ทางออกของภาษีร้านยา กับการเข้ามาของสรรพากร

อย่างที่ทราบกันดีว่าตอนนี้กรมสรรพากรมีความจริงจังในการตามภาษีมากขึ้น โดยเฉพาะร้านค้าปลีกทั้งหลาย เช่น ร้านทอง ร้านขายยา เนื่องจากมีโอกาสได้เข้าร่วมสัมมนาจึงขอพูดถึงแนวทางการแก้ปัญหาอย่างกว้างๆ แน่นอนว่าเนื้อหาในบทความนี้เป็นความเห็นแบบคร่าวสำหรับพอให้เห็นภาพง่ายๆ เนื่องจากในความจริงรายละเอียดของการจัดการภาษีมีค่อนข้างมาก ดังนั้น ก่อนจะตัดสินใจดำเนินการต้องพิจารณาอย่างรอบคอบก่อนเสมอ

บทสรุปและคำแนะนำเบื้องต้นสำหรับร้านขายยา

1. ต่อไปคงเลี่ยงภาษียากมาก

เนื่องจากสรรพากรจะดึงให้บริษัทที่มีรายได้เกิน 30 ล้านบาทออกใบเสร็จผ่านระบบของสรรพากร ดังนั้น ทางไปของเงินจะถูกตรวจสอบได้ พอร้านขายยาซื้อสินค้ามา สรรพากรจะทราบ ทำให้รู้ได้ว่าสินค้าที่ซื้อมามีเท่าไหร่ คาดเดายอดขายได้ง่าย จะหลีกเลี่ยงแบบเดิมๆ คงยากแล้ว สรรพากรในเขตพื้นที่เองก็ขยันลงพื้นที่ไปตรวจตราร้านค้ากันมากขึ้น โดยเฉพาะร้านขายยาและร้านทองที่สรรพากรตั้งเป้าว่าจะดึงมาเข้าระบบให้ได้มากที่สุด

2. หากฐานรายได้ไม่เกิน 150,000 บาทต่อเดือน แนะนำเสียภาษีแบบบุคคลธรรมดา โดยหักค่าใช้จ่ายแบบเหมา

การเสียภาษีบุคคลธรรมดาประเภทรายได้อื่น สามารถขอหักค่าใช้จ่ายแบบเหมาจ่ายได้ 60% (กฎหมายใหม่) เมื่อหักลบเป็นรายได้สุทธิแล้ว จะเสียภาษีอยู่ที่ปีละประมาณ 51,500 บาท ได้มาเกือบสองล้าน แบ่งให้รัฐสักห้าหมื่นเนอะ

3. หากฐานรายได้ไม่เกิน 150,000 บาทต่อเดือนและมีความรู้พื้นฐานและความพร้อมด้านบัญชีและภาษี แนะนำเสียภาษีแบบบุคคลธรรมดา โดยหักค่าใช้จ่ายตามจริง

การเสียภาษีบุคคลธรรมดาประเภทรายได้อื่น สามารถขอหักค่าใช้จ่ายแบบตามจริงได้ โดยผู้เสียภาษีต้องเก็บหลักฐานแสดงรายจ่ายอย่างถูกต้องเพื่อขอใช้เป็นส่วนค่าใช้จ่ายเพื่อจะหักออกเป็นรายได้สุทธิ วิธีการนี้ค่อนข้างจุกจิกและต้องเตรียมและเก็บเอกสารมาก ไม่ค่อยแนะนำ ยกเว้นมีความพร้อมที่จะทำ ส่วนต่างของภาษีที่จะเสียอยู่ในช่วง 0 – 42,500 บาทต่อปีโดยประมาณ สิ่งที่ต้องคิดคือส่วนลดหย่อนประมาณสองสามพันบาทต่อเดือนนี้คุ้มค่าต่อการลงทุนลงแรงเก็บเอกสารไหม ถ้าคิดว่าพอก็ทำได้ แต่ควรปรึกษาสรรพากรก่อนเพื่อจะได้เตรียมเอกสารอย่างถูกต้อง

4. หากฐานรายได้เกิน 150,000 บาทต่อเดือน แนะนำเสียภาษีแบบบุคคลธรรมดา โดยหักค่าใช้จ่ายตามจริง

