ลาออกจากงานประจำ หรือลาออกจากประกันสังคม ม.33 ต่อมาตราอื่นดีไหม?

ทุกคนรู้ไหมว่าถ้าลาออกจากงานประจำ ก็เท่ากับว่าลาออกจากประกันสังคม ม.33 ไปด้วย แล้วเราควรจัดการกับเงินที่จ่ายสมทบเข้าไปทุกเดือน ๆ อย่างไรดี? จะต่อประกันสังคม ม.39 หรือ ม.40 ดีไหมนะ? หรือไม่ต้องต่ออะไรแล้วรอรับเงินคืนอย่างเดียวเลยดี?

วันนี้ Finspace มาเปรียบเทียบให้ดูกันชัด ๆ ไปเลยว่าเราควรเดินต่อไปทางไหนดี ที่เหมาะกับเราที่สุด

ลาออกจากงานประจำ หรือลาออกจากประกันสังคม ม.33 ต่อมาตราอื่นดีไหม?

ทางเลือกที่ 1 : ต่อมาตรา 39

จากที่สมทบเดือนละ 750 บาท จะเหลือเดือนละ 432 บาท โดยนายจ้างจะไม่ได้ช่วยเราสมทบแล้ว แต่รัฐบาลยังสมทบให้เราเดือนละ 120 บาท

เงื่อนไข ต้องจ่ายประกันสังคมมาแล้วไม่น้อยกว่า 12 เดือน และออกจากงานไม่เกิน 6 เดือน

สิทธิประโยชน์

จะได้รับความคุ้มครองต่อเนื่องเหมือนประกันสังคมมาตรา 33 ยกเว้น การว่างงาน ที่จะไม่ได้รับ โดยจะได้รับ 6 กรณี ดังนี้

1. เจ็บป่วย

  • กรณีเจ็บป่วย สามารถเข้ารับการรักษาในสถานพยาบาลตามบัตรรับรองสิทธิได้โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใด ๆ
  • กรณีเข้ารักษาในโรงพยาบาลอื่นโดยที่ได้สำรองจ่ายไปก่อน สามารถเบิกคืนได้
  • โรงพยาบาลของรัฐ สามารถเข้ารับการรักษาได้ไม่จำกัดจำนวนครั้ง ในกรณีเป็นผู้ป่วยนอก เบิกได้เท่าที่จ่ายจริงตามความจำเป็น และในกรณีเป็นผู้ป่วยใน เบิกได้ตามที่จ่ายจริง ยกเว้น ค่าห้องและค่าอาหาร เบิกได้ไม่เกินวันละ 700 บาท
  • โรงพยาบาลเอกชน กรณีผู้ป่วยนอกเบิกค่ารักษาได้ไม่เกิน 1,000 บาท กรณีผู้ป่วยใน ค่ารักษาพยาบาลกรณีไม่ได้รักษาในห้อง ICU เบิกได้ไม่เกินวันละ 2,000 บาท ค่าห้องค่าอาหารไม่เกินวันละ 700 บาท ค่าห้องกรณีรักษาในห้อง ICU เบิกได้ไม่เกินวันละ 4,500 บาท กรณีต้องผ่าตัดใหญ่เบิกได้ไม่เกินครั้งละ 8,000 – 16,000 บาท
  • กรณีทันตกรรม ไม่เกิน 900 บาทต่อปี

2. ทุพพลภาพ (พิการ)

  • กรณีทุพพลภาพรุนแรง ได้รับเงินทดแทนขาดรายได้ 50% ของค่าจ้างเป็นรายเดือน ตลอดชีวิต
  • กรณีทุพพลภาพไม่รุนแรง ได้รับเงินทดแทนขาดรายได้ตามหลักเกณฑ์และระยะเวลาตามประกาศฯ กำหนด
  • ได้รับค่ารักษาโรงพยาบาลรัฐตามที่จ่ายจริง แต่หากเป็นเอกชน ผู้ป่วนนอกไม่เกิน 2,000 บาท/เดือน ผู้ป่วยในไม่เกิน 4,000 บาท/เดือน
  • ได้รับเงินบำเหน็จเมื่อมีมติให้เป็นผู้ทุพพลภาพ
  • หากเสียชีวิต ผู้จัดการศพจะได้รับเงินค่าทำศพ 50,000 บาท และหากผู้ทุพพลภาพจ่ายเงินสมทบมาแล้ว 3 ปีแต่ไม่ถึง 10 ปี จะได้รับเงินสงเคราะห์เท่ากับค่าจ้าง 2 เดือน แต่หากจ่ายเงินสมทบมาแล้วตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไปจะได้รับเงินสงเคราะห์เท่ากับค่าจ้าง 6 เดือน

