การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 เป็นปัจจัยที่กดดันตลาดการเงินทั่วโลกอย่างหนักในช่วงครึ่งแรกของปี 2020 ถึงเราจะเห็นว่าสถานการณ์เริ่มคลี่คลายจากตัวเลขผู้ติดเชื้อที่ทยอยลดลงในหลายประเทศ การกลับมาเปิดเศรษฐกิจกันอีกครั้งในเดือนพ.ค. ที่ผ่านมา
แต่ก็กลับมีความตึงเครียดเข้ามาให้เราต้องมาประเมินสถานการณ์กันรายวันอีกรอบ จากประเด็นข้อขัดแย้งกันระหว่างสหรัฐฯ และจีน
อย่างไรก็ตาม ตลาดการเงินโดยเฉพาะตลาดหุ้นตอบสนองต่อความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯ และจีนเป็นเพียงแรงกดดันระยะสั้น ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากความหวังต่อการเปิดเมือง การคลายมาตรการ Lockdown และการค้นพบยารักษาและวัคซีน รวมไปถึงมาตรการกระตุ้นจากภาครัฐไม่ว่าจะเป็นการปรับลดอัตราดอกเบี้ย นโยบายเข้าซื้อสินทรัพย์การเงิน (QE) และนโยบายการคลังนับปัจจัยที่หนุนตลาดการเงินนับตั้งแต่ปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา
ในช่วงเวลาเดียวกันนั้น ยังมีหุ้นในกลุ่มเทคโนโลยีโดยเฉพาะธุรกิจ E-Commerce และ Cloud Service ที่เปิดเผยผลประกอบการดีกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ ซึ่งแสดงหลักฐานให้เห็นชัดเจนว่าในช่วงเวลาที่เศรษฐกิจโลกเกิดการชะลอตัวจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 แต่บริษัทกลุ่มเทคโนโลยีเหล่านี้ กลับได้ประโยชน์ไม่ทางตรงก็ทางอ้อมจากวิกฤตได้เป็นอย่างดี
อย่างไรก็ตาม ความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯ และจีนซึ่งอาจยกระดับเป็นสงครามการค้า ความล่าช้าของการคิดค้นยารักษาและวัคซีน รวมไปถึงระดับหนี้รัฐบาลที่สูงขึ้นจากมาตรการการคลัง ต่างเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ต้องคำนึงถึงในช่วงเวลาต่อจากนี้ ซึ่งทาง FINNOMENA Investment Team ยังติดตามทั้งปัจจัยหนุนและกดดันตลาดการเงินอย่างต่อเนื่อง เพื่อหาโอกาสและให้คำแนะนำการลงทุนเหมาะสมต่อสถานการณ์
From Global to Regional
รูปที่ 1 ความนิยมของประธานาธิบดีทรัมป์ และนายโจ ไบเดน ผู้ท้าชิงจากพรรคเดโมเครต จากการสำรวจของ 5 สถาบันหลัก l Source : Statista.com as of 12/05/20
ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่มีคะแนนความนิยมต่ำกว่าระดับ 50.0% มาโดยตลอดนับตั้งแต่เข้าดำรงตำแหน่ง บ่งชี้ถึงความไม่แน่นอนต่อการครองตำแหน่งประธานาธิบดีสมัยที่ 2 อีกทั้งคะแนนกลับลดลงไปอีก หลังจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 กดดันสภาพเศรษฐกิจ เมื่อเทียบคะแนนเสียงของนายโจ ไบเดน ผู้ท้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดีจากพรรคเดโมเครต พบว่ามีคะแนนความนิยมที่สูสี (และสูงกว่าในโพลบางสำนัก) กับประธานาธิบดีทรัมป์ทีเดียว
