ท่ามกลางภาวะอัตราดอกเบี้ยต่ำโดยการเปรียบเทียบกับระดับในอดีตและอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจ ส่งผลให้สินทรัพย์ที่อ้างอิงผลตอบแทนโดยตรงกับอัตราดอกเบี้ยอย่างตราสารหนี้มีความน่าสนใจน้อยลงไปมาก ดังนั้นจึงเกิดภาวะไร้ทางเลือกที่เรียกว่า “There is no alternative” หรือ TINA Effect ส่งให้นักลงทุนยังต้องเลือกลงทุนในสินทรัพย์ประเภทหุ้นเพื่อสร้างผลตอบแทนให้โดดเด่น ซึ่งแม้ TINA ไม่ใช่สิ่งใหม่แต่เรายังเชื่อว่า TINA จะยังคงอยู่กับเราต่อไปในปี 2022 “Still TINA!”
อย่างไรก็ตามในปี 2021 จะพบว่าทั้งเศรษฐกิจและตลาดหุ้นของกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว (Developed Market, DM) ร้อนแรงและปรับตัวขึ้นดีกว่ากลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ (Emerging Market, EM) เนื่องจากการเข้าถึงวัคซีนและนโยบายการตุ้นเศรษฐกิจที่เข้มข้นกว่า อย่างไรก็ตามหลังปี 2022 เป็นต้นไป ปัจจัยทั้งหลายจะเริ่มเข้าปรับเข้าสู่สภาวะปรกติ แม้ EM จะฟื้นตัวเติบโตตามมาได้ แต่ในสภาวะที่ DM เริ่มชะลอตัวและนโยบายกระตุ้นที่น้อยลง อาจจะทำให้ “The Year of Normalization” เป็นปีที่มีความผันผวนเพิ่มขึ้น
FINNOMENA Investment Team ขอถือโอกาสนี้นำเสนอรูปแบบกรอบการวิเคราะห์คำแนะนำในการลงทุนในรูปแบบใหม่ที่มีชื่อว่า “MEVT Framework” ซึ่งมาจาก Macro, Earnings, Valuation และ Technicals Framework ซึ่งจะเริ่มนำมาปรับใช้ในการวางกลยุทธ์การลงทุนในปี 2022 เพื่อการคิดวิเคราะห์ที่รอบด้าน และเพิ่มคุณภาพของการให้คำแนะการลงทุนของลูกค้า FINNOMENA ต่อไป
Macro – ปีแห่งการ Normalization
ปี 2021 อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจ (GDP Growth) ทั้งประเทศพัฒนาแล้วและตลาดเกิดใหม่ เพิ่มขึ้นอย่างโดดเด่นเหนือระดับในอดีต แต่เมื่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจกลับสู่ภาวะปกติมากขึ้นทำให้ GDP Growth มีแนวโน้มกลับเข้าสู่ภาวะปกติ (Pre-Covid)
ประมาณการนักวิเคราะห์รวบรวมโดย Bloomberg มองว่าประเทศส่วนใหญ่ในเอเชียที่ฟื้นตัวช้าเมื่อปี 2021 เช่น ไทย ญี่ปุ่น จะฟื้นตัวมากขึ้นในปี 2022 รวมไปถึงประเทศเวียดนามก็ยังเติบโตต่อเนื่องได้อีก ซึ่งอัตราการฉีดวัคซีนของประเทศในเอเชียเร่งขึ้นตามมาอย่างรวดเร็วเข้าใกล้ระดับเดียวกับประเทศพัฒนาแล้ว
เศรษฐกิจประเทศพัฒนาแล้วฟื้นตัวอย่างโดดเด่นส่วนหนึ่งเป็นผลจากมาตรการกระตุ้นการคลังขนาดใหญ่ซึ่งคาดว่าการใช้มาตรการกระตุ้นได้ผ่านจุดสูงสุดไปแล้ว
เช่นเดียวกับการใช้นโยบายการเงินกระตุ้นอย่างหนักไม่ว่าจะเป็นการลดอัตราดอกเบี้ยต่ำระดับ 0% พร้อมอัดฉีดสภาพคล่องมหาศาลผ่านมาตรการ QE กดต้นทุนการเงินต่ำลงไปมาก ธนาคารกลางมีแนวโน้มใช้นโยบายการเงินเข้มงวดขึ้น เช่น ลดการอัดฉีดสภาพคล่อง (QE tapering) และการขึ้นอัตราดอกเบี้ย
