ในปัจจุบัน ใครๆ ก็ใช้ชีวิตแบบ “ติดแกลม” โดยเฉพาะ Gen Z ที่อายุระหว่าง พ.ศ. 2541-2565 คำว่า “ติดแกลม” มาจาก “Glamorous” แปลว่า สวย มีสเน่ห์ น่าดึงดูด
ซึ่งวัยรุ่น Gen Z นิยมใช้คำนี้ เนื่องจาก ต้องการใช้ชีวิตหรู ภาพลักษณ์ออกมาดี ซื้อสินค้าแบรนด์เนม ทานอาหารแพง ๆ หรือไปเที่ยวทุกสุดสัปดาห์
ไลฟ์สไตล์แบบ “ติดแกลม” ทำให้วัยรุ่น Gen Z หันมาใช้จ่ายกันมากขึ้น โดยเป็นการซื้อและผ่อนตามทีหลัง เพราะมองเห็นว่า ”ของมันต้องมี”
พฤติกรรมนี้จึงเสี่ยงทำให้มีรายจ่ายมากกว่ารายรับ เกิดหนี้ครัวเรือนมากเพิ่มขึ้น อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย นายธนวรรธน์ พลวิชัย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เผยสถานภาพหนี้ครัวเรือนไทยปี 2566 พบว่า ภาระหนี้สิน ที่เป็นหนี้บัตรเครดิต หนี้อสังหาริมทรัพย์ หรือหนี้รถยนต์ เฉลี่ยต่อครัวเรือนเพิ่มสูงขึ้นมากสุดในรอบ 15 ปี ส่วนหนึ่งเกิดจากค่านิยมในสื่อโซเชียล ไม่ว่าจะหันไปทางไหนก็เจอ
4 คำแนะนำการเงินสำหรับคน Gen Z
1. ถึงไม่มีความรัก แต่ยังมีความรู้
หากใครที่ยังไม่มีรายได้ ยังต้องมีค่าขนมจากผู้ปกครอง หรือมีแค่งานประจำเพียงงานเดียว การเริ่มต้นที่เหมาะสมในก้าวแรกก็คือ ลงทุนในความรู้ทักษะของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นการหาคอร์สเรียน ฟัง Podcast อ่านหนังสือ เพื่อที่จะสามารถนำไปต่อยอดในอนาคตและติดตัวเราไปตลอด เช่น หากเราลงเรียนคอร์สเสริมทักษะ เราก็สามารถนำไปพัฒนาในอาชีพการงาน หรือเลื่อนขั้นที่สูงขึ้นได้
2. ใครไม่ออม เงินออม
“เก็บหอมรอมริบ” เป็นสุภาษิตที่อยู่คู่คนไทยมายาวนาน ซึ่งหมายถึง เก็บไว้ทีละเล็กละน้อย สร้างนิสัยประหยัด ไม่ใช้จ่ายเกินตัว ในที่สุดเงินก็จะเพิ่มพูนขึ้นมา คนไทยเมื่อก่อนมักจะสอนลูกหลานให้ประหยัดออมเงิน หรือทรัพย์สินที่หามาได้ เพื่อไม่ให้เกิดหนี้สิน หรือนำเงินที่เราออมไว้ ไปลงทุนในกองทุน หุ้นต่าง ๆ จะมากหรือน้อยพอถึงวัยเกษียณก็จะมีให้เราเหลือใช้
3. Work Hard Pay Hard แต่ต้องมีเงินสำรอง
ในวันที่เราล้ม ถ้าเงินที่เรามีไม่พอใช้ เราควรวางแผนที่จะมีเงินสำรองฉุกเฉิน เช่น หากเราทำงานประจำ เป็นมนุษย์ออฟฟิศ เราควรมีเงินสำรองฉุกเฉินอย่างน้อย 6 เท่าของค่าใช้จ่ายรายเดือน เช่น เงินเดือน 20,000 เงินสำรองเราควรมี 120,000 บาท เพราะหากเกิดปัญหาในอนาคต เราจะได้ล้มโดยที่ยังมีฟูกรอง
4. วางแผนการลงทุน
สิ่งสำคัญที่จะทำให้เราเริ่มต้นลงทุนได้อย่างง่าย คือ เราต้องรู้เป้าหมายของเราว่าต้องการแบบไหน มองถึงวัยเกษียณ หรือมีเงินเก็บสำรองเพื่อใช้ในยามฉุกเฉิน การเลือกลงทุนใน หุ้น กองทุนรวม หรือคริปโทเคอร์เรนซี ก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ทำให้เราสามารถก้าวไปข้างหน้าได้อย่างไม่เสียเปล่า
การลงทุนที่เหมาะกับ ‘Gen-Z’ เรียกว่ามีหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็น หุ้น ตราสารหนี้ อสังหาริมทรัพย์ หรือกองทุน หากใครต้องการลงทุนระยะยาว มีโอกาสเติบโต
Gen Z ยังเหมาะกับกองทุนที่มีความเสี่ยงสูงขึ้นมาเพราะยังมีเวลาในการปรับพอร์ตอีกมาก นอกจากนี้ คนวัยนี้ยังอยู่ในช่วงเริ่มต้นสู่การทำงาน (First Jobber) โดยเน้นการสร้างความมั่งคั่งเป็นหลัก
แต่ถึงแม้ช่วงอายุจะเป็นตัวแปรในการจัดสรรเงินลงทุน แต่ยังมีปัจจัยอื่น ๆ ที่ด้องพิจารณาควบคู่ไปด้วย เช่น หน้าที่การงาน วัตถุประสงค์ของการลงทุน ตัวเราต้องการไปใช้จ่ายแบบไหน กิน เที่ยว ชอปปิง หรือระยะเวลาในการลงทุน หากเราวางแผนหรือมีเป้าหมาย จะทำให้สามารถยอมรับความเสี่ยงและมีการจัดสรรเงินในพอร์ตลงทุนที่แตกต่างกัน
FinSpace
ที่มาบทความ: https://www.finspace.co/gen-z-finance/