จากการระบาดของไวรัส COVID-19 ในปี 2020 ที่ผ่านมา เป็นที่แน่ชัดว่า วิกฤตการณ์ครั้งนี้จะเปลี่ยนทิศทางเศรษฐกิจและตลาดหุ้นไปตลอดกาล การแพร่ระบาดครั้งนี้เผยให้เห็นทั้งผู้ได้รับประโยชน์ ผู้เสียประโยชน์ จุดเปลี่ยน และจุดเปราะบางของเศรษฐกิจ
นโยบายกระตุ้นที่อัดฉีดสภาพคล่องสู่ตลาดรวมถึงภาคธุรกิจในปริมาณมหาศาลแบบที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน รวมถึงจุดเปลี่ยนสำคัญที่จะเปลี่ยนแกนหมุนของโลกอีกครั้งจากการเปลี่ยนอำนาจในประเทศสหรัฐอเมริกา
แน่นอนว่าร่องรอยผลกระทบของวิกฤติที่เผชิญในปี 2020 ไม่เพียงจะคงอยู่ต่อไปในปี 2021 แต่ก็จะเป็นจุดเปลี่ยนโฉมหน้าโลกการลงทุนนับจากนี้ไปอีกนาน ซึ่งสิ่งที่เด่นชัดที่สุดมีอยู่ 2 ปัจจัย นั่นคือ
1) การขับเคี่ยวกันระหว่างสหรัฐฯ และจีน แต่จะเปลี่ยนจากสมรภูมิสงครามไปยังสมรภูมิโลกดิจิตอล และ 2) นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจจากทั่วโลกที่อัดฉีดสภาพคล่องปริมาณมหาศาลซึ่งเปลี่ยนโครงสร้างพื้นฐานโลกการเงินไปยังจุดที่ไม่มีใครในประวัติศาสตร์เคยไปมาก่อน
FINNOMENA Investment Team มีความเชื่อว่า มนุษย์เราจะสามารถเรียนรู้ และก้าวผ่านในยามวิกฤติเช่นนี้ได้เหมือนที่เคยเกิดขึ้นในอดีต ทั้งนี้ ในปี 2021 เราจึงยังมีมุมมองเชิงบวกที่เชื่อว่า ปัจจัยแวดล้อมต่างๆจะหนุนทั้งการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและตลาดหุ้นต่อเนื่อง บวกกับการเร่งพัฒนาและใช้เทคโนโลยีมากยิ่งขึ้น ซึ่งส่งผลดีต่อการเติบโตของหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีทั้งโลก โดยเฉพาะสองมหาอำนาจอย่างสหรัฐฯและจีน
อย่างไรก็ตาม เราอยู่ในโลกแห่งความไม่แน่นอน ดังนั้น ในปี 2021 ยังคงมีความเสี่ยงที่สำคัญคือ การแพร่ระบาดที่ทำให้ยังไม่สามารถเปิดเมืองได้อย่างเต็มที่, การบังคับใช้ Antitrust Law ในสหรัฐฯ และจีน รวมไปถึงการเมืองระหว่างประเทศของสองชาติมหาอำนาจ
Our Focus : โลกใหม่ วิถีใหม่
ตลอดประวัติศาสตร์โลกจะพบเหตุการณ์หนึ่งที่เกิดขึ้นเป็นวัฏจักร นั่นคือ การเกิดขึ้น และแผ่อิทธิพลของชาติมหาอำนาจ จากนั้นชาติมหาอำนาจหน้าใหม่ก็เกิดขึ้นมาท้าทายอำนาจเดิม ไล่เรียงตั้งแต่ยุคของชาวดัชต์ ต่อด้วยสหราชอาณาจักร และในปัจจุบันก็เป็นยุคที่มหาอำนาจเดิมอย่างสหรัฐฯ กำลังถูกท้าทายด้วยประเทศจีนที่เป็นยักษ์ใหญ่อันดับสองของโลกจากฝั่งเอเชีย
รูปที่ 1 (ซ้าย) : อัตราส่วนต่อ GDP โลก ปี 2019 | Source : Bloomberg As of 2019
รูปที่ 2 (ขวา) : อัตราส่วน GDP ของจีนและสหรัฐฯ ต่อ GDP โลก และ GDP โลก ปี 1969 – 2019 | Source : Bloomberg As of 2019
สิ่งที่กล่าวสะท้อนผ่านตัวเลข GDP ที่จีนก้าวขึ้นมามีสัดส่วนใน GDP โลกจากประมาณ 5% เมื่อปี 2009 มาที่ 18% ของ GDP โลกในปัจจุบัน นอกจากนี้สัดส่วน GDP ของสหรัฐฯ ต่อ GDP โลกยังลดลงในระยะหลัง ยิ่งบ่งชี้ว่าเรากำลังอยู่ในช่วงที่สองชาติมหาอำนาจเปิดแนวรบกันอย่างชัดเจน
