ปิรามิดทางการเงินคืออะไร?
ปิรามิดทางการเงิน (Financial Pyramid) คือ การเปรียบเทียบการวางแผนการเงินให้ออกมาในรูปแบบของปิรามิด โดยเป็นการเรียงลำดับความสำคัญจากฐานไปสู่ยอด ว่าควรวางแผนอะไรก่อน-หลัง เปรียบเสมือนการสร้างบ้านที่ให้ความสำคัญกับการสร้างรากฐานให้มั่นคงก่อน แบ่งออกเป็น 5 ส่วน ดังนี้
ส่วนที่ 1 : การจัดการวางแผนใช้จ่ายและวางแผนหนี้สิน (Cash Flow Management)
อันดับแรกต้องมาจัดการกับรายรับ – รายจ่ายที่มี เพื่อสร้างฐานการเงินของเราให้มั่นคง แข็งแรงก่อน โดยอาจแบ่งรายได้ออกเป็น 3 ส่วน ตามแนวคิด 50/30/20 ของ Elizabeth Warren นักวิชาการและนักการเมืองชาวสหรัฐอเมริกา ดังนี้
- 50% NEEDs สำหรับค่าใช้จ่ายจำเป็น
- 30% WANTs สำหรับค่าใช้จ่ายเพื่อความสุขส่วนตัว
- 20% SAVINGs สำหรับการเก็บออมและนำไปลงทุน
โดยเงินออมก้อนแรกที่ควรมีคือ เงินสำรองฉุกเฉิน 3-6 เท่าของค่าใช้จ่ายต่อเดือน เผื่อเกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดขึ้น แนะนำเก็บเงินส่วนนี้ไว้ในที่ที่มีสภาพคล่องสูง สามารถนำออกมาใช้ได้ทันที เช่น บัญชีออมทรัพย์ หรือกองทุนรวมตลาดเงิน
เป้าหมายของสูตรดังกล่าว เป็น “เข็มทิศนำทาง” ให้เราจัดระเบียบการใช้จ่ายของตัวเองให้เข้าที่เข้าทางได้อย่างรวดเร็ว สามารถปรับใช้เพื่อให้เข้ากับรายรับ-รายจ่ายของแต่ละคนได้ อีกทั้งยังเป็นการตรวจสอบว่าที่ผ่านมานั้นเราใช้จ่ายเงินเกินตัวในเรื่องไหนบ้างหรือไม่
ส่วนที่ 2 : การป้องกันความเสี่ยง (Protection)
ฐานถัดมาคือการป้องกันความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นกับแผนการเงินของเรา โดยการโอนย้ายความเสี่ยงไปไว้ที่อื่น ด้วยเครื่องมือที่มีชื่อว่า “ประกัน” นั่นเอง โดยประกันจะแบ่งออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ ๆ ได้แก่
2.1 ประกันวินาศภัย (Non-Life Insurance) คือ การคุ้มครองสินทรัพย์ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับชีวิต เช่น ประกันรถยนต์ ประกันอัคคีภัย ประกันการโจรกรรม
2.2 ประกันชีวิต (Life Insurance) คือ การคุ้มครองการเสียชีวิต ทุพพลภาพ ด้วยโรคหรืออุบัติเหตุ ซึ่งประกันชีวิตแบ่งออกเป็น 5 แบบ ดังนี้
- แบบชั่วระยะเวลา (Term) ให้ความคุ้มครองระยะสั้น เบี้ยประกันถูกมาก แต่เป็นเบี้ยทิ้ง ต้องเสียชีวิตเท่านั้นคนข้างหลังถึงจะได้รับเงินทุนประกัน ซึ่งเหมาะกับคนที่ชีวิตมีความเสี่ยงในช่วงระยะเวลาใดเวลานึง และต้องการเพิ่มความคุ้มครองชีวิตในระยะเวลานั้น
