รัสเซียเคลื่อนกำลังทหารเข้ารุกรานยูเครนอย่างเป็นทางการ ทำให้หลายประเทศตอบโต้การกระทำดังกล่าวด้วยการคว่ำบาตรรัสเซีย ผลจากการรุกรานดังกล่าวน่าจะทำให้ราคาพลังงาน และเงินเฟ้อปรับตัวสูงขึ้นในระยะสั้น และจะเป็นความท้าทายของธนาคารกลางในการดำเนินนโยบาย หากเศรษฐกิจเริ่มชะลอตัวจากภาวะสงคราม ท่ามกลางความคาดหวังในการปรับดอกเบี้ยนโยบายขึ้นเพื่อสู้กับภาวะเงินเฟ้อ ซึ่งน่าจะก่อให้เกิดความผันผวนในสินทรัพย์เสี่ยง รวมถึงหุ้นเติบโตด้วย
เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2565 กองกำลังรัสเซียได้เข้ารุกรานยูเครน โดยพุ่งเป้าไปที่หัวเมืองด้านตะวันออก และเมืองใหญ่ ๆ ทั่วประเทศ ภายหลังที่รัสเซียได้มีการเพิ่มกำลังตามแนวชายแดนยูเครน – รัสเซียก่อนหน้านี้ อนึ่ง รัสเซียได้มีข้อพิพาทกับยูเครนมาต่อเนื่องในช่วงหลัง ๆ เช่น การรุกรานจังหวัด Ossetia ในปี 2008 และการควบรวมแหลม Crimea ในปี 2014
การรุกรานของรัสเซียดังกล่าว (รวมถึงการรุกรานยูเครนในครั้งนี้) ทำให้ชาติต่าง ๆ ร่วมกันคว่ำบาตรรัสเซีย แม้ว่าจะพยายามหลีกเลี่ยงไม่ให้กระทบกับบริษัทด้านพลังงานของรัสเซีย ซึ่งเกี่ยวข้องโดยตรงกับความมั่นคงด้านพลังงานของยุโรป หรือการตัดธนาคารรัสเซียออกจากระบบ SWIFT (ระบบส่งข้อความการทำธุรกรรมระหว่างธนาคาร) อย่างไรก็ดี ล่าสุด มีข้อเรียกร้องให้ตัดธนาคารรัสเซียออกจากระบบ SWIFT ด้วย
สถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วที่สะท้อนผ่านดัชนีชี้วัดความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ (geopolitical risk index) บ่งชี้ว่าความไม่แน่นอนยังอยู่ในระดับสูง และคาดว่าจะสูงขึ้นอีกในอนาคต ซึ่งความไม่แน่นอนนี้เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ราคาสินทรัพย์ต่าง ๆ ผันผวนอย่างมีนัยสำคัญ
แม้ว่า GDP และตลาดหุ้นของรัสเซียจะเป็นส่วนประกอบที่ไม่ใหญ่นักของเมื่อเทียบกับ GDP และตลาดหุ้นของทั่วโลก (2% และ 0.2% ตามลำดับ) แต่รัสเซียถือว่าเป็นผู้ผลิตสินค้าโภคภัณฑ์ที่สำคัญ โดย 17% ของก๊าซธรรมชาติ 12% ของน้ำมัน และ 48% ของปุ๋ยทั้งหมด ผลิตและส่งออกโดยรัสเซีย ซึ่งความสำคัญของสินค้าเหล่านี้ ทำให้หลายประเทศต้องพึ่งพิงรัสเซีย เช่น 41% ของก๊าซธรรมชาติที่กลุ่มประเทศยุโรปนำเข้ามาจากรัสเซีย ซึ่งการคว่ำบาตรการส่งออกของรัสเซีย โดยเฉพาะด้านพลังงานภายใต้โครงการ Nordsteam 2 น่าจะทำให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ด้านพลังงานสูงขึ้นในระยะสั้นอย่างมีนัยสำคัญ
ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่สูงขึ้นทำให้เกิดผลข้างเคียง 2 ประการได้แก่ (1) ความต้องการที่ลดลง เนื่องจากกำลังซื้อของประชาชนลดลง และ (2) อัตราเงินเฟ้อปรับตัวสูงขึ้น จากราคาพลังงานที่เพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นความท้าทายของรัฐบาลในแต่ละประเทศที่จะประคับประคองเศรษฐกิจในช่วงเวลาดังกล่าว ทั้งนี้ ยังไม่แน่ชัดว่ารัฐบาลและธนาคารกลางของแต่ละประเทศจะมีนโยบายตอบสนองในเรื่องดังกล่าวอย่างไร โดยธนาคารกลางสหรัฐ (FED) ส่งสัญญาณเบื้องต้นว่าการรุกรานของรัสเซียจะไม่เปลี่ยนแปลงแนวทางการทำนโยบายแบบตึงตัวของ FED (quantitative tightening) อย่างไรก็ดี ความไม่แน่นอนที่สูงขึ้น อาจทำให้ตลาดผันผวนในระยะสั้นได้
ในมุมมองของเรา สินทรัพย์ต่าง ๆ จะให้ผลตอบแทนแตกต่างกันไปภายใต้สภาวะที่แตกต่างกัน โดยในกราฟด้านล่าง เราได้จำแนกสินทรัพย์ที่น่าจะทำผลงานได้ดี ภายใต้สถานการณ์เงินเฟ้อ และการเติบโตของเศรษฐกิจในภาวะต่าง ๆ ดังนี้
ซึ่งเราเชื่อว่าหากภาวะสงครามยืดเยื้อ หรือยาวนานกว่าที่ตลาดคาด จะทำให้อัตราเงินเฟ้อเร่งตัวสูงขึ้น ซึ่งความไม่แน่นอนจะทำให้เศรษฐกิจชะลอตัว ทำให้เราคาดว่าสินค้าโภคภัณฑ์ และหุ้นกู้ที่ให้ผลตอบแทนตามอัตราเงินเฟ้อน่าจะสร้างผลตอบแทนได้ดี (อ้างอิงตามสถานการณ์ข้อ (4) ที่กล่าวมาแล้วด้านบน)
ทั้งนี้ เรามองว่าค่อนข้างยากในการคาดการณ์การเคลื่อนไหวของตลาดในช่วงสงคราม โดยในช่วงที่ผ่านมา ทั้งสงครามยมคิปปูร์ในปี 1973 สงครามอิรัก – อิหร่านในปี 1979 สงครามอ่าวเปอร์เซียในปี 1990 เหตุการณ์ก่อการร้าย 9/11 ตลอดจนสงครามอัฟกานิสถาน ตลาดค่อนข้างตึงตัว อย่างไรก็ดี ในความขัดแย้งครั้งอื่น ๆ ตลาดทุน และตลาดการเงินก็ไม่ได้รับผลกระทบเท่าใดนัก
ด้วยเหตุนี้ ท่ามกลางความไม่แน่นอน เราจึงยังมีมุมมองที่ค่อนข้างระมัดระวัง โดยเรามองว่าเศรษฐกิจยุโรปน่าจะได้รับผลกระทบจากสงครามรัสเซีย – ยูเครนมากที่สุด เนื่องด้วยภูมิศาสตร์ที่อยู่ใกล้พื้นที่สงครามมากที่สุด และความสัมพันธ์ด้านการค้ากับรัสเซีย
เนื้อหาต้นฉบับโดย
Gene Podkaminer, CFA
Head of Multi-Asset Research Strategies Franklin Templeton Investment Solutions
Chris Ratkovsky
Senior Research Analyst, Head of Cross-Asset & Portfolio Strategy
Miles Sampson
Senior Research Analyst, Franklin Templeton Investment Solutions
ข้อสงวนสิทธิ์
แหล่งข้อมูล
Advance, Article, FINNOMENA Franklin Templeton, Knowledge, Long Content