การลงทุนในตลาดเกิดใหม่ (emerging markets) ค่อย ๆ กลับมาสร้างผลตอบแทนที่ดีอีกครั้ง ภายหลังการระดมฉีดวัคซีนเพิ่มขึ้น เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของ COVID-19 อย่างไรก็ดี แรงกดดันจากการปฏิรูปกฎหมาย และการกำกับดูแลบริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่ในจีน ตลอดจนการกลับมาแพร่ระบาดของ COVID-19 อีกครั้งในบางพื้นที่ ทำให้ผลตอบแทนของตลาดเกิดใหม่ในช่วงที่ผ่านมาค่อนข้างน้อยกว่าตลาดประเทศพัฒนาแล้ว (developed markets) อยู่พอสมควร ทั้งนี้ เราเชื่อว่าการลงทุนในตลาดเกิดใหม่ โดยเฉพาะตลาดนอกทวีปเอเชีย (เช่น ลาตินอเมริกา และยุโรปตะวันออก) น่าจะให้ผลตอบแทนที่ดีในระยะยาว ด้วย 3 ปัจจัยสนับสนุน ได้แก่ (1) ปริมาณหนี้ที่ยังต่ำ (2) มูลค่าหุ้นที่น่าดึงดูด และ (3) กระแสเงินสดที่ค่อนข้างแข็งแกร่ง ดังนี้

3 เหตุผลที่ทำให้ตลาดเกิดใหม่ยังไปต่อในระยะยาว

1. ปริมาณหนี้ของกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ยังต่ำเมื่อเทียบกับกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว

ในช่วงที่ผ่านมา หลายประเทศใช้การสร้างหนี้เป็นเครื่องมือกระตุ้นเศรษฐกิจ และเร่งการจับจ่ายใช้สอยในประเทศ เพื่อให้วงจรเศรษฐกิจดำเนินต่อไปได้ท่ามกลางการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก (ทั้งการก่อหนี้ภาคครัวเรือน และหนี้ภาครัฐ) ทำให้ปริมาณหนี้โดยรวมเพิ่มสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ปริมาณหนี้ที่สูงอยู่แล้ว ถูกเร่งให้สูงขึ้นอีกโดยวิกฤต COVID-19 ที่ทำให้หลายประเทศต้องกู้ยืมเงินเพิ่มเติม และต้องเพิ่มการกระตุ้นเศรษฐกิจ เพื่อแก้ไขปัญหาวิกฤตนี้ อย่างไรก็ดี เราพบว่าปริมาณหนี้ของกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ (ยกเว้น จีน) ยังถือว่าต่ำ เมื่อเทียบกับประเทศพัฒนาแล้ว และระดับหนี้ที่ต่ำกว่านี้เองเป็นเหตุผลที่การกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมยังสามารถทำได้อีก โดยที่ปริมาณหนี้ไม่ได้เป็นอุปสรรคมากนัก ซึ่งเราคิดว่าความเสี่ยงต่อเสถียรภาพเศรษฐกิจผ่านการกระตุ้นดังกล่าวยังมีน้อย

ถ้าเราพิจารณาเป็นรายภูมิภาค จะเห็นว่ากลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ในลาตินอเมริกา และยุโรป มีสัดส่วนหนี้ต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมแห่งชาติ (GDP) ค่อนข้างต่ำ เมื่อเทียบกับประเทศพัฒนาแล้ว และประเทศตลาดเกิดใหม่ในเอเชีย เป็นเหตุให้การลงทุนในลาตินอเมริกา และยุโรปตะวันออกได้รับความสนใจจากนักลงทุนในช่วงหลัง ๆ มากขึ้น เช่น เม็กซิโก มีสัดส่วนหนี้ต่อ GDP น้อยกว่า 50% บราซิลมีสัดส่วนหนี้ต่อ GDP ประมาณ 100% และอีกหลายประเทศในยุโรปตะวันออก เช่น ตุรกี ฮังการี และโปแลนด์ ซึ่งสัดส่วนหนี้ต่อ GDP ดังกล่าวยังถือว่าต่ำกว่าประเทศพัฒนาแล้วอยู่มาก