รูปที่ 3 : อันดับของบริษัทที่มี Market Cap มากที่สุด 10 อันดับของโลก | Source : Bloomberg As of 30/11/2020
แน่นอนว่าการก้าวขึ้นมาท้าทายมหาอำนาจเดิมอย่างสหรัฐฯ ของประเทศจีนต้องไม่ได้มาในรูปแบบเดิม เช่น กำลังการทหาร หรืออุตสาหกรรมแบบเก่า แต่ใช้การพัฒนาด้านเทคโนโลยีเพื่อแข่งขันกับสหรัฐฯ และประเทศอื่นที่เป็นผู้นำเทคโนโลยีในแต่ละด้าน
นอกจากนั้นแล้วยังเน้นพัฒนาโครงสร้างรายได้ต่อหัวประชากรให้เพิ่มขึ้นเพื่อให้การเติบโตของเศรษฐกิจสามารถพึ่งพาการขับเคลื่อนจากการบริโภคภายใน ซึ่งแนวโน้มการพัฒนาด้านเทคโนโลยีและเศรษฐกิจสะท้อนผ่านทั้งการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีน และมูลค่าบริษัทที่ใหญ่ที่สุดของโลกใน 10 อันดับแรก ที่ส่วนใหญ่เป็นบริษัทเทคโนโลยีจากฝั่งสหรัฐฯ และจีน
America is Back
การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ นับเป็นเหตุการณ์ที่ตลาดติดตามอย่างใกล้ชิดตลอดปี 2020 ซึ่งนโยบายของผู้ครองตำแหน่งเดิมกับผู้ท้าชิงมีความแตกต่างกันมากพอที่จะกำหนดทิศทางตลาดการเงินตลอดการดำรงตำแหน่งสมัยหน้า และก็เป็นนายโจ ไบเดน ผู้ท้าชิงจากพรรคเดโมเครตที่ชนะการเลือกตั้ง
รูปที่ 4 : Trade Grouping involving Asia Pacific Nations | Source : CNBC As of 30/11/2020
การต่างประเทศแบบ Multilateral จะลดความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯ และจีนทางตรง อีกทั้งยังหนุนประเทศอื่นทั่วโลก เนื่องจากการต่างประเทศรูปแบบดังกล่าวจะเน้นสร้างความร่วมมือ ทำให้ทั้งสหรัฐฯ และจีนต้องเดินเกมส์ข้อตกลงการค้าอย่างเต็มรูปแบบ เช่น ข้อตกลง RCEP และ CPTPP หรืออาจมีข้อตกลงใหม่เกิดขึ้นได้ในอนาคต ซึ่งจะสร้างประโยชน์ต่อการค้าระหว่างประเทศได้ดีกว่านโยบายการต่างประเทศแบบ Bilateral ในยุคของทรัมป์
ด้านนโยบายการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเป็นปัจจัยที่สร้างแรงหนุนให้ทั้งเศรษฐกิจและตลาดการเงินได้อย่างมาก นอกจากนี้ด้วยนโยบายด้านสิ่งแวดล้อม และพลังงานสะอาดของนายโจ ไบเดน ทำให้อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการรักษาสิ่งแวดล้อมก็เป็นอีกภาคส่วนที่ได้รับประโยชน์ จากนโยบายการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานภายใต้ยุคของนายโจ ไบเดนด้วย
รูปที่ 5 : นโยบายหลักของนายโจ ไบเดน ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ | Source : CNBC As of 30/11/2020