- แบบตลอดชีพ (Whole Life) เน้นการคุ้มครองระยะยาว 90 หรือ 99 ปี แต่จ่ายเบี้ยสั้น อยู่ครบสัญญาหรือเสียชีวิตก็จะได้รับเงินทุนประกัน เหมาะกับคนที่เป็นหัวหน้าครอบครัว หรือคนที่ต้องการทำประกันสุขภาพ ก็สามารถซื้อประกันแบบนี้แล้วเพิ่มค่ารักษาพยาบาลเข้าไปได้เลย
- แบบสะสมทรัพย์ (Endowment) เป็นประกันออมเงินที่ได้รับความนิยม จะได้รับเงินก้อนเมื่อครบสัญญาหรือเสียชีวิต ซึ่งเหมาะกับคนที่ต้องการต้องการความคุ้มครองพร้อมออมเงิน แต่รับความเสี่ยงได้น้อย
- แบบประกันบำนาญ (Annuity) จ่ายเบี้ยจนถึงอายุ 55 หรือ 60 ปี หลังเกษียณจะได้รับเงินบำนาญคล้ายข้าราชการ ซึ่งเหมาะกับการออมเงินไว้ใช้หลังเกษียณ
- แบบประกันชีวิตควบการลงทุน (Unit Linked) มีทั้งความคุ้มครองชีวิตและผลตอบแทนจากการลงทุน ซึ่งเหมาะกับคนที่ต้องการความคุ้มครอง พร้อมผลตอบแทนที่มากกว่าประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์ และรับความเสี่ยงจากการลงทุนได้
จะเห็นได้ว่า ประกันแต่ละแบบมีข้อดี ข้อเสียแตกต่างกันไป ควรศึกษาและเลือกให้ตรงกับโจทย์ชีวิตของแต่ละคน ซึ่งบางคนอาจไม่ค่อยให้ความสำคัญ และมองว่าเป็นภาระ แต่มันอาจช่วยปกป้องหายนะในอนาคตของเราก็เป็นได้
ส่วนที่ 3 : การออมและการลงทุน (Saving & Investment)
เมื่อส่วนที่ 1 และส่วนที่ 2 มั่นคงแล้ว ก็มาต่อกันที่การต่อยอดโจทย์ชีวิตของแต่ละคนกัน ว่ามีเป้าหมายในชีวิตอย่างไรบ้าง โดยแบ่งออกเป็น 3 ระยะด้วยกัน ได้แก่
- ระยะสั้น (ไม่เกิน 3 ปี) เช่น เรียนต่อ ท่องเที่ยวต่างประเทศ แนะนำพอร์ตลงทุนแบบระมัดระวัง เน้นลงทุนสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำถึงปานกลาง อย่างบัญชีฝากประจำ หรือกองทุนรวมตลาดเงิน
- ระยะปานกลาง (3-7 ปี) เช่น แต่งงาน แนะนำพอร์ตลงทุนความเสี่ยงปานกลาง อย่างกองทุนรวมตราสารหนี้ หรือกองทุนรวมผสม
- ระยะยาว (7 ปีขึ้นไป) เช่น การเกษียณ แนะนำพอร์ตลงทุนความเสี่ยงปานกลางถึงสูง เน้นการลงทุนในรูปแบบของการสะสมทรัพย์ อย่างประกันบำนาญ RMF หุ้นพื้นฐานดีหรือหุ้นปันผล กองทุนรวมหุ้น อสังหาริมทรัพย์ หรือทองคำ
ส่วนที่ 4 : วางแผนภาษี (Tax)
