ตลาดหุ้นเอเชียปรับตัวลงต่อเนื่อง หลังมาตรการ Tariff มีผลบังคับใช้

เมื่อคืนวันที่ 8 เมษายน 2025 ตลาดหุ้นสหรัฐฯ (S&P500) และ ดัชนี NASDAQ 100 ปรับตัวลง -1.57% และ -1.95% ตามลำดับ ส่งผลให้ตลาดหุ้นเอเชียปรับตัวลงยกแผง นำโดยตลาดหุ้นญี่ปุ่น (TOPIX) -3.6% ตลาดหุ้นเวียดนาม (VN Index) -2.87% ตลาดหุ้นเกาหลีใต้ (KOSPI) -1.81% ดัชนี HSCEI หรือ หุ้นจีน H-Shares -1.46% และตลาดหุ้นไทย (SET Index) -0.62%

การปรับตัวลงดังกล่าวเกิดหลังจากที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ โดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศใช้มาตรการภาษีศุลกากรตอบโต้ (Reciprocal Tariff) โดยจะเก็บภาษีขั้นต่ำที่ 10% กับสินค้านำเข้าทุกประเทศที่ส่งสินค้าเข้ามายังสหรัฐฯ มีผลตั้งแต่วันเสาร์ที่ 5 เมษายน 2025 เป็นต้นไป นอกจากนี้ ทรัมป์ยังประกาศขึ้นภาษีเพิ่มเติมกับอีก 60 ประเทศที่มีดุลการค้าเกินดุลกับสหรัฐฯ สูงที่สุด (The 60 “Worst Offenders” Countries) โดยภาษีดังกล่าวจะอยู่ในระดับ 10%-50% และจะเริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 9 เมษายน 2025

จากเหตุการณ์ดังกล่าว แต่ละประเทศมีการดำเนินนโยบายเพื่อรับมือกับเหตุการณ์ดังกล่าวแตกต่างกันไป เช่น จีนได้ประกาศขึ้นภาษีตอบโต้ 34% ในกลุ่มสินค้าที่นำเข้าจากสหรัฐฯ และประกาศจำกัดปริมาณการส่งออก แร่ธาตุหายาก (Rare Earths) ซึ่งเป็นวัตถุดิบสำคัญในอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ทั้งนี้สหรัฐฯได้ออกมาตอบโต้กลับ โดยจะขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากจีนที่อัตรา 104% ในวันที่ 9 เมษายน 2025 หลังจากจีนไม่ยกเลิกการขึ้นภาษีตอบโต้ที่ 34 % ภายในเวลาที่ทรัมป์ระบุเอาไว้

ด้านสหภาพยุโรปเริ่มต้นเจรจา Zero-to-Zero Tariff สำหรับสินค้ากลุ่มยานยนต์ เครื่องจักรหนัก และยารักษาโรค โดยพร้อมเปิดโต๊ะเจรจากับรัฐบาลสหรัฐฯ และพร้อมออกมาตรการตอบโต้ ถ้าหากสหรัฐฯ ไม่ให้ความร่วมมือในความพยายามเจรจาดังกล่าว

ในฝั่งเอเชีย ประเทศเวียดนามได้ยื่นข้อเสนอลดภาษีศุลกากรสำหรับสินค้านำเข้าจากสหรัฐฯ เหลือ 0% และพร้อมที่จะนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ ให้มากขึ้น รวมทั้งได้เตรียมนัดเจอกับนายสก็อตต์ เบสเซนต์ (Scott Bessent) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังสหรัฐฯเพื่อเจรจาเพิ่มเติม และไต้หวันก็ได้ยื่นข้อเสนอลดภาษีนำเข้าสินค้าสหรัฐฯ เหลือ 0% และให้คำมั่นว่าจะเพิ่มการลงทุนในสหรัฐฯ ในฝั่งญี่ปุ่น นายกรัฐมนตรี ชิเงรุ อิชิบะ เตรียมเดินทางไปสหรัฐฯ เร็ว ๆ นี้ เพื่อหารือประเด็นภาษีนำเข้าสินค้าของสหรัฐฯ ซึ่งคาดว่าจะส่งผลกระทบอย่างหนักต่อญี่ปุ่นที่พึ่งพาการส่งออก

Finnomena Funds ยังคงเชื่อว่ามาตรการขึ้นอัตราภาษีนำเข้าสินค้าของทรัมป์มีเป้าหมายเพื่อการ “เจรจา (make deal)” กับประเทศที่ได้ดุลการค้าจากสหรัฐฯ มากกว่าการเก็บภาษีจริง ซึ่งสะท้อนจากอัตราภาษีที่ประกาศไม่ได้คำนวณจากกำแพงภาษีที่แต่ละประเทศมีต่อสหรัฐฯ แต่สูตรคำนวณสร้างมาจากขนาดของการ “ขาดดุลการค้า” ที่สหรัฐฯ มีต่อนานาประเทศ โดยยิ่งขาดดุลมาก ก็ยิ่งเก็บมาก

