“รีวิวมุมมอง 2017 the year of change และผลตอบแทนทุก Model port” มาดูกันว่ามุมมองของปี 2017 ที่ FINNOMENA Investment Team มีมุมมองไว้ในปีที่แล้ว สิ่งต่างๆได้เกิดขึ้นหรือเปลี่ยนแปลงไปที่คาดคิดอย่างไรบ้าง และผลตอบแทนจากพอร์ตของ FINNOMENA แต่ละแผนนั้น ตอบรับและเป็นอย่างไรบ้าง? มาเริ่มกันเลยครับ

1. จาก Globalization สู่ Protectionism

จากเดิมที่ FINNOMENA Investment Team มีมุมมองว่าในปี 2017 นี้ นโยบายการกีดกันทางค้าจะมากขึ้น โดยเฉพาะจากฝั่งสหรัฐฯ จากการที่ประธานาธิบดีทรัมป์มีนโยบายกีดกันทางค้าเพิ่มขึ้น จึงเป็นหนึ่งในประเด็นที่มีการระมัดระวัง โดยจากข้อมูลในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2017 จะเห็นได้ว่าสหรัฐฯมีการใช้นโยบายกีดกันทางการค้าเพิ่มขึ้นจริงเมื่อดูจากนโยบายทางการค้าที่สหรัฐฯส่งผลเชิงลบต่อกลุ่มประเทศ G20 เพิ่มขึ้นมากกว่านโยบายที่ส่งผลบวกต่อกลุ่ม G20  ซึ่งสวนทางกับสมัยที่โอบามาดำรงตำแหน่งในปีก่อน อย่างไรก็ตามประธานาธิบดีทรัมป์ก็ไม่ได้ดำเนินนโยบายกีดกันทางค้าแบบสุดขั้วตามที่เคยได้หาเสียงเอาไว้ เช่น การขึ้นอัตราภาษีศุลกากรกับจีนเป็น 45%

ผลกระทบจากนโยบายการกีดกันทางการค้าของทรัมป์
ที่มา
: รายงาน THE 21ST GLOBAL TRADE ALERT REPORT จาก Global Trade Alert

2. จาก เงินฝืด สู่ เงินเฟ้อ

จากราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นในปีนี้ ทำให้ตัวเลขเงินเฟ้อที่อ่อนแอในหลายภูมิภาคเริ่มฟื้นตัว แต่ FINNOMENA Investment Team มีมุมมองว่าตัวเลขเงินเฟ้อยังอยู่ในระดับที่ต่ำ ทำให้ธนาคารกลางยังไม่สามารถขึ้นดอกเบี้ยนโยบายได้อย่างรวดเร็ว จึงยังเป็นจุดที่ยังเหมาะแก่การกระจายการลงทุนในตราสารทุน

ตัวเลขเงินเฟ้อประเทศต่างๆ  ที่มา : www.investing.com

3. จาก Dovish สู่ Hawkish

ธีมนี้ยังคงดำเนินต่อจากปี 2016 จากดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับต่ำมายาวนาน เมื่อเงินเฟ้อเริ่มกลับมาเนื่องจากราคาน้ำมัน และเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวนำโดยตัวเลขการนำเข้า ส่งออกสินค้าที่ปรับตัวขึ้นในหลายๆภูมิภาค ทำให้มีการปรับดอกเบี้ยนโยบายขึ้นหลายครั้ง รวมถึงการชะลอ QE ของเหล่าธนาคารต่างๆ เพื่อลดความร้อนแรงของเศรษฐกิจลง

นโยบายทางการเงินของเฟด  ที่มา : Bloomberg, INFINITI 

4. จาก DM สู่ EM

มุมมองนี้ถือว่าเป็นมุมมองที่ทำให้สร้างผลตอบแทนได้เกินเป้าหมายในหลายๆโมเดลพอร์ต  เนื่องจากในปีนี้ตลาดหุ้นกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาส่วนใหญ่มีการเติบโตของกำไรอยู่ในระดับสูง รวมถึงการคลายความกังวลจากวิกฤติหนี้จีน ทำให้หุ้นกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาสามารถสร้างผลตอบแทนได้อย่างยอดเยี่ยม จากภาพจะเห็นว่า กลุ่มประเทศกำลังพัฒนาสร้างผลตอบแทนตั้งแต่ต้นปีได้ถึง 33% ในขณะที่ประเทศพัฒนาแล้ว ผลตอบแทนเป็น 20% เท่านั้น

 