อย่างไรก็ตาม ยังมี 2 ปัจจัยหลักที่กดดันตลาดหุ้นในอนาคต นั่นก็คือ นโยบายการปรับขึ้นภาษีนิติบุคคลและผู้มีรายได้สูง และการบังคับใช้ Antitrust Law ซึ่งต่างยังต้องได้รับการเห็นชอบของรัฐสภาสหรัฐฯ ที่อาจแปรเปลี่ยนไปเป็นประเด็นทางการเมืองในประเทศได้ เรามองว่า มีความเสี่ยงต่ำที่นโยบายดังกล่าวจะถูกดันให้ตราเป็นกฎหมายภายในครึ่งปีแรกของปี 2021 เนื่องจากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังจำเป็นต้องได้การสนับสนุนจากมาตรการการคลังและนโยบายการเงินต่อเนื่อง
The Rising Power of China
จากที่กล่าวมาข้างต้นถึงการก้าวขึ้นมาเป็นมหาอำนาจของประเทศจีน แต่การแข่งขันยังดำเนินต่อไปซึ่งนอกจากอำนาจทางการทหารแล้ว ทั้งสองชาติกำลังแข่งขันในด้านเทคโนโลยี 5G และสมรภูมิที่แข่งขันกันมาระยะหนึ่งแล้ว คือ E-commerce รวมไปถึงอุตสาหกรรมพาหนะ EV
รูปที่ 6 : Global E-Commerce Market Share | Source : Fox News As of 30/11/2020
ในตลาด E-commerce นั้นหากพิจารณาจากส่วนแบ่งการตลาดของแต่ละแพลตฟอร์มซื้อขายออนไลน์แล้วพบว่า E-commerce จากประเทศจีนมีส่วนแบ่งการตลาดรวมกันสูงกว่าสหรัฐฯ ซึ่งสอดคล้องกับอัตราการเติบโตของการซื้อขายสินค้าออนไลน์ในประเทศจีน อย่างไรก็ตามก็ยังต้องมีความท้าทายเมื่อบริษัทเหล่านั้นต้องก้าวออกมาขยายตลาดในระดับโลก
รูปที่ 7 : จำนวนสิทธิบัตร 5G ที่กำลังยื่นขอจดทะเบียน และ ได้รับแล้วของบริษัทต่างๆ ทั่วโลก | Source : iPlutics As of 30/09/2020
การแข่งขันด้านเทคโนโลยี 5G เป็นประเด็นหลักของความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ และจีน โดยเป็นทางด้านจีนที่เหนือกว่าสหรัฐฯ โดยมีผู้นำอย่าง Huawei ที่ถือสิทธิบัตรด้าน 5G มากที่สุดและมีจำนวนทิ้งห่างบริษัทจากสหรัฐฯ หลายช่วงตัว ซึ่งที่ผ่านมาสหรัฐฯ พยายามจำกัดการพัฒนาด้วยคำสั่งห้ามทำการค้ากับกลุ่มบริษัทด้าน 5G หรือตอบโต้ประเทศที่เปิดให้บริษัทจากประเทศจีนเข้าไปสร้างโครงข่าย 5G ดังนั้นไม่ว่าใครจะก้าวขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ ประเด็น 5G ก็ยังเป็นสิ่งสำคัญที่สุด เพียงแต่อาจเปลี่ยนรูปแบบการแข่งขันกับประเทศจีนเท่านั้น
สำหรับอุตสาหกรรม EV ซึ่งกำลังเป็นอีกเทคโนโลยีแห่งอนาคต ก็เป็นอุตสาหกรรมที่สหรัฐฯ เป็นผู้นำมาโดยตลอดด้วยบริษัท Tesla อย่างไรก็ตามประเทศจีนใช้แนวทางการเปิดประเทศให้ Tesla เข้ามาตั้งโรงงานผลิตเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมดังกล่าวในประเทศ และเริ่มเห็นพัฒนาการผ่านบริษัท EV สัญชาติจีนที่เริ่มมีศักยภาพในการแข่งขัน เช่น บริษัท Nio, Li Auto และ Xpeng
รูปที่ 8 : Share of Urban Households in China, by Household disposable income | Source : Mckinsey Research As of 30/11/2020
