ช่วงนี้คงได้ยินคำว่า “The Great Resignation” กันมาก นั่นคือการลาออกครั้งใหญ่ของมนุษย์เงินเดือน เมื่อเศรษฐกิจเริ่มฟื้นกลับสู่สภาพปกติ

อย่างไรก็ดี ใครที่เริ่มรู้สึกอยากจะลาออก กำลังมองหางานใหม่ สิ่งหนึ่งที่ห้ามลืมก็คือวางแผนการเงินให้ดีเสียก่อน ดังนั้น มาดูกันว่ามีสิ่งไหนบ้างที่ต้องจัดการให้เรียบร้อย

1. เงินสำรองฉุกเฉินมีหรือยัง?

 ก่อนลาออกจากงานประจำ อย่างน้อยควรมีเงินสำรองไว้ใช้สัก 6 เดือนแบบไม่เดือดร้อน เผื่อไว้สำหรับค่ากิน ค่าน้ำ ค่าไฟ และภาระหนี้สินต่างๆ ที่ไม่ได้หายไป แม้จะลาออก

ถ้ายังไม่มีเงินสำรองหรือยังหางานใหม่ไม่ได้ แนะนำว่าอย่าเพิ่งตัดสินใจลาออกเด็ดขาด เพราะอาจทำให้เครียดกว่าเดิมก็ได้

2. เคลียร์หนี้ให้เหลือน้อยที่สุด

ถ้าคิดว่าอยากจะใช้เวลาช่วงนี้ฮีลตัวเอง หยุดทำงานสักพัก ก็ควรที่จะลดภาระหนี้สินเท่าที่จะทำได้ โดยเฉพาะหนี้ระยะสั้น แต่ดอกเบี้ยสูงมาก เช่น บัตรเครดิต สินเชื่อส่วนบุคคล เพื่อเพิ่มสภาพคล่องทางการเงินให้ตัวเอง

3. จัดการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ

ใครที่มีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (PVD) เมื่อลาออกจากบริษัท ต้องวางแผนเงินส่วนนี้ให้ดีด้วย เพราะถ้าอายุยังไม่ถึง 55 ปี ต้องนำมายื่นภาษี แต่ถ้าไม่อยากเสียภาษีนั้น ก็มี 3 ทางเลือก ได้แก่ โอนเงินไปเก็บไว้ที่ RMF, ย้ายไป PVD ของที่ทำงานใหม่ หรือ เก็บไว้กับ PVD ของที่ทำงานเดิมก่อน

4. ใช้ประกันสังคมให้เป็นประโยชน์

รู้ไหมว่าเมื่อลาออกจากงาน เราสามารถไปขึ้นทะเบียนผู้ว่างงานกับประกันสังคม ภายใน 30 วัน เพื่อรับเงินทดแทนว่างงาน สูงสุดไม่เกิน 4,500 บาท/เดือน (ได้รับไม่เกินปีละ 90 วัน)

ส่วนใครที่คิดว่าจะไม่กลับมาทำงานประจำอีกแล้ว อย่าลืมจัดการเรื่องการต่ออายุประกันสังคม โดยการยื่นสมัครเป็นสมาชิกแบบผู้ประกันตนโดยสมัครใจตามมาตรา 39 เพื่อสิทธิประโยชน์รักษาพยาบาล และรักษาสิทธิเงินออมชราภาพยามเกษียณ

สุดท้ายขอฝากทุกคนไว้ว่า อย่ารีบตัดสินใจโดยไม่วางแผนการเงิน! เพราะในสถานการณ์แบบนี้ การที่ยังมีงานประจำ มีรายได้สม่ำเสมอ ถือเป็นเรื่องที่ดีมากๆ แต่หากเตรียมพร้อมอย่างดีแล้วละก็ การพาตัวเองไปหาโอกาสใหม่ๆ ก็ไม่ใช่เรื่องผิดอะไรเลย

FinSpace

TSF2024