หากฐานรายได้เกิน 1,800,000 บาทต่อปี ผู้เสียภาษีต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ถึงแม้จะเป็นบุคคลธรรมดาก็ตาม ถึงขั้นนี้ต้องมีการเก็บใบกำกับภาษีแล้ว ซึ่งต้องยุ่งเกี่ยวกับเอกสารมาก ดังนั้น การทำไปทั้งระบบเลยจะง่ายกว่า เพราะก็ต้องทำหลายส่วนอยู่แล้ว แต่หากขี้เกียจก็จ่ายแบบหักเหมาก็ได้ เพียงแต่อาจจะเสียภาษีมากกว่าแลกกับความสะดวกสบาย

5. หากฐานรายได้เกิน 500,000 บาทต่อเดือน แนะนำจดทะเบียนนิติบุคคล

ในความเป็นจริงไม่มีเลขชี้วัดที่แน่นอน แต่เมื่อบุคคลมีรายได้สุทธิเกิน 1,000,000 บาทต่อปีแล้วจะเสียภาษีในอัตรา 25% 30% 35% ตามลำดับ ในขณะที่นิติบุคคลจะคงที่อยู่ที่ 20% ดังนั้น ถ้าฐานรายได้มากถึงจุดหนึ่ง การจดทะเบียนบริษัทจะเกิดความคุ้มค่า เนื่องจากหักภาษีตามกำไรจริง และไม่เกิน 20% ของกำไร ต่างกับบุคคลธรรมดาที่สูงสุด 35% ซึ่งเมื่อรายได้มากๆ ส่วนต่างตรงนี้จะมหาศาล คุ้มค่ากับการลงทุนทำบัญชี รวมถึงต้นทุนทางบัญชีด้านอื่น

6. อย่าพยายามมีอคติกับเรื่องภาษี

เพราะภาษีคือกฎหมายและหน้าที่ การมีอคติจะทำให้เราอยู่กับมันอย่างกล้ำกลืนฝืนทน อย่างให้ลองปรับมุมมองใหม่ ความจริงการศึกษาด้านภาษีก็สนุกดี เราสามารถขอลดหย่อนภาษีได้มากมายหลายวิธี เช่น LTF RMF ประกันชีวิต เป็นต้น

อย่าพยายามมองว่าสรรพากรบีบร้านขายยา เพราะโดยปรกติร้านขายยาเองก็ตกอยู่ในฐานรายได้ที่มักจะต้องเสียภาษีอยู่แล้ว เพื่อนเภสัชกรที่ทำงานอยู่ตามโรงพยาบาล โรงงาน ร้านขายยาเครือข่าย หรือบริษัทยาเองต่างก็เสียภาษีอย่างถูกต้อง (บนความเชื่อมั่น 95%) ดังนั้น เราก็แค่ทำเหมือนเพื่อนคนอื่นนั่นแหละ แค่อาจจะซับซ้อนหน่อย เลยให้เวลาเตรียมตัวนาน

ขีดเส้นใต้ตรงนี้

สรรพากรไม่ได้บังคับให้เราจดทะเบียนนิติบุคคล เพราะมันคือความสมัครใจ บังคับไม่ได้ แต่ในเชิงภาษีอาจประหยัดกว่าแต่แลกมาด้วยความจุกจิกและงานที่มากขึ้น

ดังนั้น หากไม่อยากปวดหัวก็เลือกจ่ายแบบรายได้อื่น หักเหมา 60% ได้ ยอมเสียภาษีมากหน่อยแลกมาด้วยความสบาย เอาเวลาไปดูหนังฟังเพลงก็อาจจะคุ้มดี ไว้โตจนเกิน 1,800,000 บาทต่อปีค่อยจด VAT และถ้าโตมากก็จดบริษัทว่ากันไปตามขนาด อะไรอย่างนั้น

ภาษีไม่ยาก เข้าใจง่าย จัดการได้ด้วยตนเอง

อย่าอคติ เพราะอคติแล้วจะซัฟเฟอร์กับภาษี ซึ่งคำถามคือมันหนีได้ตลอดชีวิตไหม ไม่หรอกใช่ไหม งั้นอย่าไปซัฟเฟอร์ ยิ้มให้มันไว้  คิดซะว่าเป็นค่าเช่าประเทศ ค่าอากาศที่หายใจ ค่าความเป็นไทยก็สบายใจดีนะ

ภก.กิตติศักดิ์ โภคา เจ้าของ website : investerest.co

TSF2024