อย่างไรก็ตาม ประเทศจีนจะก้าวขึ้นมามีอิทธิพลอย่างในปัจจุบันไม่ได้ หากการขยายตัวทางเศรษฐกิจยังต้องพึ่งพาจากภายนอกประเทศเป็นหลัก ดังนั้น จากเดิมที่จีนใช้นโยบายเปิดเสรีทางเศรษฐกิจมากขึ้นนับตั้งแต่ทศวรรษที่ 90 เพื่อเพิ่มการขยายตัวทางเศรษฐกิจโดยอาศัยประโยชน์จากค่าแรงงานที่ต่ำ จึงปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์การเติบโต โดยเน้นที่การเพิ่มรายได้ของชนชั้นกลางและการขยายตัวของเมือง สะท้อนผ่านสัดส่วนชนชั้นกลางและชนชั้นกลางถึงสูงที่เพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนตลอดทศวรรษที่ผ่านมา
ซึ่งในวิกฤติการระบาดของโควิด-19 เราก็เห็นชัดเจนแล้วว่า จีนสามารถรอดออกจากภาวะเศรษฐกิจถดถอยได้เป็นประเทศแรกของโลก ทั้งนี้ ก็เพราะความสามารถในการจัดระเบียบ และปรับยุทธศาสตร์ที่เน้นการเติบโตจากภายในมากขึ้นนั่นเอง
รูปที่ 9 : คาดการณ์ดุลการคลัง และ GDP 2021 ทั่วโลก | Source : OECD As of 30/11/2020
ในระยะสั้นผลกระทบของการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทำให้หลายประเทศต้องใช้มาตรการการเงินและมาตรการการคลังเพิ่มมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐฯ ยุโรป สหราชอาณาจักร รวมไปถึงจีนและอินเดีย นอกจากนี้นักวิเคราะห์คาดว่าทุกประเทศจะยังใช้การขาดดุลงบประมาณเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านมาตรการการคลังต่อไปในปี 2021 ด้วย
2021 : Investment Theme
จากมุมมองที่กล่าวมาข้างต้นทำให้ FINNOMENA Investment Team กำหนดมุมมองการลงทุนสำหรับปี 2021 ภายใต้ 5 หัวข้อหลัก ดังนี้
True Leaders create more Leaders
การแข่งขันกันเป็นผู้นำของโลกส่งผลให้การพัฒนาเทคโนโลยีดำเนินไปอย่างรวดเร็ว ทำให้โลกการลงทุนมุ่งเน้นไปยังกลุ่มหุ้นเทคโนโลยีทั้งจากสหรัฐฯ และจีน ที่ต่างขับเคี่ยวกันเพื่อเป็นผู้นำในแต่ละด้าน FINNOMENA Investment Team จึงเปรียบเทียบระดับ Valuation ด้วยอัตราส่วน Forward P/E เชิงสัมพัทธ์ของกลุ่ม FANGMAN (สหรัฐฯ) และ BAT (จีน) พบว่าต่างมี Valuation เชิงสัมพัทธ์เคลื่อนไหวในระดับเดิมนับตั้งแต่การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส สะท้อนว่าทั้งสองฝั่งต่างมีโอกาสเติบโตได้ในอนาคต มิฉะนั้นแล้วอาจมีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งที่ระดับมูลค่าสูงกว่าเมื่อเทียบกับระดับในอดีต
Power of Double “J”
ตลอดปี 2020 ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) เพิ่มสภาพคล่องเข้าระบบการเงินมาโดยตลอดจน Balance sheet เพิ่มขึ้นประมาณ 3.5 ล้านล้านดอลลาร์ ภายในเวลาไม่ถึงปี โดยการเพิ่มขนาด Balance sheet ในปริมาณเดียวกันที่เคยเกิดขึ้นหลังปี 2008 ต้องใช้เวลาถึง 5 ปี ไม่เพียงแต่สหรัฐฯ แต่ยุโรปและญี่ปุ่นก็เพิ่มสภาพคล่องเข้าระบบเช่นเดียวกัน
