค. 64

Stable Coin นี้เองที่เป็นจิ๊กซอว์ตัวสำคัญของตลาดการเงินบนบล็อคเชน เพราะทำให้นักลงทุนทั่วโลกมีที่สำหรับพักเงินได้ เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนที่แพร่หลายเพราะไม่ผันผวน ราคาผันแปรตามค่าเงิน Fiat Currency

นำมาสู่การเกิดขึ้นของ DeFi (Decentralized Finance) แปลว่า “ระบบการเงินไร้ตัวกลาง” ซึ่งมีโอกาสสูงที่จะกลายเป็นมหาสมุทรแห่งโลกการเงินแทนที่ระบบการเงินที่ใช้ตัวกลาง (CeFi หรือ Centralized Finance) ในปัจจุบัน

ย้อนกลับไปที่คอนเซปท์เบื้องต้นของตลาดการเงิน นั่นคือเป็นตัวเชื่อมระหว่างผู้มีเงินออม (Saver) และผู้ต้องการเงินทุน (Borrower) โดยเงินตราที่ใช้เป็นสื่อกลางก็คือ Fiat Currencies เช่นเงินบาท เงินดอลลาร์ที่เราคุ้นเคยกันนั่นเอง

บนโลก DeFi นั้นก็ไม่ต่างกันคือการเป็นสือกลางที่เชื่อมระหว่าง Saver และ Borrower เพียงแต่ไม่ต้องมีสถาบันการเงินเป็นตัวกลางแต่มี Smart Contract Protocol หรือ “โค้ด” เป็นตัวกลางนั้นเอง

การตัดตัวกลางนี้เองทำให้เกิดประโยชน์กับทั้งผู้ปล่อยกู้ที่ได้ดอกเบี้ยมากขึ้น และผู้กู้ที่จ่ายดอกเบี้ยถูกลง

ในรอบปีที่ผ่านมาได้มี Defi Protocol เกิดขึ้นขนตัวมากทั้งบน Ethereum Blockchain (ERC-20) และ Binance Smart Chain (BSC-20) ซึ่งหลัก ๆ ก็คือโปรโตคอลที่ให้ผู้ต้องการเงินทุนบนบล็อคเชนสามารถกู้เงินได้ และให้ผู้มีเงินทุนสามารถปล่อยกู้หรือฟาร์มได้นั่นเอง เช่น Maker, Aave, Pancake Swap, Venus และอื่น ๆ อีกมากมาย

ซึ่งการเติบโตของ DeFi นั้นวัดมูลค่าได้จาก TVL (Total Value Locked) หรือมูลค่าของคริปโตที่นักลงทุนนำไปฝาก นำไปฟาร์ม ก็คือการนำไปปล่อยกู้บน Defi Protocol ต่าง ๆ นั่นเอง

มหาสมุทร DeFi สู่ Digital Financial Market

Total Value Locked ของ Defi ณ 2 พ.ค. 64

ส่วนตัวผู้เขียนมองว่า DeFi อีกคำหนึ่งก็คือ Digital Financial Market คือตลาดการเงินดิจิทัล ซึ่งผู้เขียนเชื่อว่ามีความเป็นไปได้สูงที่จะกลายเป็นระบบการเงินหลักของโลกในอนาคตอันใกล้นี้

ที่น่าสนใจมากก็คือในโลกการเงินที่ไร้ตัวกลางนี้ทำให้ผู้ลงทุน หรือผู้ปล่อยกู้ในปัจจุบันสามารถปล่อยกู้เงินตรา (Stable Coin) ได้ระดับผลตอบแทนสูงกว่า 10% เมื่อเปรียบเทียบกับดอกเบี้ยโนโลก CeFi ที่ต่ำกว่า 1% ในปัจจุบันนั้นคู่ควรต่อการศึกษาของทุกคนเป็นอย่างยิ่ง

และผู้ที่มีความรู้ในสิ่งเหล่านี้อย่างถ่องแท้จะเป็นผู้ได้เปรียบในโลกของการลงทุนแน่นอนครับ

FundTalk รายงาน

ที่มาบทความ: https://blog.finnomena.com/d1d15d424fd