มนุษย์เงินเดือน ทำงานบริษัทเอกชน เคยลองคิดกันไหมว่าเมื่อถึงเวลาที่ต้องเกษียณอายุ เงินเก็บระหว่างทำงานอยู่ตอนนี้จะพอหรือเปล่า
เอาเป็นว่า… ก่อนอื่นลองมาสำรวจกันดูว่าสวัสดิการที่มนุษย์เงินเดือนจะได้รับหลังเกษียณมีอะไรบ้าง เพื่อที่จะรู้คร่าว ๆ หลังจากหยุดทำงานไปแล้ว การอาศัยแค่เงินส่วนนี้จะพอใช้มั้ย ถ้าคิดว่ายังไงก็คงไม่พอ จะได้รีบวางแผนเก็บเงินทัน
3 เงินชดเชยหลังเกษียณ
1. เงินบำนาญประกันสังคม
สวัสดิการขั้นพื้นฐานของมนุษย์เงินเดือนทุกคน ซึ่งการที่เราจ่ายเงินสะสมเข้ากองทุนประกันสังคมทุกเดือน นอกจากจะได้สิทธิเบิกค่ารักษาพยาบาลแล้ว ยังมีส่วนหนึ่งที่เก็บไว้เป็นเงินเงินบำเหน็จบำนาญยามเกษียณอีกด้วย โดยมีเงื่อนไข ดังนี้
จะได้รับเงินบำนาญเมื่อ
- จ่ายเงินเข้ากองทุนไม่น้อยกว่า 180 เดือนหรือ 15 ปี
- กรณีจ่ายเงินสมทบเกิน 180 เดือน จะได้เงินบำนาญเพิ่ม 1.5% ต่อปี
- อายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ และความเป็นผู้ประกันตนสิ้นสุดลง
- สูตรคำนวณเงินบำนาญต่อเดือน = ค่าจ้างเฉลี่ย* x [ 20 + (1.5 x (จำนวนปีที่สมทบ – 15))] / 100
*ค่าจ้างเฉลี่ยฐานคำนวณไม่เกิน 15,000 บาท
แต่กรณีที่จ่ายเงินสมทบไม่ครบ 180 เดือน จะได้รับเป็นเงินบำเหน็จแทน
2. เงินชดเชยเลิกจ้าง
ตาม พรบ. คุ้มครองแรงงาน การเกษียณอายุไม่ได้เป็นการเลิกจ้างโดยสมัครใจ แต่เพราะเราอายุเกินข้อกำหนดในการทำงาน ดังนั้นจึงมีสิทธิได้รับค่าชดเชยรายได้จากบริษัทตามกฎหมาย
3. เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ
เมื่ออายุ 60 ปี สามารถไปลงทะเบียนรับเบี้ยยังชีพได้ที่ สำนักงานเขต กทม., อบต. หรือเทศบาล โดยที่ทุกคนจะได้รับเงินช่วยเหลือจากรัฐบาลเป็นรายเดือนไปตลอดชีวิต และเป็นอัตราที่เพิ่มขึ้นเป็นขั้นบันไดตามช่วงอายุ
FinSpace