FINNOMENA Investment Team ได้กำหนดชื่อธีมการลงทุนสำหรับปี 2019 คือ “Toward Maximum Diversification – มุ่งสู่การกระจายการลงทุนระดับสูงสุด” โดยมีมุมมองว่าภาพรวมเศรษฐกิจทั่วโลกจะขยายตัวในระดับที่ลดลงจากปี 2018 กำไรบริษัทจดทะเบียนจะเติบโตในระดับที่น้อยกว่าช่วง 1 – 2 ปีที่ผ่านมา
อย่างไรก็ตามการที่เศรษฐกิจและผลประกอบการโดยรวมยังคงมีการขยายตัวทำให้มีโอกาสน้อยที่ตลาดทุนโลกจะเข้าสู่ภาวะวิกฤต (Financial Crisis) โดยตลาดหุ้นในภูมิภาค Asia ex Japan และจีน ที่มีการปรับฐานลงมามากพอสมควรในปี 2018 ทำให้ระดับ Valuation เริ่มมีความน่าสนใจ ขณะที่หุ้นไทยมีโอกาสเกิด Pre-election rally ซึ่งเป็นโอกาสในการทำกำไร
กลยุทธ์โดยรวมในการลงทุนของปี 2019 นักลงทุนควรสร้างประโยชน์จากการกระจายการลงทุนในหลายสินทรัพย์ให้มากที่สุด เพื่อลดความเสี่ยงของพอร์ตในช่วงที่ตลาดหุ้นโลกผันผวน และสร้างผลตอบแทนส่วนเพิ่มพอร์ตการลงทุนโดยรวม โดยสินทรัพย์ทางเลือกที่แนะนำให้มีในพอร์ตการลงทุนได้แก่ กองทุนอสังหาฯ และโครงสร้างพื้นฐาน ทองคำ และ Absolute Return Strategy
1. Toward Maximum Diversification – มุ่งสู่การกระจายการลงทุนระดับสูงสุด
รูปที่ 1 Markovitz (Tangency) Portfolio บน Efficient Frontier | ที่มา International Banker – as of 30/11/19
รูปที่ 2 ผลตอบแทนของ Markowitz Portfolio Vs ตลาดหุ้นโลก | ที่มา International Banker – as of 30/11/19
การกระจายการลงทุน (Diversification) เป็นเครื่องมือหลักที่ทำให้พอร์ตมีความเสี่ยงลดลงตามหลัก Efficient Frontier ของ Markowitz และจากการศึกษาชี้ชัดว่าการกระจายการลงทุนเป็นเครื่องมือที่ทำให้ผลตอบแทนโดยรวมดีขึ้นในระยะยาว
สำหรับตลาดทุนปี 2019 ที่มีแนวโน้มเป็นภาวะ Sideway คือผันผวนในกรอบกว้าง ๆ FINNOMENA Investment Team มีมุมมองว่าการกระจายการลงทุนในระดับสูงสุด (Maximum Diversification) เป็นกลยุทธ์การลงทุนที่เหมาะสม คือการมีสินทรัพย์ที่ไม่สัมพันธ์กับตลาดหุ้น หรือสินทรัพย์ทำผลตอบแทนได้ดีในยามที่ตลาดหุ้นผันผวน อย่างทองคำ, REITs & Infrasturcture Fund, Absolute Return Fund ในสัดส่วนที่สูง
2. Yield Play Theme กลับมาอีกครั้งเมื่อสหรัฐฯ ใกล้จบวงจรการขึ้นดอกเบี้ย
รูปที่ 3 การคาดการณ์การขึ้นดอกเบี้ย FED Fund Rate / S&P500 / ราคาน้ำมัน | ที่มา Bloomberg – as of 30/11/19
การปรับขึ้นดอกเบี้ยของสหรัฐฯ (FED) เป็นสิ่งที่ตลาดกังวลมาตลอดปี 2018 ล่าสุด นาย เจอโรม พาวเวลล์ ประธาน FED เริ่มมีท่าทีต่อการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเชิง Dovish มากขึ้น โดยทาง FINNOMENA Investment Team มีมุมมองว่า FED จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกเพียง 1 – 2 ครั้งในปี 2019 และจะเป็นการสิ้นสุดวัฏจักรการขึ้นดอกเบี้ยรอบนี้
จากรูปที่ 3 การปรับฐานของดัชนี S&P 500 และราคาน้ำมัน มักเกิดขึ้นพร้อมกับการปรับลดลงของการคาดการณ์การขึ้นอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐฯ โดยจากข้อมูลในอดีตย้อนหลังพบว่า FED แทบจะไม่เคยขึ้นดอกเบี้ยนโยบายเลยในยามที่ S&P 500 เทรดในระดับต่ำกว่าเส้นค่าเฉลี่ย 100 สัปดาห์
การที่ดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯ ใกล้จุดสูงสุด เป็นจุดที่ธีมการลงทุนแบบ Yield Play กลับมาอีกครั้ง เช่นการลงทุนในกองทุนอสังหาฯ และโครงสร้างพื้นฐาน ที่ให้อัตราเงินปันผลประมาณ 5 – 7% หรือการลงทุนใน High Yield Bond Fund ทั้งนี้ทาง FINNOMENA Investment Team แนะนำให้ overweight การลงทุนใน REITs & Infrastructure Fund ในปี 2019 นี้
3. เศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังโต แต่จะโตในอัตราที่ลดลง (Soft Landing)
เนื่องจากในปี 2018 สหรัฐฯ มีนโยบายปรับลดการเก็บภาษีให้กับภาคเอกชน (Trump Tax Cut) รวมถึงตลาดแรงงานที่ขยายตัวต่อเนื่อง และการเติบโตของอุตสาหกรรมเทคโนโลยี ส่งผลให้ปีที่ผ่านมาเศรษฐกิจสหรัฐฯ ขยายตัวด้วยอัตราที่สูง
แต่ในปี 2019 เนื่องจากจะไม่มีนโยบายปรับลดการเก็บภาษีให้กับภาคเอกชน รวมไปถึงผลกระทบจากสงครามการค้า และอัตราเงินเฟ้อที่เริ่มปรับตัวขึ้น FINNOMENA Investment Team มีมุมมองว่ากำไรของบริษัทจดทะเบียนจะยังคงขยายตัวแต่ขยายตัวในระดับที่ต่ำกว่า 1-2 ปีที่ผ่านมา ทำให้อัตราส่วน P/E ของตลาดหุ้นไม่น่าเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ
รูปที่ 4 ดัชนี US Manufacturing PMI | ที่มา Bloomberg – as of 30/11/19
อย่างไรก็ตาม ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังส่งสัญญาณเชิงบวก เช่น ดัชนีชี้นำเศรษฐกิจอย่าง PMI ที่ยังอยู่ในระดับสูง ตัวเลข GDP ยังขยายตัว และตลาดหุ้นสหรัฐฯ ได้ปรับฐานไปในระดับหนึ่งแล้ว ที่ทำให้ FINNOMENA Investment Team มีมุมมองว่าในปี 2019 ตลาดหุ้นสหรัฐฯ และตลาดทั่วโลกไม่น่าปรับตัวลงอย่างรุนแรง แต่จะอยู่ในภาวะ Sideway และสร้างผลตอบแทนในกรอบ +/- 10%
4. Harmful Political – ประเด็นการเมืองยังสร้างความกังวลให้ตลาดทั่วโลก
