คงต้องยอมรับกันแล้วละครับ ว่าวิกฤตโรคระบาด COVID-19 ครั้งนี้กำลังนำพาโลกเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยทั่วโลกซึ่งนับเป็นครั้งแรกเลยทีเดียวที่ปัญหาโรคระบาดเป็นตัวจุดฉนวนให้วัฏจักรเศรษฐกิจขาขึ้นต้องเป็นอันสิ้นสุดลง โดยล่าสุดโกลด์แมน แซคส์ออกมามองเศรษฐกิจสหรัฐฯ ไตรมาส 2 ปีนี้ติดลบถึง 24% เลยทีเดียว ขณะที่เศรษฐกิจโลกปีนี้นักวิเคราะห์คาดว่าจะเติบโตเหลือเพียงเกือบ ๆ 1% โดยทั้งยุโรปและญี่ปุ่นเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยทั้งหมด ส่วนจีนเหลือเติบโตเพียง 2.7% ซึ่งต่ำที่สุดในรอบหลายสิบปี
เศรษฐกิจ จะฟื้นตัวแบบ V-Shape หรือ U-Shape
เดิมที่ COVID-19 ยังไม่แพร่กระจายทั่วโลกนั้นนักวิเคราะห์หลายค่าย รวมถึงตัวผู้เขียนเองมองว่าเศรษฐกิจจะมีลักษณะเป็น V-Shape Recovery โดยมองว่าเศรษฐกิจจะหดตัวในไตรมาส 2/63 และกลับมาฟื้นตัวได้ในไตรมาส 3/63 แต่การแพร่ระบาดครั้งนี้รุนแรงและเริ่มส่งผลกระทบเป็นโดมิโนอย่างรวดเร็ว แถมยังซ้ำเติมด้วยราคาน้ำมันที่ปรับตัวลดลงอย่างรุนแรงเหลือแค่ระดับ 20 เหรียญต้น ๆ ซึ่งส่งผลกระทบให้ประเทศผู้ผลิตน้ำมันก็ดี หรือบริษัทผลิตน้ำมันก็ดีจะประสบผลขาดทุน และอาจรุนแรงถึงการผิดนัดชำระหนี้ได้ ซึ่งถ้าหากเกิดภาวะการผิดนัดชำระหนี้ขึ้นจำนวนหลายบริษัทมาก ๆ ในโลกจะทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจจะช้ากว่าเดิมมากจาก V-Shape ก็อาจกลายเป็น U-Shape Recovery
ล่าสุด Moody’s ซึ่งเป็นบริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือชั้นน้ำของโลกออกรายงานมาว่าถ้าเศรษฐกิจไม่ฟื้นแบบ V-Shape นั้นอัตราการผิดนัดชำระหนี้ของบริษัทจดทะเบียนสหรัฐฯ จะมีแนวโน้มสูงถึง 10% จากประมาณ 3% ในปัจจุบัน ขณะที่อัตราการว่างงานของสหรัฐฯ จะปรับเพิ่มสูงขึ้นเป็น 10% เช่นกัน ซึ่งล่าสุดตัวเลขการเคลมสวัสดิการผู้ว่างงานของสหรัฐฯ ในสัปดาห์ที่ 3 ของเดือนมีนาคม 2563 นั้นมากถึงกว่า 3 ล้านตำแหน่งในสัปดาห์เดียวซึ่งสูงที่สุดในประวัติศาสตร์
ลองกลับมามองอย่างง่าย ๆ ไปรอบ ๆ ตัวดูครับ หลังจากเกิดวิกฤตโรคระบาดในครั้งนี้มันมีผลกระทบอะไรแล้วบ้าง ธุรกิจสายการบินที่หยุดชะงักและอาจทำให้บางสายการบินถึงขั้นล้มละลาย ธุรกิจโรงแรมหรือสวนสนุกที่ต้องปิดต่อเนื่องเป็นแรมเดือน ธุรกิจร้านอาหารที่ไม่สามารถเปิดหน้าร้านได้ ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยว นอกจากตัวบริษัทยักษ์ใหญ่ที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์จะประสบปัญหาแล้ว บรรดาพนักงานและลูกจ้างนับล้านก็ขาดรายได้ไปด้วย ซึ่งจะส่งผลต่อให้หนี้สินของภาคครัวเรือน (Consumer Loan) มีอัตราการผิดนัดชำระหนี้มากขึ้น
หากกลับมามองที่เมืองไทยบ้าง ปัจจุบันหนี้ภาคครัวเรือนของประเทศไทยสูงถึงเกือบ 80% ของ GDP หรือกว่า 13 ล้านล้านบาท ซึ่งหลัก ๆ ก็คือหนี้สินเชื่อเงินด่วน สินเชื่อสำหรับอุปโภคบริโภค สินเชื่อจำนำทะเบียน รองลงมาคือสินเชื่อผ่อนบ้าน ผ่อนคอนโด ภาวะวิกฤต COVID-19 กำลังทำให้อัตราการผิดนัดชำระหนี้เหล่านี้สูงขึ้นอย่างรวดเร็ว เพราะเหล่าลูกจ้างในธุรกิจร้านอาหาร หรือธุรกิจที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยวที่เป็นเครื่องยนต์หลักของประเทศกำลังตกงานอย่างกะทันหัน คนไทยมากมายที่วันนี้ใช้ชีวิตแบบเดือนชนเดือน แต่อยู่มาวันหนึ่งก็ตกงานอย่างกระทันหัน
นอกจากหนี้ภาคครัวเรือนที่มีแนวโน้มจะกลายเป็น NPL มากขึ้นแล้ว การบริโภคสินค้าคงทนอย่างบ้าน คอนโด หรือรถยนต์ก็ลดลงด้วยอย่างแน่นอน เพราะคนมีรายได้น้อยลง รวมไปถึงตลาดหุ้นที่ปรับตัวลงเป็นอย่างมากเริ่มส่งผลที่เรียกว่า Wealth effect ทำให้คนรู้สึกว่าตัวเองจนลง ยอดขายบ้าน หรือรถยนต์ในเวลานี้จึงหดตัวอย่างรุนแรงทั่วโลก
ทั้งหมดก็เป็นประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของเศรษฐกิจไทย และเศรษฐกิจโลก ที่โรคหวัดที่อัตราการตายไม่ได้สูง แต่อัตราการแพร่ระบาดนั้นสูงเป็นประวัติการณ์ ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิต และภาคเศรษฐกิจอย่างรุนแรงไปทั่วทุกมุมโลก นำมาซึ่งภาวะเศรษฐกิจถดถอย และถ้าสถานการณ์ไม่คลี่คลายในเร็ว ๆ นี้ก็อาจจะนำมาซึ่งวิกฤตทางการเงินของโลกในที่สุด ถึงเวลาที่เราทุกคนต้องตั้งสติ ปรับตัว และเตรียมพร้อมกันแล้วครับ
FundTalk รายงาน