ด้วยความนิยมที่ลดลงส่งผลให้ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ หันกลับมาใช้กลยุทธ์ สร้างศัตรูเพื่อร่วมใจชาวอเมริกาเข้ามา ด้วยการยกประเด็นความขัดแย้งกับประเทศจีนเพื่อสร้างคะแนนความนิยมอีกครั้ง โดยเรียกร้องความรับผิดชอบจากทางการจีนต่อการแพร่ระบาด และต่อด้วยประเด็นเรียกร้องอิสระของประชาชนฮ่องกง ซึ่งความตึงเครียดระหว่างสองชาติมหาอำนาจอาจยกระดับเป็นสงครามการค้าอีกครั้ง
เรามองว่า สงครามการค้าที่อาจเกิดขึ้นอีกครั้ง หรือ การใช้กฎหมายกดดันตอบโต้กันไปมาระหว่าง 2 มหาอำนาจ มีโอกาสทำให้ห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) เปลี่ยนแปลงเร็วขึ้นในอนาคต
รูปที่ 2 สัดส่วนการนำเข้าสินค้าขั้นกลาง (Intermediate Product) จากจีน l Source : Bloomberg.com as of 22/02/20
ที่บอกว่าเร็วขึ้น เพราะการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 สะท้อนความเปราะบางของห่วงโซ่อุปทานที่พึ่งพาประเทศจีนเป็นหลัก สร้างผลกระทบไปยังภาคการผลิตในทุกทวีป โดยสะท้อนผ่านการชะลอตัวของภาคอุตสาหกรรม และที่เด่นชัดคือมูลค่าการค้าของแต่ละประเทศกับประเทศจีน เช่น คาดการณ์มูลค่าการค้าระหว่างประเทศในเอเชียกับประเทศจีนในปีนี้ที่จะลดลงประมาณ 3.1%
รูปที่ 3 คาดการณ์ปริมาณการค้าระหว่างประเทศที่จะลดลงหลัง COVID-19 l Source : intracen.org as of 05/05/20
ดังนั้นด้วยแรงกดดันจากสงครามการค้าที่ดำเนินมาตลอด 2 ปี รวมทั้งความเปราะบางของห่วงโซ่อุปทานที่สะท้อนออกมาผ่านการแพร่ระบาด อาจเป็นปัจจัยที่เร่งให้เกิดการย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศอื่น หรือเข้าสู่ภูมิภาคเดียวกันในอนาคตเร็วขึ้น
How The Market Reacted
รูปที่ 4 MSCI World Index และการตอบรับต่อข่าววัคซีน COVID-19 l Source : Bloomberg As of 26/05/20
แม้แรงกดดันจากการแพร่ระบาดต่อตลาดการเงินและเศรษฐกิจจะเทียบเท่ากับช่วงวิกฤติปี 2008 แต่ตลาดการเงินกลับฟื้นตัวในลักษณะ V-shape โดยการคิดค้นวัคซีนนับเป็นปัจจัยที่เข้ามาหนุนในระยะที่ผ่านมา ซึ่งหลายประเทศมหาอำนาจของโลกต่างกำลังเร่งคิดค้น ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐฯ ที่อยู่ในกระบวนการทดสอบความปลอดภัยและปริมาณที่เหมาะสม หรือประเทศจีนซึ่งกำลังทดสอบผลข้างเคียงและความปลอดภัย รวมไปถึงอังกฤษและเยอรมนีที่อยู่ในขั้นตอนดังกล่าวด้วยเช่นเดียวกัน
รูปที่ 5 ความพยายามพัฒนาวัคซีน COVID-19 ทั่วโลก l Source : gavi.org As of 11/05/20
อย่างไรก็ตาม แม้จะมีข่าวการคิดค้นวัคซีนเป็นปัจจัยหนุนตลาดในช่วงที่ผ่านมาแต่ก็ยังเป็นเพียงปัจจัยหนุนระยะสั้น ในขณะทื่มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจทั้งนโยบายการเงินและการคลังนับเป็นปัจจัยที่เข้ามาสร้างความเปลี่ยนแปลงในตลาดการเงินอย่างชัดเจน โดยเฉพาะการทำ Unlimited QE จากธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed)
