Community Group Buying คืออะไร? รู้จักกับ Community Group Buying โมเดลธุรกิจที่ ได้รับความนิยม สุด ๆ ในตลาด e-Commerce ของจีน

เป็นที่รู้ ๆ กันว่า ประเทศจีนมีส่วนแบ่งทางการตลาดที่สูงที่สุดของโลก ทั้งการซื้อขายสินค้า การจองบริการต่าง ๆ หรือการสั่งอาหารผ่านทางออนไลน์ ทำให้การพัฒนาของโมเดลธุรกิจ e-Commerce ก้าวหน้ามากขึ้นเรื่อย ๆ และคงไม่พ้นโมเดลธุรกิจที่ได้รับความนิยมสุด ๆ อย่าง Community Group Buying ซึ่งเริ่มเป็นสิ่งที่ตอบโจทย์ความท้าทายในการบริโภคของผู้คนในจีนจากวิกฤต Covid-19 ที่ผ่านมา

ช่วง Covid-19 ทำให้ลูกค้าอยากจะหลีกเลี่ยงการไปซื้อของในตลาดที่มีคนหนาแน่น ลองนึกภาพว่าเราอยากจะซื้อผัก ผลไม้ จากตลาด แต่ไม่อยากออกไปเดินเลือกซื้อในที่ ๆ เจอคนเยอะ ถึงแม้ว่าตอนนี้สถานการณ์โรคระบาดในจีนจะดีขึ้นแล้ว Community Group Buying ก็ยังคงเป็นที่น่าสนใจ เพราะราคาของสินค้าที่ถูกกว่า และอาจจะได้สินค้าราคาดีกว่าออกไปซื้อเองที่ตลาดด้วยซ้ำ

Community Group Buying คืออะไร? รู้จักกับ Community Group Buying โมเดลธุรกิจที่ ได้รับความนิยม สุด ๆ ในตลาด e-Commerce ของจีน

Community Group Buying คืออะไร?

Community Group Buying (การรวมกลุ่มของผู้ซื้อ) คือ โมเดลธุรกิจที่จะมีฝั่งหนึ่งอย่าง ผู้นำกลุ่ม (Group Buying Leader) ที่อยู่ในชุมชนเดียวกันกับลูกค้า ทำหน้าที่รับออเดอร์คำสั่งซื้อของสมาชิก (Member) ที่มาจากแอปต่าง ๆ รวมถึงคำสั่งซื้อจากกลุ่ม WeChat ซึ่งเป็นวิธีที่เข้าถึงลูกค้าได้ง่ายที่สุดด้วย ผู้นำกลุ่ม (Leader) จะคอยดูแลกลุ่มและโปรโมทสินค้าที่คัดสรรมาแล้วในกลุ่มหรือผ่านแอป ทั้งสินค้าที่หามาโดยตรงจากเกษตรกร ผู้จัดจำหน่ายหรือแบรนด์สินค้าเอง และทำการรวบรวมคำสั่งซื้อส่งไปยังแพลตฟอร์มของผู้ผลิตสินค้า

หลังจากนั้นหน้าที่ของผู้ผลิตสินค้าคือส่งสินค้าต่อให้กับผู้นำกลุ่ม (Group Leader) ซึ่งส่วนใหญ่ก็คือ เจ้าของร้านค้าในชุมชนนั้น ๆ เอง ร้านจะถูกจัดให้เป็นจุดพักสินค้าชั่วคราว และรอลูกค้าทยอยมารับสินค้าที่สั่งไป

Community Group Buying คืออะไร? รู้จักกับ Community Group Buying โมเดลธุรกิจที่ ได้รับความนิยม สุด ๆ ในตลาด e-Commerce ของจีน

