ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าอัตราเงินเฟ้อสหรัฐฯ ที่เร่งตัวขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงที่ผ่านมา สร้างความกังวลให้นักลงทุนค่อนข้างมาก และตลาดหุ้นได้มีการปรับฐานเป็นระยะ ซึ่งแนวโน้มเงินเฟ้อที่ผ่านมาได้ค่อย ๆ ปรับตัวสูงขึ้นตั้งแต่ข่วงเมษายนของปี 2021 โดยดัชนีราคาผู้บริโภค (Consumer Price Index: CPI) และดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน (Core CPI) ซึ่งเป็นเครื่องชี้อัตราเงินเฟ้อที่สำคัญ อยู่ที่ระดับ 5.4% และ 4% เติบโตจากปีที่ผ่านมา (YoY) ตามลำดับ แสดงให้เห็นถึงการเร่งตัวขึ้นอย่างชัดเจนของเงินเฟ้อ
สาเหตุที่สำคัญที่สุดของการเร่งตัวของอัตราเงินเฟ้อ มาจากปัจจัยด้านราคา โดยราคาสินค้าและบริการหลาย ๆ อย่างได้ปรับตัวสูงขึ้นมาก เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า (ปี 2020 ที่ COVID-19 แพร่ระบาดโดยยังไม่มีวัคซีน) ซึ่งการฟื้นตัวของเศรษฐกิจอย่างแข็งแกร่งภายหลังการเปิดเมือง และการกลับมาทำกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ใกล้เคียงกับระดับปกติอีกครั้ง ทำให้สินค้าและบริการบางส่วนขาดตลาด และกดดันทำให้ราคาสินค้าและบริการเหล่านั้นปรับตัวเพิ่มขึ้น และส่งผลต่ออัตราเงินเฟ้อในที่สุด ซึ่งบทความนี้จะวิเคราะห์มุมมองเชิงลึกว่า มีปัจจัยอะไรที่นักลงทุนควรพิจารณา และปัจจัยดังกล่าวคาดว่าจะทำให้ภาวะเงินเฟ้อคงอยู่เป็นระยะเวลานาน หรือเป็นเพียงปัจจัยชั่วคราว ที่สุดท้ายแล้วก็จะกลับมาเป็นปกติในที่สุด
เราเชื่อว่าสถานการณ์เงินเฟ้อสหรัฐฯ ในปี 2021 คล้ายกับสถานการณ์เงินเฟ้อหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ระหว่างปี 1946-1948 โดยเศรษฐกิจภายหลังการฟื้นตัวของช่วงสงคราม มีความต้องการสินค้าและบริการมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ แต่ทรัพยากรและปัจจัยการผลิตสินค้าและบริการเหล่านั้นมีไม่เพียงพอ เนื่องจากถูกใช้ในการทำสงคราม และอุตสาหกรรมส่วนใหญ่เน้นไปที่ด้านการทหารมากกว่า ซึ่งเงินเฟ้อในช่วงหลังสงครามโลกเป็นปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นชั่วคราวเท่านั้น ภายหลังที่ทรัพยากรได้ถูกจัดสรรให้เหมาะสม เงินเฟ้อก็ค่อย ๆ ชะลอตัวลง และเข้าสู่ระดับปกติ
ทั้งนี้ เรามองว่าสถานการณ์เงินเฟ้อสหรัฐฯ ในปี 2021 จะกลับมาปกติได้เร็วกว่าในปี 1946-1948 เนื่องจากในปี 2021 ทรัพยากรการผลิต และแรงงานไม่ได้ถูกจัดสรรใหม่ทั้งหมด กล่าวคือ ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ทุกภาคส่วนให้ความสำคัญกับด้านการทหาร แรงงานถูกฝึกให้เหมาะสมกับอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง เช่น การผลิตอาวุธยุทโธปกรณ์ต่าง ๆ ตลอดจนการเร่งจัดสรรทรัพยากรธรรมชาติที่เกี่ยวข้อง ซึ่งแตกต่างกับในปี 2021 ที่ทรัพยากรและแรงงานต่าง ๆ ยังคงอยู่ในอุตสาหกรรมเดิม และมีบางส่วนเท่านั้นที่เปลี่ยนอาชีพ เนื่องจากอุตสาหกรรมที่ทำอยู่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง แต่ก็ถือว่าเป็นส่วนน้อยเท่านั้น ทักษะเดิมของแรงงานยังคงใช้ได้ และเป็นประโยชน์กับอุตสาหกรรมส่วนใหญ่ ทำให้เราเชื่อว่าการปรับตัวเข้าสู่ระดับปกติของกิจกรรมทางเศรษฐกิจจะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วกว่าในปี 1946-1948 และทำให้อัตราเงินเฟ้อกลับเข้าสู่ระดับปกติเช่นกัน
การเพิ่มขึ้นของอัตราเงินเฟ้อในปัจจุบันเป็นปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นกับประเทศส่วนใหญ่ทั่วโลก และสิ่งที่เกิดขึ้นกับสหรัฐฯ ก็ไม่ได้นับว่าผิดปกติ อย่างไรก็ดี ระดับการเพิ่มขึ้นอาจจะมีความแตกต่างกันบ้าง ตามองค์ประกอบของตะกร้าสินค้าและบริการที่วัดระดับอัตราเงินเฟ้อของประเทศนั้น ๆ อาทิ ในกลุ่มประเทศสหภาพยุโรป ปัจจัยหลักที่ผลักดันอัตราเงินเฟ้อที่สำคัญ คือราคาพลังงาน โดยเป็นส่วนประกอบของดัชนีราคาผู้บริโภคถึง 8.93% และมีส่วนผลักดันอัตราเงินเฟ้อในอัตราส่วน 62.11% ในขณะที่ดัชนีราคาผู้บริโภคของสหรัฐฯ ถูกผลักดันโดยราคาของรถยนต์มือสอง และรถบรรทุก ประกอบกับราคาน้ำมันเป็นสำคัญ โดนเป็นส่วนประกอบของดันชีราคาผู้บริโภค 7.77% และมีส่วนในการผลักดันอัตราเงินเฟ้อในอัตราส่วน 66.33%
สภาวะเงินเฟ้อที่เร่งตัวสูงขึ้น ทำให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ และธนาคารกลางทั่วโลกกลับมาให้ความสำคัญกับอัตราเงินเฟ้อมากขึ้นอีกครั้ง ซึ่งที่ผ่านมานโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ สะท้อนให้เห็นว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ อยู่ระหว่างการจับตาดูอย่างใกล้ชิด และพยายามส่งสัญญาณว่าเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้นในปัจจุบันเป็นปัจจัยชั่วคราว และสามารถควบคุมได้ นอกจากนั้น ธนาคารกลางสหรัฐฯ และธนาคารกลางทั่วโลกเริ่มที่จะดำเนินนโยบายทางการเงินแบบตึงตัวมากขึ้น ได้แก่ การลดวงเงินการอัดฉีดสภาพคล่อง (QE) และการค่อย ๆ ขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย เพื่อลดความร้อนแรงของเศรษฐกิจ และลดแรงกดดันต่ออัตราเงินเฟ้อ ซึ่งเราเชื่อว่าการที่ธนาคารกลางในประเทศต่าง ๆ ดำเนินนโยบายทางการเงินแบบตึงตัวพร้อม ๆ กัน น่าจะช่วยลดแรงกดดันจากเงินเฟ้อได้บ้าง อย่างไรก็ดี แม้ว่าเราเชื่อว่าอัตราเงินเฟ้อที่ปรับตัวสูงขึ้นในช่วงนี้จะเป็นปัจจัยชั่วคราว แต่หากปัจจัยในการผลักดันเงินเฟ้อที่กล่าวมาข้างต้นยังไม่ถูกแก้ไข (เช่น ปัญหาห่วงโซ่อุปทาน) เราเชื่อว่าแรงกดดันอัตราเงินเฟ้ออาจจะมีอยู่ต่อไปสักระยะ ซึ่งเป็นสิ่งที่นักลงทุนต้องติดตามอย่างใกล้ชิด
เนื้อหาต้นฉบับโดย
Michael Hasenstab, Ph. D.
Executive Vice President, Portfolio Manager, Chief Investment Officer
Templeton Global Macro
ข้อสงวนสิทธิ์
แหล่งข้อมูล
Advance, Article, FINNOMENA Franklin Templeton, Inflation, Knowledge, Long Content