New Normal I “ดอกเบี้ย 0% หรือติดลบ”
รูปที่ 6 ปริมาณการเข้าซื้อสินทรัพย์ของธนาคารกลางกลุ่มประเทศ G10 l Source : Deutsche Bank As of 20/03/20
ความตื่นตระหนกของตลาดการเงินในช่วงเดือนมีนาคม ส่งให้มีแรงเทขายออกมาทั้งตลาดหุ้นและตลาดตราสารหนี้ โดยอัตราผลตอบแทนของตลาดสารหนี้ปรับตัวขึ้นสูง (Yield) แต่การประกาศทำ Unlimited QE จากธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) รวมไปถึงการเข้าซื้อตราสารหนี้เอกชนโดยตรง นับเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญของนโยบายการเงินทั้งโลก อีกทั้งสร้างความเปลี่ยนแปลงในเชิงจิตวิทยาทั้งต่อตลาดการเงินและธนาคารกลางประเทศอื่นให้ตัดสินใจดำเนินการผ่อนคลายนโยบายการเงินในระดับสูงสุดอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน
รูปที่ 7 ดัชนี Bloomberg US Aggregate Bond Fund And US BBB Spread l Source : Bloomberg As of 25/05/20
นับตั้งแต่เศรษฐกิจได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาด ขนาดสินทรัพย์ของธนาคารกลางสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นแล้วประมาณ 3 ล้านล้านดอลลาร์ ด้านขนาดสินทรัพย์ของธนาคารกลางในกลุ่มประเทศ G10 เพิ่มขึ้นมาแล้วประมาณ 4.5 ล้านล้านดอลลาร์ ผลจากการดำเนินนโยบายดังกล่าวช่วยลดความกังวลในตลาดตราสารหนี้ หนุนให้อัตราผลตอบแทนปรับตัวลดลงแต่ยังไม่ลดลงมาแตะระดับเดียวกับช่วงก่อนเกิดการแพร่ระบาด
FINNOMENA Investment Team มีมุมมองเชิงบวกต่อตลาดสารหนี้สหรัฐฯ ด้วยอัตราผลตอบแทนที่ลดลงแต่ยังไม่แตะระดับก่อนเกิดการระบาด รวมทั้งนโยบายการเงินจาก Fed ที่เข้าหนุนตลาดตราสารหนี้โดยตรงช่วยลดความกังวลประเด็นการผิดชำระหนี้ (Default Risk)
Equity is More Attractive
รูปที่ 8 Expected Return และ Sharpe Ratio ของตลาดหุ้นทั่วโลก l Source : LTCMA As of 25/05/20
นอกจากจะช่วยลดความกังวลในตลาดการเงินแล้ว การทำ Unlimited QE เป็นการเพิ่มปริมาณเงินเข้ามาในระบบซึ่งเงินจำนวนนั้นยังไม่ไหลเข้าไปยังระบบเศรษฐกิจจริง (Real Sector) นอกจากการทำ QE แล้ว ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ยังปรับลดอัตราดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่องจะแตะระดับ 0 – 0.25% ซึ่งผลของ 2 นโยบายการเงินดังกล่าว สะท้อนออกมาผ่าน Sharpe Ratio และ Expected Return ของตราสารทุนที่เพิ่มขึ้น
รูปที่ 9 S&P 500 Index , Trailing 12 Months EPS และ EPS Consensus l Source : Bloomberg As of 27/05/20
ย้อนกลับไปเมื่อวิกฤติ Dot Com ปี 2000 และ Subprime เมื่อปี 2008 พบว่าตลาดหุ้นปรับตัวลงพร้อมกับกำไรต่อหุ้น และการปรับลดประมาณการกำไรจากนักวิเคราะห์ ซึ่งตลาดหุ้นมักฟื้นตัวก่อนที่กำไรและคาดการณ์กำไรจะแตะระดับต่ำที่สุด นอกจากนี้กำไรและคาดการณ์กำไรจะฟื้นตัวกลับขึ้นมาแตะระดับเดิมก่อนเกิดวิกฤติได้ สะท้อนว่ามุมมองของนักวิเคราะห์ได้รับอิทธิพลจากการเคลื่อนไหวของตลาดหุ้นในระดับหนึ่ง