องค์การข้อมูลด้านพลังงาน (EIA) ของประเทศสหรัฐฯ คาดการณ์ว่ากำลังการผลิตที่ต่ำกว่าความต้องการมาตลอดปี 2021 จะเพิ่มขึ้นจนมากกว่าความต้องการ ซึ่งจะกดดันให้ราคาน้ำมันมีแนวโน้มชะลอตัวได้ นั่นหมายความว่าราคาน้ำมันดิบอาจผ่านจุดสูงสุดไปเรียบร้อยแล้ว
กิจกรรมเศรษฐกิจที่กลับสู่ภาวะปกติและราคาน้ำมันซึ่งมีแนวโน้มลดลงต่างเป็นปัจจัยที่ทำให้อัตราเงินเฟ้อ (CPI) ของประเทศสหรัฐฯ ยุโรป ที่เร่งตัวแรงในปี 2021 จะเริ่มปรับตัวลงในปี 2022 เป็นต้นไป
ต้นเดือนธันวาคมเชื้อไวรัส COVID-19 สายพันธุ์ใหม่ชื่อว่า Omicron ปรากฎขึ้น กดดันตลาดการเงินทั่วโลกอย่างหนัก พร้อมเกิดคำถามว่าวัคซีนที่ฉีดไปทั่วโลกสามารถป้องกันความอันตรายจากการติดเชื้อได้หรือไม่?
ล่าสุด Pfizer เผยว่าการฉีดวัคซีน Pfizer เข็มที่ 3 สามารถสร้างภูมิคุ้มกันช่วยป้องกันเชื้อไวรัสสายพันธุ์ Omicron ได้ พร้อมเผยว่าจะพัฒนาวัคซีนสำหรับสายพันธุ์ Omicron ได้ในเดือนมีนาคมปีหน้า ส่วน Moderna ยังไม่ได้เผยข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับประสิทธิภาพอย่างไรต่อสายพันธุ์ Omicron ซึ่งก่อนหน้านี้ผู้บริหารเผยว่าต้องใช้เวลา 3 เดือน เพื่อผลิตวัคซีนสำหรับสายพันธุ์ Omicron ด้าน Johnson & Johnson และ AstraZeneca ไม่ได้ เผยข้อมูล มีเพียงนักวิทยาศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับบริษัทเผยเพียงว่าต้องติดตามและพัฒนาวัคซีน
เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน Bloomberg รายงานว่าหน่วยงานกำกับดูแลด้านสาธารณสุขของจีนอนุมัติให้ทดลองวัคซีน mRNA ที่ศูนย์วิทยาศาสตร์กองทัพ, Suzhou Abogen และ Yunnan Walvax Biotechnology พัฒนาร่วมกัน การทดลอง Phase 3 นี้จะทำในประเทศจีน เม็กซิโก และอินโดนิเซีย ส่วน Sinovac Biotech กำลังศึกษาผลกระทบของ Omicron ต่อวัคซีนเชื้อตายและความจำเป็นที่ต้องพัฒนาวัคซีน
อย่างไรก็ตามสถานการณ์ไวรัส Omicron คลายความกังวลหลังนายแพทย์ Fauci เผยว่าไวรัสสายพันธุ์ Omicron กระจายไปทั่วประเทศแต่ข้อมูลเบื้องต้นชี้ว่าสร้างอันตรายน้อยกว่าสายพันธุ์ Delta ด้านหลักการระบาดวิทยาที่ชี้ว่าไวรัสเกี่ยวกับทางเดินหายใจจะลดความรุนแรง ขณะเดียวกันประชากรก็มีภูมิคุ้มกันมากขึ้น หากเป็นไปตามหลักการดังกล่าวความกังวลจะลดลงและโอกาสที่สถานการณ์จะร้ายแรงเหมือนการระบาดระลอกแรกเป็นไปได้น้อย แต่ข้อมูลที่มียังเป็นข้อมูลในเบื้องต้น ดังนั้นต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด
ภาพรวมการการเติบโตของเศรษฐกิจลดความร้อนแรงลงโดยเฉพาะประเทศพัฒนาแล้ว การกระตุ้นทั้งนโยบายการเงินการคลังแม้ยังมีอยู่แต่กำลังลดลง เช่นเดียวกับเงินเฟ้อจะเริ่มกลับสู่ภาวะปกติในครึ่งหลังของปี และคาดว่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจจะเป็นไปในแนวทางใช้ชีวิตร่วมกับ COVID-19