ผลทั้งหมดนี้จึงสะท้อนผ่านขนาด Balance sheet ของกลุ่มประเทศ G4 ที่เพิ่มขึ้นราว 8 ล้านล้านดอลลาร์ และสภาพคล่องดังกล่าวได้ไปหนุนสินทรัพย์การเงินทุกชนิดให้ปรับตัวขึ้นในเวลาอันรวดเร็ว นอกจากนั้นตลาดยังคาดว่าธนาคารกลางยังเพิ่มสภาพคล่องเข้าระบบอย่างต่อเนื่องในปี 2021
รูปที่ 10 : G4 Central Balance Sheet & MSCI Trailing 12 Months P/E | Source : Bloomberg As of 30/11/2020
การเข้าดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังสหรัฐฯ ของนางเจเน็ต เยลเลน โดยนางเยลเลนเคยดำรงตำแหน่งประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) และมีท่าทีผ่อนคลายต่อการดำเนินนโยบายการเงิน (Dovish) ทำให้ตลาดคาดว่าจะมีมาตรการกระตุ้นขนาดใหญ่ถูกนำมาใช้ รวมทั้งการทำงานระหว่างกระทรวงการคลังและธนาคารกลางสหรัฐฯ จะประสานกันอย่างลงตัวมากกว่าสมัยประธานาธิบดีทรัมป์
Return of Globalization
จากรูปจะเห็นได้อย่างชัดเจนว่าระหว่างปี 2018 ถึง 2019 ที่เกิดการกีดกันทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน ที่เรียกว่า Trade War ปริมาณการค้าระหว่างประเทศทั่วโลกไม่มีการเติบโตอย่างชัดเจน สะท้อนผลเสียของการปรับขึ้นภาษีสินค้านำเข้ารวมไปถึงบรรยากาศการค้าระหว่างประเทศที่ซบเซา
ประกอบกับผลกระทบของ COVID-19 ต่อเศรษฐกิจโลก ทำให้ FINNOMENA Investment Team มีมุมมองว่าทั่วโลกจะกลับไปสู่ภาวะ Globalization แต่ความขัดแย้งประเด็นการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนยังคงดำเนินต่อไป เพียงแต่อาจเปลี่ยนรูปแบบมาเป็น Multilateral ผ่านการทำข้อตกลงการค้ากับภูมิภาคต่างๆ
Always Comeback
ทั้งสองประเทศมหาอำนาจมีลักษณะเฉพาะบางอย่างที่น่าสนใจ นั่นคือไม่ว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะชะลอตัวอย่างไร ตลาดหุ้นก็ยังปรับตัวขึ้นได้เสมอเพราะภาคส่วนที่มีอิทธิพลต่อเศรษฐกิจ (ตัวเลข GDP) และตลาดหุ้นนั้นแตกต่างกันอย่างชัดเจน อีกทั้งสภาพคล่องที่เพิ่มเข้ามาโดย Fed ก็เป็นอีกปัจจัยที่ช่วยหนุนตลาดหุ้น
ด้านประเทศจีนภาคส่วนที่มีอิทธิพลต่อเศรษฐกิจและตลาดหุ้นมีความสอดคล้องกัน ดังนั้นจะเห็นว่าตลาดหุ้นจีนสามารถปรับตัวลงจนเป็นแนวโน้มขาลงได้ แม้จะสวนทางกับภาพรวมเศรษฐกิจ แต่ก็มีความสอดคล้องกันดังนี้ นั่นคือแม้เศรษฐกิจจะขยายตัวแต่เมื่อใดที่มีปัจจัยภายนอกเข้ามากดดันให้อัตราการขยายตัวลดลง เมื่อนั้นตลาดหุ้นก็จะรับข่าวและปรับตัวลง และเมื่อมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจนฟื้นตัว ตลาดหุ้นก็จะรับข่าวปรับตัวขึ้นในที่สุด แต่ในระยะยาว (2-3 ปี) ตลาดหุ้นของทั้งสองประเทศต่างมีภาพรวมเป็นแนวโน้มขาขึ้น จากปัจจัยที่กล่าวมาในช่วงต้นของบทความนี้
Sustainable Growth
