อเมริกาเหนือคือภูมิภาคที่เปี่ยมล้นไปด้วยขุมพลังทางเศรษฐกิจอันยิ่งใหญ่ ไล่ไปตั้งแต่ซิลิคอนวัลเลย์ที่เต็มไปด้วยผู้ประกอบการเจ้าของนวัตกรรมพลิกโลก ไปถึงถนนวอลล์สตรีทที่กุมหลักทรัพย์มูลค่าถึง 1 ใน 5 ของโลกนี้เอาไว้

มุ่งหน้าขึ้นเหนือไป 400 ไมล์จากนิวยอร์ก คือที่ตั้งของเมืองหลวงอันเงียบสงบอย่าง ออตตาวา ประเทศแคนาดา ที่มีประชากรน้อยกว่า 1 ใน 10 ของกรุงเทพฯ แต่ใครจะคิดว่าในเมืองไซส์กะทัดรัดแห่งนี้จะเป็นที่ตั้งของบริษัทที่เป็นดั่งกระดูกสันหลังของ E-Commerce อย่าง Shopify

ปัจจุบัน Shopify เป็นบริษัท Mid-Tech ดาวเด่นจากเมืองอันแสนสงบที่สามารถวาดลวดลายแพรวพราวกลบรัศมีบริษัทจากซิลิคอนวัลเลย์ และมีส่วนแบ่งตลาดมากที่สุดในธุรกิจแพลตฟอร์ม E-Commerce ของสหรัฐฯ (ไม่ใช่ E-Commerce Marketplace ที่มี Amazon เป็นผู้นำ) แถมยังมีมูลค่าบริษัทใหญ่พอ ๆ กับ Starbucks ที่มีสาขากว่า 4 หมื่นแห่งทั่วโลก และ Boeing หนึ่งในผู้ผลิตอากาศยานชั้นนำของโลก

ทั้งหมดของเรื่องราวนี้เริ่มต้นมาจากร้านขายสโนว์บอร์ดของกลุ่มเพื่อนชาวแคนาเดียน 3 คนได้แก่ Tobias Lütke, Daniel Weinand และ Scott Lake ที่อยากจะเปิดหน้าร้านออนไลน์แต่ไม่มีแพลตฟอร์มรองรับที่ดีพอ และในเวลาต่อมาพวกเขาจะกลายมาเป็นผู้ก่อตั้ง Shopify

ความเป็นมาของ Shopify

Shopify น่าจะเป็นชื่อที่พอผ่านหูผ่านตามาอยู่บ้างสำหรับหลาย ๆ คน แต่อาจยังไม่เข้าใจว่าบริษัทแห่งนี้เป็นใครมาจากไหน แต่เอาเข้าจริงแล้ว Shopify คือบริษัทที่อาจเกี่ยวข้องกับเราพอสมควรไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง เพราะนี่คือบริษัทที่เป็นหลังบ้านของหน้าร้านออนไลน์ ของบรรดาแบรนด์ใหญ่ ๆ ทั่วโลกไม่ว่าจะเป็น Tesla, Sephora, Louis Vuitton, Nestle, PepsiCo, Netflix, Decathlon หรือ Victoria Beckham 

Source: Sephora

และไม่ใช่แค่บริษัทใหญ่เท่านั้นแต่แบรนด์เล็ก ๆ มากมายก็ใช้แพลตฟอร์ม Shopify ในการสร้างหน้าร้านออนไลน์เช่นกัน

หน้าร้านออนไลน์ร้านแรกที่สร้างจากแพลตฟอร์ม Shopify มีชื่อว่า Devilboard ร้านขายสโนว์บอร์ดเล็ก ๆ ในเมืองออตตาวาของผู้ก่อตั้งทั้ง 3 นั่นเอง

ย้อนกลับไป 20 ปีก่อน หลังจากเปิดร้านสโนว์บอร์ดแล้ว  Lütke, Weinand และ Lake มีความคิดที่อยากจะเปิดหน้าร้านออนไลน์ขึ้น แต่ในเวลานั้นยังไม่มีแพลตฟอร์มสำหรับสร้างและบริหารจัดการหน้าร้านออนไลน์ที่ดีนัก จะมีก็แต่ระบบสำหรับบริษัทใหญ่ ๆ ที่ราคาก็แพงใช่ย่อย ทำให้ Software Engineer อย่าง Tobias Lütke ต้องลงมือออกแบบโซลูชันอีคอมเมิร์ซขึ้นมาใช้เอง

ประเด็นก็คือ มีคนไม่น้อยเข้ามาติดต่อสอบถามว่าเว็บไซต์ของพวกเขาสร้างขึ้นมาได้อย่างไร ทั้ง 3 เห็นถึงความเป็นไปได้ว่าซอฟต์แวร์จะเติบโตได้อีกไกล ในปี 2006 ต่อมาพวกเขาจึงได้ก่อตั้ง Shopify (ในเวลานั้นชื่อ Jadedpixel) เพื่อให้บริการซอฟต์แวร์ดังกล่าว

