BlackRock มอง Base Case ไว้ว่าอัตราเงินเฟ้อจะอยู่ในระดับสูงกว่าก่อนหน้านี้ ขณะที่ธนาคารกลางจะไม่เร่งขึ้นดอกเบี้ย ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริง (Real Rate) ยังอยู่ใกล้เคียงจุดที่ต่ำที่สุดเป็นประวัติการณ์ หุ้นจึงยังเป็นสินทรัพย์ที่เติบโตได้อยู่ แต่พันธบัตรจะได้รับผลกระทบจากอัตราผลตอบแทนที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น (ราคาพันธบัตรมีแนวโน้มลดลง)
ส่วนเงินเฟ้อที่พุ่งขึ้นมาในปี 2021 จากความไม่สมดุลระหว่างอุปสงค์และอุปทาน BlackRock คาดว่าเงินเฟ้อจะอยู่ในระดับนี้ต่อไป ซึ่งสูงกว่าช่วงก่อนเกิดการแพร่ระบาด โดยธนาคารกลางขนาดใหญ่ทั่วโลกต้องการอยู่กับอัตราเงินเฟ้อที่สูงกว่าในอดีต จึงอาจไม่ได้ปรับนโยบายตอบสนองมากนัก
ด้านความเสี่ยงการเมืองระหว่างประเทศ ยังเป็นอีกประเด็นที่อาจสร้างแรงกดดันต่อตลาดการลงทุนได้ จุดแรกที่ต้องติดตามคือ ความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯ และจีน โดยเฉพาะด้านการทหาร แต่มีแนวโน้มที่จะผ่อนคลายในปี 2022 โดยทั้งสองชาติต่างต้องหันกลับไปแก้ปัญหาในประเทศ
เริ่มจากสหรัฐฯ ที่เน้นการควบคุมการแพร่ระบาดของ Covid, ผ่านร่างพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน, ดูแลอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น และการเลือกตั้งกลางเทอม
ส่วนจีนก็ให้ความสำคัญกับเศรษฐกิจที่ชะลอตัว, การใช้มาตรการควบคุมและความเสมอภาคในสังคม รวมถึงการครองตำแหน่งผู้นำอีกสมัยของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง
ขณะที่ความขัดแย้งภายในกลุ่มผู้ผลิตน้ำมัน (โอเปก) ก็เป็นอีกปัจจัยที่ต้องติดตาม เพราะจะมีผลต่อราคาน้ำมัน โดย BlackRock มองว่าผู้ผลิตจะใช้อำนาจต่อรองราคาน้ำมันในช่วงที่โลกกำลังเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานสะอาด (ทำราคาครั้งสุดท้ายก่อนโลกจะลดการใช้น้ำมัน)
ท้ายที่สุด นโยบายควบคุมเศรษฐกิจของประเทศจีน จะยังคงดำเนินต่อไปเพียงแต่จะลดความเข้มงวดลง เนื่องจากเศรษฐกิจชะลอตัวเป็นประเด็นที่สำคัญกว่า BlackRock คาดว่าประเทศจีนจะผ่อนคลายนโยบายการเงินและการคลังเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจอีกครั้ง เนื่องจากก่อนหน้านี้ประเทศจีนได้ใช้ช่วงเวลาที่เศรษฐกิจฟื้นตัวก่อนทั่วโลกจัดระเบียบภายในของตัวเอง มากไปกว่านั้นความเสี่ยงจาก Covid สายพันธุ์ใหม่ยังเป็นอีกปัจจัยที่กระตุ้นให้ต้องใช้นโยบายผ่อนคลาย
——————-
- Facebook: https://finno.me/the-opp-fb
- Youtube: https://finno.me/youtube-channel