การแพร่ระบาดของ COVID-19 นอกจากจะเปิดเผยจุดเปราะบางของระบบเศรษฐกิจแล้ว ยังปลุกกระแสการลงทุนอย่างยั่งยืนซึ่งที่ผ่านมาก็มีเม็ดเงินลงทุนไหลเข้ามาในสินทรัพย์ประเภท ESG แล้วประมาณ 31 ล้านล้านดอลลาร์ กระแสการลงทุนลักษณะนี้เพิ่มขึ้นในเดือนพฤศจิกายนหลังนายโจ ไบเดน ชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ทำให้มีเม็ดเงินเข้าลงทุนในกองทุน ESG ETF จนทำให้เม็ดเงินสุทธิในปี 2020 สูงกว่าปี 2019 แล้วกว่า 2 เท่า
ด้วยกระแสการลงทุนและการบังคับใช้กฎเกณฑ์ ESG ของหน่วยงานกำกับดูแลในประเทศเศรษฐกิจที่สำคัญ FINNOMENA Investment Team มีมุมมองว่าการลงทุนในแบบ ESG จะมีบทบาทมากขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะกลุ่มพลังงานสะอาดที่ตอบรับผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ
2021 : Main Risk Factor
ขณะที่ความเสี่ยงในปี 2021 นั้น หลักๆ มาจาก 2 ด้านหลักๆ ด้วยกันคือความเสี่ยงจากปัจจัยด้าน COVID-19 และความเสี่ยงจากปัจจัยด้านการเมือง
รูปที่ 11 : Global Retail Mobility vs Global GDP | Source : Bridgewater As of 30/11/2020
โดยในกรณีของปัจจัยด้าน COVID-19 แบ่งย่อยได้เป็น 2 ด้าน คือความหวังด้านพัฒนาการของวัคซีนที่รุดหน้าไปอย่างรวดเร็ว ซึ่งนับว่าเป็นข่าวที่ดี ต่อเศรษฐกิจ ที่ช่วยให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจต่างๆ สามารถกลับมาดำเนินได้ใกล้เคียงระดับปรกติมากขึ้นอีกครั้ง
อย่างไรก็ตาม ความคาดหวังในการนำวัคซีนมาใช้นั้นสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้หากมีรายงานผลข้างเคียง หรือการชะลอการใช้เชิงพาณิชย์ออกไป อาจทำให้ความคาดหวังดังกล่าวกลายเป็นปัจจัยสำคัญที่สร้างแรงกดดันต่อภาวะการลงทุนได้ นอกจากนั้นแล้วการแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่ยังไม่ถูกขจัดไปอย่างหมดสิ้น และวัคซีนเองยังไม่สามารถนำมาใช้ในเชิงพาณิชย์ได้อย่างเต็มรูปแบบ ส่งผลให้เศรษฐกิจยากที่จะขยายตัวขึ้นสู่ระดับปรกติได้
รูปที่ 12 (ซ้าย) : Joe Biden & Xi Jin Ping | Source : The Indian Express
รูปที่ 13 (ขวา) : Big Tech & Anti Trust Law | Source : Wall Street Journal As of 30/11/2020
ขณะที่ในด้านการเมืองนั้นประกอบไปด้วย 2 ด้านเช่นเดียวกัน โดยเป็นผลมาชัยชนะของนายโจ ไบเดนต่อการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงนโยบายทั้งใน และระหว่างประเทศ
ในด้านของภายในประเทศนั้น ยังคงต้องจับตาถึงท่าทีของนายโจ ไบเดนต่อการปรับขึ้นภาษีนิติบุคคล ที่จะส่งผลต่อกำไรของบริษัทจดทะเบียนในสหรัฐฯ อย่างมีนัยสำคัญ และ ท่าทีต่อการบังคับใช้กฏหมายต่อต้านการผูกขาด (Antitrust Law) ต่อบริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่ อาทิ Facebook, Amazon, Apple หรือ Google ว่าจะสามารถนำมาปฏิบัติจริงมากน้อยเพียงใด
