กันยายน 2561: กลยุทธ์การลงทุนประจำเดือนกันยายนออกมาเร็วกว่ากำหนดเล็กน้อย เนื่องจากทาง FINNOMENA Investment Team มีการแนะนำปรับพอร์ตอย่างมีนัยสำคัญในเดือนนี้ โดย FINNOMENA Investment Team เห็นพัฒนาการในทางที่ดีของตลาดหุ้นไทย จากการที่เศรษฐกิจไตรมาส 2/61 เติบโตดีถึง 4.6% สอดคล้องกับผลประกอบการไตรมาส 2/61 ของไทยที่เติบโตประมาณ 20% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ขณะที่ล่าสุดได้มีพระบรมราชโองการแต่งตั้งคณะกรรมการการเลือกตั้งเป็นที่เรียบร้อย และเริ่มมีการประกาศโรดแมพการเลือกตั้งที่ชัดเจนมากขึ้น
สำหรับคำแนะนำการปรับพอร์ตในรอบนี้ FINNOMENA Investment Team แนะนำให้มีการลดการลงทุนในกองทุนหุ้นตลาดเกิดใหม่ และหุ้นเอเชีย ขณะที่แนะนำเพิ่มน้ำหนักการลงทุนในหุ้นไทย และกองทุนอสังหาฯ สำหรับพอร์ต Global Absolute Return (GAR) และพอร์ต TOP5 รวมถึงมีการให้ยืดอายุการลงทุนตราสารหนี้ขึ้นเล็กน้อยสำหรับพอร์ต Global Conservative Portfolio (GCP) สำหรับรายละเอียดเป็นอย่างไรไปดูกันเลย
1. Chart of the Month: การเคลื่อนไหวที่สวนทางของค่าเงินตลาดเกิดใหม่
รูปที่ 1 การเปลี่ยนแปลงของค่าเงินตลาดเกิดใหม่ในไตรมาส 3/61 | ที่มา Bloomberg (as of 21/8/18)
ค่าเงินของประเทศตลาดเกิดใหม่ที่มีความเปราะบางอย่างตุรกี รัสเซีย แอฟริกาปรับตัวลดลงอย่างมากในช่วงเดือน ก.ค. – ส.ค. ปีนี้ ขณะที่ตลาดเกิดใหม่ของประเทศที่มีความเข้มแข็งของทุนสำรอง และการเกินดุลบัญเดินสะพัดอย่างประเทศไทย หรือเกาหลีใต้ค่าเงินกลับติดลบเพียงเล็กน้อยสะท้อนภาพของเงินทุนไหลเข้า
2. ประเทศตลาดเกิดใหม่ถูกแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มชัดเจน
รูปที่ 2. ตารางดัชนีชี้วัดความแข็งแกร่งของตลาดเกิดใหม่ | ที่มา : Bloomberg Economics (as of 21/8/18)
ในไตรมาสที่ผ่านมา ตลาดเกิดใหม่ได้รับผลกระทบจากประเด็นการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน รวมถึงการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของ Fed ได้ส่งผลให้ค่าเงินดอลลาร์ปรับตัวแข็งค่าอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งส่งผลกระทบให้เงินทุนไหลออก และค่าเงินอ่อนค่าอย่างมีนัยสำคัญในตลาดเกิดใหม่ที่มีฐานะทางการเงินไม่แข็งแรง ได้แก่ ประเทศที่มีการขาดดุลบัญชีเดินสะพัด, มีหนี้ต่างประเทศและอัตราเงินเฟ้อในระดับสูงอย่างตุรกี อาร์เจนตินา แอฟริกาใต้ บราซิล
ขณะที่ตลาดเกิดใหม่ที่มีฐานะทางการเงินแข็งแรง ซึ่งหลัก ๆ ได้แก่ เกาหลีใต้ ไต้หวัน และไทย กลับมีลักษณะของความเป็น Safe Haven คือมีเงินไหลเข้า ค่าเงินแข็งค่า หรืออ่อนค่าเพียงเล็กน้อย ประเด็นนี้จึงทำให้ FINNOMENA Investment Team หลีกเลี่ยงการลงทุนในตลาดเกิดใหม่ที่มีฐานะทางการเงินอ่อนแอ และแนะนำให้ลดน้ำหนักกองทุนที่ลงทุนในตลาดเกิดใหม่ที่ไม่แข็งแรงในรอบนี้ ขณะที่ FINNOMENA Investment Team มองสถานการณ์ยังคงดีสำหรับตลาดเกิดใหม่ที่มีฐานะการเงินแข็งแรง
