Highlight ของบทความนี้ (คลิกอ่านส่วนที่สนใจได้เลย)


เชื่อได้เลยว่าวันนี้ ชื่อของ BYD ค่าย EV เบอร์ 1 จากจีน น่าจะเป็นชื่อที่คุ้นหูคนไทยกันอยู่แล้ว จากการเข้ามาทำตลาดอย่างหนักหน่วงในไทย ในขณะที่ตัวโปรดักส์เองก็ค่อนข้างมีคุณภาพ และมีราคาเอื้อมถึงได้

แต่ที่จริงแล้ว BYD ไม่ได้โด่งดังแค่ในไทย เพราะถ้ามองกันในภาพใหญ่ นี่คือผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าเพียงค่ายเดียวที่มียอดขายสูสีกับ Tesla โดยเบียดแข่งกันแบบนี้มาหลายไตรมาสแล้ว

ซึ่งตลาดการลงทุนเองก็ตอบรับเรื่องนี้ เพราะปีนี้ 

  • หุ้น BYD ปรับตัวขึ้นมาแล้วกว่า 30%
  • ขณะที่ Tesla ขยับขึ้นมาแค่ 5%

วันนี้เราจะมาเจาะลึก BYD ค่ายรถยนต์ไฟฟ้าเบอร์ 1 จากจีน ลองมาดูว่า BYD มีความเป็นมาอย่างไร? มีรายได้จากไหน? ทำไมถึงมีศักยภาพไปเบียดแข่งกับ Tesla ในอุตสาหกรรมยานยนต์แห่งอนาคต

ความเป็นมาของ BYD

BYD ย่อมาจากคำว่า “Build Your Dreams”  ก่อตั้งโดย Wang Chuanfu นักวิจัยด้านโลหะวิทยา ผู้คลุกคลีอยู่กับโลหะหายากที่ใช้ในการผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์และแบตเตอรี่

ในปี 1995 เขาตัดสินใจเปิดบริษัท BYD ที่เมืองเซินเจิ้น โดยเริ่มจากการเป็นผู้ผลิตแบตเตอรี่ลิเทียมไอออน

ช่วงต้นของธุรกิจ … BYD เติบโตจนเป็นเจ้าตลาดกว่า 50% ในการผลิตแบตเตอรี่มือถือในจีน และมีลูกค้าทั่วโลก เช่น Nokia, Samsung, Apple จนในปี 2002 ก็เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกงได้สำเร็จ

จุดเปลี่ยนสำคัญเกิดขึ้นในปี 2003 บริษัทแตกไลน์ธุรกิจใหม่ “BYD Auto” โดยการควบรวมกิจการของ Qinchuan Auto ผู้ผลิตรถยนต์ในจีนที่กำลังเจอวิกฤต

ระยะแรก บริษัทยังคงผลิตรถยนต์สันดาป แต่หลังบ้านก็พยายามพัฒนา EV ไปพร้อม ๆ กัน

ความพยายามของ BYD สำเร็จในปี 2008 ด้วยการเปิดตัวรถรุ่น F3DM รถยนต์ไฟฟ้าปลั๊กอินไฮบริด (PHEV) คันแรกของโลก และยังสามารถพัฒนาต้นแบบของ BYD E6 ได้สำเร็จ และนี่คือรากฐานของ BYD ที่กลายเป็นค่ายรถยนต์ไฟฟ้าเต็มตัวแบบที่เราคุ้นกัน

ปัจจุบัน BYD ก้าวขึ้นสู่ผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้า (EV) อย่างเต็มรูปแบบ โดยมี Market Share เป็นอันดับ 1-2 ของโลก ขึ้นลงสลับกับ Tesla (TSLA) แบบไตรมาสต่อไตรมาส

BYD ในปัจจุบัน

ตลอดปีที่ผ่านมา BYD ผลิตรถยนต์พลังงานใหม่ (NEV) มากถึง 3 ล้านคัน โดยทำตลาดได้ในหลายประเทศ และมีฐานการผลิตทั้งในจีน, สหรัฐฯ, แคนาดา, บราซิล, ญี่ปุ่น ฮังการี, อินเดีย รวมถึงไทยที่มีแผนจะตั้งโรงงานใหม่สำหรับรองรับการผลิตในปี 2024 นี้

รายได้หลักของ BYD ตอนนี้มาจาก 2 ส่วน คือ

1. ยานยนต์และชิ้นส่วน (คิดเป็นรายได้ 80%)

  • โดยในไตรมาสล่าสุด BYD มียอดส่งมอบ EV เกือบ 430,000 คัน 
  • (ใกล้กับ Tesla ที่ส่งมอบได้ 440,000 คัน)
  • ตัวอย่างรุ่นที่เราน่าจะคุ้นกัน เช่น BYD Dolphin

 

2. ชิ้นส่วนโทรศัพท์และอื่น ๆ ซึ่งเป็นธุรกิจแรกเริ่มของ BYD (คิดเป็นรายได้ 20%)

ผลประกอบการของ TSMC

ต่อมาเราแวะมาดูผลประกอบการล่าสุดของ BYD กันบ้าง ไตรมาส 1 ปี 2024

  • มีรายได้ 1.25 แสนล้านหยวน (เพิ่มขึ้น 4% จากปีก่อน)
  • มีกำไรสุทธิ 4.6 พันล้านหยวน (เพิ่มขึ้น 11% จากปีก่อน)

 

ความแข็งแกร่งของ BYD ในอุตสาหกรรมยานยนต์มาจาก 2 ส่วน

  1. BYD มีรายได้เกือบ 3 ใน 4 มาจากกำลังการบริโภคมหาศาลในประเทศจีน ซึ่งช่วยลดความเสี่ยงจากการพึ่งพาตลาดโลกได้พอสมควร
  2. BYD สามารถผลิตแบตเตอรี่ได้เอง สามารถดูการผลิตได้ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ทำให้คุมราคาได้ถูกกว่าแบรนด์อื่น ๆ

 

พอเทียบกันแล้ว ถึง Tesla จะได้เปรียบในเรื่องของชื่อชั้นและนวัตกรรม แต่ก็ยังต้องพึ่งผู้ผลิตแบตฯ จากจีนอย่าง CATL แถม Tesla เองยังมีรายได้ไม่น้อยมาจากจีนอีก 

เราจึงเห็นได้เลยว่า เวลา Elon Musk พูดถึงจีน ก็มักจะมีแต่คำหวานอยู่เสมอ ซึ่งในด้านหนึ่งก็สะท้อนถึงความเปราะบางของ Tesla ในตลาดจีน (ซึ่ง BYD ได้เปรียบในจุดนี้)

สรุป

สรุปแล้ว BYD คือผู้เล่นชั้นนำเวลาพูดถึงอุตสาหกรรม EV ที่เป็นอนาคตของวงการยานยนต์ เพราะในอนาคต แนวโน้มของการ Decoupling หรือการแยกออกจากกันของตลาดโลก อาจทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้นจากความสัมพันธ์ที่ย่ำแย่ระหว่างจีนและอเมริกา (ไม่ว่าทรัมป์หรือไบเดนจะได้เป็นประธานาธิบดีก็ตาม) บริษัทที่มีฐานการบริโภคภายในประเทศอย่าง BYD ก็จะมีข้อได้เปรียบในด้านนี้

นอกจากนี้ แนวโน้มด้านพลังงานสะอาดที่อยู่ในกระแสเรื่อย ๆ ก็เป็นอีกหนึ่งเรื่องที่จะผลักดัน BYD เช่นกัน


อ้างอิง