ความเสี่ยงของการกระจายความเสี่ยง

การกระจายความเสี่ยงถือเป็นหัวใจของการลงทุนเสมอ

สำหรับตัวผมเอง ผมแบ่งความเสี่ยงจากการลงทุนออกเป็น 2 ประเภทง่ายๆ คือ ความเสี่ยงที่คาดเดาไม่ได้ และความเสี่ยงที่คาดเดาได้

ความเสี่ยงที่คาดเดาไม่ได้

คือ ความเสี่ยงที่เราไม่อาจรู้ตัวล่วงหน้าและไม่อาจป้องกัน ความเสี่ยงที่เกิดขึ้นไม่มีผลสืบเนื่องมาจากพื้นฐานหุ้นที่เราลงทุนโดยตรง เช่น วิกฤตเศรษฐกิจ การก่อการร้าย น้ำท่วม ไฟไหม้ สำหรับผม วิธีการแก้ปัญหาความเสี่ยงเหล่านี้คือกระจายความเสี่ยงให้มากพอ จนหากเกิดเหตุร้ายขึ้นที่หุ้นตัวใดตัวหนึ่งหรืออุตสาหกรรมใดอุตสาหกรรมหนึ่ง หุ้นในพอร์ตตัวอื่นก็ต้องอยู่รอดต่อไป และจำกัดความสูญเสียไว้เพียงแค่สัดส่วนหนึ่งเท่านั้น โดยปรกติ ผมจึงมักถือหุ้นอยู่ในช่วง 6 – 12 ตัว เพื่อลดความเสี่ยงด้านนี้

ความเสี่ยงที่คาดเดาได้

คือ ความเสี่ยงที่เราพอจะรู้ตัวล่วงหน้าได้และพอจะหลีกเลี่ยงได้ โดยความเสี่ยงนั้นเป็นผลสืบเนื่องมาจากพื้นฐานของหุ้นที่เราลงทุนโดยตรง เช่น ภาระจ่ายดอกเบี้ยสูงจนขาดทุน ยอดขายตกจากอุตสาหกรรมที่แข่งขันรุนแรงแรง กำไรลดลงจากความผันผวนของราคาโภคภัณฑ์ ความเสี่ยงแบบนี้สามารถลดและหลีกเลี่ยงได้โดยการวิเคราะห์ธุรกิจและงบการเงินโดยละเอียด หลีกเลี่ยงหุ้นที่มีพื้นฐานธุรกิจไม่แข็งแรงและงบการเงินไม่สะอาด แบบนี้จะช่วยลดความเสี่ยงได้มาก และทำให้นักลงทุนอยู่รอดได้ในระยะยาว

แต่ความเสี่ยงอีกอย่างหนึ่งที่หลายคนคาดไม่ถึงคือ “ความเสี่ยงจากการกระจายความเสี่ยง”

นักลงทุนบางคน “กระจายความเสี่ยง” หรือถือหุ้นหลายตัวมากเกินไป เช่น บางคนถือ 20 กว่าตัว บางคนถือ 50 กว่าตัว แน่นอนว่าหากเราเป็นนักลงทุนที่สุดยอดและมีเวลาติดตามกิจการได้มาก การกระจายการลงทุนมากๆ นั้นจะไม่ได้มีผลเสียโดยตรง แต่อาจจะเป็นกลยุทธ์ที่ดีด้วยซ้ำ เหมือนที่ปีเตอร์ ลินซ์ นักลงทุนระดับโลกชอบลงทุนในหุ้นหลายร้อยตัว

แต่กรณีที่พบส่วนใหญ่เป็นลักษณะของการรักพี่เสียดายน้องมากกว่า ตัวโน้นก็ดีตัวนี้ก็อยากได้ เลยซื้อติดพอร์ตไว้อย่างละนิดอย่างละหน่อยจนกลายเป็นว่าไม่ได้โฟกัสและให้ความสำคัญแต่ละตัวอย่างมากพอ เพราะคิดว่าแต่ละตัวที่ถือมีผลต่อพอร์ตไม่มาก เช่น ถือ 20 ตัวก็ปล่อยปละละเลย เพราะคิดว่าถึงขาดทุนจนหมดก็มีผลเพียง 5% ของพอร์ตเท่านั้น

แต่อย่าลืมว่าหากคิดแบบนี้กับหุ้นทุกตัวในพอร์ต จะกลายเป็นว่าสุดท้ายเราก็ละเลยหุ้นไปหมดทั้งพอร์ตเลยทีเดียว

ปัญหาที่เจอคือนักลงทุนบางคนถือหุ้นเยอะมากจนตามไม่ทันและโฟกัสไม่ถูก พอถือหุ้นเยอะมากแล้วอยากเริ่มต้นศึกษาละเอียดก็ท้อใจเพราะไม่รู้จะเริ่มจากตัวไหนก่อนดีเพราะหุ้นในพอร์ตเต็มไปหมด แบ่งความสนใจกันไปมาจนกลายเป็นว่าแทบจะให้ได้ให้ความสนใจกับพื้นฐานหุ้นเลย กลายเป็นถือเยอะๆ ไว้ก่อน เดี๋ยวบางตัวก็ดี เดี๋ยวบางตัวก็แย่

สุดท้าย การกระจายความเสี่ยงกลับกลายมาเป็นความเสี่ยงเสียเอง

ดังนั้น ข้อแนะนำคือ “ถือหุ้นในจำนวนที่เราสามารถติดตามกิจการได้ทันและละเอียดพอ แต่ก็ไม่น้อยจนเกินไปจนความเสี่ยงกระจุกตัว” โดยทั่วไปผมแนะนำที่ประมาณ 6 – 12 ตัวสำหรับนักลงทุนทั่วไป แต่ถ้าเป็นนักลงทุนที่เก่งมาก ประสบการณ์มาก ก็อาจจะสามารถถือน้อยกว่าหรือมากกว่านี้ได้ตามความเหมาะสม

อย่าลืมว่าหุ้นทุกตัวเมื่อมาอยู่ในพอร์ตแล้ว มันได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของสินทรัพย์ของเราแล้ว เรามีหน้าที่ต้องติดตาม ดูแล ศึกษามันเป็นอย่างดี หากคิดว่าถือเยอะจนตามไม่ไหวก็อาจจะตัดสินใจขายทิ้งไปบ้างเอาที่ตามไหวพอ

ลงทุนศาสตร์ – Investerest