The Key Factors : ปรับตัวอย่างไรเมื่อ Trade War ใกล้เข้ามา

หลังจากความกังวลเรื่องสงครามการค้าคลี่คลายลงจากท่าทีที่ผ่อนปรนของนายสี จิ้น ผิง ได้ไม่นาน ความกังวลก็กลับมาอีกครั้ง เมื่อนายโดนัลด์ ทรัมป์มีท่าทีที่แข็งกร้าวมากขึ้น และดูเหมือนจะไม่ฟังเสียงใครในการที่จะดำเนินการขึ้นภาษีนำเข้าจากประเทศต่าง ๆ อย่างจริงจัง ซึ่งล่าสุดหลาย ๆ ประเทศอย่างยุโรปและแคนาดา ก็เริ่มเตรียมมาตรการตอบโต้ โดย Investment Team ของ FINNOMENA ยังคงติดตามสถานการณ์ Trade War ในครั้งนี้อย่างใกล้ชิด เพื่อประเมินสถานการณ์การลงทุนต่อไป

1. ตัวเลขการขนส่งสินค้าทางเรือ (ตู้คอนเทนเนอร์)

หลังจากข่าวสงครามการค้ากลับมาถูกพูดถึงอีกครั้ง ปริมาณการนำเข้าและส่งออกก็ส่งสัญญาณชะลอตัวเพื่อรอดูความชัดเจนของนโยบายดังกล่าว โดย ตลาดฮ่องกงและลอสแองเจลลิสชะลอตัวมากที่สุดด้วย การขยายตัวเป็นติดลบ ที่ -5.42% และ -3.44% ตามลำดับ

2. เงินทุนเคลื่อนย้ายไปสินทรัพย์ปลอดภัยอย่างพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ

ตลาดตราสารหนี้สหรัฐฯ คือตลาดตราสารหนี้ที่มีสภาพคล่องสูงที่สุดในโลก เมื่อมีความเสี่ยงเกิดขึ้น ทำให้นักลงทุนอาจมีการย้ายเงินลงทุนไปยังสินทรัพย์ปลอดภัยอย่างพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐที่มีความเสี่ยงต่ำด้วยประเภทสินทรัพย์เอง ผู้ออกตราสารที่มีความน่าเชื่อถือ และสภาพคล่องที่สูง

ทำให้บริษัทวาณิชธนกิจขนาดใหญ่อย่าง มอร์แกน แสตนลีย์ มีความเห็นว่าอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอาจมีแนวโน้มปรับตัวลงได้ในอนาคต และทำให้ มอร์แกน แสตนลีย์ มีมุมมองว่า อัตราผลตอบแทน (Yield) ของพันธบัตรสหรัฐฯ ที่ 3.122 ณ วันที่ 17 พฤษภาคมที่ผ่านมานั้น เป็นจุดสูงสุดของปีไปเรียบร้อยแล้ว

3. เงินลงทุนเข้าสู่ ETF สินค้าโภคภัณฑ์มากที่สุดเมื่อเทียบทุกๆสินทรัพย์

ในปี 2018 มีปริมาณเงินเข้าลงทุนในกองทุน ETF กลุ่มสินค้าโภคภัณฑ์มากขึ้นกว่า 261.90% สอดคล้องกับทิศทางราคาของสินค้าโภคภัณฑ์ โดยเฉพาะน้ำมันที่ให้ผลตอบแทนมากกว่า 15% นับตั้งแต่ต้นปี สวนทางกับกองทุน ETF ที่ลงทุนในหุ้นที่มีปริมาณเงินเข้าลงทุนลดลงถึง 34% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า

กระแสเงินไหลเข้าที่เปลี่ยนแปลงไปในปีนี้ เป็นอีกตัวหนึ่งที่แสดงถึงอารมณ์การลงทุนของนักลงทุนในตลาดได้เป็นอย่างดี

4. เงินเฟ้อในยูโรโซน

เงินเฟ้อยังเป็นอีกปัจจัยสำคัญที่ต้องคำนึงถึงในการลงทุนในช่วงนี้ ล่าสุดตัวเลขเงินเฟ้อของยุโรป เพิ่มขึ้นมาที่ระดับ 2% ซึ่งเป็นเป้าหมายเงินเฟ้อของธนาคารกลางยุโรป (ECB) เป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยที่เป็นเงินเฟ้อจากอาหารและพลังงาน (Core Rate) เพียง 1.1% เท่านั้น ซึ่งหมายถึงการบริโภคภายในยุโรปกำลังกลับมา

ซึ่งหากตัวเลขเงินเฟ้อดังกล่าว เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเกินไป อาจส่งผลให้เป็นการเร่ง ECB ในการลด QE และขึ้นดอกเบี้ยในอนาคตได้

ทั้งหมดนี้ก็เป็น The Key Factors รายงานจาก FINNOMENA Investment Team ที่นำมาฝากทุกท่านประกอบการตัดสินใจลงทุนในวันนี้ ขอให้ทุกท่านโชคดีในการลงทุนครับ

FINNOMENA Investment Team รายงาน

TSF2024