มุมมองการลงทุนและคำแนะนำพอร์ต (พ.ค. 2561)

เดือนเมษายนที่ผ่านมานับว่าเป็นเดือนที่ความผันผวนเริ่มกลับมาต่ำลง เนื่องจากนักลงทุนรอผลประกอบการในไตรมาสที่ 1 ที่ทยอยประกาศออกมา โดยเฉพาะในฝั่งสหรัฐฯ ซึ่งบ่งชี้ถึงเศรษฐกิจโลกว่ายังเติบโตได้ตามเป้าหมายหรือไม่ สามารถอ่านบทความของเดือนเมษายน 2561 ได้ที่ Buy on Dip 

FINNOMENA Investment Team มีมุมมองว่าเศรษฐกิจโลกยังเติบโตได้ต่อไปในปีนี้ ทำให้สินทรัพย์ประเภทตราสารทุนยังคงมีแนวโน้มให้ผลตอบแทนที่ดี FINNOMENA Investment Team จึงแนะนำให้น้ำหนักการลงทุนในตราสารทุนเหนือตราสารหนี้ อย่างไรก็ตาม มูลค่าของหุ้นในบางประเทศเริ่มมีระดับที่ค่อนข้างสูง ทำให้อาจมีความเสี่ยงต่อการปรับฐานได้ในกรณีที่ตัวเลขเศรษฐกิจหรือผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนออกมาน่าผิดหวัง จึงต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด (ดูมุมมองรายปี FINNOMENA Outlook 2018 : Playing Extra Time)

1. ผลตอบแทนของแต่ละสินทรัพย์ใน 4 เดือนแรก

ในด้านสินทรัพย์ต่างๆ ตั้งแต่ต้นปี Global REITs ยังคงถูกกดดันจากภาวะดอกเบี้ยขาขึ้น ขณะที่ตลาดตราสารหนี้เริ่มฟื้นตัวจากอัตราผลตอบแทนของตราสารหนี้ลดลง ตลาดหุ้นทั่วโลกในเดือนที่ผ่านมายังคงเคลื่อนไหวในกรอบ หลังเหตุการณ์ตึงเครียดระหว่างประเทศสหรัฐฯ และซีเรีย และประเด็นสงครามการค้าเริ่มคลี่คลาย หุ้นจีนปรับตัวลงแรง จากความกังวลทางการค้าและสภาพคล่องในประเทศตึงตัวในช่วงเดือนที่ผ่านมา กลุ่มสินค้าโภคภัณฑ์เช่น น้ำมัน และทองคำ และโลหะหลายชนิดยังมีการฟื้นตัวขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง ในเดือนที่ผ่านมา SET ยังคงเคลื่อนไหวในกรอบที่ระดับ 1750-1800 จุด

รูปที่ 1 ผลตอบแทนของสินทรัพย์ชนิดต่างๆ ตั้งแต่ต้นปี ณ วันที่ 27 เม.ย. 61 : ที่มา Bloomberg

2. ตราสารหนี้สหรัฐฯ ยีลด์พุ่ง

บอนด์ยีลด์สหรัฐฯ พุ่งทะลุ 3% ซึ่งเป็นครั้งแรกในรอบกว่า 4 ปี นับตั้งแต่เดือนมกราคม 2557 จากการที่นักลงทุนคาดว่าเฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเร็วกว่าที่คาดไว้ จากการเปิดเผยตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ดีกว่าคาดเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งบ่งชี้ถึงเงินเฟ้อที่พุ่งขึ้น

รูปที่ 2 อัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ อายุ 10 ปี : ที่มา Bloomberg

3. สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีนเริ่มคลี่คลาย

ก่อนหน้านี้สหรัฐฯ กับจีนมีการประกาศจะตั้งกำแพงภาษีสินค้านำเข้าจากคู่ค้าทั้งสอง เพื่อตอบโต้กันไปมา ท้ายสุดจีนแสดงความต้องการในการเจรจา โดยทางประธานาธิบดีสีจิ้นผิงได้แถลงว่าพร้อมเปิดกว้างเศรษฐกิจจีนให้กับนานาประเทศสามารถเข้าถึงได้ง่ายขึ้น ผ่านการปรับลดภาษีนำเข้าสินค้ากลุ่มยานพาหนะและกลุ่มอื่นๆ รวมถึงเพิ่มมาตรการปกป้องสินทรัพย์ทางปัญญาของต่างประเทศให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น และกระตุ้นการลงทุนจากต่างชาติเข้าสู่ประเทศ

รูปที่ 3 สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน : ที่มา CNBC

4. ราคาน้ำมันปรับตัวขึ้นแรง

เกิดจาก Saudi Arabia ให้เป้าราคาน้ำมันไว้ที่ $80 จากความร่วมมือการลดกำลังการผลิตน้ำมันโดยกลุ่ม OPEC และ Non-OPEC รวมถึงเพื่อเป็นการสนับสนุนมูลค่า IPO ของ Aramco ด้วย โดยเจ้าชาย Bin Salman กล่าวว่าราคาน้ำมันมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นตลอดทั้งปีและปี 2019 ซึ่ง Aramco มีแผนที่จะ IPO ในปีหน้าแทนครึ่งหลังปีนี้ ปัจจัยดังกล่าวทำให้ราคาน้ำมันปรับตัวขึ้นตั้งแต่ต้นปีถึงประมาณ 12%

รูปที่ 4 ปัจจัยบวกตั้งแต่ต้นปีส่งผลให้น้ำมันปรับตัวเพิ่มขึ้น : ที่มา Bloomberg

5. เศรษฐกิจสหรัฐฯ ฟื้นตัวต่อเนื่อง

โดยปัจจัยเชิงบวกด้านนโยบายการปฏิรูปภาษี และผลประกอบการไตรมาส 1/2561 ประกาศออกมาน่าพอใจ ส่งผลให้ FINNOMENA Investment Team เริ่มมีมุมมองเชิงบวกต่อหุ้นสหรัฐฯ มากขึ้น อย่างไรก็ตาม ยังคงมีความเสี่ยงทางด้านเงินเฟ้อและความเสี่ยงด้านสงครามการค้ากับหลายๆ ประเทศที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด

รูปที่ 5 ผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนสหรัฐฯ เทียบกับการประมาณการ : ที่มา Bloomberg

6. ผลประกอบการไตรมาส 1 ของสหรัฐฯ เติบโตได้ดีตามตลาดคาด

เพราะได้รับแรงสนับสนุนมาจากการปฏิรูปภาษีเมื่อปลายปีที่แล้ว โดยบริษัทจดทะเบียนในกลุ่มอุตสาหกรรม Oil & Gas มีผลประกอบการที่โดดเด่นที่สุดรวมถึงกลุ่ม Financials และ Technology

รูปที่ 6 ผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนสหรัฐฯ เทียบกับการประมาณการ : ที่มา Bloomberg

7. เศรษฐกิจจีนชะลอตัว

ตัวเลขส่งออกและดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อและบริการในเดือน มี.ค. หดตัวลง โดยคาดว่าเกิดจากการเดินหน้าปฏิรูปเศรษฐกิจต่อเนื่องทั้งภาคการผลิตและภาคการเงิน รวมถึงความเข้มงวดในภาคอสังหาริมทรัพย์ที่เพิ่มขึ้น ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจจีนมีเสถียรภาพขึ้นในระยะยาว

รูปที่ 7 ตัวเลขเศรษฐกิจจีน: ที่มา Bloomberg, Caixin, และ IHS Markit

ทั้งนี้ ล่าสุดจีนมีการประกาศลดอัตราเงินสำรองทางกฎหมาย (RRR) 1% โดย RRR สำหรับธนาคารขนาดใหญ่ลดจาก 17% เป็น 16% ส่วน RRR สำหรับธนาคารขนาดเล็กลดจาก 15% เป็น 14% โดยจะมีผลตั้งแต่วันที่ 25 เม.ย.นี้ เพื่อเสริมสภาพคล่อง และเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ เหตุการณ์นี้ทำให้อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ยืมระหว่างธนาคาร (SHIBOR) ลดลง ส่งสัญญาณถึงสภาพคล่องที่เพิ่มขึ้น