3 เหตุผลที่ทำให้ตลาดเกิดใหม่ยังไปต่อในระยะยาว

3 เหตุผลที่ทำให้ตลาดเกิดใหม่ยังไปต่อในระยะยาว

2. มูลค่าหุ้นของตลาดเกิดใหม่น่าดึงดูด

มูลค่าของตลาดเกิดใหม่หากเทียบกับตลาดประเทศพัฒนาแล้ว ถือว่ามีอัตราส่วนราคาหุ้นต่อผลกำไร price-to-earning (p/e) ที่ต่ำกว่ามาก โดยดัชนี MSCI ของกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่มี p/e ที่ระดับ 13 เท่า ซึ่งกว่าต่ำกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วที่มี p/e ที่ระดับ 19 เท่า ซึ่ง p/e ที่ถูกกว่าน่าจะช่วยดึงดูดนักลงทุนที่ต้องการสร้างผลตอบแทนในระดับสูง ภายใต้ความเสี่ยงที่ยอมรับได้เข้ามามากขึ้น

ทั้งนี้ ถ้าเจาะลึกลงไปยังตลาดเกิดใหม่ในกลุ่มประเทศยุโรปตะวันออก และลาตินอเมริกา จะพบว่า p/e ของตลาดดังกล่าวต่ำกว่าตลาดเกิดใหม่ในภูมิภาคอื่น ๆ และยังถือว่าต่ำเมื่อเทียบกับช่วงเวลาที่ผ่านมาด้วย ซึ่งเรามองว่ากลุ่มประเทศลาตินอเมริกา และยุโรปตะวันออกน่าจะเป็นกลุ่มประเทศที่ได้ประโยชน์อย่างมากจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก เนื่องจากเป็นกลุ่มประเทศที่มีทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญ และเป็นที่ต้องการของอุตสาหกรรมสมัยใหม่ เช่น บราซิลมีแร่เหล็ก อาร์เจนตินาและชิลีมีแร่ลิเทียม ซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญของแบตเตอรี่ในรถยนต์ไฟฟ้า ชิลีและเปรูมีแร่ทองแดง ซึ่งต้องใช้อย่างกว้างขวางในอุตสาหกรรมทั่วโลก นอกจากนั้น รัสเซียยังเป็นผู้ผลิตนิกเกิล อลูมิเนียม และน้ำมันรายใหญ่ของโลก ซึ่งการที่เศรษฐกิจโลกฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว ทำให้มีความต้องการทรัพยากรธรรมชาติดังกล่าวค่อนข้างมาก และส่งผลให้กลุ่มอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับทรัพยากรธรรมชาติดังกล่าวสร้างผลตอบแทนที่น่าพึงพอใจด้วย

3 เหตุผลที่ทำให้ตลาดเกิดใหม่ยังไปต่อในระยะยาว

3. กระแสเงินสดที่แข็งแกร่งของบริษัทในตลาดเกิดใหม่น่าจะสร้างผลตอบแทนมากขึ้นในอนาคต และทำให้นักลงทุนหันมาสนใจหุ้นในตลาดเกิดใหม่มากขึ้น

ในช่วง 10 ปีให้หลัง เราพบว่าบริษัทในตลาดเกิดใหม่สร้างกระแสเงินสดที่แข็งแกร่งขึ้นมากเมื่อเทียบกับช่วงก่อนหน้า โดยมีสาเหตุที่สำคัญมาจากผลประกอบการของบริษัทที่เกี่ยวข้องกับทรัพยากรธรรมชาติ และบริษัทที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี โดยเฉพาะอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ ซึ่งเราเชื่อว่ากระแสเงินสดที่แข็งแกร่งจะช่วยให้บริษัทสามารถสร้างผลตอบแทนให้นักลงทุนได้มากขึ้น และน่าจะช่วยเพิ่มระดับความน่าลงทุน (rerating) ด้วย