ภูมิภาคยุโรปยังคงมีปัจจัยเสี่ยงในปี 2019 ทั้งจากการเติบโตทางเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มโตน้อยลงที่ 1.7% และประเด็นการเมืองคือ การบังคับใช้ระเบียบการคลังต่อประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป ประเด็น Brexit และการเลือกตั้งรัฐสภาสหภาพยุโรปที่มีกำหนดการในช่วงปลายเดือนพฤษภาคม 2019 ซึ่งมีแนวโน้มว่ากลุ่มการเมืองที่มีแนวความคิดแยกตัวออกจากสหภาพยุโรปจะได้รับความนิยมสูงขึ้นจากแนวคิดชาตินิยมที่กำลังขยายตัว ดังนั้นแม้ตลาดยุโรปจะมี Valuation ที่ถูกลงมามาก FINNOMENA Investment Team ยังคงไม่แนะนำลงทุนตลาดหุ้นยุโรปในเวลานี้
ในส่วนประเด็นสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน แม้จะมีปัจจัยบวกจากการเลื่อนเก็บภาษีสินค้านำเข้าไปอีก 90 วัน เพื่อหาข้อยุติ ช่วยให้สถานการณ์การลงทุนคลายความกังวลได้ในระยะสั้น แต่มีความเป็นไปได้น้อยที่สหรัฐฯ และจีนจะหาข้อสรุปและยุติประเด็นดังกล่าวอย่างเด็ดขาด โดยทาง FINNOMENA Investment Team มีมุมมองว่าประเด็นดังกล่าวจะเป็นปัจจัยลบสำหรับการลงทุนในปี 2019 บ้าง แต่ตลาดจะให้ความสำคัญต่อประเด็นดังกล่าวน้อยลง
รูปที่ 5 มูลค่าสินค้านำเข้าที่ถูกเรียกเก็บอัตราภาษีนำเข้าเพิ่มขึ้นโดยสหรัฐฯ และจีน | ที่มา Statista – as of 30/11/19
5. Valuation ของตลาดหุ้น Asia ex Japan และตลาดหุ้นจีน กลับมาน่าสนใจอีกครั้ง
ปีที่ผ่านมา การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของ FED ส่งผลให้เงินทุนไหลออกจากหุ้นตลาดเกิดใหม่รวมไปถึง Asia ex Japan และจีน ประกอบกับราคาน้ำมันดิบปรับตัวขึ้นมาตลอดปี ทำให้อัตราเงินเฟ้อปรับตัวขึ้นอย่างรุนแรง ด้วยปัจจัยทั้งหมดนี้เป็นผลให้ตลาดปรับตัวลง
รูปที่ 6 ประมาณการ GDP Growth ตลาด EM – DM โดย IMF (สีฟ้า) ผลตอบแทนตลาด EM – DM (สีขาว) | ที่มา Bloomberg – as of 30/11/19
อย่างไรก็ตาม ด้วยมาตรการเพื่อแก้ปัญหาและกระตุ้นเศรษฐกิจจากภาครัฐและธนาคารกลาง เช่น การกระตุ้นการกู้ยืมเงิน หรือการเสริมสภาพคล่องผ่านทั้งตลาดรองและปรับลดสัดส่วนการสำรองเงินสดของธนาคารพาณิชย์ นอกจากนั้นธนาคารกลางประเทศเหล่านี้เริ่มปรับเปลี่ยนสัดส่วนเงินทุนสำรองไปยังทองคำ เพื่อสร้างเสถียรภาพให้กับค่าเงิน
เมื่อย้อนกลับไปดูข้อมูลในอดีต สินทรัพย์ในตลาดเกิดใหม่ (EM) มีโอกาสสร้างผลตอบแทนได้ดี หากเศรษฐกิจมีอัตราการเติบโตสูงกว่าตลาดประเทศพัฒนาแล้ว (DM) ซึ่ง IMF คาดการณ์ว่าอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจตลาดเกิดใหม่จะสูงกว่าตลาดประเทศพัฒนาแล้วใน 2 ปีข้างหน้า โดยคาดว่าตลาดเกิดใหม่จะขยายตัวที่อัตรา 4.6% ขณะที่กลุ่มประเทศพัฒนาแล้วขยายตัวที่ 2.13% ในปี 2019