3. ค่าเลี้ยงดูลูก

  • ได้รับเงินเหมาจ่ายเดือนละ 800 บาท จนถึง 6 ปีบริบูรณ์ (ครั้งละไม่เกิน 3 คน)

4. ค่าคลอดลูก

  • ได้รับเงินเหมาจ่ายเดือนละ 800 บาท จนถึง 6 ปีบริบูรณ์ (ครั้งละไม่เกิน 3 คน)
  • เบิกค่าคลอดบุตรได้ 15,000 บาท (ไม่จำกัดจำนวนครั้ง)
  • ถ้าผู้หญิงได้รับเงินสงเคราะห์จากการลาคลอด เหมาจ่าย 50% ของเงินเดือน เป็นระยะเวลา 90 วัน (ใช้สิทธิได้เฉพาะบุตรคนที่ 1 และ 2 เท่านั้น)

5. เสียชีวิต

  • ได้รับค่าทำศพ 50,000 บาท
  • เงินสงเคราะห์ ถ้าก่อนเสียชีวิต ผู้ประกันตนได้ส่งเงินตั้งแต่ 36 เดือนขึ้นไป แต่ไม่ถึง 120 เดือน จะได้เงินเท่ากับค่าจ้างเฉลี่ย 2 เดือน แต่ถ้าส่งเงินมาแล้วตั้งแต่ 120 เดือนขึ้นไป จะได้เงินเท่ากับค่าจ้างเฉลี่ย 6 เดือน
  • โดยจ่ายให้กับคนที่ผู้ประกันตนทำหนังสือระบุให้เป็นคนได้รับเงินส่วนนี้ แต่ถ้าไม่ได้มีหนังสือระบุไว้ก็ให้นำมาเฉลี่ยจ่ายให้แก่ สามีหรือภรรยา พี่แม่ หรือลูกของผู้ประกันตนในจำนวนที่เท่ากัน ซึ่งสามารถขอรับคืนเงินได้ภายใน 2 ปี

6. เงินคืนชราภาพ

ได้รับ 20% จากฐานเงินเดือน (ฐานสูงสุด 4,800 บาท) โดยหากต่อประกันสังคม ม.39 ครบ 60 เดือน ฐานการคำนวณจะเปลี่ยนจาก 15,000 บาท เป็น 4,800 บาท ทำให้ได้รับเงินบำนาญน้อยลง แต่ถ้าต่อ ม.39 ไม่ครบ 60 เดือน จะนำฐานคำนวณทั้งสองมาเฉลี่ยกัน

ข้อดี

ได้รับความคุ้มครองต่อเนื่อง หากเจ็บป่วยก็สามารถเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลที่มีสิทธิได้เลย

ข้อเสีย

ได้รับเงินบำนาญคืนน้อยมาก และหากต่อ ม.39 หลังจากที่เกษียณอายุหรืออายุ 60 ปี สิทธิประโยชน์อื่น ๆ อย่างค่าเลี้ยงดูลูก ค่าคลอดลูก อาจจะไม่ได้ใช้

ทางเลือกที่ 2 : มาตรา 40

จากที่สมทบเดือนละ 750 บาท จะสามารถสมัครมาตรา 40 โดยเลือกได้ 3 แพ็คเกจ คือ 70 บาท 100 บาท หรือ 300 บาท

สิทธิประโยชน์

1. เดือนละ 70 บาท ได้รับสิทธิ 3 กรณี ดังนี้

1.1 เงินชดเชยการขาดรายได้กรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย

  • ผู้ป่วยใน วันละ 300 บาท
  • ผู้ป่วยนอก แต่มีใบรับรองแพทย์ให้หยุดพักรักษาตัวตั้งแต่ 3 วันขึ้นไป วันละ 200 บาท และหยุดพักรักษาตัวไม่เกิน 2 วัน (มีใบรับรองแพทย์) ไม่เกิน 3 ครั้ง ต่อปี วันละ 50 บาท

หมายเหตุ : สิทธิการรักษาใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพ/บัตรทอง (สปสช.) หรือสิทธิเดิมที่มีอยู่

1.2 ทุพพลภาพ

ได้รับเงินทดแทนการขาดรายได้ต่อเดือน เป็นระยะเวลา 15 ปี

  • จ่ายเงินมาแล้ว 6 เดือนใน ได้รับ 500 บาท
  • จ่ายเงินมาแล้ว 12 เดือนได้รับ 650 บาท
  • จ่ายเงินมาแล้ว 24 เดือนได้รับ 800 บาท
  • จ่ายเงินมาแล้ว 36 เดือนได้รับ 1,000 บาท