รูปที่ 10 S&P 500 Index และ PEG Ratio l Source : topdowncharts.com As of 26/05/20
และหากพิจารณาผ่านอัตราส่วน PEG ซึ่งเป็นอัตราส่วนระหว่างอัตราส่วน P/E และการเติบโตของกำไร (Earnings Growth) จะพบว่าก่อนที่ตลาดหุ้นจะปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงก่อนเข้าสู่วิกฤติ และมีความน่าสนใจมากขึ้นจากอัตราส่วน PEG ที่จะลดต่ำลง บ่งบอกว่าตลาดหุ้นยังมีมูลค่าที่ไม่สูงเนื่องจากตลาดหุ้นอยู่ในช่วงที่กำไรมีการเติบโต ในทางกลับกันช่วงที่ตลาดหุ้นเผชิญกับวิกฤติ อัตราส่วน PEG จะปรับตัวขึ้นอย่างมากทำให้ตลาดหุ้นดูมีมูลค่าที่สูงมาก
ดังนั้นการพิจารณามูลค่าตลาดหุ้นผ่านอัตราส่วน P/E ในช่วงวิกฤติอาจสะท้อนมุมมองที่เปลี่ยนไปในทันที และหากนักลงทุนคาดว่าผลกระทบวิกฤติในแต่ละครั้งเป็นผลกระทบเพียงชั่วคราว การที่ตลาดหุ้นปรับตัวลงมาในช่วงวิกฤติก็อาจเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมสำหรับการลงทุนในตลาดหุ้น
รูปที่ 11 S&P 500 Index และ Earning Yield Gap l Source : topdowncharts.com As of 28/05/20
สอดคล้องกับ การปรับตัวลงของตลาดหุ้นในช่วงที่ผ่านมาทำให้ Earnings Yield Gap ของดัชนี S&P 500 เพิ่มขึ้นไปอยู่ในระดับเดียวกับช่วงทศวรรษที่ 70 และช่วงวิกฤติปี 2008 เนื่องจากอัตราผลตอบแทนของพันธบัตรและระดับดัชนี S&P 500 ที่ลดลง สร้างความน่าสนใจให้ตลาดหุ้นในช่วงที่เศรษฐกิจยังชะลอตัว
New Normal II โลกแห่ง Cloud Computing
รูปที่ 12 Nasdaq Earning Surprise By Sector l Source : Bloomberg As of 25/05/20
แม้การแพร่ระบาดจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจอย่างทั่วถึง แต่ยังมีหุ้นในกลุ่มเทคโนโลยียังมีผลประกอบการดีกว่าคาดการณ์จากนักวิเคราะห์ โดยกลุ่มธุรกิจ Cloud Computing เป็นกลุ่มที่มีรูปแบบธุรกิจซึ่งได้ประโยชน์จากมาตรการ Lockdown นอกจากนี้ยังเป็นหุ้นกลุ่มผู้นำตลาดในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ที่สะท้อนผ่านหุ้นที่ Market Cap ขนาดใหญ่ในดัชนี S&P 500 และ Nasdaq ต่างดำเนินธุรกิจดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็น Amazon Microsoft หรือ Google
รูปที่ 13 Enterprise SaaS Market Growth l Source : Synergy Research Group As of 23/05/20
รายได้ของหุ้นจากกลุ่ม Cloud Services (SaaS) มีสัดส่วนในรายได้รวมของธุรกิจ Software เพิ่มขึ้นจากสัดส่วนประมาณ 1% เมื่อปี 2009 ไปที่ 20% ในปี 2018 ซึ่งการเติบโตดังกล่าวมาพร้อมกับการดำเนินธุรกิจขาย Software หรือ Cloud ให้ลูกค้าในรูปแบบ Subscription
รูปที่ 14 รายได้ต่อปีของบริษัทในกลุ่ม Cloud Computing l Source : Synergy Research Group As of 23/05/20