โดยมีจุดสำคัญก็คือผลการเลือกตั้งซ่อมของวุฒิสมาชิกในรัฐจอร์เจียว่าผลการเลือกตั้งจะเป็นเช่นไร หากพรรคเดโมแครตของนายโจ ไบเดนเป็นผู้ชนะ จะส่งผลให้การผ่านร่างกฎหมายเพื่อดำเนินนโยบายนั้นเป็นไปอย่างง่ายกว่าที่จะเป็น Split Congress ดังเช่นปัจจุบันที่ถูกคาดการณ์เอาไว้
ขณะที่ในแง่ของการเมืองระหว่างประเทศนั้น หนึ่งในนโยบายหลักของเขานั้นยังคงเป็นการสร้างข้อต่อรองกับประเทศจีน ซึ่งเป็นคู่แข่งสำคัญผ่านทางการสร้างความร่วมมือแบบ Multilateral เพื่อกดดันจีนทางอ้อม โดยเฉพาะอย่างยิ่งพันธมิตรของจีนเอง เพื่อคานอำนาจของจีนในระยะยาว ซึ่งอาจนำไปสู่ความตึงเครียดได้เป็นระยะ และสร้างแรงกดดันต่อภาวะการลงทุนได้ แม้นายโจ ไบเดนจะมีภาพลักษณ์ที่ประนีประนอมกว่านายโดนัลด์ ทรัมป์ประธานาธิบดีคนปัจจุบันก็ตาม
Asset Rating & Strategy
Positive
- ตลาดหุ้นทั่วโลกมีแนวโน้มฟื้นตัวได้ดี จากมาตรการการเงินและการคลังจำนวนมากที่ถูกผลักดันออกมา ส่งผลให้ตลาดคาดว่ากำไรบริษัทจดทะเบียนต่างๆ ทั่วโลก จะมีแนวโน้มฟื้นตัว หรือ สูงกว่าระดับก่อนเกิดการแพร่ระบาดของ COVID-19 อีกครั้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งสหรัฐฯ และภูมิภาคเอเชียต่างเป็นมีสภาพเศรษฐกิจ นโยบายการเงินและการคลัง พร้อมอัตราการเติบโตที่เหนือกว่าภูมิภาคอื่น เมื่อเจาะลึกลงไปในภูมิภาคเอเชียก็พบว่าประเทศจีนมีความโดดเด่น และมีอิทธิพลในภูมิภาคเอเชีย
Revised Up
- สอดคล้องไปในทิศทางเดียวกันกับตราสารหนี้ภาคเอกชนที่มีเสถียรภาพมากขึ้น ส่งผลให้เม็ดเงินลงทุนมีแนวโน้มช่วยหนุนสินทรัพย์ดังกล่าว
Stable
- หลังผ่านช่วงการแพร่ระบาดหนักไปแล้ว เศรษฐกิจโลกเริ่มฟื้นตัวพร้อมข่าวการพัฒนาวัคซีน จึงหนุนให้กลุ่ม Emerging Market ฟื้นตัวเมื่อเทียบกับช่วงกลางปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม สภาพทางการเงินและเศรษฐกิจยังมีความเสี่ยงโดยเฉพาะภาระหนี้สิน จึงยังต้องติดตาม
Revised Down & Negative
- ภาวะ Risk On ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตมีแนวโน้มสร้างแรงกดดันต่อพันธบัตรรัฐบาล เมื่อประกอบกับ Upside ที่จำกัดจากแนวโน้มการลดอัตราดอกเบี้ยที่เป็นไปได้ต่ำ จึงมีมุมมองเชิงลบ
- ขณะที่แม้เศรษฐกิจจะฟื้นตัวขึ้นในช่วงปี 2021 แต่ความไม่ลงรอยกันภายในกลุ่ม OPEC Plus อาจสร้างแรงกดดันต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันได้ เมื่อประกอบกับแนวโน้มการหนุนพลังงานสะอาดของจีนและสหรัฐฯ ซึ่งเป็น 2 ประเทศที่บริโภคน้ำมันมากที่สุดในโลก จึงมีมุมมองเชิงลบต่อราคาน้ำมัน
- ทั้งยุโรปและญี่ปุ่นต่างฟื้นตัวด้วยนโยบายการเงินและการคลัง แต่ด้วยอัตราที่ช้ากว่าภูมิภาคอื่น นอกจากนั้นแล้วยังมีกลุ่มอุตสาหกรรมที่เป็นผู้นำโลกในดัชนีตลาดหุ้นต่ำ จึงเป็นอีกเหตุผลที่การขยายตัวทางเศรษฐกิจน่าสนใจน้อยกว่าภูมิภาคอื่น
