รู้จักตลาดแรงงานสหรัฐฯ ที่ไม่เหมือนเดิม

ในช่วงที่ผ่านมา อัตราการเติบโตของการจ้างงานของภาคเศรษฐกิจสหรัฐฯ ค่อนข้างขยายตัวอย่างจำกัด ซึ่งเราเชื่อว่าปัจจัยดังกล่าวสำคัญยิ่งต่อการประเมินภาพการขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในอนาคต โดยการชะลอตัวของการจ้างงานส่งผลกระทบ 3 ประการ คือ (1) ทำให้เศรษฐกิจชะลอตัวลง และสร้างแรงกดดันต่อภาวะเงินเฟ้อ (2) สร้างความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ และ (3) ทำให้การพัฒนาทักษะของแรงงานช้าลง และกระตุ้นให้บริษัทหันมาใช้เทคโนโลยีหุ่นยนต์มากขึ้น ซึ่งผลกระทบทั้ง 3 ข้อที่กล่าวมา มีทั้งผลกระทบเชิงลบจากข้อ 1 และ 2 และผลกระทบเชิงบวกจากข้อ 3 (หากบริษัทสามารถปรับตัวเข้ากับเทคโนโลยีได้อย่างรวดเร็ว และใช้เทคโนโลยีเหล่านั้นเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงาน) อย่างไรก็ดี ยังไม่แน่ชัดว่าผลกระทบสุทธิจะออกมาเป็นเช่นไร แต่เราเชื่อว่าแนวโน้มของตลาดแรงงานน่าจะซบเซาไปอีกระยะหนึ่ง โดยมีสาเหตุที่สำคัญ ดังนี้

รู้จักตลาดแรงงานสหรัฐฯ ที่ไม่เหมือนเดิม

  • แรงงานไม่กลับมาทำงาน แม้ว่ามีความต้องการแรงงานในตลาด และสถานการณ์ COVID19 เริ่มคลี่คลาย โดยก่อนหน้านี้ ตลาดแรงงานเริ่มกลับมาขยายตัวในช่วงปี 2018-2019 หลังจากซบเซาเป็นระยะเวลานาน แต่หลังจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 และการปิดเมืองบางส่วน ตลาดแรงงานก็กลับมาชะลอตัวอีกครั้งหนึ่ง และยังไม่สามารถฟื้นกลับมาอยู่ในระดับก่อนการแพร่ระบาดของ COVID-19 ได้ ซึ่งสาเหตุที่สำคัญมาจาก แรงงานบางส่วนเลือกที่จะเกษียณตัวเองก่อนกำหนด โดยเฉพาะแรงงานสูงอายุ ในขณะเดียวกัน แรงงานกลุ่มหลักบางส่วน (อายุ 25-54 ปี) ก็ไม่ได้เลือกที่จะกลับมาเข้าในตลาดแรงงานอีกครั้ง

รู้จักตลาดแรงงานสหรัฐฯ ที่ไม่เหมือนเดิม

  • การเปลี่ยนงาน (job switching) ที่สูงขึ้น โดยปัจจุบันตลาดแรงงานส่งสัญญาณการเปลี่ยนเป็นตลาดของลูกจ้าง ที่ลูกจ้างมีอำนาจในการต่อรองสูงขึ้น โดยมีตำแหน่งงานเปิดมากกว่า 11 ล้านตำแหน่ง และไม่ได้มีการแข่งขันเพื่อแย่งงานที่รุนแรงนัก อย่างไรก็ดี เรากลับพบว่าอัตราการลาออกเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในช่วงที่ผ่านมา โดยบริษัทต่าง ๆ ได้ดึงดูดพนักงานใหม่ด้วยอัตราเงินเดือนที่เพิ่มขึ้นกว่าที่พนักงานได้รับจากบริษัทเดิม แต่ก็ยังไม่ได้รับการตอบรับจากพนักงานเท่าที่ควร ซึ่งอัตราเงินเดือนที่เพิ่มขึ้นจากการย้ายงาน (quitting pays) ถือว่าสูงขึ้นมากเมื่อเทียบกับช่วงที่ผ่านมา โดยตลาดแรงงานที่มีการย้ายงานสูง ได้แก่ อุตสาหกรรมสันทนาการและการโรงแรม การผลิต และการพาณิชย์ ซึ่งตลาดแรงงานในกลุ่มนี้ก็ยังมีตำแหน่งงานว่างค่อนข้างมาก
  • แรงงานเลือกการทำงานแบบอิสระ หรือการทำงานด้วยตัวเอง (selfemployment) มากขึ้น โดยสถิติที่ผ่านมาแสดงให้เห็นว่ามีการทำงานแบบจ้างงานตนเองเพิ่มขึ้นถึง 1 ล้านคน ในระหว่างเดือนพฤศจิกายน 2020 จนถึงเดือนกันยายน 2021 สอดคล้องกับการเร่งตัวของการจดทะเบียนธุรกิจใหม่ (new business application) ที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งการเปลี่ยนแปลงบทบาทจากลูกจ้าง มาเป็นผู้ประกอบการเองมากขึ้น ทำให้ตลาดแรงงานซบเซาลงอีก