FINNOMENA Investment Team มีมุมมองว่าตลาดหุ้น Asia ex Japan และตลาดหุ้นจีน มีการปรับฐานมากพอสมควรแล้วในปี 2018 ทำให้ระดับ Valuation เริ่มดูน่าสนใจ รวมถึงระดับ Earning Growth สำหรับปี 2019 ของภูมิภาคเอเชียสูงกว่า สหรัฐฯ ยุโรป และญี่ปุ่น ทำให้ FINNOMENA Investment Team แนะนำลงทุนในตลาดหุ้น Asia ex Japan และตลาดหุ้นจีน
6. Pre-election rally (ถ้ามี) เป็นจังหวะทำกำไรตลาดหุ้นไทย
รูปที่ 7 ดัชนี SET | ที่มา BISNEWS – as of 30/11/19
FINNOMENA Investment Team มีมุมมองประเทศไทยมีโอกาสเกิด Pre-election Rally โดยอิงจากสถิติที่ผ่านมาที่ตลาดหุ้นไทยทำผลงานได้ดีในช่วงก่อนการเลือกตั้ง อย่างไรก็ตามด้วยระดับ Valuation ที่ค่อนข้างแพง และระดับ Earning Growth ของปี 2019 ที่ระดับต่ำกว่า 10% ทำให้ FINNOMENA Investment Team มีมุมมองที่จะขายทำกำไรตลาดหุ้นไทยหากมี Pre-election Rally เกิดขึ้น
หากมองในมุมมองเทคนิค ตามทฤษฎีคลื่น Elliott Wave ณ ตอนนี้ SET Index กำลังเตรียมตัวเป็นขาขึ้นรอบสุดท้ายของคลื่นลูกที่ 5 ซึ่งไม่น่าจะได้เห็นจุดสูงสุดใหม่ภายในครึ่งปีแรก สาเหตุมาจาก คลื่นลูกที่ 5 นี้ จะประกอบไปด้วย 5 คลื่นย่อย ซึ่งต้องใช้ระยะเวลาสะสมกำลังอีกซักระยะ รวมถึงต้องได้ปัจจัยบวกจากทั้งในและต่างประเทศในสนับสนุน ดังนั้นเป้าหมายครึ่งปีแรกอยู่ที่ 1,760 – 1,800 จุด ก่อนปรับฐานในครึ่งปีหลังของปี
7. แรงกดดันเงินเฟ้อคลี่คลายหลังราคาน้ำมันปรับตัวลง
รูปที่ 8 อัตราเงินเฟ้อปรับลดแรงกดดันเนื่องจากราคาน้ำมันปรับตัวลง | ที่มา Bloomberg – as of 30/11/19
ราคาน้ำมันดิบซึ่งปรับตัวลงในช่วงปลายปีที่ผ่านมา ถึงแม้จะมีปัจจัยบวกสนับสนุนจากบรรลุข้อตกลงปรับลดกำลังการผลิต 1.2 ล้านบาร์เรลต่อวัน กลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (OPEC) และชาติพันธมิตร เริ่มมีผลตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ปี 2019 อย่างไรก็ตามถ้าราคาน้ำมันปรับขึ้นมาก ๆ ก็มีอุปทานจากทางฝั่งสหรัฐฯ ที่พร้อมจะผลิตเพิ่มขึ้นจึงทำให้ FINNOMENA Investment Team มีมุมมองว่าระดับราคาน้ำมันดิบจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 50-80 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล สร้างแรงกดดันต่ออัตราเงินเฟ้อน้อยลง
ขณะที่ราคาโภคภัณฑ์โดยรวมยังคงอยู่ในแนวโน้มขาขึ้น โดยในปี 2018 ค่าเงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้น 8% ขณะที่ราคาโภคภัณฑ์โดยรวมปรับลดลงเพียง 3% เป็นสัญญาณ Divergent Strength ที่สะท้อนว่าราคาโภคภัณฑ์มีแนวโน้มที่แข็งแรง
