โดยธรรมชาติแล้ว กำไรของธุรกิจในแต่ละช่วงของปีมักจะไม่เท่ากัน ส่วนหนึ่งเป็นเพราะผู้บริโภคมีความต้องการต่อสินค้าและบริการของบริษัทแตกต่างกันออกไปในแต่ละช่วงของปี ผลที่เกิดจึงสะท้อนออกมาในรูปแบบผลกำไรที่มากบ้างน้อยบ้างในละช่วงของปี โดยธุรกิจบางอย่างจะมีช่วงพีคของปีที่เรียกว่ากอบโกยกำไรกันได้อย่างเต็มที่ และมีช่วงโลวของปีที่มักจะกำไรน้อยหรือพลิกมาขาดทุนเลยก็เป็นได้ ในขณะที่ธุรกิจบางอย่างมีปัจจัยแบบนี้น้อยมาก
ว่าแต่ไตรมาสไหน กำไรของหุ้นอะไรจะมาบ้าง?
ไตรมาส 1 : ช่วงเวลาของการจับจ่ายใช้สอย
ไตรมาส 1 ถือเป็นช่วงพีคของภาคบริโภคภายในประเทศ เพราะเป็นช่วงที่คนใช้จ่ายกันเยอะต่อเนื่องมาตั้งแต่ปลายปี ทั้งโบนัสจากปีที่แล้วที่เพิ่งได้มา รวมไปถึงเทศกาลตรุษจีนที่กระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยมาก ธุรกิจที่ได้ประโยชน์คือ ธุรกิจค้าปลีก เช่น ร้านสะดวกซื้อ ห้างสรรพสินค้า ร้านขายส่ง ร้านอาหาร ผู้ผลิตสินค้าอุปโภคบริโภค
การท่องเที่ยวก็ถือว่าเป็นช่วงที่โดดเด่น เพราะมีวันหยุดเยอะต่อเนื่องมาจากปลายปี แถมมีวันตรุษจีนที่คนจีนจะออกมาท่องเที่ยวเป็นพิเศษ หุ้นที่ได้รับประโยชน์ก็คือกลุ่มท่องเที่ยว ตั้งแต่ท่าอากาศยาน สายการบิน โรงแรม เป็นต้น
ไตรมาส 2 : กลับบ้านสงกรานต์กันเถอะ
ไตรมาส 2 ถือเป็นช่วงที่มีวันหยุดยาวและกระทบกับภาคการผลิตโดยตรง เพราะปรกติพนักงานโรงงานมักจะกลับบ้านในช่วงสงกรานต์ยาวกว่าปีใหม่เสมอ ทำให้โรงงานส่วนใหญ่ปิดไลน์การผลิต ผลิตสินค้าได้น้อยจนเป็นช่วงโลวของปี ธุรกิจอะไรก็ตามที่อิงกับวันทำงานเยอะๆ รายได้จะน้อยในไตรมาสนี้
ในขณะที่จุดเด่นของไตรมาสนี้คืออากาศที่ร้อน ส่งผลให้หุ้นที่ช่วยดับร้อนมักจะมีผลประกอบการที่ดีในไตรมาสนี้ ไม่ว่าจะเป็นหุ้นในกลุ่มเครื่องดื่ม ผู้ผลิตและจำหน่ายเครื่องทำความเย็น รวมไปถึงร้านสะดวกซื้อที่ขายเครื่องดื่มด้วย
ไตรมาส 3 : เพราะอากาศเปลี่ยนแปลงบ่อย
จุดเด่นของไตรมาส 3 คือฤดูฝนและอากาศที่เปลี่ยนแปลง ดังนั้น ธุรกิจที่ได้ประโยชน์คือโรงพยาบาลที่จะมีรายได้จากการที่ผู้ที่ป่วยจากฤดูฝนจะเข้ามาใช้บริการมากขึ้น ยิ่งปีไหนมีโรคระบาด หรืออากาศย่ำแย่มากๆ กำไรของโรงพยาบาลก็จะดีเป็นพิเศษ
ธุรกิจที่แย่คือพวกรับเหมาก่อสร้าง เพราะฝนที่ตกมากทำให้วันทำงานลดลงและทำงานกลางแจ้งไม่ได้มาก รับเหมาส่วนมากจึงหันไปทำงานในร่มแทน ทำให้ธุรกิจรับเหมาตกแต่งหรือวางโครงสร้างระบบมีงานทำและรายได้เติบโตได้ดี
ไตรมาส 4 : Thanks God It’s New Year!