Earnings – ภาพ Normalization ไม่ต่างจาก Macro
ระดับกำไรที่ต่ำมากเมื่อปี 2020 ประกอบกับการเปิดเมืองพร้อมมาตรการกระตุ้นมากมายส่งให้กำไรบริษัทในตลาดหุ้นของประเทศพัฒนาแล้วเติบโตอย่างมากและโดดเด่นกว่าประเทศตลาดเกิดใหม่ ส่วนคาดการณ์กำไรยังมีแนวโน้มเติบโตต่อไปในปี 2022 แต่กลับเป็นประเทศตลาดเกิดใหม่ที่เติบโตโดดเด่นกว่าประเทศพัฒนาแล้วตามแนวโน้มปกติของเศรษฐกิจในระยะยาว
หากมองย้อนกลับไป เพื่อศึกษาบทเรียนจากความอ่อนไหวของคาดการณ์กำไรต่อ COVID ในช่วงไตรมาส 1 ปี 2020 จะพบว่าอุตสาหกรรมประเภท Cyclical เช่น พลังงาน, REITs, โลหะและเหมืองแร่ รวมไปถึงกลุ่มการเงิน ถูกปรับประมาณการลงมากกว่าดัชนีหุ้นทั่วโลก (MSCI ACWI) ส่งผลให้ประมาณการ EPS ของดัชนีตลาดหุ้นประเทศญี่ปุ่น ยุโรป และไทย ที่มีสัดส่วนกลุ่ม Cyclical ถูกปรับลดมากกว่าดัชนีหุ้นโลก สวนทางตลาดหุ้นประเทศอื่นๆ เช่น สหรัฐฯ ที่มีสัดส่วนกลุ่มที่รับประโยชน์จากการแพร่ระบาด เช่น เทคโนโลยี ดังนั้นคาดการณ์ EPS ของแต่ละประเทศจะมีความทนทานต่อความเสี่ยง เช่น COVID-19 ต่างกัน
Valuation – หุ้นดูสมเหตุสมผลเมื่อเทียบกับพันธบัตร
เนื่องจาก TINA Effect ส่งเม็ดเงินลงทุนเข้าตลาดหุ้นจำนวนมากทำให้หลายตลาดมีระดับมูลค่าสูงขึ้นมากกว่าค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 10 ปี แต่ยังมีโอกาสในบางตลาด เช่น เวียดนาม ญี่ปุ่น ซึ่งระดับมูลค่าต่ำกว่าค่าเฉลี่ย
จากที่ได้กล่าวไปข้างต้นว่าตลาดการเงินทั่วโลกอยู่ในภาวะดอกเบี้ยต่ำ ผลดังกล่าวสะท้อนผ่านปริมาณตราสารหนี้ที่ให้อัตราผลตอบแทนติดลบ (Negative Yield) ซึ่งเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจนในปัจจุบันอยู่ที่ระดับประมาณ 14 ล้านล้านดอลลาร์ ขณะเดียวกันก็เป็นผลให้ตราสารหนี้มีมูลค่าในระดับที่แพงโดยวัดจากส่วนต่างอัตราผลตอบแทน (Yield Spread) ที่น้อยจนแตะระดับต่ำสุดทั้งตราสารหนี้ Investment grade, High yield และ Emerging market bond
โลกของตลาดการลงทุนไม่สามารถแยกการวิเคราะห์เป็นเฉพาะตลาดได้เพราะเม็ดเงินไหลข้ามสินทรัพย์กันตลอดเวลา เมื่อมอง Valuation ผ่าน Earnings Yield Gap (EYG) หรือส่วนต่างระหว่างผลตอบแทนกำไรของหุ้นและผลตอบแทนพันธบัตร ก็จะพบว่า EYG ของตลาดส่วนใหญ่ไม่ได้ซื้อขายในระดับต่ำกว่าปกติ (แพงผิดปกติ) เมื่อเทียบกับในอดีต
FINNOMENA Investment Team นำประมาณการการเติบโต EPS เฉลี่ยปี 2022-2023 และ Forward P/E เพื่อค้นหาโอกาสเชิงเปรียบเทียบพบว่าตลาดหุ้นเวียดนามอัตราการเติบโตที่น่าสนใจเทียบกับระดับ Forward P/E มากที่สุด