ผลตอบแทนของตลาดหุ้นกลุ่มพัฒนาแล้วและกลุ่มกำลังพัฒนา ที่มา : Bloomberg

5. จาก Yield Play สู่ Growth Play

ผลตอบแทนของตลาดหุ้นไทยและกลุ่มกองทุนอสังหาริมทรัพย์ไทย
ที่มา : Bloomberg

จากรูปภาพข้างต้นเป็นการเปรียบเทียบผลตอบแทนระหว่าง SET Index ซึ่งเป็นตัวแทนของ Growth play และ SET Property Fund and REITs หรือกองทุนอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งเป็นตัวแทนของ Yield play ซึ่งเห็นได้ชัดว่า SET Index สามารถสร้างผลตอบแทนได้ดีกว่า สะท้อนมุมมอง จาก Yield play สู่ Growth play อย่างไรก็ตาม ในช่วงกลางปี กองทุนอสังหาริมทรัพย์ปรับตัวลงประมาณ 7% ซึ่งถือว่าค่อนข้างมีนัยสำคัญ ทำให้ผลตอบแทนจากเงินปันผลเพิ่มขึ้นมาอยู่ในระดับ 5.5% ซึ่งเป็นระดับที่น่าสนใจ FINNOMENA Investment Team จึงแนะนำซื้อเข้าในพอร์ต Global Absolute Return (GAR) เพื่อเป็นการเพิ่มผลตอบแทนและลดความเสี่ยงจากการกระจายสินทรัพย์ในพอร์ต ซึ่งสร้างผลตอบแทนได้ตามที่คาดหวังไว้

 6. จาก ตราสารหนี้ สู่ ตราสารทุน

Fund flow ของประเทศต่างๆ ในปี 2017 ที่มา : Bloomberg

ตั้งแต่ต้นปี เนื่องจากเศรษฐกิจโดยรวมที่ฟื้นตัว จึงมีเม็ดเงินไหลเข้ามาลงทุนในตราสารทุนประเทศที่สำคัญๆ เช่น สหรัฐอเมริกา ยุโรปและญี่ปุ่น ในส่วนของประเทศที่มีการไหลออกนั้น ไม่ได้เป็นการไหลออกอย่างมีนัยสำคัญ โดยประเทศที่มีเม็ดเงินไหลเข้ามากที่สุดคือประเทศสหรัฐฯ ซึ่งเป็นประเทศที่ฟื้นตัวก่อนประเทศอื่นๆ รวมถึงความคาดหวังของนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของทรัมป์


ต่อไป มาดูผลตอบแทนของโมเดลพอร์ตต่างๆ ตั้งแต่ต้นปีกันบ้าง

GOAL

พอร์ตการลงทุนตามเป้าหมาย เหมาะสำหรับนักลงทุนที่มีการวางเป้าหมายการลงทุน และต้องการจัดพอร์ตตามวัตถุประสงค์ ปรับเปลี่ยนความเสี่ยงได้ตามต้องการ ตั้งใจสร้างวินัยการออม และทยอยลงทุนสะสมเป็นรายเดือน

 ผลตอบแทนประจำปี 2017 ของ GOAL : +10.38%


First Million

พอร์ตเหมาะสำหรับนักลงทุนมือใหม่ เพิ่งเริ่มต้นลงทุน มีความตั้งใจในการสร้างวินัยการลงทุนเพื่อเก็บเงิน 1 ล้านแรก และทยอยลงทุนสะสมเป็นรายเดือน

ผลตอบแทนประจำปี 2017 ของ First Million : +9.48%


GIF

เน้นการลงทุนเพื่อสร้างกระแสเงินสดอย่างสม่ำเสมอ เหมาะสำหรับคนมีเงินก้อนและต้องการใช้กระแสเงินสดจากการลงทุน คาดหวังผลตอบแทน 5-8% ต่อปี

ผลตอบแทนประจำปี 2017 ของ GIF : +10.77%


GAR

เน้นเพิ่มพูนมูลค่าการลงทุน จัดพอร์ตแบบกระจายการลงทุนทั่วโลก มีการปรับพอร์ตตามสภาวะตลาด เหมาะสำหรับคนมีเงินก้อนและรับความเสี่ยงได้ปานกลาง คาดหวังผลตอบแทน 8% ต่อปี