รู้จักตลาดแรงงานสหรัฐฯ ที่ไม่เหมือนเดิม

  • การขาดทักษะไม่ได้เป็นเหตุผลทำให้ตลาดแรงงานซบเซา นักวิเคราะห์หลายรายอ้างว่าทักษะของแรงงานปัจจุบันไม่ได้สอดคล้องกับตำแหน่งงานที่ว่าง ทำให้ไม่เกิดการจ้างงาน อย่างไรก็ดี เราไม่เห็นด้วยกับข้อกล่างอ้างนั้น โดยเราพบว่าตำแหน่งงานว่างจำนวนมากอยู่ในอุตสาหกรรมสันทนาการและการโรงแรม ซึ่งส่วนมากไม่ได้ใช้ทักษะเฉพาะตัวขั้นสูง ทำให้การขาดทักษะไม่น่าจะเป็นเหตุผลที่ทำให้การจ้างงานชะลอตัวลง นอกจากนั้น เราพบว่าบริษัทต่าง ๆ ที่ต้องการแรงงาน ก็เต็มใจที่จะอบรมทักษะที่จำเป็นเพิ่มเติมให้กับลูกจ้างอีกด้วย
  • เงินเยียวยาของรัฐบาลทำให้ครัวเรือนมีฐานะทางการเงินดีขึ้น และมีรายได้เข้ามาโดยไม่ต้องทำงาน โดยตั้งแต่มีการแพร่ระบาดของ COVID-19 รัฐบาลสหรัฐฯ ได้อัดฉีดเงินเยียวยาให้กับประชาชนอย่างต่อเนื่อง ทำให้หลายครัวเรือนมีสถานะทางการเงินที่ดีขึ้น มีสินทรัพย์ และเงินออมมากขึ้น และแม้ว่าการให้เงินเยียวยาของรัฐบาลกลางจะทยอยสิ้นสุดลงแล้ว แต่รัฐบาลท้องถิ่น (รัฐบาลประจำรัฐ) หลายที่ยังคงให้ความช่วยเหลือประชาชนในรัฐของตนต่ออีกประมาณ 16-26 สัปดาห์ ซึ่งความช่วยเหลือเพิ่มเติมนี้มีมูลค่าเฉลี่ยอยู่ที่วงเงินประมาณ 319 เหรียญสหรัฐฯ ต่อสัปดาห์ (คิดเป็นประมาณ 26% ของค่าแรงเฉลี่ย) และถ้าครัวเรือนใดมีบุตรหลาน ก็สามารถรับความช่วยเหลือเพิ่มอีกประมาณเดือนละ 300 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบุตรหลานหนึ่งคน จนถึงเดือนธันวาคม 2021 ซึ่งถ้าคำนวณรวมความช่วยเหลือทั้งหมดรวมแล้ว จะพบว่ารัฐบาลสหรัฐฯ (รวมรัฐบาลกลาง และรัฐบาลท้องถิ่น) ให้ความช่วยเหลือเยียวยาในช่วง COVID-19 คิดเป็นเงินประมาณ 36% ของค่าแรงทั้งหมด และมีนโยบายที่จะให้ความช่วยเหลือเพิ่มขึ้นอีก ตามความเดือดร้อนเฉพาะกลุ่ม เช่น กลุ่มคนที่มีรายได้น้อย ในส่วนค่าเช่าที่อยู่อาศัย ซึ่งเป็นนโยบายของประธานาธิบดี โจ ไบเดน ภายใต้โครงการ Build Back Better เพื่อกระตุ้นการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ซึ่งรวมถึงการให้เรียนฟรีในมหาวิทยาลัยชุมชน (community college) เป็นระยะเวลา 2 ปี และการขยายความคุ้มครองของประกันสุขภาพ เป็นต้น