3 เหตุผลที่ทำให้ตลาดเกิดใหม่ยังไปต่อในระยะยาว

สรุปมุมมองต่อตลาดเกิดใหม่

แม้เราจะเห็นว่าตลาดเกิดใหม่มีความน่าสนใจ และน่าจะให้ผลตอบแทนได้ดี ตามเหตุผลที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น ทั้งด้านการเติบโตที่ต่อเนื่อง การประเมินมูลค่าที่ยังถือว่าถูกกว่าภูมิภาคอื่น ๆ และกระแสเงินสดที่แข็งแกร่ง นักลงทุนยังคงต้องระมัดระวังความเสี่ยงระยะสั้น เช่น การปรับฐานจากความกังวลของตลาดหุ้นจีนจากการปฏิรูปกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ซึ่งอาจจะสร้างบรรยากาศเชิงลบต่อการลงทุนในตลาดเกิดใหม่บ้าง รวมถึงบริษัทที่เกี่ยวข้องกับการทำธุรกิจกับจีนที่อาจได้รับผลกระทบในเชิงลบโดยตรง และทำให้อัตราการทำกำไรลดลงด้วย นอกจากนี้ ในสถานการณ์ที่การระบาดของ COVID-19 ยังมีความไม่แน่นอน เรายังคงต้องจับตาการแพร่ระบาดอย่างใกล้ชิด ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบต่อราคาสินค้าโภคภัณฑ์ และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจได้ โดยเฉพาะประเทศที่พึ่งพิงรายได้จากการส่งออก อย่างไรก็ดี เรายังเชื่อมั่นในปัจจัยพื้นฐานระยะยาวของตลาดเกิดใหม่ และเชื่อว่าด้วยปัจจัยพื้นฐานทั้ง 3 ประเด็นน่าจะจะสร้างผลตอบแทนที่ดีกับนักลงทุนในอนาคต         

เนื้อหาต้นฉบับโดย 

Chetan Sehgal, CFA

Senior Managing Director, Director of Portfolio Management

Franklin Templeton Emerging Markets Equity

ข้อสงวนสิทธิ์

  1. แฟรงคลิน เทมเพิลตัน (“Franklin Templeton”) ให้บริการการให้คำแนะนำทั่วไปแก่ FINNOMENA ในการออกแบบพอร์ตการลงทุน (Asset Allocations)
  2. แฟรงคลิน เทมเพิลตัน (“Franklin Templeton”) ไม่รับผิดใด ๆ ต่อบุคคลภายนอก ซึ่งรวมถึงผลิตภัณฑ์ บริการ เว็บไซต์ หรือเนื้อหาใด ๆ ที่ได้จัดทำหรือปรากฏในช่องทางต่าง ๆ ของบุคคลภายนอกนั้น อีกทั้ง Franklin Templeton ไม่ได้ให้คำรับรอง รับประกัน หรือเป็นตัวแทน ไม่ว่าจะโดยชัดแจ้งหรือโดยปริยายในเนื้อหาหรือความถูกต้องของข้อมูลในช่องทางต่าง ๆ ของบุคคลภายนอก และไม่รับผิดต่อสิ่งใด ๆ ที่เกิดขึ้นอันเนื่องมาจากสิ่งที่กล่าวไว้ข้างต้น
  3. ในกรณีที่มีความแตกต่างกันระหว่างเอกสารภาษาอังกฤษกับการแปลเป็นภาษาไทย ให้ยึดถือตามเอกสารภาษาอังกฤษ

แหล่งข้อมูล

https://www.franklintempleton.com/articles/blogs/emerging-markets/three-reasons-we-remain-bullish-on-emerging-markets-long-term