ผลตอบแทนประจำปี 2017 ของ GAR : +13.42%


TOP5

โมเดลพอร์ตการลงทุนเชิงรุก ปรับพอร์ตตามสภาวะตลาดอย่างเข้มข้น เหมาะสำหรับคนที่สามารถรับความเสี่ยงได้สูงมาก สามารถรับการขายตัดขาดทุนได้ และพร้อมปรับพอร์ตตามสภาวะตลาดได้ โดยต้องการผลตอบแทนสูงคล้ายการลงทุนในหุ้น เป็นการจัดพอร์ตแบบกระจายการลงทุนผ่านกองทุนหลากหลายสินทรัพย์ทั่วโลก เน้นคัดเลือกกองทุนรวมที่เหมาะสมกับสภาวะตลาดในแต่ละช่วงเวลา สูงสุดไม่เกิน 5 กอง ปรับพอร์ตตามภาวะตลาดอย่างใกล้ชิด ผลตอบแทนที่คาดหวังต่อปีประมาณ 10-15% ต่อปี

ผลตอบแทนประจำปี 2017 ของ TOP5 : +5.54% (จัดตั้งเมื่อเดือนกันยายน พ.ศ.2560)


ผลการเปรียบเทียบผลการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์ในตลาดทุน มิได้เป็นสิ่งยืนยันถึงผลการดำเนินงานในอนาคต

FINNOMENA TOP TRADE

กองทุนที่ FINNOMENA Investment Team แนะนำลงทุน และสร้างผลตอบแทนให้พอร์ตต่างๆ ของ FINNOMENA อย่างงดงามในช่วงปี 2017 ที่ผ่านมา พร้อมเหตุผลในการซื้อหรือขายกองทุน ซึ่งมีทั้งกองที่ลงทุนในประเทศและต่างประเทศ

1. MS-INDIA-A

FINNOMENA Investment Team มีมุมมองที่ดีต่อประเทศอินเดียในระยะยาว เนื่องจากเป็นประเทศที่มีแนวโน้มจะเติบโตได้เร็วในอนาคต มีการประมาณการณ์ EPS growth ที่ดีมาก รวมถึงการเมืองที่มีเสถียรภาพ จึงแนะนำให้มีหุ้นอินเดียในพอร์ต 15% และขายทำกำไรเนื่องจาก valuation ที่เริ่มตึงตัวในช่วงกลางปี และพบกองทุนที่น่าสนใจกว่าเมื่อเทียบกับผลตอบแทนที่คาดหวัง

2. UOBSHC

หุ้นกลุ่ม Global healthcare เป็นหุ้นที่มีมูลค่าค่อนข้างถูก จากความเสี่ยงด้านนโยบายทางการเมืองในสหรัฐฯ ซึ่ง FINNOMENA Investment Team มีมุมมองว่าความเสี่ยงเหล่านี้ ส่งผลกระทบต่อกลุ่มนี้ในระยะสั้นเท่านั้น อีกทั้งการเติบโตในระยะยาวของหุ้นหลุ่มนี้ยังเติบโตได้ต่อเนื่องในระยะยาว FINNOMENA Investment Team จึงแนะนำซื้อลงทุน และขายไปเนื่องจากมีมุมมองว่ากำไรเริ่มขึ้นมาในจุดที่เหมาะสม ซึ่งผลตอบแทนที่คาดหวังเริ่มไม่คุ้มความเสี่ยง จึงขายทำกำไรหุ้นกลุ่มนี้ออกไป

3. TISCOMS

กองทุน TISCOMS เป็นกองทุนที่ลงทุนในบริษัทจดทะเบียนขนาดเล็กในประเทศไทย จากการวิเคราะห์การถือหุ้นจะพบว่าเป็นกองทุนที่กระจายความเสี่ยงเหมาะสมและลงทุนในบริษัทที่สามารถสร้างกำไรได้อย่างสม่ำเสมอ เป็นหุ้นคุณภาพและมีปัจจัยการเติบโตที่ยอดเยี่ยม ปัจจุบัน FINNOMENA Investment Team ยังคงแนะนำถือในพอร์ตทั้ง  GAR และ GOAL ซึ่งสร้างผลตอบแทนให้พอร์ตได้อย่างยอดเยี่ยม (ในกรณีถือตั้งแต่ที่แนะนำ) และคาดว่ากองทุนนี้ยังสามารถทำผลตอบแทนได้ดีอย่างต่อเนื่อง

4. ABSM

กองทุน ABSM เป็นกองทุนที่ลงทุนในบริษัทจดทะเบียนขนาดเล็กในประเทศไทยเช่นกัน แต่จะเน้นการวิเคราะห์ธุรกิจก่อนลงทุนในระยะยาวมากเพื่อลงทุนอย่างมั่นใจ และความพิเศษของกองทุนนี้คือลงทุนหุ้นขนาดเล็กที่มีราคาไม่แพงเมื่อเทียบกับหุ้นในตลาด ซึ่งการเติบโตของกำไรของหุ้นที่ลงทุนก็ไม่ได้ด้อยกว่าตลาด จึงสร้างผลตอบแทนได้สม่ำเสมอ แต่เนื่องจาก FINNOMENA Investment Team พบโอกาสในการลงทุนที่น่าสนใจและกองทุนทำกำไรถึงระดับที่น่าพอใจ จึงมีการแนะนำให้ขายทำกำไรออกไป