รูปที่ 9 ความสัมพันธ์ระหว่างราคาสินค้าโภคภัณฑ์กับค่าเงินดอลลาร์ | ที่มา Bloomberg – as of 30/11/19
8. ค่าเงินดอลลาร์มีโอกาสอ่อนค่าสูง
รูปที่ 10 US Dollar Index ที่มาพร้อมสัญญาณการกลับตัว (Bearish Pattern) | ที่มา BISNEWS – as of 30/11/19
การแข็งค่าของเงินดอลลาร์ในปี 2018 สาเหตุหลักมาจากปัญหา trade war และการอ่อนค่าของเงินหยวน ซึ่งประเด็น trade war น่าจะคลี่คลายลงในปี 2019 เมื่อเทียบกับปี 2018 ขณะที่การชะลอการขึ้นดอกเบี้ยของ FED ความผันผวนของตลาดหุ้นทั่วโลก และความต้องการเงินทุนในประเทศนอกสหรัฐฯ จะทำให้ค่าเงินดอลลาร์โดยรวมมีทิศทางอ่อนค่าในปี 2019 นี้
ประกอบกับแรงซื้อกลับในค่าเงินดอลลาร์เริ่มลดลงอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่เข้าไตรมาสที่ 3 ในปี 2018 และเริ่มความผันผวนสูง หากพิจารณาในเชิงเทคนิค พบว่าค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ สร้างรูปแบบกลับตัว (Bearish Pattern) แสดงให้เห็นว่าค่าเงินดอลลาร์มีโอกาสกลับตัวมาอ่อนค่า
9. ความผันผวนปลุกทองคำให้น่าลงทุน (Overweight)
รูปที่ 11 ราคาทองคำเป็นรูปแบบ Sideway Up | ที่มา BISNEWS – as of 30/11/19
ช่วงครึ่งปีแรกของปี 2018 ราคาทองได้รับแรงกดดันจากการแข็งค่าของค่าเงินดอลล่าร์สหรัฐฯ แต่พอเข้าสู่ครึ่งปีหลัง ราคาทองเริ่มสามารถสร้างฐาน และกลับมายืนเหนือ $1,200 ได้อีกครั้ง พร้อมสร้างฐานอย่างแข็งแรงบริเวณนี้มากกว่า 3 เดือน
รูปแบบโครงสร้างผ่านการวิเคราะห์ทางเทคนิคของราคาทอง เป็นรูปแบบ Sideway Up หรือ ค่อยๆ แกว่งตัวในกรอบขาขึ้น โดยมีเป้าหมายระยะสั้นใน 3 เดือนข้างหน้าที่ระดับ $1,286 ซึ่งหากสามารถผ่านแนวต้านนี้ขึ้นไปได้ จะมีเป้าหมายถัดไปที่จุดสูงสุดเดิมของปี 2018 ที่ระดับ $1,358 ในกรอบระยะเวลา 1 ปีข้างหน้า
ในแง่ปัจจัยพื้นฐาน ราคาทองคำยังคงมีปัจจัยบวกสนับสนุน ทั้งปริมาณการถือครองทองคำผ่านกองทุน ETF และธนาคารกลางที่เพิ่มขึ้น อัตราดอกเบี้ยที่ปรับเพิ่มขึ้นน้อยกว่าที่คาด ตลาดหุ้นทั่วโลกมีความผันผวน รวมไปถึง CFTC flow คือเม็ดเงินของ Hedge Fund ที่ลด Short position ลงอย่างมีนัยสำคัญ แสดงมุมมองเชิงลบต่อราคาทองคำที่ลดลงอย่างชัดเจน
10. Absolute Return Strategy (Overweight)
รูปที่ 12 อัตราผลตอบแทนการลงทุนในกลยุทธ์ Market Neutral เทียบ MSCI World – as of 30/11/19
