สำหรับผู้หญิงคนไหนที่คบกับแฟนมาจนได้ใกล้เวลาที่คิดตัดสินใจว่า “ฉันจะแต่งงานแล้วนะ” เราอยากชวนคิดว่า ถ้าคุณเชื่อว่าการแต่งงาน ไม่ใช่แค่เป็นการที่เจ้าสาวใส่ชุดแต่งงานสวยๆ ตัดเค้ก ดื่มฉลอง โยนดอกไม้ และเริ่มใช้ชีวิตคู่กัน 2 ต่อ 2 จริงๆ แสดงว่าคุณมาถูกทางค่ะ เพราะความเป็นจริง การแต่งงานมีอะไรเบื้องลึกมากกว่านั้น คราวนี้เราเลยลองทำ Checklist แบบง่าย ๆ มาดูกันว่าฝ่ายผู้หญิงอย่างเราๆ นั้น ควรจะมีวางแผนในเรื่องอะไรบ้าง ก่อนตัดสินใจร่วมชีวิตกับใครสักคนจริง ๆ ไปติดตามกันค่ะ
ควรมั่นใจว่า คนนี้คือ คู่ชีวิต ที่เสมอกันทั้ง ศีล สมาธิ ปัญญา
อาจจะไม่จำเป็นถึงขั้นว่า ต้องจบการศึกษาระดับเดียวกัน แต่ในหลายๆ เรื่อง ก็ควรมีความเชื่อไปในทางเดียวกัน เช่น เชื่อว่าไม่ควรผิดศีล (สังเกตดีๆ ว่า ศีล 5 ข้อ คือการไม่ทำให้คนอื่น หรือตัวเองเดือดร้อนภายหลัง) เชื่อว่ามีทรัพย์ ก็ทำบุญ ทำทาน หรือ รสนิยมในการกินข้าว เรื่องบันเทิง ก็ไม่ควรมองข้าม ถึงแม้ว่า ไม่ได้ชอบเหมือนกันเป๊ะไปเสียทุกเรื่อง แต่อย่างน้อย ก็ควร “เคารพในการตัดสิน” และ “ให้เกียรติ” คู่ชีวิตอย่างที่เราเองก็อยากได้ จากตู่ชีวิตเราเช่นกัน
ควรสำรวจสินทรัพย์ และอนาคต
ฝ่ายเจ้าสาวเอง ก็ไม่ควรตัวเปล่า หรือว่า พอแต่งงานแล้ว จะพึ่งพาสามีไปเสียทุกอย่าง สินทรัพย์ของเจ้าสาว ควรจะมีติดตัวมาบ้างแล้ว อย่างน้อยก็ควรมีเพียงพอในการดูแลตัวเอง, ก้าวหน้าในอาชีพ, เลี้ยงตัวเองได้ยามเกษียณ,ไม่เดือดร้อนยามเจ็บไข้ได้ป่วย ฯลฯ ซึ่งก่อนแต่งงาน เจ้าสาวอาจจะตัดสินใจ มองหาที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง หรือมีเงินเก็บสำหรับการบำรุงร่างกาย บำรุงจิตใจ บำรุงสมอง โดยที่ไม่จำเป็นต้องยุ่งวุ่นวายกับความมั่งคั่ง หรือเงินเก็บส่วนของว่าที่สามี
หากมีการขอแต่งงานแล้ว ฝ่ายเจ้าสาวควรไปคุยกับทางคุณพ่อคุณแม่ด้วย
ในกรณีปกติเจ้าสาวเองต้องรับหน้าที่ การคุยกรุยทางกับพ่อแม่ของตนเอง ในหลายๆ เรื่อง ซึ่งส่วนใหญ่ จะเป็น Timeline และ Amount เช่น วันทำพิธีต้องดูฤกษ์ยามมั้ย, ศาสนาอะไร, อยากให้ทำอะไร มีพิธีแต่งงานหรือไม่ (ดูพิธีแต่งงานให้ละเอียด ว่าเชิญแขกกี่คน เลี้ยงฉลองมีหรือไม่ ใครเป็นคนออกงบ), สินสอดอยากให้มีเท่าไหร่, หลังแต่งงานแล้ว จะไปอยู่ที่ไหน วางแผนชีวิตไว้อย่างไร เปลี่ยนงาน มีลูกมั้ย
ซึ่งสิ่งเหล่านี้ ควรจะคุยให้จบก่อนนำฝ่ายชายและพ่อแม่ของฝ่ายชาย มาคุย Meeting กันค่ะ
งานพิธี, งานเลี้ยงฉลอง, จดทะเบียนสมรส คือคนละเรื่องกัน
งานพิธีอาจจะเป็นในส่วนของพิธีทางศาสนา หรือเป็นพิธีที่มีความหมาย กับทั้งสองฝ่าย และครอบครัว ส่วนงานเลี้ยงฉลอง อาจจะเป็นในส่วนของการเฮฮาสังสรรค์ได้เต็มที่ ว่ามีคู่สมรสแล้วนะ ส่วนจดทะเบียนสมรส คือสิ่งที่ใช้ยื่นยันได้ตามกฎหมายจริง ว่าทั้งสองเป็นคู่สมรสกัน โดยที่ไม่จำเป็นต้องมีงานพิธี หรืองานเลี้ยงฉลองเลยด้วยซ้ำ หากทั้งสองคน อยากจะตัดสินใจใช้ชีวิตอยู่ร่วมกัน หน้าที่ของเจ้าสาวคือ มีสติ และแยกให้ออกว่าต้องการอะไร แต่ละอย่างมีค่าใช้จ่าย ในแง่ของตัวเงิน ตัวเวลา หรือคนอื่นๆ มาช่วย เท่าไหร่
ก่อนจะจากกันไป ขอฝากไว้อีกสักนิดว่า การจัดงานแต่งงาน คือ ส่วนหนึ่งของการแต่งงาน แต่ไม่ใช่สรณะทั้งหมดในชีวิตแต่งงาน การจัดงานแต่งงาน นั้นเป็นเรื่องธรรมเนียม และผู้ใหญ่แต่ละบ้าน รวมไปถึงคู่บ่าว-สาว ที่อยากจะให้รูปแบบงานเป็นแบบใด ไม่ว่าจะเป็นพิธีทางศาสนา หรืองานเลี้ยงฉลอง ก็ควรคุยให้ชัดเจน ตั้งแต่แรก แต่เผื่อใจไว้บ้าง ว่าจะเรื่องไม่คาดฝัน ทั้งก่อนงานเริ่ม ระหว่างงาน และหลังงานเสร็จสิ้น เพื่อที่เราจะได้เป็นเจ้าสาวที่มีความสุข และทุกๆ ฝ่ายก็มีความสุขด้วย