การลงทุนแบบเน้นคุณค่าจะมุ่งไปที่การแสวงหาหุ้นที่มีกิจการชั้นยอดในราคาที่เหมาะสม แน่นอนว่ากิจการชั้นยอดอาจจะหาได้อย่างไม่ยากเย็นเท่าไหร่นัก เนื่องจากผลประกอบการในอดีตอย่างยาวนานมักเป็นตัวบ่งชี้ที่ดี แต่สิ่งที่ยากกลับกลายเป็นการเฝ้ารอให้กิจการชั้นยอดเหล่านั้นถูกซื้อขายกันที่ราคาที่เหมาะสม เพราะส่วนใหญ่ หุ้นที่ดีจะมีราคาที่ “แพง” เสมอ เป็นไปได้ยากที่ราคานั้นจะต่ำมากว่ามูลค่าของกิจการ
นักลงทุนส่วนใหญ่จึงเฝ้ารอสิ่งที่เรียกว่า “วิกฤต” เนื่องจากมีเพียงเวลาที่ทุกคนหวาดกลัวเท่านั้นที่ราคาหุ้นของกิจการชั้นยอดจะถูกเทขายออกมาจนเรียกได้ว่า “ถูก” ได้ นักลงทุนแบบเน้นคุณค่าจึงเฝ้ามองจังหวะเวลาแบบนั้น โดยลงทุนศาสตร์จะมานำเสนอวิกฤตทั้ง 3 แบบที่เปรียบเสมือนโอกาสชั้นเยี่ยมที่จะทำให้นักลงทุนได้ซื้อหุ้นในราคาที่ถูกสมใจ
1. วิกฤตเศรษฐกิจ
วิกฤตเศรษฐกิจ หมายถึง วิกฤตที่เกิดขึ้นกับปัจจัยระดับมหภาค โดยส่วนใหญ่มักจะเป็นการเกิดปัญหาของทั้งระบบเศรษฐกิจ และความตกต่ำเหล่านั้นเองก็ทำให้หุ้นซึ่งถือเป็นสินทรัพย์เสี่ยงถูกเทขายออกมาเพื่อจำกัดความเสี่ยงเหล่านั้น ตัวอย่างของวิกฤตเศรษฐกิจที่รู้จักกันดี ได้แก่ วิกฤตต้มยำกุ้งที่ประเทศไทยในปีพ.ศ. 2540 วิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ที่ประเทศสหรัฐอเมริกาในปีค.ศ. 2008 โดยวิกฤตเศรษฐกิจมักจะพังตลาดหุ้นลงทั้งระบบ ดัชนีตลาดหลักทรัพย์อาจลดลงมากกว่า 50% ซึ่งปัจจัยดังกล่าวทำให้หุ้นทั้งตลาดมีราคาถูกอย่างไม่น่าเชื่อ แต่สังเกตได้ว่าเมื่อราคาหุ้นตกลงทั้งตลาดแบบนี้ ผู้ที่จะได้เปรียบและมีโอกาสในการซื้อหุ้นที่ราคาถูกคือผู้ที่ถือเงินสด หรือสินทรัพย์ปลอดภัย เช่น ตราสารหนี้คุณภาพดีเท่านั้น ดังนั้น การจะเฝ้ารอซื้อหุ้นในภาวะวิกฤตเศรษฐกิจจึงเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก เพราะขึ้นชื่อว่าจะเป็นวิกฤตแล้ว มักจะเป็นเหตุการณ์ที่ทุกคนคาดเดาล่วงหน้าไม่ได้เสมอ เมื่อไม่รู้ว่าจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ การจะถือเงินสดรอไปอย่างไรจุดหมายนั้นก็ทำให้ผลตอบแทนในการลงทุนลดลงไปอย่างมาก เพราะขึ้นชื่อว่าเงินสดก็ย่อมเป็นสินทรัพย์ที่มีผลตอบแทนต่ำมากจนอาจเรียกได้ว่าเป็นค่าเสียโอกาสที่แฝงอยู่ในการรอคอยเลยทีเดียว
2. วิกฤตอุตสาหกรรม
วิกฤตอุตสาหกรรม หมายถึง วิกฤตที่เกิดขึ้นกับอุตสาหกรรมใดอุตสาหกรรมหนึ่งในตลาดหลักทรัพย์ ส่วนใหญ่มักเป็นปัญหาเฉพาะตัวที่กระทบเฉพาะอุตสาหกรรมหรืออุตสาหกรรมใกล้เคียงเท่านั้น แต่อาจจะไม่ได้เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมอื่นในตลาด หรืออาจจะส่งผลดีต่ออุตสาหกรรมอื่นด้วยซ้ำ ทำให้ราคาหุ้นในอุตสาหกรรมนั้นลดลงอยู่เพียงอุตสาหกรรมเดียวหรือไม่กี่อุตสาหกรรม ตัวอย่างของวิกฤตอุตสาหกรรมที่น่าสนใจ ได้แก่ วิกฤตราคาน้ำมันกับอุตสาหกรรมพลังงานในปีพ.