Shopify เติบโตขึ้นเรื่อย ๆ และนับตั้งแต่ปี 2010 ก็สามารถระดมทุนได้ถึง 3 ครั้ง จุดเด่นของ Shopify คือการให้ ecosystem สำหรับการบริหารเว็บไซต์ E-Commerce ที่โดดเด่น เป็นแพลตฟอร์มที่ช่วยเชื่อมโยงตั้งแต่การจัดการหน้าเว็บ การจัดการคลังสินค้า การรับชำระ ไปจนถึงการจัดส่งสินค้า ดังที่บริษัทเคลมเอาไว้ว่ามี “Multichannel front end, Single integrated back end” ลดกำแพงในการเข้าถึง E-Commerce ของธุรกิจต่าง ๆ ได้อย่างมหาศาล

Source: Shutterstock

ปี 2015 บริษัทสามารถเข้า IPO ในตลาดหลักทรัพย์นิวยอร์กและโทรอนโตได้สำเร็จ โดยมีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดเริ่มต้น 1.27 พันล้านเหรียญ และเดินหน้าสร้างความสมบูรณ์ให้กับ ecosystem ของแพลตฟอร์มอย่างต่อเนื่อง

Shopify ในปัจจุบัน

ตอนนี้ มูลค่าบริษัทของ Shopify อยู่ที่ 1 แสนล้านเหรียญ ทะยานขึ้นมา 82 เท่านับตั้งแต่เข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ครั้งแรก นอกจากนี้ Shopify ยังให้มีลูกค้าเป็นแบรนด์น้อยใหญ่กว่า 1.75 ล้านรายจาก 175 ประเทศทั่วโลก ช่วยบริหารร้านค้าออนไลน์มากกว่า 4 ล้านเว็บเพจ 

จากร้านขายสโนว์บอร์ดที่เจอ Pain Point เรื่องการทำหน้าร้านออนไลน์ มาวันนี้ Shopify คือบริษัทจากแคนาดาที่มีส่วนแบ่งตลาดในธุรกิจแพลตฟอร์ม E-Commerce ในสหรัฐฯ กว่า 28% ทิ้งห่างอันดับสองอย่าง WooCommerce ที่เป็น plug-in สำหรับการทำหน้าร้านออนไลน์ของ WordPress ที่มีส่วนแบ่ง 17% พูดง่าย ๆ คือตีตลาดสหรัฐฯ ได้แบบกระจุยกระจาย 

ภาพ Shopify Infrastructure | Source: alexandre.substack.com

ทุกวันนี้ Shopify มีแพลตฟอร์มที่ไม่ได้รองรับแค่การขายออนไลน์ แต่ยังรองรับการขายทุก ๆ ช่องทาง เช่น หน้าร้านจริง ระบบ POS หน้าร้านบนโซเชียลมีเดีย รวมถึงแพลตฟอร์ม Marketplace 

และเชื่อมโยงข้อมูลทั้งหมดเข้าด้วยกันอย่างไร้รอยต่อกับแพลตฟอร์ม Shopify ที่ใน ecosystem มีทั้งออกแบบเว็บไซต์ร้านค้าออนไลน์ บริการแดชบอร์ดข้อมูล ระบบจัดการคลังสินค้า ระบบการจัดการออเดอร์ การรับชำระ ระบบจัดการข้อมูลลูกค้า (CDM) ระบบจัดการความสัมพันธ์ลูกค้า (CRM) ระบบ Buy Now Pay Later ระบบ Customer Support และระบบอื่น ๆ อีกมากมาย โดยให้บริการใน 21 ภาษา

ล่าสุด ปี 2024 ไตรมาส 3 Shopify มีรายได้ 1,714 พันล้านเหรียญ เติบโตถึง 25% YoY กำไร 718 ล้านเหรียญ โดยมีรายได้จาก 2 แหล่ง คือ

  1. Merchant Solutions 1,228 ล้านเหรียญ (70% ของรายได้ทั้งหมด) เป็นรายได้จากค่าธรรมเนียมของบริการต่าง ๆ เช่น ค่าธรรมเนียมรับชำระ การจัดส่ง จนถึงรายได้จากการขายเครื่อง POS 
  2. Subscription Solutions 486 ล้านเหรียญ (30% ของรายได้ทั้งหมด) เป็นรายได้จากการสมัครเป็นสมัครสมาชิกของ Shopify ในแพ็กเกจต่าง ๆ

 

ถ้าวัดกันแค่ในอเมริกาเหนือ ตอนนี้ Shopify ถือเป็นบริษัทสาย E-Commerce ที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 เป็นรองแค่ Amazon ที่เป็น Big Tech เจ้าตลาดเท่านั้น ถือเป็นก้าวที่ยิ่งใหญ่มากของบริษัทที่มีจุดเริ่มต้นเป็นร้านขายสโนว์บอร์ดสัญชาติแคนาเดียน 

มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดของบริษัทสาย E-Commerce | Source: Companies Marketcap as of 2/2/2024

Harley Finkelstein, Chief Platform Officer ของ Shopify เคยให้สัมภาษณ์กับ CBC News ว่าพวกเขา “ต้องการสร้างบริษัทที่จะยืนยงนับศตวรรษ” ถือว่าเป็นเป้าหมายที่ทะเยอทะยานและท้าทายขนบการทำธุรกิจของบริษัทจากแคนาดาที่มักจะโดนควบรวมเข้ากับบริษัทที่ใหญ่กว่าจากสหรัฐฯ ถ้ามองจากสถานะของ Shopify ตอนนี้ พูดได้เต็มปากว่านี่คือบริษัทที่เข้ามาเขย่าวงการ E-Commerce ทั้งอเมริกาและโลกได้จริง

สำหรับคนที่สนใจบริษัท Shopify สามารถลงทุนได้ผ่านกองทุน KFUS-A

สำหรับผู้ที่สนใจบริษัท Shopify ซึ่งเป็นบริษัท Mid Tech ที่มี Upside การเติบโตสูงเทียบกับหุ้นกลุ่ม Big Tech ที่ปรับตัวขึ้นไปก่อนแล้ว ขอแนะนำกองทุน KFUS-A เพื่อรับโอกาสการเติบโตจากสินทรัพย์เสี่ยงในภาวะที่ Fed สิ้นสุดวงจรการขึ้นดอกเบี้ย

KFUS-A มีกองทุนหลักคือ Baillie Gifford Worldwide US Equity Growth Fund ที่บริหารแบบเชิงรุก เน้นคัดหุ้นเติบโตที่เป็นอนาคตใหม่ในตลาดหุ้นสหรัฐอเมริกา ด้วยกลยุทธ์แบบ bottom-up หยิบหุ้นเข้าพอร์ตประมาณ 30-50 ตัว และมองเกมในระยะยาวมากกว่าโมเมนตัมระยะสั้น

Source: Baillie Gifford Worldwide US Equity Growth Fund Fact Sheet as of 31/1/2024

หุ้นในพอร์ต KFUS-A ส่วนใหญ่ยังอยู่ในกลุ่มเทคโนโลยีขนาดกลางและใหญ่ โดยมีสัดส่วนการลงทุนใน Shopify สูงถึง 8% 

แม้กองทุนหลักจะลงทุนในหุ้น Big Tech กลุ่ม Magnificent-7 อยู่บ้าง คือ Amazon, Nvidia, Tesla แต่ก็จะเห็นว่า Baillie Gifford พยายามเข้าไปลงทุนในหุ้น Mid Cap Growth ซึ่งตรงคอนเซปต์ที่เรากำลังตามหาหุ้นเติบโตขนาดกลางที่ Valuations น่าสนใจ และยังเติบโตได้ดี

หมายเหตุ: ข้อมูลสัดส่วนการลงทุนอาจมีการเปลี่ยนแปลงได้ในอนาคต และการลงทุนของกองทุน KFUS-A มิได้ลงทุนใน 10 บริษัทข้างต้นนี้เสมอไป ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับว่าบริษัทใดจะเข้าเงื่อนไขตรงกับนโยบายของกองทุน


อ้างอิง

คำเตือน 

การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทนและความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุน | ผลการดำเนินงานในอดีต และผลการเปรียบเทียบผลการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์ในตลาดทุน มิได้เป็นสิ่งยืนยันถึงผลการดำเนินงานในอนาคต | กองทุนมีการลงทุนกระจุกตัวในประเทศที่ลงทุน จึงมีความเสี่ยงที่ผู้ลงทุนอาจสูญเสียเงินลงทุนจำนวนมาก ผู้ลงทุนจึงควรพิจารณาการกระจายความเสี่ยงของพอร์ตการลงทุนโดยรวมของตนเองด้วย | ผู้ลงทุนอาจมีความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน เนื่องจากการป้องกันความเสี่ยงขึ้นอยู่กับดุลพินิจของผู้จัดการกองทุน | สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมหรือขอรับหนังสือชี้ชวนได้ที่บริษัทหลักทรัพย์นายหน้าซื้อขายหน่วยลงทุน ฟินโนมีนา จำกัด ในช่วงเวลาวันทำการตั้งแต่ 09:00-17:00 น. ที่หมายเลขโทรศัพท์ 02 026 5100 และทาง LINE “@FINNOMENAPORT” | สำหรับผู้ลงทุนในความดูแลของ Kept by krungsri ติดต่อทีม Kept help center ที่หมายเลขโทรศัพท์ 02 296 6299