แผนการเงินที่ดี จะต้องครอบคลุมไปจนถึงการวางแผนภาษีด้วย เพราะเป็นหน้าที่ของพลเมืองดีที่ต้องยื่นภาษีทุกปี ซึ่งเราสามารถใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีต่าง ๆ ที่กฎหมายกำหนดไว้ไปใช้ลดหย่อนภาษีเงินได้ประจำปี เพื่อลดการจ่ายภาษีให้น้อยลง หรือไม่ต้องเสียภาษีเลยก็ทำได้ โดยวิธีคำนวณภาษี มีดังนี้
4.1 คำนวณเงินได้สุทธิ ตามสูตร รายได้ทั้งปี – ค่าใช้จ่าย – ค่าลดหย่อน = เงินได้สุทธิ
4.2 เทียบอัตราภาษีแบบขั้นบันได ตามสูตร (เงินได้สุทธิ – เงินได้สุทธิสูงสุดของขั้นก่อนหน้า) x อัตราภาษี + ภาษีขั้นบันไดก่อนหน้าสูงสุด = ภาษีที่เราต้องจ่าย หรือได้คืนนั่นเอง
อีกวิธีที่ในการวางแผนภาษี ที่ง่ายมาก ๆ คือการใช้โปรแกรมหรือแอปฯ ในการคำนวณภาษี ซึ่งมีอยู่หลายเว็บด้วยกัน ยกตัวอย่างเช่น ตลาดหลักทรัพย์ : https://www.set.or.th/…/caltools/www/html/tax/index.html
และยิ่งถ้าเราวางแผนภาษีได้เป็นอย่างดี เงินที่ประหยัดได้นี้ ก็สามารถนำไปต่อยอดให้งอกเงย สร้างเงินกลับมาให้เราได้อีกต่อหนึ่งด้วย
ส่วนที่ 5 : การวางแผนมรดก (Wealth transfer)
ฐานสุดท้ายของปิรามิดทางการเงิน จำเป็นต้องมีการส่งต่อมรดก เพราะจะช่วยให้สิ่งที่เราสร้างและเก็บรักษามาตลอดชีวิตถูกจัดสรรให้แก่คนที่เรารัก ไม่ว่าจะเป็นคนในครอบครัว หรือญาติพี่น้อง โดยการวางแผนมรดกจะช่วยส่งผ่านความมั่งคั่งจากรุ่นสู่รุ่น แถมยังช่วยให้เรามั่นใจได้ว่าทรัพย์สมบัติทั้งหมดที่เราหามาด้วยน้ำพักน้ำแรงนั้น จะถูกสืบทอดไปตามเจตนารมณ์ของเรา ซึ่งวิธีการวางแผนมรดกแบ่งออกเป็น 3 ขั้นตอนด้วยกัน ดังนี้
5.1 สำรวจทรัพย์สินในปัจจุบัน โดยทำการรวบรวมทรัพย์สินและหนี้สินของเราที่กระจัดกระจายอยู่ตามแหล่งต่าง ๆ ให้มารวมอยู่ใน “งบดุลส่วนบุคคล” เพื่อนำมาสรุปว่าเรามีทรัพย์สินและหนี้สินอยู่จำนวนเท่าไหร่
5.2 ทำพินัยกรรม เพื่อให้แน่ใจว่าทรัพย์สินจะถูกส่งต่อไปยังบุคคลที่เราต้องการมอบให้อย่างแน่นอนและครบถ้วน แต่ควรอัปเดตรายละเอียดในพินัยกรรมอย่างน้อยทุก ๆ 3 – 5 ปี
5.3 วางแผนภาษีมรดก เนื่องจากประเทศไทยมีการจัดเก็บภาษีมรดกตามพระราชบัญญัติภาษีการรับมรดก พ.ศ.2558 แต่หากมีการวางแผนมอบมรดกที่ดี อาจช่วยให้คนที่เรารักไม่ต้องเสียภาษีมรดกมากเกินไปก็เป็นได้
จะเห็นว่าการวางแผนชีวิตด้วยปิรามิดทางการเงิน ก็เป็นอีกรูปแบบหนึ่งที่ช่วยให้เราสามารถวางแผนจัดสรรการเงินได้อย่างมีระบบ แต่ก็มีความยากในเรื่องของการลงทุนเพื่อเป้าหมายต่าง ๆ เพราะด้วยพื้นฐานของคนเราแล้ว มักไม่ได้มีแค่เป้าหมายเดียวในชีวิต มีทั้งแต่งงาน ค่าเทอมลูก ซื้อบ้าน หรือเกษียณ