ความสำคัญของไตรมาส 4 คือเป็นช่วงเวลาเข้าสู่ปีใหม่ บรรยากาศการบริโภคภายในประเทศจะคึกคักมาก เพราะผู้คนรู้สึกถึงการเฉลิมฉลองและอยากใช้เงิน การท่องเที่ยวก็เติบโตดีเพราะอากาศหนาวเหมาะแก่การเที่ยวและวันหยุดก็เยอะ แถมคนจำนวนมากยังเร่งใช้วันลาให้หมดก่อนครบปีปฎิทินอีกด้วย ธุรกิจที่ได้ประโยชน์จึงเป็นกลุ่มบริโภคภายในประเทศและกลุ่มท่องเที่ยวคล้ายกับไตรมาส 1
กลุ่มสื่อก็เป็นอีกกลุ่มที่ได้ประโยชน์ในไตรมาสนี้ เพราะส่วนใหญ่กิจกรรมต่างการตลาดหรือแคมเปญการตลาดจะมาอัดอยู่ในไตรมาสนี้เยอะ เพราะผู้คนนิยมจับจ่ายใช้สอย รวมไปถึงจะเร่งปิดงบปีด้วย
ลองมาดูหุ้นในกลุ่มที่มี Seasonal Effect ต่ำกันบ้าง
หุ้นที่ได้รับผลกระทบจากฤดูกาลน้อย คิดง่ายๆ ก็คือรายได้มีความคงที่สูง หรือพฤติกรรมผู้บริโภคไม่ค่อยเปลี่ยนแปลงไปตามฤดูกาลในแต่ละปี
ยกตัวอย่างเช่น บริษัทรับบริหารรถไฟฟ้าหรือรถไฟใต้ดินที่มีรายได้จากรัฐค่อนข้างคงที่ บริษัทสื่อสารและอินเตอร์เน็ตที่พฤติกรรมการใช้มือถือและอินเตอร์เน็ตของคนมักจะคงที่ตลอดปี ธุรกิจการเงิน อย่างธนาคาร ประกัน หรือสินเชื่อที่รายได้และกำไรอิงกับเศรษฐกิจและอัตราดอกเบี้ยมากกว่าฤดูกาล เพราะมักทยอยรับรู้รายได้และกำไรตลอดช่วงระยะเวลาสินเชื่อ เป็นต้น
การวิเคราะห์ Seasonal Effect ถือเป็นเรื่องที่สำคัญสำหรับนักลงทุนทุกคน เพราะการไม่เข้าใจว่ากำไรของธุรกิจนั้นมีธรรมชาติที่แตกต่างกันไปในแต่ละช่วงฤดู อาจนำมาซึ่งการประมาณการณ์กำไรที่ผิด ส่งผลให้ประเมินมูลค่าผิด จนนำไปสู่ความผิดพลาดในการลงทุนได้
แน่นอนว่าไม่มีสูตรสำเร็จตายตัวในเรื่องนี้ สิ่งที่ดีที่สุดคือสังเกตพฤติกรรมกำไรของหุ้นรายบริษัทไป และศึกษาให้เข้าใจถึงที่มาของกำไรและรายได้ของแต่ละบริษัทเอง
ต่อให้เป็นบริษัทที่ทำธุรกิจเหมือนกันแต่โครงสร้างกำไรก็แตกต่างกันออกไปได้
ลงทุนศาสตร์ – Investerest.co