ไม่เพียงแต่ Amazon Microsoft หรือ Google แต่ยังมีอีกหลายบริษัทในกลุ่ม Cloud Services ที่มีรายได้ต่อปีเกินกว่า 1,000 ล้านดอลลาร์ ไปเรียบร้อยแล้ว โดยจากรูปที่ 14 มีถึง 3 บริษัท คือ Workday, ServiceNow และ Atlassian ที่อยู่ใน Top 10 Holdings ของกองทุน T. Rowe Price Global Technology Fund ซึ่งเป็นกองทุนหลักของกองทุน KF-GTECH
รูปที่ 15 ดัชนี MSCI World และสัดส่วนหุ้นที่ทำจุดสูงสุดใหม่ในรอบ 52 สัปดาห์ l Source : Bloomberg As of 27/05/20
อย่างไรก็ตามภาวะการลงทุนทั่วโลกยังคงมีความเสี่ยงอยู่ ทั้งในด้านของ COVID-19 ที่มีโอกาสจะเกิดการแพร่ระบาดระลอกที่ 2 ขึ้นได้ดังเช่น เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น และสิงคโปร์ รวมไปถึงความไม่แน่นอนของวัคซีนที่อาจไม่สามารถพัฒนาได้อย่างรวดเร็วตามที่คาดการณ์เอาไว้
และในด้านของความเปราะบางในการปรับตัวขึ้นของตลาดหุ้นทั่วโลกในช่วงที่ผ่านมา มีลักษณะกระจุกตัว ในกลุ่มหุ้นเทคโนโลยี และ สาธารณะสุขเป็นหลัก ซึ่งนักลงทุนเชื่อว่าจะได้รับผลเชิงบวกจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 อย่างชัดเจน
เมื่อประกอบกับกรณีสงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ ที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง อาจสร้างความผันผวนให้กับตลาดได้เป็นระยะ FINNOMENA Investment Team จึงแนะนำเพิ่มสัดส่วนการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยง ซึ่งได้รับผลเชิงบวกจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่ และแนวโน้มหลักหลังการแพร่ระบาดของ COVID-19 อาทิ กลุ่มหุ้นเทคโนโลยี และตราสารหนี้ทั่วโลก เพื่อรับโอกาสสร้างผลตอบแทน
ควบคู่ไปกับการควบคุมความผันผวนของพอร์ตการลงทุนโดยรวมผ่านทางการถือครองสินทรัพย์ปลอดภัยอย่างทองคำ และกองทุนตลาดเงินซึ่งมีสภาพคล่องในระดับที่สูงเพื่อรอจังหวะโอกาสการลงทุนในอนาคตอีกครั้ง
GCP (Global Conservative Port)
FINNOMENA Investment Team แนะนำเพิ่มน้ำหนักการลงทุนในกองทุน KF-GTECH ซึ่งเป็นกองทุนที่ลงทุนในหุ้นเทคโนโลยีชั้นนำทั่วโลก ซึ่งมีผลการดำเนินงานที่เหนือดัชนีเปรียบเทียบ เพื่อรับโอกาสสร้างผลตอบแทน โดยที่ยังคงบริหารความเสี่ยงด้วยสินทรัพย์ปลอดภัยอย่างการลงทุนในกองทุนตลาดเงิน และทองคำสัดส่วนรวม 60%
ควบคู่ไปกับการรับโอกาสการสร้างผลตอบแทนเอาชนะเงินฝากและเงินเฟ้อ ผ่านทางกองทุน PHATRA G-UBOND-H ด้วยสัดส่วนการลงทุน 15% และ กองทุน REITs ไทยอย่าง LHTPROP 15% ที่ได้รับผลเชิงบวกจากแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยต่ำทั่วโลก
GAR (Global Absolute Return)
FINNOMENA Investment Team แนะนำเพิ่มน้ำหนักการลงทุนในกองทุน KF-GTECH ซึ่งเป็นกองทุนที่ลงทุนในหุ้นเทคโนโลยีชั้นนำทั่วโลก ซึ่งมีผลการดำเนินงานที่เหนือดัชนีเปรียบเทียบ เพื่อรับโอกาสสร้างผลตอบแทน โดยที่ยังคงบริหารความเสี่ยงด้วยสินทรัพย์ปลอดภัยอย่างการลงทุนในกองทุนตลาดเงิน และทองคำสัดส่วนรวม 60%