รูปที่ 8 อัตราเงินสำรอง และ อัตราดอกเบี้ยระหว่างธนาคาร  (SHIBOR) : ที่มา CNN, FINNOMENA, INFINITI

8. เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มชะลอตัวระยะสั้น แต่ฟื้นตัวระยะกลาง

การชะลอตัวนั้นส่วนใหญ่มาจากกลุ่มการท่องเที่ยวและส่งออก ขณะที่ กนง. มีมติคงดอกเบี้ยนโยบายที่ 1.5% หลังจากเงินเฟ้อยังอยู่ในระยะต่ำ พร้อมปรับประมาณการเศรษฐกิจไทยปีนี้จากเดิมคาดการณ์โต 3.9% YoY เป็น 4.1% YoY

รูปที่ 9 ตัวเลขเศรษฐกิจไทย: ที่มา BOT, NESDB, FTI, MOC, Nikkei, IHS, Markit, Department of Tourism, Ministry of Tourism & Sport

9. ผลประกอบการไตรมาส 1 ของหุ้นกลุ่มธนาคารไทย ดีกว่าที่นักวิเคราะห์คาด

ธนาคารหลักๆ มีการเพิ่มขึ้นทั้งรายได้ทั้งจากดอกเบี้ยและจากค่าธรรมเนียมและบริการเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีที่แล้ว ปัจจัยดังกล่าวเป็นสัญญาณเชิงบวกในระยะกลางต่อภาพรวมเศรษฐกิจของไทย

รูปที่ 10 ผลประกอบการหุ้นกลุ่มธนาคารไทย เทียบกับการประมาณการ: ที่มา : Bloomberg, FINNOMENA, INFINITI

10. เศรษฐกิจยุโรปฟื้นตัวต่อเนื่อง

ตัวเลข PMI เดือนมีนาคม ย่อตัวลงจากเดือนก่อนหน้า ซึ่งคาดว่าเป็นการชะลอตัวระยะสั้นเนื่องจากตัวเลข PMI เบื้องต้นประจำเดือนเมษายนกลับมาขยายตัวอีกครั้ง และดีกว่าที่ตลาดคาด ซึ่งทำให้ตลาดหุ้นยุโรปฟื้นตัวต่อเนื่องในช่วงปลายเดือนที่ผ่านมา

รูปที่ 11  ตัวเลขเศรษฐกิจยุโรป: ที่มา Bloomberg และ IHS Markit

11. ราคาทองคำปรับตัวลง

ราคายังคงอยู่ในกรอบบริเวณ $1,320-$1,350 จากค่าเงินดอลลาร์กลับมาแข็งค่า FINNOMENA Investment Team ยังคงคำแนะนำให้ลงทุนทองคำตามสัดส่วนของพอร์ตที่ 20% เพื่อกระจายความเสี่ยงในการลงทุน

รูปที่ 12 กราฟราคาทองคำและดัชนีค่าเงินดอลลาร์ ถึงวันที่ 27 เม.ย. 2560: ที่มา Bloomberg

คำแนะนำพอร์ตการลงทุน

Global Absolute Return Portfolio (GAR)

คำแนะนำพอร์ตการลงทุนแบบ Global Absolute Return Portfolio ของ FINNOMENA ซึ่งเป็นคำแนะนำการลงทุนแบบ Absolute Return ซึ่งมีความยืดหยุ่นต่อการปรับเปลี่ยนพอร์ตตามมุมมองภาวะตลาด มีเป้าหมายผลตอบแทนการลงทุนต่อปีประมาณ 8 – 10% ซึ่งต่ำกว่าผลตอบแทนระยะยาวของตลาดหุ้นเล็กน้อย และมีเป้าหมายความผันผวนของพอร์ตในระดับที่ต่ำกว่าตลาดหุ้นจากการกระจายการลงทุน โดยกลยุทธ์นี้จะพยายามลดความเสี่ยงอย่างมีนัยสำคัญในยามที่พื้นฐานการลงทุนไม่ดี ทั้งนี้สำหรับเดือนพฤษภาคม 2018 FINNOMENA Investment Team แนะนำสัดส่วนการจัดพอร์ตดังนี้

