The Key Factors: เมื่อความกลัวชี้นำตลาด

สัปดาห์ที่ผ่านมาสิ่งที่นักลงทุนจับตามองมากที่สุด คือ วิกฤติทางการเงินของตุรกี ซึ่งมีจุดเริ่มต้นจากเหตุการณ์ความตึงเครียดทางการเมือง ที่ตุรกียังเจรจาการค้ากับคู่ขัดแย้งของสหรัฐอย่าง รัสเซีย และซีเรียอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งถึงเหตุการณ์ล่าสุดที่สหรัฐสั่งเพิ่มอัตราภาษีต่อเหล็กและอลูมิเนียมที่นำเข้าจากตุรกีขึ้นอีกสองเท่า อยู่ที่ 50% และ 25% ตามลำดับ จากการที่สหรัฐเรียกร้องให้ตุรกีปล่อยตัวนายแอนดรู บรันสัน บาทหลวงชาวอเมริกันที่ถูกกักตัวในข้อหามีส่วนร่วมในการพยายามทำรัฐประหาร แต่ไม่เป็นผลจึงเกิดการโจมตีเศรษฐกิจตุรกีดังกล่าว ขณะที่ตุรกีเองก็ตอบโต้ด้วยการขึ้นภาษีนำเข้าจากสหรัฐสูงสุด 140% สำหรับเครื่องดื่มแอลกฮอล์

แล้วผลของการตอบโต้ดังกล่าวจะเป็นอย่างไร ติดตามได้ใน The Key Factors ได้เลย

1. ค่า Premium CDS อายุ 5 ปี สูงที่สุดนับตั้งแต่ปี 2008

The Key Factors : เมื่อความกลัวชี้นำตลาด

Source : Bloomberg

Credit Default Swap (CDS) หรือ อนุพันธ์ป้องกันความเสี่ยงจากการผิดนัดชำระหนี้ หรือเรียกง่ายๆ คือประกันคุ้มครองการผิดนัดชำระหนี้ โดยที่มีผู้ออกตราสารนั้นๆ เป็นผู้แบกรับความเสี่ยงเอาไว้ หลังจากที่เหตุการณ์ความขัดแย้งในตุรกีทวีความรุนแรงมากขึ้น ค่า Premium ซึ่งเป็นตัวแทนของความเต็มใจของนักลงทุนที่ยินยอมจะจ่ายเงินส่วนเกินเพื่อทำสัญญาทางการเงินนั้นมีมูลค่าสูงขึ้นกว่า 3 เท่านับตั้งแต่ต้นปี ขึ้นไปแตะระดับสูงที่สุดนับตั้งแต่ปี 2008 เป็นต้นมา ซึ่งหมายถึงนักลงทุนยินยอมที่จะจ่ายเงินจำนวนมากเพื่อซื้อประกันการผิดนัดชำระหนี้ดังกล่าวจากความกลัวการผิดนัดชำระหนี้มากขึ้นอย่างต่อเนื่อง

2. ดอลลาร์สหรัฐและค่าเงินเยนแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่อง

The Key Factors : เมื่อความกลัวชี้นำตลาด

Source : Investing

หลังจากที่มีความเสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์จากสงครามทางการค้าทั้งกรณีระหว่างสหรัฐและจีน กับระหว่างสหรัฐและตุรกี ส่งผลให้สินทรัพย์ปลอดภัยอย่างสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ และ เยนของญี่ปุ่น มีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งส่งผลกดดันราคาทองคำและตลาดเกิดใหม่อย่างต่อเนื่อง

3. อินโดนีเซียปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย

The Key Factors : เมื่อความกลัวชี้นำตลาด

ที่มา : TradingEconomics

เมื่อ 15 สิงหาคมที่ผ่านมา ธนาคารกลางอินโดนีเซียประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยจาก 4.25% เป็น 4.50% นับเป็นครั้งที่ 4 ตั้งแต่ต้นปี เพื่อสกัดการอ่อนค่าของค่าเงินรูปีห์ ที่อ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่องกว่า 7% ซึ่งเป็นเสมือนดาบสองคมในแง่ของการช่วยชะลอเงินทุนไหลออก แต่ขณะเดียวกันก็เป็นการเพิ่มต้นทุนทางเศรษฐกิจซึ่งอาจส่งผลให้เป็นการชะลอเศรษฐกิจด้วย

ทั้งหมดนี้ก็เป็น The Key Factors สัปดาห์นี้ ที่ตลาดเฉลยออกมาแล้วว่าปัจจุบันความกลัวเป็นเครื่องชี้นำเงินทุนได้ดีที่สุด ทำให้เกิดภาวะเงินทุนไหลกลับประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจที่มีความมั่นคงสูงอย่างสหรัฐและญี่ปุ่น โดยที่ถึงแม้มีความพยายามปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยก็ยังมิอาจหยุดยั้งเงินทุนเอาไว้ได้ ส่งผลให้เป็นปัจจัยสำคัญที่ยังคงกดดันตลาดเกิดใหม่ต่อไป

และสุดท้ายแล้วใครจะเป็นผู้ชนะสงครามการค้าครั้งนี้ หรือจะกลายเป็นสงครามจริงหรือไม่ คงต้องติดตามท่าทีอย่างใกล้ชิดต่อไป

FINNOMENA Investment Team
รายงาน