ศ. 2558 วิกฤตประมูล 4G กับอุตสาหกรรมสื่อสารในปีพ.ศ. 2558 วิกฤตมหาอุทกภัยกับอุตสาหกรรมประกันภัยปีพ.ศ. 2554 และวิกฤตโรค SARS กับอุตสาหกรรมท่องเที่ยวในปีพ.ศ. 2545 เป็นต้น สังเกตได้ว่าวิกฤตเหล่านี้จะเกิดขึ้นกับบางอุตสาหกรรมเป็นหลัก ทำให้ราคาหุ้นในบางอุตสาหกรรมมีราคาถูกกว่าราคาในภาพรวมของตลาดค่อนข้างมาก ซึ่งถือเป็นโอกาสที่นักลงทุนจะซื้อหุ้นในอุตสาหกรรมนั้น หรือเปลี่ยนการลงทุนจากอุตสาหกรรมอื่นมายังอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง ข้อสังเกตคือราคาหุ้นในวิกฤตอุตสาหกรรมนั้นอาจจะไม่ถูกมากนักเมื่อเทียบกับวิกฤตเศรษฐกิจ อาจเป็นเพราะส่วนหนึ่งภาพรวมของตลาดยังค่อนข้างดูดี สิ่งสำคัญคือนักลงทุนต้องวิเคราะห์ให้ดีว่าวิกฤตนั้นมีผลต่อกิจการอย่างรุนแรงขนาดไหน เพราะวิกฤตอุตสาหกรรมมักเกิดที่พื้นฐานอุตสาหกรรมโดยตรง ต่างกับวิกฤตเศรษฐกิจที่มักกระทบต่อจิตวิทยาตลาดเท่านั้น
3. วิกฤตเฉพาะกิจการ
วิกฤตเฉพาะกิจการ หมายถึง วิกฤตที่เกิดขึ้นเฉพาะบริษัทใดบริษัทหนึ่งเท่านั้น ราคาหุ้นที่ตอบสนองมักจะลงเฉพาะหุ้นของบริษัทนั้นและบริษัทในเครือที่เกี่ยวข้องเท่านั้น ตัวอย่างวิกฤตเฉพาะกิจการที่ชัดเจน ได้แก่ วิกฤตธรรมาภิบาลของ CPALL วิกฤตโรงงานไฟไหม้ของ SVI วิกฤตโทรทัศน์จอดำของ BEC วิกฤตนักบินประท้วงของ NOK วิกฤตโรงถลุงเหล็กอังกฤษขาดทุนของ SSI เป็นต้น วิกฤตนี้นับได้ว่าเป็นวิกฤตที่ต้องใช้การวิเคราะห์พื้นฐานก่อนการลงทุนมากที่สุด เนื่องจากวิกฤตที่เกิดขึ้นกับบริษัทโดยตรงนั้นหลายครั้งเป็นวิกฤตถาวรซึ่งทำให้มูลค่าพื้นฐานของกิจการลดลงอย่างมากในระยะยาว นักลงทุนจึงจำเป็นจะต้องไตร่ตรองให้ดีถึงความเสี่ยงและผลตอบแทนในการลงทุนแต่ละครั้ง เพราะวิกฤตเฉพาะกิจการในบางครั้งก็นำมาซึ่งผลตอบแทนมากมายมหาศาล และในบางครั้งก็นำมาซึ่งเงินต้นที่สูญสลายไปจนหมดเช่นกัน
ทุกวิกฤตมีโอกาสเสมอ ทุกครั้งที่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจขึ้นจะมีเศรษฐีเก่าที่ล้มหายไปจากวิกฤต แต่ก็จะมีเศรษฐีใหม่ที่เกิดขึ้นมาจากการมองเห็นโอกาสเหล่านั้น วิกฤตของตลาดหุ้นเป็นเพื่อนที่ดีสำหรับนักลงทุนแบบเน้นคุณค่าเสมอ เพราะเศรษฐีหุ้นส่วนใหญ่ในปัจจุบันก็เกิดมาจากวิกฤตทั้งนั้น สิ่งสำคัญคือนักลงทุนจะต้องมีความพร้อมที่จะรับมือกับวิกฤตอยู่ตลอดเวลา ต้องมีหุ้นที่กิจการชั้นยอดในใจ และต้องมีการประเมินมูลค่าที่ประสิทธิภาพ อย่าลืมว่าหุ้นที่ราคาลงมามากไม่ได้แปลว่าถูก หลายครั้งที่หุ้นราคาลงมา 50% จนเหมือนถูก แล้วก็ลงต่อไปที่ 90% ก็มี
นักลงทุนส่วนใหญ่จะลงแข่งในทุกสนาม แต่นักลงทุนชั้นยอดจะลงแข่งในสนามที่ตนเองได้เปรียบเท่านั้น อย่าลืมว่าเราไม่จำเป็นต้องหวดลูกบอลทุกลูกที่ผ่านหน้าเรามาก็ได้ แต่เมื่อเราตัดสินใจที่จะหวดแล้ว ขอให้มันได้โฮมรันก็พอ และการลงทุนที่ดีก็มีหลักการเช่นนั้นเอง
ลงทุนศาสตร์ – Investerest