รูปที่ 13 Global Absolute Return Portfolio Model เดือน พ.ค. 61: ที่มา FINNOMENA

เดือนนี้ FINNOMENA Investment Team แนะนำคงสัดส่วนการจัดพอร์ตโดยคงสัดส่วนการลงทุนในหุ้น 50% นำไปพักในกองทุนรวมตราสารหนี้ระยะสั้น 30% และลงทุนในทอง 20%

Global Income Focus Portfolio (GIF)

“Global Income Focus Model (GIF)” คือ โมเดลการลงทุนที่ออกแบบมาสำหรับนักลงทุนที่ต้องการกระแสเงินสดระหว่างทาง โดย FINNOMENA ตั้งใจสร้างโมเดลด้วยการผสมสินทรัพย์การลงทุนที่หลากหลาย เพื่อลดความผันผวน และสร้างผลตอบแทนสม่ำเสมอเป็นระยะเวลายาวนาน โดยตั้งเป้าหมายจ่ายกระแสเงินสดได้ปีละ 4-5% ต่อปี และคาดหวัง Total Return ไว้ที่ 6-7% ต่อปี (Total Return คือ ผลตอบแทนจากกระแสเงินสด + ส่วนต่างราคาซื้อขาย)

รูปที่ 14 Global Income Focus Portfolio Model เดือน พ.ค. 61: ที่มา FINNOMENA

เดือนนี้ FINNOMENA Investment Team แนะนำคงสัดส่วนการจัดพอร์ตโดยคงสัดส่วนการลงทุนในสินทรัพย์กลุ่มประเทศเอเชีย 45% ตราสารหนี้โลก 15% หุ้นปันผลไทย 30% และหุ้นโครงสร้างพื้นฐานต่างประเทศ 10%

Global Conservative Portfolio (GCP)

“Global Conservative Portfolio (GCP)” เน้นการลงทุนแบบเชิงรับ เป้าหมายของการจัดพอร์ตคือ ชนะดอกเบี้ยเงินฝาก และชนะเงินเฟ้อในระยะยาว ถูกออกแบบมาสำหรับนักลงทุนที่ต้องการลงทุนในกองทุนรวมโดยเน้นลงทุนในกองทุนรวมที่มีความเสี่ยงต่ำเป็นส่วนใหญ่ เหมาะสำหรับนักลงทุนที่ไม่สามารถยอมรับความเสี่ยงได้ โดยใช้การลงทุนในกองทุนรวมในแต่ละช่วงเวลา กำหนดกรอบนโยบายชัดเจนว่า จะลงทุนในตราสารทุน หรือ หุ้น ในสัดส่วนไม่เกิน 30% ของพอร์ตโดยรวม และจะกำหนดสินทรัพย์เพื่อการลงทุนไว้ 5 ประเภทสินทรัพย์ด้วยกันคือ ตราสารหนี้ไทย ตราสารหนี้โลก หุ้นไทย หุ้นโลก และกองทุนรวมอสังหาฯ หรือ REITs

รูปที่ 15 Global Conservative Portfolio Model เดือน พ.ค. 61: ที่มา FINNOMENA

เดือนนี้ FINNOMENA Investment Team แนะนำคงสัดส่วนการจัดพอร์ตโดยคงสัดส่วนการลงทุนในตราสารหนี้ไทยระยะสั้น 50% ตราสารหนี้โลก 15% หุ้นกลุ่มประเทศเกิดใหม่ 15% หุ้นไทยที่เสี่ยงต่ำ 10% และกองทุนอสังหาฯ หรือ REITs 10%