หุ้นกลุ่ม Growth ซึ่งมีอัตราการเติบโตโดดเด่นและทนทานต่อผลกระทบจากเศรษฐกิจและไวรัส COVID-19 ก็ได้รับความนิยม ระดับมูลค่าจึงสูงตามคุณสมบัติที่ดีและความคาดหวังด้วยเช่นกัน ในขณะที่กลุ่มที่เป็นธุรกิจในโลกเก่าและเป็นกลุ่มวัฏจักร (Cyclical) เช่น พลังงานและการเงิน เป็นต้น ก็จะกลุ่มที่มีการเติบโตใน 2 ปีข้างหน้าไม่สูง แต่ก็ซื้อขายที่ P/E ที่ไม่แพงเช่นเดียวกัน
การเข้าสู่ยุคของหุ้น Growth ที่สร้างผลตอบแทนเหนือหุ้น Value ส่งให้ตลาดหุ้นของประเทศพัฒนาแล้วที่มีหุ้น Growth จำนวนมากโดยเฉพาะสหรัฐฯ สร้างผลตอบแทนโดดเด่นทิ้งห่างตลาดเกิดใหม่ซึ่งมีหุ้น Growth ไม่มากนัก
อย่างไรก็ตาม อัตราผลตอบแทนพันธบัตร (ซึ่งมีแนวโน้มเช่นเดียวกับอัตราดอกเบี้ย) ก็อาจปรับตัวขึ้นมาเนื่องจากเศรษฐกิจฟื้นตัวจนอัตราเงินเฟ้อพุ่งสูง ล่าสุดนายเจอโรม พาวเวลล์ ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) เปลี่ยนแปลงท่าทีหลังเปิดเผยว่าอัตราเงินเฟ้ออาจไม่ใช่เรื่องชั่วคราวอีกต่อไปท่ามกลางกระแสว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ อาจขึ้นอัตราดอกเบี้ยในปี 2022 ราว 2-3 ครั้ง ดังนั้นหากตลาดยังกังวลกับประเด็นดังกล่าวหรือธนาคารกลางสหรัฐฯ ตัดสินใจขึ้นดอกเบี้ยก็จะส่งผลกดดันหุ้นกลุ่ม Growth ลดระยะห่างผลตอบแทนระหว่างกลุ่ม Growth และ Value ลงได้ แต่เราชื่อว่าไม่อาจหักล้างผลบวกจากนวัตกรรม Technology ได้ในระยะยาว
Technicals – คาดการณ์ความผันผวนอาจเพิ่มขึ้น
FINNOMENA Investment Team รวบรวมสถิติผลตอบแทนแต่ละปีของตลาดหุ้นที่สำคัญทั่วโลกย้อนหลัง 30 ปี จากนั้นเปรียบเทียบกับผลตอบแทนย้อนหลัง 1 ปีในปัจจุบัน พบว่าตลาดหุ้นประเทศพัฒนาแล้ว เช่น S&P 500, STOXX 600 และ TOPIX รวมไปถึงตลาดหุ้นเวียดนามทำผลตอบแทนสูงเมื่อเทียบกับอดีต จากนั้นนำข้อมูลเม็ดเงินไหลเข้าเทียบกับขนาดตลาดย้อนหลัง 5 ปี พบว่าตลาดหุ้นญี่ปุ่นได้รับอานิสงส์จากเม็ดเงินลงทุนมากที่สุด
ในขณะที่ปริมาณการกู้ยืมเงินเพื่อลงทุน (margin debt) ของดัชนี S&P 500 และ Russell 3000 เทียบกับขนาดตลาดหุ้นเพื่อตรวจสอบภาวะฟองสบู่พบว่าระดับในปัจจุบันอยู่ที่ราว 2% ซึ่งห่างจากช่วงเกิดวิกฤต Dot-com ซึ่งสูงถึง 8% และยังต่ำกว่าช่วง GFC Hamburger ที่ปรับตัวขึ้นไปถึง 3%
ตลาดหุ้น ตลาดตราสารหนี้ และตลาดแลกเปลี่ยนเงินตราเกิดความกังวลสูงสุดช่วงที่ COVID-19 ระบาดระลอกแรกจากนั้นผันผวนด้วยความกังวลประเด็นอัตราเงินเฟ้อ แม้กลับสู่ภาวะปกติแต่ดัชนีชี้วัดความผันผวนในมุมมองนักลงทุนทั้ง VIX Index, MOVE Index และ CVIX Index ไม่ได้กลับลงมาแตะระดับต่ำสุดอีกเลยโดยเฉพาะในระยะหลัง สะท้อนว่ามุมมองว่าช่วงเวลาต่อจากนี้ตลาดการเงินทั่วโลกอาจมีแนวโน้มผันผวนเพิ่มขึ้น