ข้อดีของ Community Group Buying

ลูกค้าจะได้ราคาสินค้าที่ต่ำกว่าการซื้อจากหน้าร้านหรือตลาด เพราะรวมกันสั่งซื้อสินค้าประเภทเดียวกันในปริมาณมาก ทั้งยังช่วยป้องกันราคาให้กับสินค้าที่ซื้อในปริมาณน้อยด้วยค่าจัดส่งก็จะประหยัดกว่าการสั่งซื้อแบบรายคน แถมยังสะดวกกว่าเพราะแค่สั่งผ่านแอปหรือกลุ่ม WeChat ด้วยข้อดีของเทคโนโลยี กลุ่มเหล่านี้จึงใหญ่มากขึ้นเรื่อย ๆ โดยทั่วไปประมาณ 100-500 คน ภายในละแวกใกล้เคียงหรืออยู่ในกลุ่มชุมชนเดียวกัน

ทางฝั่งผู้นำกลุ่ม (Group Buying Leader) ก็จะได้ค่านายหน้า (commission) เป็นผลตอบแทน เพราะลดขั้นตอนไม่ต้องไปผ่านผู้จัดจำหน่ายและพ่อค้าคนกลางหลาย ๆ ทอด เพื่อให้ได้ราคาที่ถูกลงสำหรับลูกค้า และมีส่วนช่วยให้มีการกระจายสินค้าไปยังเมืองเล็ก ๆ ด้วย ที่สำคัญคือโมเดลธุรกิจแบบนี้ ดึงคนเข้ามาด้วยการบอกปากต่อปาก ให้ความรู้สึกแบบเครือญาติหรือเพื่อนบ้านมากกว่า จึงเข้าถึงกลุ่มคนที่ไม่ค่อยถนัดเทคโนโลยีหรือกลุ่มผู้สูงอายุในแถบชนบท ที่ปกติจะอยากสั่งซื้อของผ่านคนรู้จักในชุมชนมากกว่าการสั่งซื้อผ่านทางอินเตอร์เน็ต

Community Group Buying ยังให้ข้อดีมาก ๆ กับบริษัท e-Commerce เพราะแก้ปัญหาเรื่องการขนส่งหนาแน่นและปัญหาของเน่าเสียในร้านขายของชำ เป็นสิ่งที่โมเดลธุรกิจแบบอื่น ๆ ยังไม่สามารถแก้ไขได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ทำไม Community Group Buying ถึงจำเป็นต้องพัฒนาต่อไป

Community Group Buying เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว และขยับขึ้นมาเป็นแนวหน้าในการแข่งขันด้าน e-Commerce ในประเทศจีน จากการคาดการณ์ของตลาด อัตราการเติบโตเฉลี่ยในอีก 5 ปีข้างหน้าของจีน อาจสูงได้ถึง 100% เลยทีเดียว

แถมยังมีพื้นที่มากมายในตลาดจีนให้ขยับขยายได้อีก ถือว่าโมเดลธุรกิจ Community Group Buying ยังอยู่ในขั้นเริ่มต้นเท่านั้นและกำลังพัฒนาเติบโตอย่างต่อเนื่อง แถมยังช่วยเพิ่มความสัมพันธ์ระหว่างตลาด e-Commerce ในจีนอีกด้วย การที่สามารถเข้าถึงลูกค้าที่มีรายได้น้อย และแก้ไขปัญหาการขนส่งที่กำลังพัฒนาในตลาดนี้ได้ ทำให้มีโอกาสสูงมากที่จะนำไปปรับใช้กับตลาดเกิดใหม่ (Emerging Markets) ในต่างประเทศ เช่น อินโดนีเซีย อินเดีย หรือบราซิล

Community Group Buying คืออะไร? รู้จักกับ Community Group Buying โมเดลธุรกิจที่ ได้รับความนิยม สุด ๆ ในตลาด e-Commerce ของจีน

การเข้ามาของบริษัทเทคโนโลยีรายใหญ่

แน่นอนว่าโมเดลธุรกิจแบบนี้ ต้องถูกจับตามองโดยบริษัทเทคโนโลยีใหญ่ ๆ ที่สนใจเข้ามาลงทุน ทั้งเพิ่มกำลังการจ้างงาน หรือสร้างแพลตฟอร์มของตัวเองขึ้นมาเพื่อรองรับการเติบโตนี้เจ้าของ Platform e-Commerce ที่ใหญ่ที่สุดอย่าง Alibaba Group, Pinduoduo, Meituan, Tencent, JD.com หรือแม้กระทั่ง Didi บริษัทแอปที่ให้บริการเรียกแท็กซี่รายใหญ่ของจีนที่เพิ่งมีข่าวโดนแบนไปเมื่อไม่นานมานี้ ก็ลงมาเล่นกับโมเดลธุรกิจนี้ด้วย ส่วนใหญ่โฟกัสไปที่การหาฐานลูกค้าในเมืองรอง ๆ หรือแถบชนบท

