ความผันผวนเป็นตัววัดว่าราคาเคลื่อนไหวเร็วเท่าไร และเคลื่อนไหวขนาดไหน
สำหรับกองทุนรวมนั้น ตัววัดที่นิยมใช้กันมากที่สุดคือ “ความผันผวนรายเดือน” ซึ่งคำนวณโดยใช้ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน หรือ Standard Deviation (SD)
Standard Deviation จะวัดว่าผลตอบแทนของกองทุนนั้นเบี่ยงเบนออกจากผลตอบแทนก่อนหน้านี้ หรือค่าเฉลี่ยของกองทุนประเภทเดียวกันมากน้อยแค่ไหน ยิ่งมากเท่าไร ก็ยิ่งมีโอกาสสูงที่ผลตอบแทนจะเหวี่ยงจากค่าเฉลี่ยเยอะ ตัวอย่างเช่น กองทุนที่มี SD 10% ก็จะผันผวนกว่ากองทุนที่มี SD เท่ากับ 5% เป็นต้น ดังนั้นยิ่ง SD น้อยเท่าไร ก็ยิ่งดี
จากกราฟด้านซ้าย เป็นผลตอบแทนหากลงทุนในดัชนี MSCI ACWI ตั้งแต่ปี 1990 จนถึงปี 2020 เราจะเห็นได้ว่าแม้ระหว่างทางจะเกิดความผันผวนขึ้น แต่เมื่อมองยาว ๆ แล้ว ผลตอบแทนทบต้นจะทำให้เรามีเงินมูลค่า $113,250 เลยทีเดียว นับเป็นผลตอบแทนเฉลี่ยต่อปีอยู่ที่ 8.43%
จากรูปด้านขวา เป็นการจำลองผลตอบแทนของพอร์ตในระยะเวลา 20 ปี ถึงเดือนธันวาคม ปี 2020 โดยจะเปรียบเทียบประเภทการกระจายสินทรัพย์กับผลขาดทุนสูงสุดในระยะเวลา 1 ปี จะเห็นได้ว่าพอร์ตที่ลงทุนหุ้นล้วนนั้นเจอผลขาดทุนย้อนหลัง 1 ปีที่สูงมาก เมื่อเทียบกับพอร์ตอื่น ๆ ที่กระจายลงทุนในหลาย ๆ สินทรัพย์ โดยพอร์ตที่มีผลขาดทุนย้อนหลัง 1 ปีน้อยสุดคือพอร์ตที่ผสมผสานระหว่าง หุ้น 20% ตราสารหนี้ 60% และเงินสด 20%
ดังนั้นสำหรับใครที่ให้ความสำคัญกับการจำกัดความเสี่ยง และต้องการสร้างพอร์ตที่มีความผันผวนน้อย การกระจายลงทุนโดยเน้นหนักไปที่ตราสารหนี้ก็ถือเป็นอีกหนึ่งตัวเลือกที่น่าสนใจ
Asset Allocation คือการกระจายการลงทุนในหลาย ๆ สินทรัพย์ เช่น หุ้น ตราสารหนี้ อสังหาฯ เงินสด ฯลฯ โดยมีจุดประสงค์เพื่อการกระจายความเสี่ยง ให้พอร์ตไม่ผันผวนเกินไปในแต่ละช่วงเวลา เนื่องจากแต่ละสินทรัพย์ก็จะมีช่วงเวลาที่ทำผลงานได้ดี/ไม่ดีต่างกันไป ไม่มีทางที่ทุก ๆ สินทรัพย์จะทำผลงานได้ดีกันทั้งหมดในช่วงเวลาเดียวกัน นอกจากนี้ ก็ไม่มีสินทรัพย์ไหนที่ตรงตามความต้องการของเราทุกประการ เราจึงต้องลงทุนแบบผสมผสานกันไป
จากตารางด้านบนจะเห็นได้ว่า ในแต่ละปีนั้นสินทรัพย์ที่ทำผลงานได้ดี/ไม่ดีก็จะแตกต่างกันไป ไม่มีสินทรัพย์ไหนที่ครองแชมป์ทุกปี หรืออยู่ที่โหล่ทุกปี การจัดพอร์ตจะช่วยให้พอร์ตของเราไม่ผันผวนเกินไป เพราะจะผสมผสานระหว่างสินทรัพย์ที่ทำได้ดีที่สุด ดีปานกลาง และดีน้อยสุด ทำให้เกิดพอร์ตที่ไม่เหวี่ยงเกิน เป็นค่าเฉลี่ยที่เกิดจากการผสมรวมของทุก ๆ สินทรัพย์นั่นเอง
เนื้อหาต้นฉบับโดย Franklin Templeton
เรียบเรียงโดย FINNOMENA Admin
ข้อสงวนสิทธิ์
แฟรงคลิน เทมเพิลตัน (“Franklin Templeton”) ไม่รับผิดใด ๆ ต่อบุคคลภายนอก ซึ่งรวมถึงผลิตภัณฑ์ บริการ เว็บไซต์ หรือเนื้อหาใด ๆ ที่ได้จัดทำหรือปรากฏในช่องทางต่าง ๆ ของบุคคลภายนอกนั้น อีกทั้ง Franklin Templeton ไม่ได้ให้คำรับรอง รับประกัน หรือเป็นตัวแทน ไม่ว่าจะโดยชัดแจ้งหรือโดยปริยายในเนื้อหาหรือความถูกต้องของข้อมูลในช่องทางต่าง ๆ ของบุคคลภายนอก และไม่รับผิดต่อสิ่งใด ๆ ที่เกิดขึ้นอันเนื่องมาจากสิ่งที่กล่าวไว้ข้างต้น
ในกรณีที่มีความแตกต่างกันระหว่างเอกสารภาษาอังกฤษกับการแปลเป็นภาษาไทย ให้ยึดถือตามเอกสารภาษาอังกฤษ
แหล่งข้อมูล
Article, Asset Allocation, Basic, FINNOMENA Franklin Templeton, Knowledge, Short Content