หากถามว่าคนวัยทำงานที่อายุน้อยที่สุดในยุคนี้ ก็คือเหล่า Gen Z ซึ่งเป็นคนที่เติบโตมาพร้อมกับเทคโนโลยีที่พัฒนาแล้ว ไม่ว่าจะเป็นอินเทอร์เน็ต โทรศัพท์มือถือ หรือโซเชียลมีเดียต่าง ๆ เช่น IG, Tiktok, Twitter
เมื่อเหล่า Gen Z ถึงเวลาที่ต้องออกทำงานสู่โลกกว้าง คนส่วนใหญ่จึงชอบทำงานที่หลากหลาย เปลี่ยนงานบ่อยเพื่อหางานที่เหมาะสมกับตัวเอง หรือหารายได้เสริมผ่านช่องทางออนไลน์ E-Commerce จึงทำให้มีรายได้หลายทาง แต่ถึงแม้จะมีรายได้จากงานประจำหรือจากงานเสริม ก็ยากต่อการคำนวณค่าใช้จ่ายในแต่ละเดือน หากมีค่าใช้จ่ายที่มากเกินไป เช่น การผ่อนค่างวดรถ หรือการผ่อนคอนโด อาจทำให้เกิดสภาพคล่องได้ และนั่นคือเหตุที่ใครหลายคนกำลังเผชิญกับ “วิกฤตการเงิน” แบบไม่รู้ตัว
แต่ท่ามกลางความวุ่นวายของเศรษฐกิจยุคนี้ เราจึงอยากนำเสนอเส้นทางเคล็ดลับการวางแผน “เริ่มต้นดี มีชัยไปกว่าครึ่ง” แม้อยู่ในยุคค่าครองชีพสูงลิ่ว
1. จ่ายไม่พอ รับด้วยนะ
การทำรายรับ – รายจ่าย นับเป็นประโยชน์ต่อการใช้ชีวิตประจำวันของเราเป็นอย่างมาก นอกจากจะช่วยให้เราบริหารเงินได้มากขึ้น ยังเป็นเครื่องมือช่วยการบริหารค่าใช้จ่ายในแต่ละเดือนของเรา เพราะในบางครั้งเราอาจไม่รู้เลยว่าเงินเราใช้จ่ายไปกับค่าอะไร จนทำให้หลาย ๆ ครั้งมักจะเกิดปัญหาเรื่องเงินเดือนชนเดือน ปัญหาเหล่านี้สามารถแก้ไขด้วยการทำรายรับ-รายจ่าย เพราะถือว่าเป็นเรื่องใกล้ตัวของเรามากที่สุด
2. ออมเงินที่ดี ต้องเริ่มจากแบ่งสัดส่วนให้เป็น
การออมเงิน ฟังดูเป็นเรื่องง่าย ๆ แต่เป็นเรื่องที่ยากสำหรับ Gen Z บางคนอาจจะทำได้ เพราะมีภาระเล็กน้อย ถึงยังไงเราก็ต้องตั้งเป้าออมเงินไว้ก่อน และเริ่มลงมือ แม้ว่าจะได้ทีละน้อยก็ตาม เราสร้าง Mindset แบบนี้ เพื่อที่เวลาเรามีรายได้สูงขึ้น หรือมีค่าใช้จ่ายน้อยลง อัตราการออมจะเพิ่มขึ้นได้อย่างรวดเร็ว โดยเราต้องแบ่งสัดส่วนของรายได้ตั้งแต่แรก เพื่อให้เรามองเห็นการแบ่งสัดส่วนของเงินที่มีได้อย่างชัดเจน หลังจากนั้นจะทำให้เรารู้ว่าเงินที่เหลือจะสามารถนำไปใช้จ่ายในส่วนใดได้บ้าง
สูตรการแบ่งสัดส่วนที่นิยมใช้กันคือ “50-30-20” เช่น เงินเดือน 20,000 บาท ให้เราแบ่งเป็น 3 ส่วน ส่วนแรก 50% 10,000 บาท ส่วนที่สองจำนวน 30% 6,000 บาท และส่วนสุดท้าย 20% 4,000 บาท หรือปรับเปลี่ยนตามสถานการณ์ เช่น 70-20-10 หรือ 80-10-10 เพราะฉะนั้น ขึ้นอยู่กับค่าใช้จ่ายและเป้าหมายของแต่ละคน การแบ่งสัดส่วนค่าใช้จ่ายจะช่วยให้เราจัดสรร และมีวินัยทางการเงินมากยิ่งขึ้น
3. มาเสี่ยงกันเถอะ
การวางแผนลงทุนแบบกระจายความเสี่ยง เป็นกลยุทธ์ที่กระจายการลงทุนในสินทรัพย์ต่าง ๆ เพื่อไม่ทำให้เราขาดทุนมากเกินไป กลยุทธ์นี้สามารถปรับใช้ได้กับทุกรูปแบบ ไม่เพียงแค่การลงทุนในกองทุนหรือหุ้นเท่านั้น เหตุผลที่คน Gen Z ควรลงทุนแบบกระจายความเสี่ยง เพราะหากลงทุนในสินทรัพย์ใดมากเกินไป การกระจายความเสี่ยงจะช่วยลดความเสียหายหากเกิดความผันผวนในตลาด เช่น หากลงทุนเพียงกองเดียว เรามีพอร์ตการลงทุนมูลค่า 100,000 บาท ไม่กระจายความเสี่ยง ลงในกองทุนหุ้นกองทุนเดียวแล้วขาดทุน 10% เท่ากับว่าเราขาดทุนไป 10,000 บาท แต่ถ้าหากเรากระจายไป 3 กองทุน จำนวน 100,000 บาท โดยใช้การจัดพอร์ตแบบกระจายความเสี่ยง หุ้น 50% (50,000 บาท) ตราสารหนี้ 26% (26,000 บาท) และกองทุนผสม 24% (24,000 บาท) ถ้าเกิดความผันผวนในตลาด จากที่เราซื้อหุ้น ก็จะขาดทุน 10% (5,000 บาท) ตราสารหนี้ ยังเท่าเดิม กองทุนผสม กำไร 10% (2,400 บาท) เท่ากับเราขาดทุนเพียงแค่ 2,600 บาท
4. เก็บเงินสำรองฉุกเฉิน
เมื่อเราทำงานมาได้ระยะหนึ่งที่สามารถเก็บเงินได้แล้ว เงินเก็บก้อนสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม คือ เงินสำรองฉุกเฉิน เพราะเงินส่วนนี้คือ เงินที่ออมเพื่อเป้าหมายที่เราตั้งไว้ เช่น ซื้อบ้าน ซื้อรถ แต่สำหรับเงินสำรองฉุกเฉินนี้ ควรเก็บไว้ในที่ที่มีสภาพคล่องสูง เช่น บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ กองทุนรวม เป็นต้น เพื่อให้สามารถถอนออกมาใช้จ่ายในยามฉุกเฉินหรือเร่งด่วนได้ สมมติค่าใช้จ่ายต่อเดือนเรา 15,000 บาท ก็ควรมีเงินสำรองฉุกเฉิน 3-6 เท่า หรือ 90,000 บาท ทั้งนี้ การวางแผนสามารถปรับเปลี่ยนตามความเสี่ยงของแต่ละคน
FinSpace
ที่มาบทความ: https://www.finspace.co/4-financial-concepts-genz/