*เสียชีวิตระหว่างรับเงินทดแทนการขาดรายได้กรณีทุพพลภาพ ได้รับเงินค่าทำศพ 25,000 บาท

1.3 เสียชีวิต

  • ผู้จัดการศพได้รับเงินค่าทำศพ 25,000 บาท
  • ได้รับเงินสงเคราะห์ 8,000 บาท หากจ่ายเงินไม่น้อยกว่า 60 เดือน ก่อนเดือนที่ตาย

2. เดือนละ 100 บาท ได้รับสิทธิเหมือนทางเลือกที่ 1 แต่เพิ่มในส่วนชราภาพ ดังนี้

  • ได้รับเงินบำเหน็จชราภาพ (เงินสมทบ 50 บาท x จำนวนเดือนที่จ่ายเงิน + เงินออมเพิ่ม) พร้อมผลประโยชน์ตอบแทนรายปีตามที่สำนักงานประกันสังคมกำหนด ซึ่งสามารถออมเพิ่มได้ไม่เกิน 1,000 บาท ต่อเดือน

3. เดือนละ 300 บาท ได้รับสิทธิ 5 กรณี ดังนี้

3.1 เงินทดแทนการขาดรายได้ กรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย

  • ผู้ป่วยใน ได้รับวันละ 300 บาท
  • ผู้ป่วยนอก แต่มีใบรับรองแพทย์ให้หยุดพักรักษาตัวตั้งแต่ 3 วันขึ้นไป วันละ 200 บาท

หมายเหตุ : สิทธิการรักษาใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพ/บัตรทอง (สปสช.) หรือสิทธิเดิมที่มีอยู่

3.2 ทุพพลภาพ

ได้รับเงินทดแทนการขาดรายได้ต่อเดือน ตลอดชีวิต

  • จ่ายเงินสมทบมาแล้ว 6 เดือนใน ได้รับ 500 บาท
  • จ่ายเงินสมทบมาแล้ว 12 เดือนได้รับ 650 บาท
  • จ่ายเงินสมทบมาแล้ว 24 เดือนได้รับ 800 บาท
  • จ่ายเงินสมทบมาแล้ว 36 เดือนได้รับ 1,000 บาท

*เสียชีวิตระหว่างรับเงินทดแทนการขาดรายได้กรณีทุพพลภาพ ได้รับเงินค่าทำศพ 50,000 บาท

3.3 กรณีเสียชีวิต

  • ผู้จัดการศพได้รับเงินค่าทำศพ 50,000 บาท ก่อนเดือนที่ตาย

3.4 ชราภาพ

  • ได้รับเงินชราภาพ (เงินสมทบ 150 บาท x จำนวนเดือนที่จ่ายเงิน + เงินออมเพิ่ม) พร้อมผลประโยชน์ตอบแทนรายปีตามที่สำนักงานประกันสังคมกำหนด ซึ่งสามารถออมเพิ่มได้ไม่เกิน 1,000 บาท ต่อเดือน

3.5 ค่าเลี้ยงดูลูก

  • ได้รับเงินค่าเลี้ยงดูลูกรายเดือน คนละ 200 บาท ครั้งละไม่เกิน 2 คน อายุตั้งแต่แรกเกิดแต่ไม่เกิน 6 ปี บริบูรณ์

ข้อดี

ช่วยแบ่งเบาภาระได้บางส่วน และได้รับเงินคืนจาก ม.33 เต็มเม็ดเต็มหน่วย

ข้อเสีย

ไม่ได้รับความคุ้มครองในส่วนของค่ารักษาพยาบาล อาจจะต้องออกจ่ายเองหรือใช้สิทธิบัตรทองแทน

ทางเลือกที่ 3 : ไม่ต่ออะไรเลย

ข้อดี

ได้รับเงินคืนจากประกันสังคม ม.33 เต็มเม็ดเต็มหน่วย โดยไม่โดนปรับฐานการคำนวณ และไม่ต้องจ่ายเงินประกันสังคมทุกเดือน ทำให้ประหยัดไปถึง 5,184 บาท/ปี คำนวณจากหากต้องจ่าย ม.39 ระยะเวลา 1 ปี

ข้อเสีย

ไม่ได้รับสิทธิอะไรเลย แต่สามารถเพิ่มเงินจาก 5,184 บาทที่ต้องจ่ายประกันสังคมไปซื้อประกันสุขภาพเองได้

FinSpace

ที่มาบทความ: https://www.finspace.co/resigned-social-security/