3. ดัชนีชี้นำเศรษฐกิจ PMI ยังส่งสัญญาณชะลอตัว
รูปที่ 3. ดัชนี PMI ภาคการผลิตของประเทศพัฒนาแล้ว (DM) และประเทศตลาดเกิดใหม่ (EM)
ที่มา : Topdowncharts.com (as of 21/8/18)
ดัชนี PMI ซึ่งเป็นตัวสะท้อนถึงมุมมองทางเศรษฐกิจในช่วง 6 – 12 เดือนข้างหน้าที่ผ่านมา PMI ทั้งสหรัฐฯ และโลก ปรับตัวขึ้นและยืนเหนือระดับ 50 จุดอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม PMI ได้เริ่มปรับตัวลดลงตั้งแต่เดือนกรกฏาคมที่ผ่านมา แสดงให้เห็นถึงสัญญาณการเติบโตทางเศรษฐกิจที่จะชะลอตัวลงในระยะข้างหน้า
เมื่อประกอบกับตัวเลขการจ้างงานนอกภาคการเกษตรของสหรัฐฯ ที่ออกมาต่ำกว่าคาด และอัตราการเติบโตของค่าจ้างรายชั่วโมงทรงตัว เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ชะลอเศรษฐกิจสหรัฐฯ และต้องติดตามอย่างใกล้ชิด
4. Tech แพง แต่ยังเป็น Mega Trend
รูปที่ 4. อัตราส่วน P/E ของหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีในตลาดสหรัฐฯ และตลาดจีน |ที่มา : FINNOMENA Investment Team (as of 21/8/18)
ในช่วงครึ่งปีที่ผ่านมา หุ้นกลุ่มเทคโนโลยียังคงเป็นผู้นำตลาดที่สำคัญของโลก แต่ด้วยผลประกอบการไตรมาส 2 ของหุ้นกลุ่ม FAANG ในสหรัฐฯ (facebook, amazon, apple, netflix, google) ที่ประกาศออกมาส่วนใหญ่เป็นไปตามคาดการณ์ แต่ด้วยมุมมองต่อการเติบโตในอนาคตแสดงถึงการเติบโตที่ชะลอตัวในอนาคตทั้งกำไรและยอดผู้ใช้ของ facebook ที่ทำให้หุ้นมีการปรับฐานถึงประมาณ 20%
ขณะเดียวกันกลุ่ม BAT ซึ่งเป็นผู้นำตลาดเทคโนโลยีในจีน มีกรณีของ Tencent ที่ประกาศผลประกอบการออกมาเติบโตน้อยกว่าคาดการณ์ เมื่อประกอบกับประเด็นการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนที่ยังคงกดดันตลาดอยู่ ส่งผลราคาหุ้นในกลุ่มเทคฯ ยังปรับลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะกรณีของ Tencent ที่ราคาปรับฐานถึงประมาณ 30% จากจุดสูงสุดนับแต่ต้นปี
อย่างไรก็ตาม หุ้นกลุ่มเทคโนโลยียังคงเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมที่น่าสนใจ ทั้งการเป็นแนวโน้มที่สำคัญของโลกและในชีวิตประจำวัน (Mega Trend) แต่ด้วยมูลค่าที่ค่อนข้างตึงตัว FINNOMENA Investment Team จึงยังแนะนำให้ชะลอการลงทุนและให้ลดการลงทุนในกองทุนหุ้นเอเชียที่เน้นลงทุนในกลุ่ม BAT
5. เศรษฐกิจไทยแข็งแกร่ง พร้อมความหวังที่จะมีเลือกตั้ง
รูปที่ 5 การเติบโตของเศรษฐกิจไทยไตรมาส 2/61 | ที่มา : ธนาคารแห่งประเทศไทย (as of 21/8/18)
เศรษฐกิจไทยเติบโต 4.6% ดีกว่าที่ตลาดคาด หนุนครึ่งปีแรกโต 4.8% โดยหลักมาจากการการบริโภคที่เติบโต 4.5% โดยเฉพาะสินค้าคงทนอย่างรถยนต์ โดยล่าสุดดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคอยู่ในระดับสูงสุดในรอบ 13 ไตรมาส นอกจากนี้ภาคการลงทุน และการท่องเทียวยังสนับสนุนการเติบโตด้วยเช่นกัน