ควบคู่ไปกับการรับโอกาสการสร้างผลตอบแทนที่สูงขึ้นกว่ากองทุนตลาดเงิน ในกองทุนตราสารหนี้ทั่วโลกอย่างกองทุน PHATRA G-UBOND-H ด้วยสัดส่วนการลงทุน 10% จากส่วนต่างของตราสารหนี้เมื่อเทียบกับพันธบัตรรัฐบาลที่ยังอยู่ในระดับที่สูงเมื่อเทียบกับอดีตที่ผ่านมา และได้รับแรงหนุนจากมาตรการเสริมสภาพคล่องของธนาคารกลางหลักทั่วโลก
GIF (Global Income Focus)
FINNOMENA Investment Team แนะนำเพิ่มน้ำหนักการลงทุนในกองทุน K-USXNDQ-A(D) ซึ่งเป็น กองทุนรวมที่ลงทุนแบบ Passive สร้างผลตอบแทนใกล้เคียงกับดัชนี Nasdaq 100 ซึ่งเป็นดัชนีที่มีกลุ่มหุ้นเทคโนโลยีเป็นสัดส่วนหลัก ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 ในระดับทีต่ำ และมีโอกาสฟื้นตัวได้สูงจากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี เพื่อสร้างผลตอบแทนตามแนวโน้มการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ ควบคู่กับการสร้างกระแสเงินสดตามแนวคิดหลักของ GIF
TOP5
FINNOMENA Investment Team แนะนำเพิ่มน้ำหนักการลงทุนในกองทุน KF-GTECH ซึ่งเป็นกองทุนที่ลงทุนในหุ้นเทคโนโลยีชั้นนำทั่วโลก ซึ่งมีผลการดำเนินงานที่เหนือดัชนีเปรียบเทียบ เพื่อรับโอกาสสร้างผลตอบแทน โดยที่ยังคงบริหารความเสี่ยงด้วยสินทรัพย์ปลอดภัยอย่างการลงทุนในทองคำด้วยสัดส่วน 20% พร้อมทั้งยังคงน้ำหนักการถือครองในกองทุนตลาดเงินซึ่งเป็นสินทรัพย์ที่มีสภาพคล่องสูง ความผันผวนต่ำ เหมาะแก่การถือครองเพื่อรอจังหวะในการลงทุนในสินทรัพย์ที่น่าสนใจในอนาคตต่อไป
Money Plus
การปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทยในช่วงที่ผ่านมา ส่งผลให้อัตราผลตอบแทนกองทุนตลาดเงินที่มีนโยบายลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลเป็นหลัก ให้อัตราผลตอบแทนที่ลดลงต่ำกว่า 1.00%สำหรับนักลงทุนที่ลงทุนในพอร์ต Money Plus และมีความสามารถรับความผันผวนจากการลงทุนในตราสารหนี้ระยะกลางได้ FINNOMENA Investment Team แนะนำปรับลดสัดส่วนการลงทุนบางส่วนจากกองทุน PHATRA MP ไปยังกองทุน PHATRA G-UBOND-H เพื่อสร้างอัตราผลตอบแทนโดยรวมของพอร์ตการลงทุนให้สูงขึ้นในระยะ 6 -12 เดือนข้างหน้า
กองทุน PHATRA G-UBOND-H
รูปที่ 16 สัดส่วนสินทรัพย์กองทุน Jupiter Dynamic Bond Fund ถือครองตามช่วงเวลา l Source : jupiteram.com As of 25/05/20
กองทุนตราสารหนี้ทั่วโลกแบบ Active ที่มีการปรับสัดส่วนการลงทุนให้เหมาะสมกับสถานการณ์อย่างสม่ำเสมอ ด้วยอายุการถือครองตราสารหนี้อายุเฉลี่ย 6.27 ปี เมื่อประกอบกับแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยในระดับที่ต่ำ และมาตรการเสริมสภาพคล่องของธนาคารกลางหลักทั่วโลก ช่วยให้มีโอกาสสร้างผลตอบแทนที่มาก กว่ากองทุนตลาดเงินในช่วงเวลานี้
