สำหรับบทความที่แล้ว เป็นเรื่องของการวางแผนของฝ่ายเจ้าสาว ก่อนตัดสินใจแต่งงานนะคะ หวังว่าจะได้รับประโยชน์บ้าง ไม่มากก็น้อยค่ะ เพราะแต่งงานเป็นเรื่องใหญ่สำหรับผู้หญิงหลายๆ คน และเรื่องใหญ่ต่อมาก็คงไม่พ้น “งานพิธีการ” ซึ่งแล้วแต่ครอบครัวไหนจะเรียกกัน ไม่ว่าจะเป็น พิธีมงคลสมรส พิธีฉลอง งานหมั้น งานแต่ง ก็คงจะกังวลเรื่องงบประมาณ แต่ถ้าสมมติว่า ได้ฤกษ์ยามที่จะจัดพิธีแล้วนั้น ลองมาดูสูตรที่ทำให้งบงานแต่งงานไม่บานปลาย ด้วย SSST กันค่ะ
S ที่ 1 : Sequence
Sequence เป็นตัวกำหนดอย่างดีว่า จะมีพิธีการอะไรเกิดขึ้นบ้าง ไม่ว่าจะเป็น จะหมั้นเช้า แต่งเย็น หมั้นปีนี้ แต่งปีหน้า หรือ จะมีช่วงเวลาสำคัญๆ อะไรบ้างในแต่ละพิธีการ หรืองานเลี้ยง จะทำพรีเว็ดดิ้งหรือไม่ ต้องมีชุดเช้า ชุดเย็น ชุด after party หรือเปล่า เมื่อกำหนดออกมาแล้ว จะทำให้เห็นภาพ และจะทำให้รู้ว่า เราต้องเตรียมอะไรบ้าง เพื่อให้เกิดงานแบบนั้นขึ้นมาค่ะ
S ที่ 2 : Scale
Scale คือ ตัวกำหนดขนาดของงานค่ะ จากประสบการณ์แล้ว งบประมาณราว 50% จะอยู่ที่ค่าอาหารเครื่องดื่มค่ะ ถ้าจัดที่โรงแรม หรือสถานที่ที่ขายอาหารเครื่องดื่มด้วยแล้ว ก็จะไม่มีค่าสถานที่ ถ้างานพิธีนั้น เชิญผู้มีเกียรติเป็นจำนวนมาก งบประมาณค่าอาหารก็จะสูงตาม เช่น ถ้าเป็นจัดเลี้ยงบุฟเฟต์อาหารฝรั่ง หรืออาหารจีน มีเครื่องดื่มแอลกอฮอล งบค่าอาหารเครื่องดื่ม อาจจะมากกว่าหัวละ 1,000 บาท แต่ถ้าลดขนาดงานลงมา หรือ เปลี่ยนเป็นอาหารบุฟเฟต์อาหารไทย (ข้าว แกง ขนมจีน) อาจจะลดงบประมาณลงมาได้ แต่ที่สำคัญคือ แขกได้รับอาหารทั่วถึง และอร่อยถูกปากนะคะ และถ้าขนาดงานใหญ่แล้ว การตกแต่งประดับ ซุ้มถ่ายรูป อาจจะต้องใหญ่ตาม หรือแม้กระทั่งต้องมีวงดนตรี มีช่างภาพช่างไฟ แบบฟูลออปชั่นขนาดไหน อย่าลืมคิดเผื่อไปด้วยนะคะ
S ที่ 3 : Scope
Scope คือ ตัวที่บอกว่า งานชิ้นไหน ที่บ่าวสาวจะรับผิดชอบตัดสินใจตั้งแต่ต้นจนจบ จริงๆ แล้วหน้าที่ของบ่าวสาวในพิธี คือ การเป็นเจ้าบ่าว เจ้าสาวค่ะ ไม่ใช่การที่ต้องมานั่งวิ่ง แย่งไมค์พิธีกร ตัดสินใจว่าจะทำอะไร ไม่ทำอะไร ปัญหาส่วนตัวที่เจอมาในงานของตัวเองก็เรียกว่าเพียบเลยค่ะ ทั้งดอกไม้รับตัวเจ้าสาวไม่มาส่งทั้งๆ ที่สั่ง และโอนเงินไว้แล้ว