FINNOMENA TOP5

“FINNOMENA TOP5” เป็นพอร์ตที่เหมาะสำหรับนักลงทุนที่รับความเสี่ยงได้สูงมาก มีความรู้ ความเข้าใจในตลาดทุน สามารถรับความผันผวนสูงได้ รับการปรับพอร์ตแบบฉับไวและการตัดขาดทุน (Cut Loss Policy) ได้ โดยต้องการผลตอบแทนสูงคล้ายการลงทุนในหุ้น เป็นการจัดพอร์ตแบบกระจายการลงทุนผ่านกองทุนหลากหลายสินทรัพย์ทั่วโลก เน้นคัดเลือกกองทุนรวมที่เหมาะสมกับสภาวะตลาดในแต่ละช่วงเวลา สูงสุดไม่เกิน 5 กอง ปรับพอร์ตตามภาวะตลาดอย่างใกล้ชิด

รูปที่ 16 TOP5 เดือน พ.ค. 61: ที่มา FINNOMENA

โดย FINNOMENA Investment Team แนะนำเน้นลงทุนในหุ้นไทยที่มีนโยบายการบริหารเชิงรุกที่โดดเด่น 20% หุ้นเกาหลี 20% หุ้นยุโรป 20% คงสัดส่วนในกองทุนทองคำ 20% และกองทุนรวมตราสารหนี้ระยะสั้น 20% ซึ่งสอดคล้องกับมุมมองการลงทุนในภาพรวมและโอกาสในการสร้างผลตอบแทนในเดือนพฤษภาคมนี้ อย่างไรก็ตามจังหวะในการแนะนำเข้าลงทุนโปรดติดต่อ Investment Advisor เพื่อประกอบการตัดสินใจ

เจษฎา สุขทิศ, CFA (FundTalk)
FINNOMENA CIO รายงาน

โปรดทราบ สำหรับลูกค้าฟินโนมีนาที่ลงทุนใน FINNOMENA PORT และได้รับบทความนี้ แต่ยังไม่ได้รับอีเมลและ/หรือ Notification ในการแจ้งสัดส่วนเงินในการเข้าลงทุน อาจเกิดจาก

1) ท่านอยู่ระหว่างการทำรายการซื้อขายกองทุน ซึ่งทางฟินโนมีนาจะแจ้งเตือนอีกครั้งภายใน 1 สัปดาห์หลังจากการทำรายการซื้อขายเสร็จสิ้น
2) ท่านมีจำนวนเงินลงทุนต่ำกว่าเกณฑ์ขั้นต่ำที่แนะนำ

หมายเหตุ หากท่านไม่ประสงค์ที่จะรอรับการแจ้งเตือน ท่านสามารถดูรายละเอียดของพอร์ตการลงทุนที่แนะนำผ่านทางเว็บไซต์และแอปพลิเคชั่นของฟินโนมีนาพร้อมปรับพอร์ตเข้าลงทุนได้ทันที สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ LINE ID: @FINNOMENAPORT

หมายเหตุเพิ่มเติม

ในสภาวะปกติ ช่วงเวลาที่ไม่ช้าเกินไปสำหรับการปรับพอร์ทคือภายในระยะเวลา 1-2 สัปดาห์หลังวันที่ออกบทความ


คำเตือน

ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลสำคัญของกองทุนโดยเฉพาะนโยบายกองทุน ความเสี่ยง และผลการดำเนินงานของกองทุน โดยสามารถขอข้อมูลจากผู้แนะนำก่อนตัดสินใจลงทุน | ผลการดำเนินงานในอดีต / ผลการเปรียบเทียบผลการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์ในตลาดทุน มิได้เป็นสิ่งยืนยันถึงผลการดำเนินงานในอนาคต |  ผู้ลงทุนอาจมีความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน เนื่องจากการป้องกันความเสี่ยงขึ้นอยู่กับดุลพินิจของผู้จัดการกองทุน

SaveSave

SaveSave

SaveSave

TSF2024