สินทรัพย์อะไรยืนหนึ่งต้านเงินเฟ้อ ลองมาสำรวจผ่านบทความนี้กันครับ
ตั้งแต่ปี 1983 อัตราเงินเฟ้อของสหรัฐฯ อยู่ในระดับที่ควบคุมได้ โดยทรงตัวอยู่ที่ระดับ 2% โดยเฉลี่ย แต่ในช่วงที่ผ่านมา เราพบว่าเงินเฟ้อที่เร่งตัวสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญได้ส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจ โดยเฉพาะต่อผู้ให้กู้ อาทิ สถาบันการเงิน กล่าวคือ ผู้ให้กู้จะได้รับเงินคืนในรูปของดอกเบี้ยและเงินต้นที่มีค่าน้อยลง เพราะมีการด้อยค่าของเงินมากขึ้น ด้วยเหตุนี้ ผู้ให้กู้จะมีแรงจูงใจในการปล่อยกู้น้อยลง ทำให้เศรษฐกิจชะลอตัวในที่สุด
อย่างไรก็ดี แม้ว่าอัตราเงินเฟ้อที่มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจจะค่อนข้างมีผลการศึกษาและทฤษฎีอธิบายชัดเจน แต่ผลกระทบของเงินเฟ้อต่อการลงทุนในสินทรัพย์ต่าง ๆ ยังเป็นที่ถกเถียง ซึ่งในบทความนี้ เราจะนำบทเรียนจากอดีตที่เงินเฟ้อปรับตัวสูงขึ้น เพื่อประเมินมุมมองต่อการลงทุนต่าง ๆ ดังนี้
แต่เดิมนักวิชาการหลายคนเชื่อว่า การลงทุนในหุ้นเป็นการลงทุนในบริษัท ซึ่งการแปลงรูปจากเงินสด เป็นการลงทุนในรูปหุ้นนั้นน่าจะช่วยป้องกันความเสี่ยงจากเงินเฟ้อได้ แต่ที่ผ่านมาเราพบว่า มักจะไม่เป็นเช่นนั้น เช่น บริษัทนั้นทำกิจการที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับเงินสดอย่างการลงทุน ซื้อขายแลกเปลี่ยนสินทรัพย์จริง (real assets)
จากเหตุการณ์เงินเฟ้อครั้งใหญ่ (the Great Inflation) ในสหรัฐฯ เมื่อปี 1965-1982 หุ้นในช่วงเวลาดังกล่าวให้ผลตอบแทนต่ำกว่าพันธบัตรรัฐบาล โดยสาเหตุที่ผลตอบแทนของหุ้นถูกกดดัน เกิดจากอัตราส่วนการคิดลด (discount rate) ทำให้ค่าของเงินในอนาคตมีค่าน้อยลงกว่าค่าของเงินในปัจจุบัน และราคาของสินค้าและบริการของบริษัทไม่สามารถปรับขึ้นชดเชยมูลค่าของค่าเงินที่ลดลงได้ทัน เมื่อเทียบกับอัตราเงินเฟ้อ ค่าแรง และต้นทุนอื่น ๆ ที่เพิ่มสูงขึ้นด้วยอัตราเร่งที่มากกว่า ทำให้อัตราการทำกำไรของบริษัทในระยะสั้นลดลง กดดันราคาหุ้น
อย่างไรก็ดี ในระยะยาว หุ้นจะค่อย ๆ ปรับตัวได้ โดยราคาต้นทุนที่สูงขึ้นจะค่อย ๆ ถูกผลักต่อให้กับผู้บริโภคผ่านราคาสินค้าและบริการที่เพิ่มขึ้น ราคาสินค้าและบริการที่เพิ่มขึ้นนี้เองจะทำให้ความต้องการสินค้าและบริการลดลง ราคาก็จะค่อย ๆ กลับเข้าสู่ภาวะปกติในที่สุด ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงกลางทศวรรษ 80 ที่เงินเฟ้อเริ่มลดลง (disinflation) และหุ้นเริ่มสร้างผลตอบแทนได้ดี
เงินเฟ้อที่เหนือการคาดหมายจะกดดันการลงทุนในพันธบัตร เพราะผู้ลงทุนในพันธบัตร (ผู้ให้กู้) จะได้รับเงิน คิดเป็นมูลค่าที่แท้จริงน้อยกว่าที่คาดไว้แต่แรก เนื่องจากเงินมีมูลค่าน้อยลง จากอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้น
