มุมมองการเติบโตทั่วโลก
มุมมองเศรษฐกิจทั่วโลกเทียบกับความคาดหวังของตลาด
กูรู Franklin Templeton เห็นพ้องการเติบโตจะกลับมาอย่างแข็งแกร่ง
John Bellows: เศรษฐกิจโลกจะกลับมาอีกครั้งที่ระดับปกติ และจะได้เห็นอัตราการเติบโตที่แข็งแกร่งอีกครั้ง โดยอัตราการเติบโตที่ว่าจะทำให้งบดุล กำไร และรายได้ของบริษัท กลับมาดูดีอีกครั้ง
Sonal Desai: การเติบโตในสหรัฐฯ จะส่งผลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจทั่วโลก และอาจฟื้นตัวอย่างโดดเด่นในอัตราที่คล้ายคลึงกันกับจีนในช่วงที่ผ่านมา มาตรการทางการคลังจำนวนมาก รวมถึงเงินอีกมากกว่า 2 ล้านล้านเหรียญ นอกจากเงินเก็บจะเป็นแรงผลักดันให้เกิดการบริโภคครั้งใหญ่ และเติบโตไปอย่างไม่หยุดยั้งในปีถัดไป
ในช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้วผู้คนต่างมองว่าสหรัฐฯ จะเจอกับการถดถอยครั้งใหญ่ (Great Depression) และฟื้นตัวแบบ L-shape แต่เราค่อนข้างเชื่อว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะกลับมาฟื้นตัวได้ในไม่กี่ไตรมาส
เราจะเห็นการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและอาจเป็นยุโรปในส่วนถัดไป และวัคซีนรวมถึงมาตรการทางการคลังจะเป็นหัวใจหลักของการฟื้นตัวครั้งนี้
เศรษฐกิจจะเติบโตต่อเนื่องไปถึงปี 2022 หรือไม่? และจะเติบโตต่อไปในช่วง 3-5 ปีข้างหน้าอีกหรือเปล่า?
“มีคำถามมากมายเกี่ยวกับการเติบโตในครั้งนี้ ว่าจะยั่งยืนต่อไปหรือไม่? แต่เราระแวดระวังกับมุมมองระยะยาวมากกว่า เพราะการเปิดเมืองอย่างสมบูรณ์ จะมีเพียงหนเดียวเท่านั้น” – John Bellows
John Bellows: เรามองว่าในปีถัด ๆ ไป การเติบโตในอัตราที่สูงดังเช่นปีนี้ อาจจะไม่เป็นดังเดิมโดยมีเหตุผลดังนี้:
- COVID-19 ทำให้การบริโภคเผชิญกับอุปสรรค แต่หลังจากที่ปัจจัยลบดังกล่าวหายไป จึงอาจทำให้ภาคการบริโภคกลับมาเติบโตอย่างร้อนแรง แต่อย่างว่า ว่าการเปิดเมืองมีเพียงหนเดียว เพราะฉะนั้นสิ่งนี้อาจไม่ยั่งยืน
- หากใช้หลักการเดียวกัน มาตรการทางการคลังอันรวดเร็วและทั่วถึง เช่น เช็คเงินสด ก็ไม่ใช่สิ่งที่จะคงอยู่ไปตลอดเช่นเดียวกัน
- สรุปแล้วหากเรามองไปข้างหน้าปัจจัยสนับสนุนต่าง ๆ ที่ว่าอาจลดลง และอาจไม่ทำให้ GDP เติบโตมากขึ้น มันไม่แปลกที่เราจะตั้งข้อสงสัยเกี่ยวกับการเติบโต แต่เราระมัดระวังกับมุมมองในระยะยาวมากกว่า เพราะ ปัจจัยหนุนอย่างการเปิดเมืองเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นแค่ครั้งเดียว
นอกจากสหรัฐฯ โอกาสในที่อื่น ๆ อยู่ที่ไหน? ใช่จีนหรือไม่?