แม้จีนจะขึ้นภาษีตอบโต้ แต่ยังเปิดท่าทีพร้อมเจรจา โดยนาย หลิน เจี้ยน โฆษกกระทรวงการต่างประเทศของจีนเน้นย้ำให้ประเทศต่าง ๆ ปกป้องระบบการค้าระหว่างประเทศตามค่านิยมของ UN และ WTO ด้านคู่ค้ารายใหญ่ของสหรัฐฯ อย่างสหภาพยุโรปและญี่ปุ่น มีท่าทีพร้อมเปิดโต๊ะเจรจากับรัฐบาลสหรัฐฯ ถึงแนวทางการลดตัวเลขภาษีนำเข้า ถึงแม้สภาพยุโรปจะมีการหารือกันถึงเรื่องมาตรการตอบโต้ แต่คาดว่ามาตรการดังกล่าวมีสถานะเป็นเพียงแผนสำรองถ้าหากการเจรจากับสหรัฐฯ ล้มเหลว

รวมทั้งคะแนนนิยมของทรัมป์ (จาก Reuters/Ipsos poll) ล่าสุดอยู่ที่ 43% ซึ่งเป็นตัวเลขที่ต่ำที่สุด นับตั้งแต่เข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีสมัยที่สอง เนื่องจากประชาชนสหรัฐฯ มีความกังวลเกี่ยวกับนโยบายด้านภาษีนำเข้า และปัจจัยด้านความมั่นคงของกองทัพสหรัฐฯ ซึ่งถ้าหากทรัมป์ยังคงเร่งเพิ่มตัวเลขอัตราภาษีนำเข้า อาจทำให้คะแนนนิยมของตัวเองลดลงต่ำกว่านี้อีก

โดยหลังจากที่เราแนะนำ Wait and See เพื่อเตรียมทยอยสะสมสินทรัพย์เสี่ยง ในวันที่ 3 เมษายน 2025 ในปัจจุบันเรายังคงคำแนะนำดังกล่าว แต่ใกล้ถึงจังหวะทยอยสะสมหลังเห็นท่าทีประเทศคู่ค้าอย่างหลักๆ อย่างสหภาพยุโรปและญี่ปุ่น รวมทั้งประเทศอื่นๆ พร้อมเดินหน้าเจรจา เราจึงแนะนำให้ “เตรียมสภาพคล่องเพื่อเตรียมสะสมลงทุน” ซึ่งในมุมมองกรณีฐานของเราเชื่อว่าจะมีการเจรจาต่อเนื่องหลังจากนี้ ๆและหากเป็นเช่นนั้นจะพิจารณาแนะนำเพิ่มน้ำหนักการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงต่อไป ทั้งนี้ความเสี่ยงหลักยังอยู่ทีท่าทีระหว่างจีนกับสหรัฐฯ ซึ่งหากไม่ยกระดับมาตรการตอบโต้ จะเป็นอีกสัญญาณที่ดีให้เริ่มกลับเข้าไปลงทุนอีกครั้ง

จัดทำโดยบลป. เดฟินิทสำหรับบลน. ฟินโนมีนา (Finnomena Funds)


คำเตือน: ผู้ลงทุนควรทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน และความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุน | ผลการดำเนินงานในอดีต และผลการเปรียบเทียบผลการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์ในตลาดทุน มิได้เป็นสิ่งยืนยันถึงผลการดำเนินงานในอนาคต | ผู้ลงทุนอาจมีความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน เนื่องจากการป้องกันความเสี่ยงขึ้นอยู่กับดุลพินิจของผู้จัดการกองทุน | กองทุนรวมนี้ลงทุนกระจุกตัวในผู้ออกตราสารหรือประเทศใดประเทศหนึ่ง จึงมีความเสี่ยงที่ผู้ลงทุนอาจสูญเสียเงินลงทุนจำนวนมาก ผู้ลงทุนจึงควรพิจารณาการกระจายความเสี่ยงของพอร์ตการลงทุนโดยรวมของตนเองด้วย | คำแนะนำการลงทุนนี้เป็นไปตามกรอบการพิจารณาของ Finnomena Funds ซึ่งมีเป้าหมายในการสร้างโอกาสรับผลตอบแทนในระยะเวลาตามแต่ละประเภทของพอร์ตเท่านั้น บริษัทมิได้การันตีถึงผลตอบแทนที่จะได้จากคำแนะนำการลงทุนดังกล่าว มีความเสี่ยงที่ผลตอบแทนอาจไม่เป็นไปตามคาดหวัง หรือมีผลขาดทุนได้ | สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมหรือขอรับหนังสือชี้ชวนได้ที่บริษัทหลักทรัพย์นายหน้าซื้อขายหน่วยลงทุน ฟินโนมีนา จำกัด ในช่วงเวลาวันทำการตั้งแต่ 09:00-17:00 น. ที่หมายเลขโทรศัพท์ 02 026 5100 และทาง LINE @FinnomenaPort | สำหรับผู้ลงทุนในความดูแลของ Kept by krungsri ติดต่อทีม Kept help center ที่หมายเลขโทรศัพท์ 02 296 6299

Wealth Health Check