แปลกแต่จริง! มีคนจำนวนไม่น้อย เมื่อรายได้มากขึ้น แต่กลับไม่ได้มีเงินเก็บมากขึ้นตาม
หากใครเป็นแบบนี้อยู่ บางทีสาเหตุอาจจะมาจากการติดกับดักพฤติกรรมการใช้เงินที่เรียกว่า “Lifestyle Inflation” อยู่ก็ได้
Lifestyle Inflation คือ ภาวะการใช้เงินที่ฟุ่งเฟ้อ เมื่อมีรายได้มากขึ้น ซี่งเป็นพฤติกรรมการใช้เงินเพื่ออัปเกรดไลฟ์สไตล์ของตัวเอง หรือให้รางวัลกับตัวเอง หลังการทุ่มเททำงานหนักจนประสบความสำเร็จเรื่องรายได้
เช่น อยากเริ่มผ่อนรถที่แพงขึ้น อยากย้ายไปเช่าคอนโดที่ใหญ่กว่าเดิม อยากเปลี่ยนแพ็กเกจมือถือ ตลอดจนการยกระดับค่าใช้จ่ายต่างๆ ในชีวิตประจำ ทั้งค่ากิน ค่าดื่ม ค่าเที่ยว
อย่างไรก็ดี ย้ำว่า Lifestyle Inflation เป็นเรื่องเฉพาะบุคคล ไม่มีถูกผิด เราสามารถใช้เงินซื้อความสะดวกสบาย ตลอดจนซื้อความสุขในชีวิตได้ แต่ต้องอยู่บนพื้นฐานที่ว่าไม่เป็นการใช้เงินอย่างเกินตัวจนไม่มีเก็บออมเลย
คำถามคือแล้วเราจะมีทางออกของเรื่องนี้ยังไงดี ในแบบที่สามารถอัปเกรดชีวิตให้มีคุณภาพ ควบคู่ไปกับการมีเงินเก็บออมได้มากขึ้นด้วย
FinSpace ขอแนะนำให้กำหนดจำนวนเปอร์เซ็นต์ของรายได้ไปเลยว่ารายได้ 100% จะแบ่งเป็นค่าใช้จ่ายอะไรบ้าง
เช่น เงินเดือน 50,000 บาท ก็อาจจะกำหนดสัดส่วนแบบนี้
- เป็นรายจ่ายประจำ 60% เท่ากับ 30,000 บาท
- เป็นรายจ่ายเพื่อซื้อความสุข 10% เท่ากับ 5,000 บาท
- เป็นเงินออม 20% เท่ากับ 10,000 บาท
- เป็นเงินสำหรับฉุกเฉิน 10% เท่ากับ 5,000 บาท
วิธีนี้จะช่วยให้เราใช้จ่ายอย่างมีสติ และไม่เกินเลยไปกับอารมณ์ชั่ววูบ ที่สำคัญคือเมื่อรายได้เพิ่มขึ้น จำนวนเงินออมก็จะสูงขึ้นด้วยตามสัดส่วนที่วางไว้ โดยที่ยังมีความสุขกับชีวิต
FinSpace
ที่มาบทความ: https://www.finspace.co/lifestyle-inflation/