ลงทุนในกองทุนอะไรดี? ท่ามกลางสภาวะตลาดผันผวน!!

เปิดปี 2020 มีเหตุการณ์มากมายที่กระทบตลาด ไม่ว่าจะเป็นศึกระหว่างสหรัฐฯ-อิหร่าน, ไวรัสโควิด-19, ธนาคารกลางพากันลดดอกเบี้ยฉุกเฉิน , ศึกราคาน้ำมันระหว่างโอเปกและรัสเซีย โดยตั้งแต่ต้นปี ตลาดหุ้นสำคัญๆ ของโลกได้ปรับตัวลงอย่างมีนัยยะ ท่ามกลางบรรยากาศที่ผันผวน เอาแน่เอานอนไม่ได้อย่างนี้ ยังมีสินทรัพย์ประเภทไหนบ้างที่น่าลงทุนเพื่อหลบภัยจากตลาดหุ้น ลดความเสี่ยงของพอร์ต บทความนี้ขอรวบรวม 4 กองทุนสำหรับผู้ที่สนใจสินทรัพย์อื่นๆ เพื่อลดความเสี่ยงของพอร์ตการลงทุนครับ

ตราสารหนี้ระยะกลาง : KFAFIX

ทาง FINNOMENA Investment Team มีมุมมองว่า เศรษฐกิจไทยมีโอกาสชะลอตัว และเข้าสู่ภาวะ Technical Recession ในช่วงไตรมาสที่ 2/20 ประกอบกับการแข็งค่าของเงินบาทในช่วงปีที่แล้ว ยังมีต่อเศรษฐกิจไทย สร้างแรงกดดันให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีแนวโน้มที่จะต้องลดอัตราดอกเบี้ยเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งจะส่งผลดีต่อการลงทุนในตราสารหนี้ระยะกลางถึงยาว อย่างการลงทุน KFAFIX หรือในกรณีที่หากการลดอัตราดอกเบี้ยไม่เกิดขึ้น อัตราผลตอบแทนของพอร์ต (Yield) กองทุน KFAFIX เฉลี่ย 2.43% (ข้อมูล ณ วันที่ 31/1/2020)

โดย KFAFIX เป็นกองทุนตราสารหนี้ระยะกลางแบบ Active ที่สามารถเลือกลงทุนได้ทั้งในและต่างประเทศ มีการเลือกตราสารหนี้ และอายุของตราสารหนี้แบบยืดหยุ่น เปิดช่องให้สามารถลงทุนในตราสารหนี้พวก High Yield ได้ แต่กองยังเลือกที่จะถือ Investment Grade เท่านั้น ทางด้านอายุเฉลี่ย (Duration) ของตราสารหนี้ กองทุนเคยถือพอร์ตตราสารหนี้อายุเฉลี่ยสูงสุด 2.97 ปี ก่อนที่จะลดลงมาสู่ระดับ 2.44 ปี เมื่อตอนเดือนธันวาคม และปรับขึ้นมาสู่ระดับ 2.85 ปี เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

ทองคำ : SCBGOLD

FINNOMENA Investment Team มีมุมมองว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มอ่อนแอ การส่งออกยังคงชะลอตัว สอดคล้องกับการบริโภคภายในประเทศที่ชะลอตัว ส่งผลให้ดุลการค้าที่เคยเกินดุลมีแนวโน้มหดตัวลง ทำให้ค่าเงินบาทมีแนวโน้มอ่อนค่า

ขณะที่ทองคำยังคงเป็นสินทรัพย์ปลอดภัยที่นักลงทุนเข้าถือครองในยามที่ตลาดมีความผันผวน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่ผ่านมาที่โลกกังวลกรณีโควิด-19 ที่ส่งผลให้ราคาทองคำขึ้นมาทดสอบแนวต้านสำคัญที่ 1,700 ดอลลาร์ต่อออนซ์ เมื่อประกอบกับสถานะความเป็นสินทรัพย์รักษาอำนาจการซื้อของทองคำ หรือพูดง่ายๆ คือสู้กับเงินเฟ้อได้

โดยหาก Real Yield (อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล – อัตราเงินเฟ้อ) น้อยลง ก็จะยิ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการผลักดันราคาทองคำ เพราะการเข้าลงทุนในทองคำช่วยรักษาอำนาจการซื้อได้ดีกว่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีแนวโน้มจะกลับมาเป็นดอกเบี้ยขาลงอีกครั้ง ก็จะสร้างแรงกดดันให้ Real Yield ลดลง

เท่ากับว่า การถือครองทองคำแบบไม่ป้องกันความเสี่ยงเรื่องค่าเงิน จะช่วยให้พอร์ตได้ผลบวกจากเงินบาทที่อ่อนค่า และการปรับตัวขึ้นของทองคำในยามที่ตลาดกังวล

โดย SCBGOLD ลงทุนใน SPDR Gold Trust ซึ่งถือเป็น ETF ทองคำที่ใหญ่ที่สุดในโลก เป็นกองทุนรวมทองคำแบบไม่ป้องกันความเสี่ยงเรื่องค่าเงิน ทั้งนี้เพื่อรับโอกาสสร้างผลตอบแทนเพิ่มเติมจากการอ่อนค่าของเงินบาท

