ตั้งแต่ปลายปี 2020 จนถึงปัจจุบัน รัฐบาลจีนได้ทยอยออกกฎเกณฑ์ต่าง ๆ หลายชุด อาทิ กฎหมายต่อต้านการผูกขาด กฎหมายเกี่ยวกับข้อมูลส่วนบุคคล ตลอดจนกฎระเบียบต่าง ๆ ที่เจาะจงควบคุมบางอุตสาหกรรม กฎเกณฑ์ต่าง ๆ เหล่านี้ได้สร้างความผันผวนให้กับตลาดหุ้น และทำให้นักลงทุนวิตกกังวลว่ารัฐบาลจีนจะเข้ามาแทรกแซงการประกอบธุรกิจอีกหรือไม่ และจะกระทบต่อผลตอบแทนและการเติบโตของอุตสาหกรรมดังกล่าวในระยะยาวอย่างไร
จุดประสงค์ของบทความนี้ต้องการแสดงให้เห็นว่า แม้การลงทุนในตลาดหุ้นจีนจะมีความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงด้านกฎระเบียบ เรายังเห็นโอกาสในการเลือกลงทุน (selective) ในบางอุตสาหกรรมที่ตอบโจทย์ด้านยุทธศาสตร์เป้าหมายของจีน โดยเรามองว่าจีนต้องการสร้างความสมดุลระหว่าง 3 เสาหลัก ได้แก่ (1) ความยั่งยืน (2) ความเท่าเทียมกันในสังคม และ (3) ความมั่นคงของประเทศ ทำให้เราเชื่อว่าการลงทุนในบริษัทที่มีนโยบายการประกอบธุรกิจที่สอดคล้องกับหลักการเหล่านี้ น่าจะให้ผลตอบแทนที่ดีในอนาคต โดยมีรายละเอียดของแต่ละนโยบาย เกณฑ์การกำกับดูแล และผลที่คาดว่าจะได้รับ ดังนี้
1. นโยบายด้านความยั่งยืน ซึ่งรวมถึงการสร้างเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ การจำกัดอิทธิพลของระบบทุนนิยมที่ไม่มีการควบคุม ตลอดจนการส่งเสริมการรักษาสิ่งแวดล้อม ภายใต้อุตสาหกรรมสีเขียว (decarbonization) สรุปได้ดังนี้
2. นโยบายรุ่งเรืองร่วมกัน (Common Prosperity) ตอบโจทย์ด้านความเท่าเทียมกันในสังคม โดยจีนต้องการขจัดความเหลื่อมล้ำในด้านต่าง ๆ โดยเฉพาะด้านการศึกษา สาธารณสุข อสังหาริมทรัพย์ ประกัน และสวัสดิการทางสังคม สรุปได้ดังนี้
3. นโยบายด้านความมั่นคงของประเทศ ซึ่งเน้นไปที่การพัฒนาเทคโนโลยีด้วยตนเอง โดยเฉพาะเทคโนโลยีที่เป็นยุทธศาสตร์ และโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ ตลอดจนการปรับปรุงโครงสร้างของประชากรที่จีนต้องการเพิ่มประชากรวัยหนุ่มสาว และการสร้างค่านิยมที่เหมาะสมกับวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์จีน ซึ่งรวมถึงประเด็นอ่อนไหวเกี่ยวกับฮ่องกง ไต้หวัน และมณฑลซินเจียง สรุปได้ดังนี้
จากข้อมูลข้างต้น จะเห็นได้ว่าการเข้ามาจัดระเบียบการกำกับดูแลในครั้งนี้ของจีนกระทบกับประชาชน และอุตสาหกรรมในวงกว้าง โดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับบริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่ กอปรกับความวิตกกังวลของการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนจาก COVID-19 ที่กลับมาแพร่ระบาดอีกครั้ง จะกลับมากดดันราคาหุ้นในระยะสั้น แต่เราเชื่อว่ารัฐบาลจีนยังคงสนับสนุนการเติบโตของนวัตกรรม และอุตสาหกรรมภายในประเทศ ปัจจัยกดดันต่าง ๆ จะเป็นปัจจัยชั่วคราวเท่านั้น โดยเราเห็นว่าการเข้ามากำกับดูแลของรัฐบาลจีนในครั้งนี้ค่อนข้างจะเฉพาะเจาะจง และจากกรณีศึกษาในอดีต รัฐบาลจีนจะเข้ามาแทรกแซงเป็นระยะ ๆ เพื่อจัดระเบียบอยู่แล้ว ซึ่งที่ผ่านมาสร้างความผันผวนในระยะสั้นเท่านั้น และไม่ได้เป็นอุปสรรคต่อการเติบโตในระยะยาว
ทั้งนี้ การเข้ามาแทรกแซงของรัฐบาลจีนถือเป็นความเสี่ยงอย่างหนึ่งของการลงทุนในจีน และสิ่งที่นักลงทุนควรปฏิบัติคือ การศึกษาให้รอบคอบว่านโยบายต่าง ๆ ของจีนมีผลต่อบริษัทต่าง ๆ อย่างไร ซึ่งมักจะมีกลุ่มบริษัทที่ได้ประโยชน์ หรือได้รับผลกระทบน้อยจากการจัดระเบียบดังกล่าวอยู่เสมอ โดยเราแนะนำให้นักลงทุนเลือกบริษัทที่ดำเนินธุรกิจสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของรัฐบาลจีน ทั้งการสร้างความรุ่งเรืองร่วมกัน การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน การสร้างความมั่นคง และการลดความเหลื่อมล้ำ ซึ่งเราเห็นว่าน่าจะเป็นธุรกิจที่สร้างผลตอบแทนได้ดีในระยะถัดไป
เนื้อหาต้นฉบับโดย
Franklin Templeton Emerging Markets Equity
แหล่งข้อมูล
Advance, Article, Emerging Markets, FINNOMENA Franklin Templeton, Knowledge, Long Content