อีกการลงทุนที่สามารถสร้างภูมิต้านทานได้คือการลงทุนในกลยุทธ์ Market Neutral หรือ Long / Short Strategy ซึ่งคือการลงทุนที่ไม่แปรตามตลาด หรือค่าเบต้าของพอร์ตเป็น “0” ขณะที่ผลตอบแทนการลงทุนมาจากการจับคู่ Long / Short แต่ละคู่ของพอร์ต (อ่านเพิ่มเติมได้ที่ https://www.finnomena.com/read-global-news/market-neutral/)
11. กองทุนอสังหาฯ และโครงสร้างพื้นฐาน (Overweight)
รูปที่ 13 อัตราผลตอบแทน REIT กับการปรับดอกเบี้ยของ FED | ที่มา investorplace – as of 30/11/19
ในภาวะที่ตลาดมีความผันผวนอย่างต่อเนื่อง การกระจายการลงทุนเป็นอีกกลยุทธ์ที่ทำให้พอร์ตการลงทุนมีความเสี่ยงลดลง โดยสินทรัพย์ที่น่าสนใจสำหรับการมีในพอร์ตมากกว่าระดับปกติ คือ “สินทรัพย์ทางเลือก” ด้วยจุดประสงค์ เพื่อสร้างเสถียรภาพให้พอร์ตการลงทุนในช่วงที่ตลาดมีความผันผวน รวมไปถึงมีโอกาสสร้างผลตอบแทนที่สูงกว่าอัตราเงินเฟ้อ และอัตราดอกเบี้ยในระดับที่สมเหตุสมผล โดย FINNOMENA Investment Team แนะนำเพิ่มน้ำหนักการลงทุนใน กองทุนอสังหาฯ กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน และ REITs เนื่องจากความกังวลในเรื่องการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยน้อยลง ประกอบกับเม็ดเงินลงทุนมีโอกาสสูงที่จะไหลเข้าลงทุนในกลุ่มสินทรัพย์ High Dividend, Defensive Play นอกจากนั้น FINNOMENA Investment Team ยังคงแนะนำกระจายสัดส่วนเงินลงทุนในพอร์ตไปยังทองคำ เพื่อลดความผันผวนในพอร์ตการลงทุน
โดยสรุป FINNOMENA Investment Team มีมุมมองว่า ในปี 2019 เศรษฐกิจสหรัฐฯ และเศรษฐกิจโลกจะขยายตัวในอัตราที่น้อยลง (Economic soft landing) โดยตลาดหุ้นโลกจะอยู่ในภาวะ Sideway และให้ผลตอบแทนอยู่ในกรอบกว้าง +/- 10% โดยการลงทุนที่น่าสนใจได้แก่ หุ้นเอเชีย หุ้น Defensive สินทรัพย์ที่ให้อัตราปันผลสูงอย่าง REITs & Infrastructure Fund และแนะนำให้เพิ่มการกระจายการลงทุนในสินทรัพย์ทางเลือกไปที่ระดับสูงสุดคือ 40 – 60% ของพอร์ตการลงทุน ในสินทรัพย์ทางเลือกอย่าง ทองคำ, High Yield Bond, Absolute Return Fund และ REITs & Infrastructure Fund โดยพอร์ตการลงทุนแนะนำของ FINNOMENA ในแต่ละ Model มีดังนี้
กองทุนรวมแนะนำโดย FINNOMENA
Best-in-class Fund Selection : FINNOMENA ได้จัดให้มีผลิตภัณฑ์กองทุนรวม Best-in-class ในแต่ละประเภทกองทุน คือการเลือกลงทุนในกองทุนรวมที่ดีที่สุดในแต่ละประเภทสินทรัพย์ ซึ่งใช้ระบบการวิเคราะห์ของ FINNOMENA ในการให้คะแนน (ดูรายละเอียด Best-in-class ได้ ที่นี่)