2022 Outlook ตลาดหุ้นยังรับอานิสงส์จาก TINA Effect ด้านเศรษฐกิจจะเติบโตน้อยลงเช่นเดียวกับมาตรการกระตุ้นที่มีขีดจำกัดก็ต้องลดขนาดลง ดัชนีชี้วัดสะท้อนว่าความผันผวนมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ดังนั้น FINNOMENA Investment Team แนะนำให้กระจายการลงทุนในหลากหลายสินทรัพย์ Style และกลยุทธ์มากกว่าปี 2021 เพื่อบริหารจัดการความเสี่ยงได้ดีขึ้น รวมถึงมุ่งหาการเติบโตจากสินทรัพย์ที่เติบโตอย่างมั่นคงในระยะยาว เช่น ตลาดหุ้นเวียดนาม และ Megatrend (Tech, Healthcare, Clean Energy)
FINNOMENA PORT Recommendations
GCP
แนะนำลดสัดส่วน KFSMART 5% (ทั้งหมด) เพิ่มสัดส่วนการลงทุน SCBWINA 5%
เพื่อรับโอกาสการสร้างผลตอบแทนที่สม่ำเสมอบนความผันผวนที่เหมาะสม จากกลยุทธ์ที่หลากหลายของ BlackRock ผู้บริหารกองทุนหลัก SCBWINA
FINNOMENA Investment Team จึงแนะนำเพิ่มสัดส่วนการลงทุนใน SCBWINA อีก 5% สู่ระดับ 40% ของพอร์ตการลงทุน เมื่อประกอบกับสัดส่วนการลงทุนใน KFINFRA-A ซึ่งเป็นกองทุนรวมหุ้นโครงสร้างพื้นฐานส่งผลให้ภาพรวมของ GCP มีสัดส่วนการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงประมาณ 25% ซึ่งใกล้เคียงกับเป้าหมายและความเสี่ยงของพอร์ตการลงทุนแล้ว
RIS
RIS ยังคงมีความผันผวนที่ต่ำเมื่อเทียบกับภาวะการลงทุนโดยรวมทั่วโลก อีกทั้งยังสามารถสร้างกระแสเงินสดที่สม่ำเสมอแต่ต่ำกว่าเป้าหมายที่ 3-3.5% ต่อปี เล็กน้อย FINNOMENA Investment Team มีมุมมองว่าการจ่ายกระแสเงินสดจะกลับเข้าสู่ระดับปกติอีกครั้ง หลังอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลทั้งไทยและสหรัฐฯ มีเสถียรภาพมากขึ้น จึงยังคงแนะนำคงสัดส่วนการลงทุน
All Balance
All Balance Port ซึ่งเป็นพอร์ตการลงทุนแบบ Strategic Asset Allocation ที่จัดสัดส่วนการลงทุนด้วย Black-Litterman Model หัวใจของ FINNOMENA Robo-Advisor ที่ผสมผสานระหว่างโมเดลทางคณิตศาสตร์ที่ช่วยคำนวณค่าสถิติในอดีตกับมุมมองการลงทุนในอนาคตจากผู้แนะนำการลงทุนมีความเหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน FINNOMENA Investment Team จึงแนะนำคงสัดส่วนการลงทุน
GIF
แนะนำลดสัดส่วน K-USA-A(D) 10% (ทั้งหมด) เพิ่มสัดส่วนการลงทุน SCBWINR 10%
GIF ยังคงมีความผันผวนที่ต่ำเมื่อเทียบกับภาวะการลงทุนโดยรวมทั่วโลก อีกทั้งยังสามารถสร้างกระแสเงินสดที่สม่ำเสมอที่ระดับ 3-5% ต่อปี อย่างไรก็ตามเพื่อลดความผันผวนที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตจากสินทรัพย์สี่ยงอย่างหุ้น
FINNOMENA Investment Team จึงแนะนำเพิ่มน้ำหนักการลงทุนใน SCBWINA อีก 10% สู่ระดับ 45% ของพอร์ตการลงทุน เพื่อรับโอกาสการสร้างผลตอบแทนที่สม่ำเสมอ บนความผันผวนที่เหมาะสม จากกลยุทธ์ที่หลากหลายของ BlackRock ผู้บริหารกองทุนหลัก SCBWINA ซึ่งเมื่อประกอบกับสัดส่วนการลงทุนใน KFINFRA-A ซึ่งเป็นกองทุนรวมหุ้นโครงสร้างพื้นฐาน และ TMBGQG กองทุนหุ้นทั่วโลกคุณภาพสูงส่งผลให้ภาพรวมของพอร์ตการลงทุน มีสัดส่วนสินทรัพย์เสี่ยงอย่างหุ้นโดยรวมประมาณ 37% พร้อมด้วยการกระจายการลงทุนที่หลากหลาย และสามารถสร้างกระแสเงินสดได้อย่างสม่ำเสมอ ซึ่งเหมาะสมกับมุมมองการลงทุน และจุดประสงค์หลักของ GIF แล้ว
