FIRE หรือ Financial Independence Retire Early เป็นเทรนด์วางแผนการเงินที่กำลังได้รับความนิยมอย่างมากในกลุ่มมนุษย์เงินเดือนชาวญี่ปุ่น ด้วยคอนเซ็ปต์ง่ายๆ แต่ทำยากที่ว่า “รีบทำงานเก็บเงิน แล้วเกษียณให้ไวขึ้น” เราเลยจะชวนทุกคนมารู้จักแนวคิดนี้กันให้มากขึ้น พร้อมไอเดียเล็ก ๆ ว่าถ้าอยากทำตามแนวคิด FIRE ควรเริ่มยังไงดี
FIRE คืออะไร?
FIRE มาจากคำว่า Financial Independence Retire Early คือการมีอิสรภาพทางการเงิน และได้เกษียณอายุเร็วที่สุด ซึ่งไอเดียนี้บอกเราว่าการเกษียณไม่ได้กำหนดที่อายุว่าต้อง 60 ปีถึงจะเกษียณได้ แต่กำหนดที่จำนวนเงินในบัญชีต่างหาก!
ต้องมีเงินเท่าไหร่ ถึงจะเกษียณเร็วแบบ FIRE
อยากมีอิสระทางการเงิน และเกษียณได้เร็วขึ้น โจทย์ที่ต้องทำให้ได้มีอยู่ 3 อย่าง นั่นคือ
- มีเงินเก็บ 25 เท่าของรายจ่ายต่อปี
- หลังเกษียณให้ยึดกฎ 4% คือ นำเงินออกมาใช้ปีละไม่เกิน 4% ของเงินเก็บ
- นำเงินเก็บไปลงทุนแบบ Passive Investment เช่น ตราสารหนี้, กองทุนดัชนี, กองทุนอสังหาฯ, หุ้นปันผล ให้มีผลตอบแทนกลับมาต่อเนื่อง และชดเชยเงินต้นในส่วนที่ถูกถอนออกมาใช้จ่าย
เช่น ถ้ารายจ่ายต่อปีอยู่ที่ 500,000 บาท แปลว่าอันดับแรกต้องเก็บเงินให้ได้จำนวน 12.5 ล้านบาท แล้วค่อยแบ่งเงินออกมาใช้ปีละ 4% ซึ่งในปีแรกก็จะอยู่ที่ 500,000 บาทเป๊ะ ๆ
วิธีวางแผนการเงินแบบ FIRE ทำยังไง?
คำถามคือเราจะเก็บเงินก้อนโตขนาดนั้นได้ยังไงในเวลาอันนั้น หลักการเบื้องต้นในหนังสือ Your Money or Your Life บอกไว้ว่าแค่ต้องเก็บออมให้หนัก 50-70% ของรายได้, ใช้ชีวิตอย่างตระหนี่ กินอยู่ต่ำกว่ามาตรฐานที่จับจ่ายได้ และนำเงินไปลงทุนเพื่อย่นย่อระยะเวลาเก็บเงิน
เป็นหลักการ “อดเปรี้ยวไว้กินหวาน” ที่พูดง่าย แต่ทำยากพอสมควร เพราะดูแค่ยอดเงินที่ต้องเก็บต่อเดือน ก็หนักมากแล้ว โดยเฉพาะ First-Second Jobber ที่รายได้ยังไม่สูงมาก อีกทั้งยังดูขัดกับเทรนด์ของคนรุ่นใหม่ที่มักใช้เงินซื้อประสบการณ์ในชีวิต มากกว่าที่จะเก็บออมให้เยอะที่สุดจนไม่ได้ทำอะไรเลย
แล้วทำไม FIRE กลับมาฮิตในคนญี่ปุ่นรุ่นใหม่
แนวคิด FIRE ดูจะขัดกับแนวคิดของคนรุ่นใหม่ทั่วโลก แต่สงสัยไหมว่าทำไมถึงกลับฮิตได้กับคนหนุ่มสาวในประเทศญี่ปุ่น
The Japan Time รายงานว่า แนวคิด FIRE เกิดขึ้นมานานแล้ว แต่สาเหตุที่กำลังได้รับความสนใจจากชาวญี่ปุ่นมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะว่าคนหนุ่มสาวจำนวนมากรู้สึกถึงความไม่มั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ และมองไม่เห็นอนาคตที่ดีของตัวเองในยามบั้นปลาย
นอกจากนี้ การที่ญี่ปุ่นขึ้นชื่อว่าเป็นประเทศที่คนทำงานหนักตลอดชีวิต ก็ยิ่งกระตุ้นให้คนเริ่มรู้สึกอยากหลุดพ้นจากสภาพแบบนี้ เร่งเก็บเงินและประหยัดให้ได้มากที่สุด
เราสามารถนำแนวคิด FIRE มาปรับใช้จริงได้ไหม?
แน่นอนว่า FIRE ดูจะเป็นวิธีที่ไม่ได้เหมาะกับทุกคน และคำว่า Financial Well-Being ของแต่ละคนก็นิยามต่างกัน
โดยส่วนตัวแล้วมองว่าเราสามารถนำบางไอเดียมาปรับใช้ได้เหมือนกัน คือ ไม่ต้องออมสุดขั้ว จนชีวิตไม่ได้ทำอะไร แต่อาจจะลองเปลี่ยนเป็นการเพิ่มรายได้แทน ทั้งจากการทำงาน และให้เงินช่วยทำงานผ่านการลงทุน
ขณะที่บางคนอาจจะหยิบแค่ FI (มีอิสระภาพทางการเงิน) มาใช้อย่างเดียว โดยไม่สนใจ RE (เกษียณไว) เพราะยังอยากที่จะทำงานอยู่ แต่เมื่อไม่ต้องกังวลเรื่องเงินทอง ทำให้สามารถเลือกงานที่เหมาะสมกับตัวเองได้มากขึ้น ไม่ต้องกดดันกับชีวิตจนเกินไป
FinSpace
ที่มาบทความ: https://www.finspace.co/fire/