คำแนะนำประจำเดือนมกราคม 2562 : FINNOMENA Investment Team แนะนำให้เพิ่มน้ำหนักการลงทุนใน 3 ชนิดสินทรัพย์ ได้แก่
1. Best-in-class หุ้นไทย จากโอกาสการมี Pre-election Rally
2. Best-in-class กองทุนอสังหาฯ & โครงสร้างพื้นฐาน จากธีม Yield Play และดอกเบี้ยใกล้ peak
3. Best-in-class หุ้น Asia ex Japan จาก Valuation ที่น่าสนใจ และการเติบโตของ Earning ที่มากกว่าตลาดพัฒนาแล้ว (เสนอขายครั้งแรก ม.ค. 62)
โมเดลพอร์ตกองทุนรวมแนะนำโดย FINNOMENA
Global Conservative Portfolio (GCP) – [เงินลงทุนขั้นต่ำ 3,000,000 บาท]
พอร์ตเพื่อเป้าหมายชนะเงินฝาก และชนะเงินเฟ้อ เป้าหมายระยะยาว 3 – 5% ต่อปี (ไม่ใช่การการันตี)
คำแนะนำประจำเดือนมกราคม 2562 : แนะนำคงสัดส่วนการลงทุนต่อเนื่องจากเดือนธันวาคม ในแง่จังหวะการลงทุน (Market Timing) สามารถเข้าลงทุนได้เลย เนื่องจากพอร์ทการลงทุนได้มีการจัดสัดส่วนการลงทุนเพื่อตอบรับต่อความผันผวนที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตแล้ว ด้วยสัดส่วนการลงทุนตราสารหนี้ 65% และกองทุนรวมกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ 15%
Global Absolute Return (GAR) – [เงินลงทุนขั้นต่ำ 3,000,000 บาท]
กระจายเงินลงทุนในหลายสินทรัพย์เพื่อสะสมมูลค่าเงินลงทุนบนเป้าหมายผลตอบแทน 8% ต่อปี หรือ 2 เท่าตัวใน 10 ปี (ไม่ใช่การการันตี) และพยายามปกป้องความเสี่ยงในตลาดขาลงในปีที่ปัจจัยพื้นฐานไม่ดี
คำแนะนำประจำเดือนมกราคม 2562 : แนะนำคงสัดส่วนการลงทุนต่อเนื่องจากเดือนธันวาคม ในแง่จังหวะการลงทุน (Market Timing) สามารถเข้าลงทุนได้เลย จากแนวคิดการลดความผันผวนลงอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้มีสัดส่วนของกองทุนสินทรัพย์ทางเลือก 50% และตราสารหนี้ 10% ซึ่งช่วยลดความเสี่ยงของพอร์ตการลงทุนโดยรวมลงได้ อีกทั้งในเชิงกลยุทธ์ FINNOMENA Investment Team ยังติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดเพื่อปรับพอร์ตการลงทุนให้เหมาะสมกับสถานการณ์อยู่เสมอ
TOP5 Portfolio – [เงินลงทุนขั้นต่ำ 3,000,000 บาท]
เป็นการจัดพอร์ตแบบ Global Equity Allocation ที่จะลงทุนในกองทุนรวมไปเกิน 5 กองทุน เน้นการลงทุนเชิงรุก มีความถี่ในการปรับพอร์ตสูง และมีนโยบายการตัดขาดทุนที่เข้มข้น เป็นระบบ ตั้งเป้าหมายผลตอบแทนเฉลี่ยประมาณ 10-15% ต่อปี หรือ 4 เท่าตัวใน 10 ปี (ไม่ใช่การการันตี)