กำไรบริษัทจดทะเบียนไตรมาส 2 เติบโตสูงถึงเกือบ 20% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า และยังมีแนวโน้มเติบโตมากกว่า 10% ในไตรมาสที่ 3 จากแรงส่งที่ดีของการเติบโตของเศรษฐกิจไทย และฐานกำไรไตรมาส 3/60 ที่อยู่ในระดับต่ำ
นอกจากนี้ยังได้มีพระบรมราชโองการแต่งตั้ง กกต.ทั้ง 5 รายเป็นที่เรียบร้อย และล่าสุดทางกกต. ได้ประชุมร่วมกับรัฐบาล โดย พรบ.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.คาดว่าจะประกาศได้ประมาณกลางเดือน ก.ย. 61 และตามกฎหมายต้องจัดเลือกตั้งภายใน 150 วันหลังประกาศในราชกิจจานุเบกษา ซึ่งคาดว่าการเลือกตั้งน่าจะเกิดขึ้นภายใน 24 ก.พ. 62 ส่งผลให้ความเชื่อมั่นของนักลงทุนมากขึ้น
6. อัตราเงินปันผลของ Property Fund & REITs อยู่ในระดับที่น่าลงทุน
รูปที่ 6 อัตราเงินปันผลของกองทุนอสังหาฯ & REITs | ที่มา: MBKET, Bloomberg (as of 21/8/18)
นอกจากหุ้นไทยที่ FINNOMENA Investment Team แนะนำ “เพิ่มน้ำหนัก” ในการลงทุนแล้ว ในเดือนนี้ FINNOMENA Investment Team ยังแนะนำให้เพิ่มน้ำหนักการลงทุนในกองทุนอสังหาฯ และ REITs ด้วย ได้แก่กองทุน CIMB-Principal iPROP-A ซึ่งล่าสุดกองทุนอสังหาฯ ของไทยล่าสุดมีอัตราผลตอบแทนจากเงินปันผลประมาณ 5 – 6% ของปี เช่นเดียวกับกอง REITs ของสิงค์โปร์ที่มี Yield ที่ระดับ 6% เช่นกัน
ทั้งนี้การปรับตัวของ Bond Yield ยังเป็นอีกเหตุผลสนับสนุนการเข้าลงทุนใน Property Fund & REITs ในรอบนี้ โดยอัตราผลตอบแทนพันธบัตร 10 ปีของสหรัฐฯ และไทยเริ่มมีแนวโน้มปรับตัวลดลงจากแนวโน้มเงินเฟ้อของไทยที่อยู่ในระดับต่ำ และมุมมองของทรัมป์ที่เริ่มออกมาแสดงความคิดเห็นว่าไม่อยากให้ดอกเบี้ยสหรัฐฯ ปรับเพิ่มขึ้นมากเกินไปนัก
โมเดลพอร์ตการลงทุนแนะนำของ FINNOMENA
1. Global Conservative Portfolio (GCP)
FINNOMENA Investment Team แนะนำเพิ่มสัดส่วนการลงทุนในหุ้นไทย Big Cap 10% และ Property Fund & REITs 5% ขณะที่ให้ลดน้ำหนักการลงทุนในหุ้นตลาดเกิดใหม่
นอกจากนี้ FINNOMENA Investment Team ยังแนะนำให้ยืดอายุการลงทุนสำหรับกองทุนตราสารหนี้ขึ้นเล็กน้อย โดยย้ายจากกองทุนตราสารหนี้ระยะสั้น <1 ปี ไปที่กองทุนตราสารหนี้ระยะสั้น 1 – 3 ปี
2. Global Absolute Return Portfolio (GAR)
FINNOMENA Investment Team แนะนำให้ลดสัดส่วนกองทุนหุ้น Asia ex Japan เนื่องจากประเด็นของหุ้น Tech จีนที่ได้กล่าวถึงก่อนหน้านี้ ขณะที่ FINNOMENA Investment Team แนะนำให้เพิ่มสัดส่วนการลงทุนในหุ้นไทย Big Cap และกอง Property Fund & REITs อย่างละ 10%
3. TOP5 Portfolio
สำหรับพอร์ต TOP5 FINNOMENA Investment Team แนะนำให้เพิ่มสัดส่วนการลงทุนในหุ้นไทย Big Cap เพิ่มขึ้น 20% ของพอร์ตการลงทุนเช่นกัน
4. Global Income Focus Portfolio (GIF)
สำหรับโมเดลพอร์ต GIF FINNOMENA Investment Team ไม่มีการเปลี่ยนแปลงพอร์ตแนะนำในเดือนนี้