ตราสารหนี้ทั่วโลก : KKP G-UBOND-H

การถือครองตราสารหนี้ที่มีอายุเฉลี่ยระยะกลาง จะช่วยเพิ่มโอกาสสร้างผลตอบแทนที่ดีในยามที่ตลาดผันผวนเนื่องจากนักลงทุนจะหนีเข้าลงทุนในสินทรัพย์ปลอดภัยและมีโอกาสให้ผลตอบแทนสูงกว่าปกติ อันได้แก่ ตราสารหนี้ระยะกลาง-ยาว นอกจากนี้แนวโน้มการลดอัตราดอกเบี้ยยังกลับมาอีกครั้ง จากความกังวลกรณีเศรษฐกิจชะลอตัวจากการแพร่กระจายของโควิด-19 ซึ่งเป็นผลดีต่อการถือครองตราสารหนี้ระยะกลางถึงยาว

โดย KKP G-UBOND-H เป็นกองทุนตราสารหนี้แบบ Active ทั่วโลก มีการปรับพอร์ตแบบยืดหยุ่นตามสถานการณ์ ซึ่งปัจจุบันลงทุนในตราสารหนี้สหรัฐฯ เป็นหลักที่ 32.9% รองลงมาคือ UK ที่ 19.1% ในฝั่งของ Credit Rating ตราสารหนี้ที่กองทุนถืออยู่ที่เฉลี่ย BBB+ มี Duration 5.80 ปี และ Yield เฉลี่ยของพอร์ตกองทุนอยู่ที่ 3.45% ต่อปี (ข้อมูล ณ วันที่ 29/02/2020 )

ตราสารหนี้เอเชีย : ASIA-B

เนื่องจากมีการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส ส่งผลต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจ ทำให้ต้องมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ เช่น การปรับลดอัตราดอกเบี้ยเพื่อรับมือกับผลกระทบต่อเศรษฐกิจ อีกทั้งความกังวลจากการแพร่ระบาด ยังหนุนให้เม็ดเงินลงทุนไหลเข้าลงทุนในตลาดตราสารหนี้ ซึ่งปัจจัยที่กล่าวมาทั้งหมดจะเป็นผลดีต่อตราสารหนี้ระยะกลางและยาว

โดย ASIA-B เป็นกองทุนตราสารหนี้แบบ Active ที่มุ่งเน้นการลงทุนในตราสารหนี้ของประเทศในเอเชียที่เป็นสกุลเงินดอลลาร์ (Asian USD Bonds) พอร์ตกองทุนลงทุนในตราสารหนี้ระยะกลาง (3-5 ปี) และมีความกระจุกตัวในผู้ออกตราสารรวมที่ต่ำ (น้อยกว่า 5%)

เปรียบเทียบระหว่างพอร์ตหุ้นล้วน กับพอร์ตที่แบ่งสัดส่วน 30% ไปลงทุนในกองทุนดังที่กล่าวมา ตั้งแต่ต้นปี 2563

ลงทุนในกองทุนอะไรดี? ท่ามกลางสภาวะตลาดผันผวน!!

ข้อมูล ณ วันที่ 11 มีนาคม 2563
ที่มา : FINNOMENA

ผลการเปรียบเทียบผลการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์ในตลาดทุน มิได้เป็นสิ่งยืนยันถึงผลการดำเนินงานในอนาคต

สถานการณ์ในตอนนี้ตลาดหุ้นได้เข้าสู่ภาวะ Event driven bear market ทาง FINNOMENA Investment Team เปรียบเทียบผลการดำเนินงานตั้งแต่ต้นปี ของตลาดหุ้นสำคัญๆ จะเห็นได้ว่าหากพอร์ตของเราถือหุ้นล้วน ไม่ว่าจะเป็นหุ้นภูมิภาคไหน ก็จะพบเจอกับการขาดทุนหนักมากกว่า 10% แต่เมื่อลองเพิ่มสัดส่วน 30% ในกองทุน 4 กองข้างต้นแม้เพียงกองเดียว จะเห็นได้ว่าช่วยลดการขาดทุนของพอร์ตไปได้มากพอสมควร โดยเฉพาะทองคำที่ทำผลตอบแทนได้ดีที่สุดในกลุ่มสินทรัพย์ที่กล่าวมา

สรุป

ในยามที่ตลาดผันผวน การจัดพอร์ตที่มีสินทรัพย์หลากหลาย จะช่วยให้พอร์ตมีความมั่นคงมากขึ้น ไม่เหวี่ยงไปกับตลาดมากเกินไป โดยตราสารหนี้และทองคำถือเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจ สามารถพยุงความเสี่ยงของพอร์ตไม่ให้สูงเกินไปได้ จึงเหมาะสำหรับใครที่อยากกระจายความเสี่ยงช่วงนี้ อย่างไรก็ดี อย่าลืมศึกษารายละเอียดและความเสี่ยงของแต่ละกองทุนให้ดีก่อนเริ่มลงทุนนะครับ

FINNOMENA Investment Team


คำเตือน

ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลสำคัญของกองทุนโดยเฉพาะนโยบายกองทุน ความเสี่ยง และผลการดำเนินงานของกองทุน โดยสามารถขอข้อมูลจากผู้แนะนำก่อนตัดสินใจลงทุน | ผลการดำเนินงานในอดีต และผลการเปรียบเทียบผลการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์ในตลาดทุน มิได้เป็นสิ่งยืนยันถึงผลการดำเนินงานในอนาคต |  ผู้ลงทุนอาจมีความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน เนื่องจากการป้องกันความเสี่ยงขึ้นอยู่กับดุลพินิจของผู้จัดการกองทุน

TSF2024