พี่สาวของเจ้าสาวก็เลยแก้ปัญหาด้วยการให้พี่เขยวิ่งไปซื้อให้ทันที เพื่อให้ทันฤกษ์รับตัว ก่อนสวมแหวน หรือแม้แต่เรื่องแขกผู้ใหญ่ท่านหนึ่ง เดินไปตักอาหารก่อนที่จะถึงเวลาอาหารเที่ยง ซึ่งเจ้าสาวตอนนั้นก็ทำอะไรไม่ได้ เพราะเป็นช่วงพิธีรดน้ำสังข์อยู่ พอรับสัญญาณมาจากพี่ทีมอาหารและสถานที่มาแล้ว เราก็คิดว่า Scope งานสำหรับเรา คือ ทุกคนในงานต้องได้กินอิ่มและอร่อย ก็เลยต้องแก้ปัญหาด้วยการเปิดไลน์อาหารไปเลย และให้พิธีกรประกาศออกไมค์ไปแทนว่าเรียนเชิญตักอาหารได้ ซึ่งเรื่องแบบนี้ก็ไม่มีใครคาดคิด จริงไหมคะ
T สุดท้าย : Theme
หลายครั้งที่งานพิธีไม่ใช่แค่สาระสำคัญ คือ การเลี้ยงข้าว และถ่ายรูป ไม่เช่นนั้นก็คงแค่ปิดห้องอาหาร แล้วประกาศไปเฉยๆ ว่า “แต่งงานกันแล้ว” เช่นนั้น บางบ้านผู้ใหญ่เองก็อาจจะไม่ยอม แต่เพราะพิธีการแต่ละช่วง แต่ละตอนมีความหมายสำคัญ หรือจะมีลูกเล่นสนุกๆ อะไร ให้แขกได้รู้สึกมีส่วนร่วมกับงานเลี้ยงของเราไปด้วย
ที่พบเจอบ่อยๆ คือมี Theme สี ซึ่งคู่บ่าวสาวมักจะบอกกันตั้งแต่ในการ์ดเชิญ หรือเขียนให้รู้ในการ์ดเชิญเป็น Dress code หรืออาจจะเป็น Theme เรื่องราวในสายอาชีพของทั้งสองฝ่าย (หากสองฝ่ายมีเครื่องแบบ) หรือจะเป็น Theme ตามเทพนิยาย, การ์ตูน Disney หรือแม้กระทั่งการทำพิธีอย่างเคร่งครัดตามศาสนา หรือตามขนบธรรมเนียมประเพณีที่สืบทอด และมีการสอดแทรกความรู้ ความหมายระหว่างพิธีการ ก็จะช่วยให้แขกรู้สึกมีส่วนร่วม และเกิดความประทับใจ เป็นที่จดจำมากขึ้น
เมื่อทำตามนี้ อาจจะไม่ได้รับรองว่างบประมาณงานเลี้ยงฉลองจะถูกสตางค์ลง แต่มันจะช่วยให้เจ้าบ่าวเจ้าสาว เห็นภาพมากขึ้นว่าอะไรเป็นสิ่งจำเป็น และสำคัญสำหรับงานเลี้ยงฉลองของตัวเอง โดยเมื่อหาค่าใช้จ่ายในแต่ละรายการออกมาได้แล้ว คู่บ่าวสาวอาจจะมาช่วยพิจารณากันได้อีกว่า สิ่งไหนสามารถเปลี่ยนแปลงได้ สิ่งไหนตัดออกได้ และต้องไม่ลืมกันงบประมาณเผื่อเกิดเหตุฉุกเฉินหน้างาน อีกซัก 5-10% เช่น ค่าซองใส่ให้บริกร, ค่าดอกไม้ที่คนลืมมาส่ง เป็นต้น
เจ้าบ่าวเจ้าสาว มีหน้าที่มีความสุข และรู้สึกขอบคุณแขกผู้มีเกียรติในงานพิธีค่ะ การเตรียมตัวที่ดีมาก่อนงานเริ่ม จะช่วยให้คู่บ่าวสาวสามารถเก็บช่วงเวลาประทับใจครั้งสำคัญของชีวิตได้อย่างเต็มที่