ด้วยความพยายามของบริษัทรายใหญ่ที่เข้ามา ไม่ว่าจะเข้ามาเป็นส่วนแบ่งหนึ่งในตลาดหรือเพื่อใช้เงินมากมายที่มีก็แล้วแต่ ทำให้ร้านขายของชำเล็ก ๆ หรือร้านขายของดั้งเดิมที่ยังเป็นแบบออฟไลน์  (Offline) อยู่ ต้องเจอกับปัญหาอย่างหนักเช่นกัน ร้านค้าเหล่านี้อยู่ในความเสี่ยงที่จะสูญเสียธุรกิจของตัวเองไป หากไม่ยอมเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งกับ Community Group Buying แต่ถ้าหากยอมขาดทุนบางส่วนเพื่อเข้าร่วมกับแพลตฟอร์มนี้ ก็จะต้องสูญเสียกำไรบางส่วนจากการตัดราคาเช่นกัน

ทางการจีนก็ได้ออกโรงเตือนเพื่อเบรกกระแสอันมาแรงของ Community Group Buying ไว้ด้วยการออกนโยบายหรือระเบียบเพิ่มขึ้นเช่นกัน แต่ในจังหวะนี้ที่วิกฤต Covid-19 ยังไม่หายไป ตราบใดที่ผู้คนยังต้องมีการรักษาระยะห่าง (Social Distancing) กันอยู่ ก็จะยังเป็นแรงผลักดันให้ยอดการสั่งซื้อทุกอย่างผ่านออนไลน์ยิ่งเติบโตอย่างรวดเร็ว และกระจายไปยังตลาดส่วนอื่นที่ยังไม่มีใครเข้าถึง คงต้องมีการจับตามองโมเดลธุรกิจนี้กันต่อไป

เนื้อหาต้นฉบับโดย  Claus Born, CFA

Institutional Portfolio Manager, Franklin Templeton Emerging Markets Equity

เรียบเรียงโดย FINNOMENA Admin

ข้อสงวนสิทธิ์

  1. แฟรงคลิน เทมเพิลตัน (“Franklin Templeton”) ให้บริการการให้คำแนะนำทั่วไปแก่ FINNOMENA ในการออกแบบพอร์ตการลงทุน (Asset Allocations)
  2. แฟรงคลิน เทมเพิลตัน (“Franklin Templeton”) ไม่รับผิดใด ๆ ต่อบุคคลภายนอก ซึ่งรวมถึงผลิตภัณฑ์ บริการ เว็บไซต์ หรือเนื้อหาใด ๆ ที่ได้จัดทำหรือปรากฏในช่องทางต่าง ๆ ของบุคคลภายนอกนั้น อีกทั้ง Franklin Templeton ไม่ได้ให้คำรับรอง รับประกัน หรือเป็นตัวแทน ไม่ว่าจะโดยชัดแจ้งหรือโดยปริยายในเนื้อหาหรือความถูกต้องของข้อมูลในช่องทางต่าง ๆ ของบุคคลภายนอก และไม่รับผิดต่อสิ่งใด ๆ ที่เกิดขึ้นอันเนื่องมาจากสิ่งที่กล่าวไว้ข้างต้น
  3. ในกรณีที่มีความแตกต่างกันระหว่างเอกสารภาษาอังกฤษกับการแปลเป็นภาษาไทย ให้ยึดถือตามเอกสารภาษาอังกฤษ

แหล่งข้อมูล

https://www.franklintempleton.com/investor/article?contentPath=html/ftthinks/common/equity/community-group-buying-the-hottest-trend-in-chinas-ecommerce.html