จากรูป Exhibit 1 จะเห็นได้ว่าในช่วงที่เงินเฟ้อเร่งตัวสูงขึ้น พอร์ตการลงทุนที่ประกอบด้วยหุ้น และพันธบัตรต่างให้ผลตอบแทนต่ำกว่า เมื่อเทียบกับการถือเงินสด ซึ่งในช่วงที่ผ่านมา เราพบว่าครัวเรือนจำนวนมากเก็บความมั่งคั่งไว้ในหุ้นเป็นสัดส่วนถึงกว่า 40% จึงไม่น่าแปลกใจว่านักลงทุนส่วนมากเริ่มกังวลหากอัตราเงินเฟ้อพุ่งขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งหมายความว่าผลตอบแทนจากหุ้น และความมั่งคั่งของครัวเรือนน่าจะลดลงนั่นเอง
โดยหากมองในเชิงหลักการ เราเชื่อว่าการลงทุนที่น่าสนใจในช่วงนี้ จะเป็นการลงทุนในสินทรัพย์ที่ราคาสามารถปรับขึ้นตามอัตราเงินเฟ้อ เช่น อสังหาริมทรัพย์ (ทั้งแบบเช่าและเก็งกำไรเพื่อขายต่อ) และสินค้าโภคภัณฑ์ อาทิ พลังงาน โลหะมีค่า และผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร
จากรูป Exhibit 2 จะเห็นได้ว่าพันธบัตรจะให้ผลตอบแทนไม่ดีนักในช่วงเงินเฟ้อสูง ยกเว้นพันธบัตรที่มีกลไกในการป้องกันภาวะเงินเฟ้อ (US TIPS) ซึ่งสามารถป้องกันความเสี่ยงจากอัตราเงินเฟ้อได้บ้าง และสร้างผลตอบแทนได้ดีกว่า อย่างไรก็ดี ในภาวะเงินเฟ้อสูงนั้น หุ้นจะถูกกดดันอย่างมีนัยสำคัญ ในขณะที่สินค้าโภคภัณฑ์จะสร้างผลตอบแทนได้ดี
จากสถิติที่ผ่านมา การลงทุนในหุ้นและพันธบัตรจะสร้างผลตอบแทนที่ดีมาก ในช่วงที่อัตราเงินเฟ้อต่ำ อย่างไรก็ดี แม้ว่าช่วงนี้จะเป็นช่วงที่อัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับสูง เรายังเชื่อว่านักลงทุนควรที่จะถือหุ้นและพันธบัตรเป็นส่วนหนึ่งในพอร์ตต่อไป เนื่องจากการเจาะจงเวลาการลงทุน (market timing) โดยเลือกลงทุนในช่วงที่คาดว่าตลาดหุ้นและพันธบัตรมีราคาต่ำที่สุดนั้น ทำได้ยากอย่างยิ่ง ด้วยเหตุนี้ เราจึงแนะนำให้นักลงทุนคงการถือหุ้นและพันธบัตรต่อไป
ทั้งนี้ เราชอบการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์นอกตลาด (private real estate) มากกว่าการลงทุนในหุ้น เนื่องจากค่าเช่าอสังหาริมทรัพย์มักปรับขึ้นตามอัตราเงินเฟ้อ โดยผู้ให้เช่ามักกำหนดอยู่ในสัญญาเช่า และในช่วงที่เศรษฐกิจขยายตัวมักมีความต้องการมาก ทำให้ราคาปรับตัวเพิ่มขึ้นได้อีก โดยถ้าเทียบกับการลงทุนในกอง REIT (real estate investment trust) ที่ซื้อขายในตลาดหุ้น เราเชื่อว่าการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์นอกตลาดให้ผลตอบแทนมากกว่า โดยจากการศึกษาของเราพบว่ากอง REIT ให้ผลตอบแทนไม่ต่างจากหุ้นตัวอื่น ๆ ในตลาดเท่าใดนัก
ข้อสงวนสิทธิ์
แหล่งข้อมูล
https://www.
Advance, Article, FED, FINNOMENA Franklin Templeton, Knowledge, Long Content, ขึ้นดอกเบี้ย