ผ่านไปอีก 1 สัปดาห์แห่งความผันผวน ท่ามกลางการประกาศตัวเลขสำคัญทางเศรษฐกิจทั่วโลก นำโดยประเทศยักษ์ใหญ่อย่างสหรัฐฯที่โดยรวมออกมาดีกว่าคาด ส่งผลให้ Dollar Index ยังยืนเหนือระดับ 95 จุด และส่งผลกดดันต่อตลาดเกิดใหม่ต่อไป
1. ภาคธุรกิจและลูกจ้างมั่นใจเป็นประวัติการณ์
หนึ่งในชุดตัวเลขที่สำคัญของสหรัฐฯที่ออกมาก็คือ ตัวเลขอัตราการจ้างงาน ตัวเลขอัตราการลาออก ตัวเลขตำแหน่งงานเปิดใหม่ และ ตัวเลขการเลิกจ้างพนักงาน ซึ่งออกมามีแนวโน้มดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำสถิติดีกว่าช่วงเศรษฐกิจขยายตัวถึงขีดสุดก่อนที่จะเกิดวิกฤติเศรษฐกิจปี 2008 เป็นที่เรียบร้อย
ซึ่งเป็นการแสดงให้เห็นถึงความแข็งแกร่งของเศรษฐกิจสหรัฐฯในภาคธุรกิจจริง ที่มีการจ้างงานสูงขึ้น มีการเปิดตำแหน่งงานใหม่ๆมากขึ้น เลิกจ้างพนักงงานน้อยลง เพื่อรองรับต่อการขยายตัวทางธุรกิจของตน ในฝั่งลูกจ้างเอง ก็มีอัตราการลาออกที่สูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ เนื่องจากความมั่นในในการหางานใหม่ที่มีมากขึ้น ทำให้ผู้คนกล้าที่จะลาออกเพื่อเปลี่ยนงานมากขึ้น ซึ่งสอดคล้องไปในทิศทางเดียวกันกับอัตราค่าจ้างรายชั่วโมงของสหรัฐฯที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งเป็นลักษณะของช่วงเศรษฐกิจเติบโตจนถึงจุดสูงสุด และมักตามมาด้วยเศรษฐกิจชะลอตัว
Source : ADVISOR Perspective
2. ทีมชาติจีน ซื้อหุ้นเพื่อชาติ
Source : Zerohedge, Goldman Sachs
ขณะที่จีนนั้นประสบปัญหาเศรษฐกิจชะลอตัวและสงครามการค้ากดดันอย่างต่อเนื่อง ทำให้ต้องกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยมาตรการต่างๆ 1 ในนั้นก็คือ “ทีมชาติ” อันประกอบไปด้วยบริษัทหลักทรัพย์สำคัญขนาดใหญ่ของจีนที่ธนาคารกลางเป็นผู้สนับสนุน เริ่มมีแรงการซื้อหุ้นของจีนกลับมาเป็นบวกสุทธิอีกครั้ง หลังจากตลาดหุ้นจีนปรับตัวลดลงมาอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ต้นปี โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างผลตอบแทนที่ดี สร้างสภาพคล่อง และลดความผันผวนให้กับตลาดหุ้นของจีน เพื่อ สร้างเสถียรภาพให้ตลาดทุน และ ดึงดูดความสนใจของนักลงทุนสถาบันทั่วโลก
3. จีนกลับมาอัดฉีดเงินเข้าระบบอีกครั้ง
Source : Bloomberg
เมื่อประกอบกับการอัดฉีดเม็ดเงินเข้าสู่ระบบด้วยการปล่อยเงินกู้เข้าสู่ระบบธนาคารระยะสั้น เพื่อเพิ่มสภาพคล่องและควบคุมอัตราดอกเบี้ยเอาไว้ ไม่ให้ปรับตัวสูงขึ้นเร็วเกินไป อันจะส่งผลให้ต้นทุนทางการเงินสูงขึ้น และอาจทำให้เศรษฐกิจชะลอตัวลงไปได้อีก ก็เป็นอีกสัญญาณที่ทำให้เห็นว่า ณ ขณะนี้ จีนกำลังพยายามทุกวิถีทาง เพื่อให้เศรษฐกิจที่โดนกดดันโดยประเด็นสงครามการค้านั้น ไม่ชะลอตัวลงไปมากกว่านี้ รวมถึงการหาพันธมิตรใหม่ เช่น แอฟริการใต้ และ รัสเซีย ซึ่งเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจที่ใหญ่ เพื่อลดผลกระทบเชิงลบจากประเด็นสงครามการค้าดังกล่าว
สุดท้ายแล้วความพยายามกระตุ้นเศรษฐกิจและหาพันธมิตรเพิ่มเติม จะช่วยลดผลกระทบจากสงครามการค้าหรือไม่ สหรัฐฯจะควบคุมความร้อนแรงและการตึงตัวของภาคแรงงานอันเป็นลักษณะสำคัญของช่วงสูงสุดของวัฏจักรเศรษฐกิจ เพื่อคงความมีเสถียรภาพไว้ได้อย่างไร คงต้องติดตามกันต่อไป ทั้งหมดนี้ก็เป็น The Key Factor ที่ FINNOMENA Investment Team นำมาฝาก และติดตามอย่างต่อเนื่อง ขอให้ทุกท่านโชคดีกับการลงทุน
FINNOMENA Investment Team
คำเตือน
ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลสำคัญของกองทุนโดยเฉพาะนโยบายกองทุน ความเสี่ยง และผลการดำเนินงานของกองทุน โดยสามารถขอข้อมูลจากผู้แนะนำก่อนตัดสินใจลงทุน | ผลการดำเนินงานในอดีต / ผลการเปรียบเทียบผลการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์ในตลาดทุน มิได้เป็นสิ่งยืนยันถึงผลการดำเนินงานในอนาคต| ผู้ลงทุนอาจมีความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน เนื่องจากการป้องกันความเสี่ยงขึ้นอยู่กับดุลพินิจของผู้จัดการกองทุน