GAR
แนะนำลดสัดส่วน KFSMART 15% (ทั้งหมด) เพิ่มสัดส่วนการลงทุน SCBWINA 15%
เพื่อรับโอกาสการสร้างผลตอบแทนที่สม่ำเสมอ บนความผันผวนที่เหมาะสม จากกลยุทธ์ที่หลากหลายของ BlackRock ผู้บริหารกองทุนหลัก SCBWINA FINNOMENA Investment Team จึงแนะนำเพิ่มน้ำหนักการลงทุนใน SCBWINA 15% ของพอร์ตการลงทุน เพื่อให้ GAR สามารถสร้างผลตอบแทนได้หมาะสมกับมุมมองการลงทุน และเป้าหมายของพอร์ตการลงทุนที่กำหนดไว้ บนความเสี่ยงที่เหมาะสม
TOP5
แนะนำลดสัดส่วน KFSMART 20% (ทั้งหมด) เพิ่มสัดส่วนการลงทุน KFINFRA-A 20%
FINNOMENA Investment Team แนะนำเพิ่มน้ำหนักการลงทุนในกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานทั่วโลกอย่าง KFINFRA-A ซึ่งมีความผันผวนในระดับที่ต่ำกว่าเมื่อเทียบกับหุ้น แต่มีโอกาสการเติบโตใกล้เคียงกันจากนโยบายการลงทุนที่ยืดหยุ่น สามารถลงทุนได้ทั้งโครงสร้างพื้นฐานแบบเดิม อาทิ หุ้นโรงไฟฟ้า ประปา ทางด่วน และหุ้นโครงสร้างพื้นฐานแบบใหม่ที่สอดคล้องกับ Megatrend อย่างพลังงานสะอาด ซึ่งส่งผลให้ TOP5 ยังคงมีโอกาสสร้างผลตอบแทนใกล้เคียงเป้าหมาย บนความเสี่ยงที่เหมาะสมในอนาคต
คำเตือน
ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลสำคัญของกองทุนโดยเฉพาะนโยบายกองทุน ความเสี่ยง และผลการดำเนินงานของกองทุน โดยสามารถขอข้อมูลจากผู้แนะนำก่อนตัดสินใจลงทุน | ผลการดำเนินงานในอดีต และผลการเปรียบเทียบผลการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์ในตลาดทุน มิได้เป็นสิ่งยืนยันถึงผลการดำเนินงานในอนาคต | ผู้ลงทุนอาจมีความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน เนื่องจากการป้องกันความเสี่ยงขึ้นอยู่กับดุลพินิจของผู้จัดการกองทุน | กองทุนรวมนี้ลงทุนกระจุกตัว ผู้ลงทุนจึงควรพิจารณาการกระจายความเสี่ยงของ พอร์ตการลงทุนโดยรวมของตนเองด้วย | สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมหรือขอรับหนังสือชี้ชวนได้ที่บริษัทหลักทรัพย์นายหน้าซื้อขายหน่วยลงทุน ฟินโนมีนา จำกัด ในช่วงเวลาวันทำการตั้งแต่ 09:00-17:00 น. ที่หมายเลขโทรศัพท์ 02 026 5100 และทาง LINE “@FINNOMENAPORT
คำเตือน
ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลสำคัญของกองทุนโดยเฉพาะนโยบายกองทุน ความเสี่ยง และผลการดำเนินงานของกองทุน โดยสามารถขอข้อมูลจากผู้แนะนำก่อนตัดสินใจลงทุน | ผลการดำเนินงานในอดีตมิได้เป็นสิ่งยืนยันถึงผลการดำเนินงานในอนาคต| ผู้ลงทุนอาจมีความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน เนื่องจากการป้องกันความเสี่ยงขึ้นอยู่กับดุลพินิจของผู้จัดการกองทุน