FINNOMENA Recommended
GAR (Global Absolute Return)
FINNOMENA Investment Team ยังคงแนะนำคงน้ำหนักการลงทุนเดิม เพื่อรับโอกาสสร้างผลตอบแทนด้วยกลุ่มหุ้นผู้นำอย่างสหรัฐฯ และจีนที่เราให้ความสำคัญเป็นหลักในฐานะของ 2 ประเทศที่มีอิทธิพลเหนือตลาดการเงินทั่วโลก และมีศักยภาพในการกระตุ้นเศรษฐกิจในระดับสูง ทั้งในกลุ่มหุ้นเทคโนโลยีที่มีโอกาสเติบโตในระยะยาว และ หุ้นกลุ่ม Cyclical ที่มีโอกาสสร้างผลตอบแทนที่ดีในระยะสั้น ควบคู่ไปกับการควบคุมความเสี่ยงผ่านทางการกระจายการลงทุนในสินทรัพย์ปลอดภัยอย่างทองคำและตราสารหนี้ รวมไปถึงกระจายความเสี่ยงด้วยแนวการลงทุนแบบ Yield Play ผ่าน REITs ไทยที่ยังให้อัตราการปันผลมากกว่าค่าเฉลี่ยในระยะยาว
GIF (Global Income Focus)
FINNOMENA Investment Team ยังคงแนะนำคงน้ำหนักการลงทุนเดิม เพื่อรับโอกาสสร้างผลตอบแทนด้วยกลุ่มหุ้นผู้นำอย่างสหรัฐฯ ควบคู่ไปกับการควบคุมความเสี่ยงผ่านทางการกระจายการลงทุนในสินทรัพย์ปลอดภัยอย่างตราสารหนี้ พร้อมทั้งความสามารถในการสร้างกระแสเงินสดที่สม่ำเสมอจากการจ่าย Auto Redemption และการจ่ายปันผล ในแต่ละกองทุน
GCP (Global Conservative Port)
FINNOMENA Investment Team ยังคงแนะนำคงน้ำหนักการลงทุนเดิม โดยเน้นหนักไปที่สินทรัพย์ปลอดภัยจำนวน 70% ของพอร์ตการลงทุน คู่กับการลงทุนในหุ้นทั่วโลกคุณภาพดี 10% และหุ้นในกลุ่ม New Economy จีน เพื่อรับโอกาสสร้างผลตอบแทนได้ใกล้เคียงระดับเป้าหมาย 3-5% ต่อปีในระยะยาว ด้วยความผันผวนในระดับที่ต่ำ
TOP5
FINNOMENA Investment Team ยังคงแนะนำคงน้ำหนักการลงทุนเดิม เพื่อรับโอกาสสร้างผลตอบแทนด้วยกลุ่มหุ้นผู้นำอย่างสหรัฐฯ และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีน ควบคู่ไปกับการควบคุมความเสี่ยงผ่านทางการกระจายการลงทุนในสินทรัพย์ปลอดภัยอย่างทองคำ
FINNOMENA Goal Portfolio
FINNOMENA Investment Team ยังคงแนะนำคงน้ำหนักการลงทุนเดิม สำหรับพอร์ต Goal โดยเน้นหลักการกระจายการลงทุนทั้งในแง่ของสินทรัพย์ และในแง่ของระยะเวลาด้วยกลยุทธ์การลงทุนแบบ DCA เพื่อเน้นการสะสมมูลค่า สร้างเงินลงทุนให้เติบโตในระยะยาวต่อไป
FINNOMENA Investment Team
คำเตือน
ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลสำคัญของกองทุนโดยเฉพาะนโยบายกองทุน ความเสี่ยง และผลการดำเนินงานของกองทุน โดยสามารถขอข้อมูลจากผู้แนะนำก่อนตัดสินใจลงทุน | ผลการดำเนินงานในอดีต และผลการเปรียบเทียบผลการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์ในตลาดทุน มิได้เป็นสิ่งยืนยันถึงผลการดำเนินงานในอนาคต | ผู้ลงทุนอาจมีความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน เนื่องจากการป้องกันความเสี่ยงขึ้นอยู่กับดุลพินิจของผู้จัดการกองทุน