คำแนะนำประจำเดือนมกราคม 2562 : แนะนำคงสัดส่วนการลงทุนต่อเนื่องจากเดือนธันวาคม ในแง่จังหวะการลงทุน (Market Timing) สามารถเข้าลงทุนได้เลย จากนโยบายการลงทุนที่มีการกระจายความเสี่ยงในสินทรัพย์ทางเลือก 40% ของพอร์ตการลงทุนซึ่งเป็นการช่วยลดความผันผวนของพอร์ตการลงทุนโดยรวมลงแล้วระดับหนึ่ง เมื่อประกอบกับนโยบายการตัดขาดทุนที่เข้มข้นซึ่งเป็นการช่วยคุมความเสี่ยงอีกชั้นหนึ่ง จึงแนะนำสามารถลงทุนได้
Global Income Focus (GIF) – [เงินลงทุนขั้นต่ำ 5,000,000 บาท]
พอร์ตการลงทุนในสินทรัพย์ที่สามารถจ่ายผลตอบแทนในรูปแบบปันผลได้อย่างสม่ำเสมอ เป้าหมายผลตอบแทน 6-7% ต่อปี และจ่ายกระแสเงินสดเป็นรายเดือน (Passive Income) ในอัตราผลตอบแทนเฉลี่ย 4-5% ต่อปี (ไม่ใช่การการันตี)
คำแนะนำประจำเดือนมกราคม 2562 : แนะนำคงสัดส่วนการลงทุนต่อเนื่องจากเดือนธันวาคม ในแง่จังหวะการลงทุน (Market Timing) สามารถเข้าลงทุนได้เลย จากสัดส่วนการลงทุนในกองทุนตราสารหนี้และกองทุนรวมกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ 35% และกองทุนรวมผสมแบบยืดหยุ่น ซึ่งมีการกระจายความเสี่ยงในหลากหลายสินทรัพย์เพื่อสร้างรายได้สม่ำเสมอจากตราสารหนี้ หุ้น และอสังหาริมทรัพย์คุณภาพดี ความผันผวนต่ำ ทำให้ถึงแม้ในยามที่ตลาดเกิดความผันผวนพอร์ตการลงทุนก็จะยังสามารถจ่ายกระแสเงินสดคืนลูกค้าได้อย่างสม่ำเสมอตามจุดประสงค์ของพอร์ต
GOAL Portfolio – [เงินลงทุนขั้นต่ำ 20,000 บาท เงินลงทุนต่อเดือนขั้นต่ำ (DCA) : 5,000 บาท]
ลงทุนเพื่อเป้าเก็บเงินก้อนหรือเป้าเกษียณ เหมาะสำหรับนักลงทุนที่มีการวางเป้าหมายการลงทุน และ จัดพอร์ตตามวัตถุประสงค์ ตั้งใจสร้างวินัยการออม และทยอยลงทุนสะสมเป็นรายเดือน
คำแนะนำประจำเดือนมกราคม 2562 : แนะนำคงสัดส่วนการลงทุนต่อเนื่องจากเดือนธันวาคม ในแง่จังหวะการลงทุน (Market Timing) สามารถเข้าลงทุนได้เลย เนื่องจากมีการควบคุมความผันผวนของพอร์ตการลงทุนโดยรวม 2 วิธีการด้วยกันคือ กระจายลงทุนในหลากหลายสินทรัพย์และกระจายการลงทุนด้วยการ DCA
1st Million Portfolio – [เงินลงทุนขั้นต่ำ 5,000 บาท เงินลงทุนต่อเดือน (DCA) : 2,500 บาทขึ้นไป]
พอร์ตการลงทุนสำหรับผู้ที่ตั้งใจจะสร้าง 1 ล้านบาทแรก ในชีวิตเหมาะสำหรับนักลงทุนมือใหม่ เพิ่งเริ่มต้นลงทุน มีความตั้งใจในการสร้างวินัยการลงทุน และทยอยลงทุนสะสมเป็นรายเดือน
คำแนะนำประจำเดือนมกราคม 2562 : แนะนำคงสัดส่วนการลงทุนต่อเนื่องจากเดือนธันวาคม ในแง่จังหวะการลงทุน (Market Timing) สามารถเข้าลงทุนได้เลย เนื่องจากมีการควบคุมความผันผวนของพอร์ตการลงทุนโดยรวม 2 วิธีการด้วยกันคือ กระจายลงทุนในหลากหลายสินทรัพย์และกระจายการลงทุนด้วยการ DCA
FINNOMENA Investment Team