5. SCBCHA

ในปี 2015 หุ้นจีนปรับตัวลงอย่างรุนแรงจากความกังวลเรื่องการชะลอตัวทางเศรษฐกิจ แต่เนื่องจากใน 1-2 ปีให้หลังพบว่ารัฐบาลจีนสามารถจัดการให้เศรษฐกิจไม่ชะลอตัวอย่างรุนแรงได้ ทำให้ตัวเลขการประมาณการ GDP และกำไรบริษัทจดทะเบียนของจีนยังคงแข็งแกร่ง เติบโตได้ดี ในขณะที่หุ้น จีนยังมี Valuation ไม่แพงมากเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยของตัวเองและกลุ่มประเทศอื่นๆ นอกจากนี้ยังมีประเด็นที่ MSCI ประกาศนำหุ้นจีน A-share จำนวน 222 บริษัท เข้าร่วมคำนวณในดัชนี MSCI Emerging Market Index เริ่มต้นเดือนมิ.ย. 2018 สร้าง sentiment เชิงบวกต่อหุ้นจีน A-share และทาให้เงินทุนต่างชาติมีแนวโน้มไหลเข้าหุ้นจีน A-share ได้มากขึ้นนับจากเหตุการณ์นี้ ดัชนี CSI300 มีโมเมนตัมเข้าสู่ขาขึ้นอีกครั้งหลังทะลุแนวต้านในกรอบ sideway ขึ้นมาได้ การลงทุนในจีน A-share ซึ่งยังคงแนะนำสัดส่วนการลงทุนในพอร์ต GAR

6. K-GEMO

ช่วงการฟื้นตัวหลังวิกฤติในปี 2008 ที่ผ่านมา จะพบว่าหุ้นในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วมีการฟื้นตัวเร็วกว่าหุ้นประเทศกำลังพัฒนามาเสมอ อย่างไรก็ตาม หลังจากปี 2016 FINNOMENA Investment Team เริ่มเห็นการฟื้นตัวของหุ้นในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนากลับมาฟื้นตัวเร็วกว่าเนื่องจากกำไรของบริษัทจดทะเบียนเริ่มเติบโตอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งเป็นเทรนด์ระยะยาว จึงมีการแนะนำลงทุนในกองทุนหุ้นกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา ปัจจุบันยังแนะนำคงสัดส่วนการลงทุนในพอร์ต GAR, TOP5

กล่าวโดยสรุป ในปี 2017 ที่ผ่านมา มุมมองของ FINNOMENA Investment Team นั้นตรงกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ทำให้ทำผลตอบแทนจากทุกโมเดลพอร์ตได้อย่างเป็นที่น่าพอใจและทำได้ตามเป้าหมาย หวังเป็นอย่างยิ่งว่า จากมุมมองการลงทุนประจำปี 2561 ภายใต้ธีม “เข้าสู่ช่วงต่อเวลาพิเศษ” จะสร้างผลตอบแทนที่ยอดเยี่ยมแก่นักลงทุน เพื่อให้นักลงทุนไทยบรรลุเป้าหมายทางการเงินอย่างมีคุณภาพ FINNOMENA Investment Team จะคอยติดตามภาวะตลาดอย่างใกล้ชิด และกระจายเงินลงทุนของท่านไปไว้ในสินทรัพย์ที่เหมาะสมที่สุด สุดท้ายนี้ ขอให้ปี 2561 เป็นปีที่ดีของการลงทุนครับ

คำเตือน

ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลสำคัญของกองทุนโดยเฉพาะนโยบายกองทุน ความเสี่ยง และผลการดำเนินงานของกองทุน โดยสามารถขอข้อมูลจากผู้แนะนำก่อนตัดสินใจลงทุน | ผลตอบแทนของทุกพอร์ตไม่รวม front-end, back-end, trading fee | ผลการดำเนินงานในอดีต / ผลการเปรียบเทียบผลการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์ในตลาดทุน มิได้เป็นสิ่งยืนยันถึงผลการดำเนินงานในอนาคต |  ผู้ลงทุนอาจมีความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน เนื่องจากการป้องกันความเสี่ยงขึ้นอยู่กับดุลพินิจของผู้จัดการกองทุน

TSF2024