อยากลงทุนในหุ้นปันผลสูง แบบถือยาว ๆ เพื่อสร้างกระแสเงินสดกลับมาเรื่อยๆ อย่างสม่ำเสมอ ที่ควรพิจารณามีอะไรบ้าง แล้วจะหาหุ้นปันผลดี ๆ ได้จากที่ไหน เรามีคำตอบมาฝาก
หุ้นปันผล คืออะไร?
หุ้นปันผล คือ หุ้นในตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่มีการจ่ายเงินปันผลแก่ผู้ถือหุ้นอย่างสม่ำเสมอ
โดยดูได้จากอัตราส่วนเงินปันผลตอบแทน (Dividend Yield) ที่บอกว่าเราจะได้รับเงินปันผลเป็นกี่เปอร์เซ็นต์ของราคาหุ้นที่ลงทุน ตัวเลขนี้ยิ่งสูงยิ่งดี หรือควรมีอัตราการจ่ายเงินปันผลมากกว่า 4 – 5% ต่อปี
วิธีหา Dividend Yield จะคำนวณจากเปอร์เซ็นต์ของจำนวนเงินปันผลของหุ้นตัวนั้น ๆ ด้วยสูตร เงินปันผลต่อหุ้น x 100 / ราคาหุ้น เช่น
- หุ้น A จ่ายเงินปันผลที่ 5 บาท/หุ้น ราคาปัจจุบัน 40 บาท แปลว่า Dividend Yield เท่ากับ 12.50%
- หุ้น B จ่ายเงินปันผลที่ 10 บาท/หุ้น ราคาปัจจุบัน 200 บาท แปลว่า Dividend Yield เท่ากับ 5%
นอกจากนี้ บางคนอาจจะใช้ อัตราการจ่ายปันผล (Dividend Payout Ratio) เพื่อดูประกอบกันด้วย ซึ่งบอกว่าบริษัทจ่ายปันผลเป็นสัดส่วนเท่าไรของกำไรต่อหุ้นในแต่ละปี
ทั้งนี้ Dividend Payout Ratio คำนวณจาก (เงินปันผลต่อหุ้น / กำไรสุทธิต่อหุ้น) x 100
หุ้นปันผล เหมาะกับใคร
1. นักลงทุนระยะยาว
โดยทั่วไปแล้วหุ้นที่จ่ายปันผลดี มักจะมีพื้นฐานธุรกิจแข็งแกร่ง และเติบโตมาได้ระยะหนึ่งแล้ว จึงเหมาะกับผู้ที่ต้องการลงทุนระยะยาว เก็บผลตอบแทนจากเงินปันผลไปเรื่อย ๆ แต่อาจไม่เหมาะนักกับคนที่อยากทำกำไรจากส่วนต่างราคาในระยะสั้น
2. ต้องการสภาพคล่อง สร้างกระแสเงินสดกลับมาเรื่อย ๆ
ใครต้องการสร้างกระแสเงินสดกลับมาทุก ๆ ปี ในรูปแบบ Passive Income หุ้นปันผลถือว่าตอบโจทย์ได้อย่างดี
3. กระจายความเสี่ยงพอร์ตลงทุน
อย่างที่รู้กันว่าหุ้นกลุ่มนี้มักเติบโตมาสักระยะแล้ว จึงมีความอ่อนไหวต่อความผันผวนต่ำ แม้ในช่วงเศรษฐกิจแย่ บริษัทเหล่านี้ก็มักจะเป็นกลุ่มท้ายๆ ที่ได้รับผลกระทบ
6 เช็กลิสต์ ก่อนเลือกหุ้นปันผล
จริงอยู่ที่ว่า Dividend Yield เป็นสิ่งที่บอกความคุ้มค่าของหุ้นปันผล ทั้งนี้ทั้งนั้น การเลือกหุ้นสักตัวเพื่อถือลงทุน ควรใช้ปัจจัยอื่น ๆ พิจารณาควบคู่ไปกันด้วย ได้แก่
- พื้นฐานธุรกิจดี เติบโตสม่ำเสมอ
- โครงสร้างทางการเงินเข็งแกร่ง
- อยู่ในธุรกิจที่เป็นเทรนด์ขาขึ้น
- เป็น Defensive Stock ไม่ค่อยผันผวนตามเศรษฐกิจ
- ประวัติจ่ายเงินปันผลยอดเยี่ยม
- เงินปันผลไม่ได้มาจาก “กำไรพิเศษ” ที่เกิดขึ้นครั้งเดียว
หมายเหตุ: บทความนี้ไม่ได้มีเจตนาส่งเสริมการซื้อหรือขายหลักทรัพย์ ผู้ลงทุนควรศึกษาปัจจัยให้รอบด้านก่อนตัดสินใจลงทุน
FinSpace
ที่มาบทความ: https://www.finspace.co/how-to-dividend-stock/