รูปที่ 17 ผลตอบแทนกองทุน PHATRA G-UBOND-H l Source : FINNOMENA.com As of 25/05/20
กองทุน KF-GTECH
รูปที่ 18 TOP 10 Holding T-Rowe Price l Source TRowePrice.com As of 25/05/20
ลงทุนใน T-Rowe Price ซึ่งมีนโยบายการลงทุนในหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีโดยตรงเท่านั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่ม Software as a Service เป็นหลัก ซึ่งได้รับผลกระทบเชิงลบต่ำจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 และมีแนวโน้มเติบโตสูง ส่งผลให้สามารถสร้างผลตอบแทนเอาชนะ Nasdaq ซึ่งเป็นตลาดหุ้นที่มีหุ้นกลุ่มเทคโนโลยี จดทะเบียนซื้อขายมากที่สุดในโลกได้ทั้งในระยะสั้นและระยะกลาง
รูปที่ 19 ผลตอบแทนกองทุน KF-GTECH l Source : FINNOMENA.com As of 25/05/20
กองทุน K-USXNDQ-A(D)
รูปที่ 20 สัดส่วนการลงทุนกองทุน K-USXNDQ-A (D) l Source KASSET As of 25/05/20
กองทุนหุ้น Passive ดัชนี Nasdaq 100 ซึ่งเป็นดัชนีที่มีน้ำหนักการลงทุนในกลุ่มเทคโนโลยีในระดับที่สูง ซึ่งได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 ในระดับที่ต่ำ และมีโอกาสฟื้นตัวได้สูงจากแนวโน้มการพัฒนาของเทคโนโลยี พร้อมทั้งความสามารถในการจ่ายกระแสเงินสดผ่านการจ่ายปันผลประมาณ 4-5% ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาตามแนวคิดหลักของ GIF
รูปที่ 21 ผลตอบแทนและประวัติการจ่ายปันผลย้อนหลัง 3 ปี กองทุน K-USXNDQ-A(D) l Source : FINNOMENA.com As of 25/05/20
โปรดทราบ สำหรับลูกค้าฟินโนมีนาที่ลงทุนใน FINNOMENA PORT และได้รับบทความนี้ แต่ยังไม่ได้รับอีเมลและ/หรือ Notification ในการแจ้งสัดส่วนเงินในการเข้าลงทุน อาจเกิดจาก 1) ท่านอยู่ระหว่างการทำรายการซื้อขายกองทุน ซึ่งทางฟินโนมีนาจะแจ้งเตือนอีกครั้งภายใน 1 สัปดาห์หลังจากการทำรายการซื้อขายเสร็จสิ้น หมายเหตุ หากท่านไม่ประสงค์ที่จะรอรับการแจ้งเตือน ท่านสามารถดูรายละเอียดของพอร์ตการลงทุนที่แนะนำผ่านทางเว็บไซต์และแอปพลิเคชั่นของฟินโนมีนาพร้อมปรับพอร์ตเข้าลงทุนได้ทันที สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ LINE ID: @FINNOMENAPORT |
FINNOMENA Investment Team
คำเตือน
ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลสำคัญของกองทุนโดยเฉพาะนโยบายกองทุน ความเสี่ยง และผลการดำเนินงานของกองทุน โดยสามารถขอข้อมูลจากผู้แนะนำก่อนตัดสินใจลงทุน | ผลการดำเนินงานในอดีต และผลการเปรียบเทียบผลการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์ในตลาดทุน มิได้เป็นสิ่งยืนยันถึงผลการดำเนินงานในอนาคต | ผู้ลงทุนอาจมีความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน เนื่องจากการป้องกันความเสี่ยงขึ้นอยู่กับดุลพินิจของผู้จัดการกองทุน