5. GOAL Portfolio
6. 1st Million Portfolio
Market Timing Portfolio Recommendation (กลยุทธ์การจับจังหวะเข้าลงทุนสำหรับเงินลงทุนใหม่)
กองทุนหุ้นที่แนะนำให้ลงทุนเพิ่ม
PRINCIPAL IPROP-A : กอง Property fund of funds ที่กระจายการลงทุนทั่งในไทยและสิงคโปร์ ด้วยสัดส่วน 46% และ 49% ตามลำดับ ทำให้มีโอกาสรับผลตอบแทนที่สม่ำเสมอจากค่าเช่าจากอสังหาริมทรัพย์ชั้นดี ในแทยและสิงคโปร์ ด้วยอัตราผลตอบแทนที่น่าสนใจ ภายใต้ความผันผวนที่คุ้มค่า
TSF-A: ด้วยนโยบายการลงทุนแบบเฉพาะเจาะจง ประกอบกับนโยบายการวิเคราะห์แบบ Bottom Up ที่เน้นลงทุนในหุ้นที่มีโอกาสเติบโต ด้วยราคาที่เหมาะสม ทำให้ TSF เป็นกองทุนหุ้นไทยอีก 1 กองที่น่าสนใจ ด้วยอัตราผลตอบแทนและความผันผวนย้อนหลังติด FINNOMENA PICK
LHEQD-A : มีนโยบายเน้นลงทุนในหุ้นที่มีแนวโน้มการจ่ายเงินปันผลที่ดี โดยพอร์ตการลงทุนมีสัดส่วนลงทุนในหุ้นไทยขนาดใหญ่เน้นคุณค่าและมีโอกาสเติบโต อีกทั้งยังกระจายการลงทุนไปยังหุ้นขนาดกลางและเล็กเน้นคุณค่า จึงทำให้พอร์ตการลงทุนมีการกระจายความเสี่ยง เหมาะกับพอร์ตการลงทุนที่มีการกระจายความเสี่ยงต่ำอย่าง TOP5
กองทุนที่ยังคงให้ชะลอการลงทุน
SCBKEQTG : ลงทุนใน iShares MSCI Korean Equity FINNOMENA Investment Team ยังคงให้ชะลอการลงทุนเพิ่มในระยะนี้ เนื่องจากการเติบโตของการส่งออกที่ลดลง และประเด็นสงครามการค้าที่ส่งผลกระทบต่อการส่งออกของประเทศเกาหลี อย่างไรก็ตามสัญญาณทางเทคนิคชี้ให้เห็นว่ามีโอกาสฟื้นตัวในระยะสั้น สำหรับท่านที่ถือกองทุนนี้อยู่แล้วจึงแนะนำให้ถือรอจังหวะการปรับพอร์ทการลงทุนอีกครั้ง
FINNOMENA Investment Team
คำเตือน
ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลสำคัญของกองทุนโดยเฉพาะนโยบายกองทุน ความเสี่ยง และผลการดำเนินงานของกองทุน โดยสามารถขอข้อมูลจากผู้แนะนำก่อนตัดสินใจลงทุน | ผลการดำเนินงานในอดีต / ผลการเปรียบเทียบผลการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์ในตลาดทุน มิได้เป็นสิ่งยืนยันถึงผลการดำเนินงานในอนาคต| ผู้ลงทุนอาจมีความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน เนื่องจากการป้องกันความเสี่ยงขึ้นอยู่กับดุลพินิจของผู้จัดการกองทุน
โปรดทราบ สำหรับลูกค้าฟินโนมีนาที่ลงทุนใน FINNOMENA PORT และได้รับบทความนี้ แต่ยังไม่ได้รับอีเมลและ/หรือ Notification ในการแจ้งสัดส่วนเงินในการเข้าลงทุน ภายใน 2-3 วันทำการ อาจเกิดจาก 1) ท่านอยู่ระหว่างการทำรายการซื้อขายกองทุน ซึ่งทางฟินโนมีนาจะแจ้งเตือนอีกครั้งภายใน 1 สัปดาห์หลังจากการทำรายการซื้อขายเสร็จสิ้น หมายเหตุ หากท่านไม่ประสงค์ที่จะรอรับการแจ้งเตือน ท่านสามารถดูรายละเอียดของพอร์ตการลงทุนที่แนะนำผ่านทางเว็บไซต์และแอปพลิเคชั่นของฟินโนมีนาพร้อมปรับพอร์ตเข้าลงทุนได้ทันที สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ LINE ID: @finnomenaport |