รู้จักตลาดแรงงานสหรัฐฯ ที่ไม่เหมือนเดิม

การให้ความช่วยเหลือต่อเนื่อง และนโยบายที่สอดรับเพื่อส่งเสริมการฟื้นตัวของเศรษฐกิจนี้เอง ทำให้แรงงานรู้สึกว่าการกลับเข้าไปในตลาดแรงงานยังไม่ได้มีความจำเป็นมากนัก เนื่องจากรัฐบาลยังคงสนับสนุนด้านรายได้ และช่วยลดค่าใช้จ่ายต่าง ๆ อย่างมีนัยสำคัญ นอกจากนั้น การกลับเข้าไปทำงานอาจทำให้ไม่เข้าเกณฑ์การรับความช่วยเหลือจากรัฐบาล ซึ่งยิ่งเป็นแรงจูงใจให้แรงงานเหล่านี้ยังไม่กลับเข้าไปทำงานอีกด้วย

มุมมองต่อการลงทุน

ปัจจัยต่าง ๆ ที่กล่าวมาข้างต้นส่งสัญญาณว่าตลาดแรงงานน่าจะเติบโตอย่างช้า ๆ สักระยะหนึ่ง การดึงดูดแรงงานให้กลับมาเข้าทำงาน ทำให้บริษัทต้องขึ้นเงินเดือน และผลักดันต้นทุนที่เพิ่มขึ้นไปยังราคาสินค้าและบริการ และทำให้อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นในที่สุด

ด้วยเหตุนี้ เนื่องจากผลตอบแทนหุ้นกู้และพันธบัตร เกี่ยวข้องกับอัตราเงินเฟ้อโดยตรง เราจึงแนะนำให้นักลงทุนเลือกหุ้นกู้ หรือพันธบัตรที่มีระยะเวลาแน่นอน (limit duration exposure) ออกโดยบริษัทที่มีปัจจัยพื้นฐานดี ที่ให้ผลตอบแทนสูง รวมถึง พันธบัตรรัฐบาลท้องถิ่น หรือพันธบัตรรัฐบาลในกลุ่มประเทศเกิดใหม่ (emerging markets)

มองไปข้างหน้า เราเชื่อว่าตลาดแรงงานที่ซบเซาจะทำให้การเติบโตของเศรษฐกิจชะลอตัวลงตาม ซึ่งพัฒนาการด้านเทคโนโลยี และหุ่นยนต์น่าจะเข้ามาแทนที่แรงงาน ทำให้ผลิตภาพ (productivity) และประสิทธิภาพในการดำเนินธุรกิจเพิ่มสูงขึ้น ทั้งนี้ ยังไม่ชัดเจนว่าพัฒนาการด้านเทคโนโลยีดังกล่าวจะสามารถทดแทนการขาดแคลนแรงงานได้ทั้งหมดหรือไม่ อย่างไรก็ดี ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าตลาดแรงงานที่ซบเซาจะนำมาซึ่งความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ และจะเป็นปัญหาที่ทวีความรุนแรงขึ้น หากไม่ได้รับการแก้ไขอย่างทันท่วงที เป็นเหตุให้เราคิดว่า การขยายตัวของตลาดแรงงาน ควบคู่ไปกับการนำเทคโนโลยีมาใช้น่าจะเป็นคำตอบที่ดีที่สุดของการเติบโตของเศรฐกิจอย่างยั่งยืน

เนื้อหาต้นฉบับโดย 

Sonal Desai, Ph. D.

Chief Investment Officer, Franklin Templeton Fixed Income

ข้อสงวนสิทธิ์

  1. แฟรงคลิน เทมเพิลตัน (“Franklin Templeton”) ให้บริการการให้คำแนะนำทั่วไปแก่ FINNOMENA ในการออกแบบพอร์ตการลงทุน (Asset Allocations)
  2. แฟรงคลิน เทมเพิลตัน (“Franklin Templeton”) ไม่รับผิดใด ๆ ต่อบุคคลภายนอก ซึ่งรวมถึงผลิตภัณฑ์ บริการ เว็บไซต์ หรือเนื้อหาใด ๆ ที่ได้จัดทำหรือปรากฏในช่องทางต่าง ๆ ของบุคคลภายนอกนั้น อีกทั้ง Franklin Templeton ไม่ได้ให้คำรับรอง รับประกัน หรือเป็นตัวแทน ไม่ว่าจะโดยชัดแจ้งหรือโดยปริยายในเนื้อหาหรือความถูกต้องของข้อมูลในช่องทางต่าง ๆ ของบุคคลภายนอก และไม่รับผิดต่อสิ่งใด ๆ ที่เกิดขึ้นอันเนื่องมาจากสิ่งที่กล่าวไว้ข้างต้น
  3. ในกรณีที่มีความแตกต่างกันระหว่างเอกสารภาษาอังกฤษกับการแปลเป็นภาษาไทย ให้ยึดถือตามเอกสารภาษาอังกฤษ

แหล่งข้อมูล

https://www.franklintempleton.com/articles/cio-views/on-my-mind-to-work-or-not-to-work