Gene Podkaminer: นโยบายทางการคลังจะเป็นหัวใจหลักที่ขับเคลื่อนการเติบโต แต่ก็ขึ้นอยู่กับแต่ละประเทศ เช่น
- สหรัฐฯ ที่แข็งแกร่งกว่าตลาดพัฒนาแล้วในที่อื่น ๆ อย่างไม่ต้องสงสัย จากมาตรการทางการคลังจำนวนมาก
- อังกฤษที่การเปิดเมืองทำได้เร็วกว่าที่อื่น ๆ ในยุโรป แต่ยังมีความไม่แน่นอนในเรื่อง ข้อตกลงทางการค้าของ Brexit
- ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่ได้รับผลบวกจากการฟื้นตัวของวัฎจักรเศรษฐกิจเป็นอย่างดี มีมาตรการสนับสนุนต่อเนื่อง มีแนวโน้มเรื่อง COVID-19 ที่ค่อนข้างดี
- จีนเป็นประเทศที่ฟื้นตัวจาก COVID-19 ได้อย่างรวดเร็ว แต่อาจผ่อนลงหลังจากนี้จากแรงกดดันทางการเมือง
สรุปแล้ว แนวโน้มการเติบโตทั่วโลกจะเป็นไปอย่างต่อเนื่องหลังวัคซีนเข้ามามีบทบาท และเราทุกคนต่างมองเห็นร่วมกันแล้วว่าในปีนี้การฟื้นตัวทั่วโลกจะเกิดขึ้น แต่ยังไม่มีประเทศใดที่ออกมาตรการกระตุ้นได้เทียบเท่าสหรัฐฯ ดังนั้นการประสานกันของนโยบายทางการคลังและวัคซีนเป็นเรื่องที่ต้องดำเนินไปอย่างสอดคล้อง และมันอาจดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะเป็นปัจจัยหนุนการเติบโตในอนาคต
Francis Scotland: โครงสร้างในเชิงภาพใหญ่ของจีนและสหรัฐฯ มีความแตกต่างกัน รัฐบาลจีนไม่ได้ออกมาตรการกระตุ้นเท่าสหรัฐฯ จากการควบคุมโรคระบาดที่ดี ผมคิดว่าตลาดตราสารหนี้จีนบอกอะไรบางอย่าง หลังผลตอบแทนพันธบัตร 10 ปี ได้ปรับตัวลงมาจากระดับ 3% มาที่ 2.5% ในช่วงวิกฤติ และคงตัวที่ระดับ 3% อีกครั้งในตอนนี้
จีนกำลังจัดการเรื่องหนี้สิน และถึงแม้เศรษฐกิจภายในประเทศยังไม่แข็งแกร่งนัก แต่ภาคการส่งออกกลับแข็งแกร่ง ดังนั้นจีนอาจจะเป็นฝันร้ายของผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ ก็ว่าได้
Michael Hasenstab: เราคาดการณ์ว่าการเติบโตทั่วโลกจะอยู่ที่ 6% ในปี 2021 และตลาดกำลังพัฒนาจะเติบโตได้สูงกว่าตลาดพัฒนาแล้ว หลาย ๆ ประเทศในเอเชียควบคุมโรคระบาดได้ดีกว่าภูมิภาคอื่น ๆ บนโลก อีกทั้งยังป้องกันได้ดีกว่า
กลุ่มหุ้นที่ผลักดันการเติบโตของภูมิภาคนี้ประกอบไปด้วยหุ้นในกระแสต่าง ๆ เช่น หุ้นยา หุ้นดิจิตอล หุ้นเกี่ยวกับ Big Data และหุ้นเทคโนโลยี ซึ่งอยู่ในประเทศเกาหลี
ทางด้านจีนก็ได้มีการพัฒนาดิจิตอลหยวนซึ่งอาจเข้ามาเป็นคู่แข็งกับดอลลาร์ในฐานะเงินสำรองโลก อีกทั้งยังมีโครงการ “One Belt, One Road” (เส้นทางสายไหมสำหรับส่งสินค้า) , การพัฒนาตลาดทุน, รวมถึงการขยายอำนาจทางการค้า, และการเปิดตลาดตราสารหนี้ให้ชาวต่างชาติเข้าถึงได้ ซึ่งปัจจัยเหล่านี้จะเป็นสิ่งที่ช่วยหนุนนำการเติบโตในเอเชีย
เนื้อหาต้นฉบับโดย
John Bellows, Ph.D., Portfolio Manager, Western Asset
Sonal Desai, Ph.D., Chief Investment Officer, Franklin Templeton Fixed Income
Michael Hasenstab, Ph.D., Chief Investment Officer, Templeton Global Macro
Gene Podkaminer, CFA, Head of Research, Franklin Templeton Investment Solutions
และ
Francis Scotland, Director of Global Macro Research, Brandywine Global
เรียบเรียงโดย FINNOMENA Admin
ข้อสงวนสิทธิ์
- แฟรงคลิน เทมเพิลตัน (“Franklin Templeton”) ให้บริการการให้คำแนะนำทั่วไปแก่ FINNOMENA ในการออกแบบพอร์ตการลงทุน (Asset Allocations)
- แฟรงคลิน เทมเพิลตัน (“Franklin Templeton”) ไม่รับผิดใด ๆ ต่อบุคคลภายนอก ซึ่งรวมถึงผลิตภัณฑ์ บริการ เว็บไซต์ หรือเนื้อหาใด ๆ ที่ได้จัดทำหรือปรากฏในช่องทางต่าง ๆ ของบุคคลภายนอกนั้น อีกทั้ง Franklin Templeton ไม่ได้ให้คำรับรอง รับประกัน หรือเป็นตัวแทน ไม่ว่าจะโดยชัดแจ้งหรือโดยปริยายในเนื้อหาหรือความถูกต้องของข้อมูลในช่องทางต่าง ๆ ของบุคคลภายนอก และไม่รับผิดต่อสิ่งใด ๆ ที่เกิดขึ้นอันเนื่องมาจากสิ่งที่กล่าวไว้ข้างต้น
- ในกรณีที่มีความแตกต่างกันระหว่างเอกสารภาษาอังกฤษกับการแปลเป็นภาษาไทย ให้ยึดถือตามเอกสารภาษาอังกฤษ
แหล่งข้อมูล