นโยบายค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย - เขาคำนวณกันอย่างไรบ้าง

ค่าเสื่อมราคา (Depreciation) และค่าตัดจำหน่าย (Amortization)

คือค่าใช้จ่ายประเภทหนึ่งในทางบัญชี โดยค่าใช้จ่ายทั้งสองไม่ใช่ค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นเป็นเงินสด แต่เป็นรายการที่คำนวณขึ้นเพื่อสะท้อนต้นทุนหรือค่าใช้จ่ายที่แท้จริงที่เกิดขึ้นตลอดระยะเวลาการใช้สินทรัพย์ทั้งที่มีตัวตนและไม่มีตัวตนในกิจการ

ยกตัวอย่างเช่นเราซื้ออาคารพาณิชย์แห่งหนึ่งมาทำธุรกิจในราคา 10 ล้าน หากเราคำนวณกำไรจากเงินสดจะพบว่าปีแรกนั้นธุรกิจน่าจะขาดทุนมากเพราะมีค่าตึกถึง 10 ล้านบาท ในขณะที่ช่วงเวลาหลังจากนั้น กำไรก็น่าจะสูงผิดปรกติเพราะเหมือนไม่มีต้นทุนค่าสถานที่เลย ในทางบัญชีจึงจำเป็นต้องคำนวณค่าใช้จ่ายของสินทรัพย์ที่มีอายุการใช้งานเกิน 1 รอบบัญชีให้สะท้อนต้นทุนที่แท้จริงมากที่สุด ทำให้เกิดเป็นค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายนั่นเอง

ค่าเสื่อมราคารวม/ค่าตัดจำหน่ายรวม = ราคาทุน – ราคาซาก

ยกตัวอย่างเช่น คอมพิวเตอร์เครื่องหนึ่งซื้อมาในราคา 50,000 บาท คาดว่าจะใช้งานได้ 5 ปี และคาดว่าจะขายคอมพิวเตอร์หลังจากใช้งานไปแล้ว 5 ปี ได้ที่ราคา 10,000 บาท กรณีนี้ค่าเสื่อมราคารวมคือ 40,000 บาท

หรือบริษัทแห่งหนึ่งซื้อสิทธิแฟรนไชส์มาแบบจ่ายก้อนเดียวในราคา 500,000 บาท ในสัญญามีอายุการใช้งานสิทธิ 10 ปี เมื่อหมดสัญญา บริษัทจะไม่สามารถใช้สิทธิได้อีก ค่าตัดจำหน่ายรวมคือ 500,000 บาท

ค่าเสื่อมราคารวมและค่าตัดจำหน่ายรวมยังไม่สะท้อนออกมาเป็นต้นทุนที่เหมาะสมจนกว่าที่ค่าเสื่อมราคาก้อนนั้นจะถูกกระจายออกมาอยู่ในรูปต้นทุนหรือค่าใช้จ่ายในแต่ละรอบบัญชี โดยจะใช้วิธีแบบต่างๆ ในการกระจายค่าเสื่อมราคารวมออกมาให้เหมาะสม

วิธีเส้นตรง (Straight-Line Method)

คือวิธีการกระจายค่าเสื่อมราคาหรือค่าตัดจำหน่ายออกมาเท่ากันทุกปี ดังนั้น ค่าใช้จ่ายค่าเสื่อมราคารายปีจะคำนวณได้จาก ค่าเสื่อมราคารวม / อายุการใช้งาน โดยค่าเสื่อมราคาต่อปีที่ได้จะคงที่ตลอดอายุการใช้งาน ซึ่งวิธีนี้เป็นวิธีที่นิยมใช้มากที่สุดและบริษัทในตลาดหลักทรัพย์จำนวนมากในตลาดเลือกใช้วิธีนี้

วิธีผลบวกของลำดับปีที่ใช้งาน (Sum of year Digit Method)

วิธีนี้ถือว่าเป็นวิธีการตัดค่าเสื่อมราคาแบบเร่ง เนื่องจากในแต่ละช่วงอายุการใช้งานจะมีค่าใช้จ่ายเกิดขึ้นไม่เท่ากัน วิธีการคือจะนำตัวเลขตั้งแต่ 1 ถึงอายุการใช้งาน (หน่วยปี) มาบวกหาผลรวม และเฉลี่ยค่าเสื่อมจากตัวเลขสูงสุดหารด้วยผลรวมไปจนหมดอายุการใช้งาน

ยกตัวอย่างเช่น รถยนต์ซื้อมาที่ราคา 10,000,000 บาท ราคาซากอยู่ที่ 1,000,000 บาท หลังจากอายุการใช้งาน 4 ปี วิธีการคำนวณคือหาผลรวมปีก่อน โดยใช้ 1 + 2 + 3 + 4 = 10 และค่าเสื่อมราคารวมเท่ากับ 10,000,000 – 1,000,000 หรือ 9,000,000 บาท

ปีที่ 1 ตัดค่าเสื่อม 4/10 x 9,000,000 = 3,600,000 บาท

ปีที่ 2 ตัดค่าเสื่อม 3/10 x 9,000,000 = 2,700,000 บาท

ปีที่ 3 ตัดค่าเสื่อม 2/10 x 9,000,000 = 1,800,000 บาท

ปีที่ 4 ตัดค่าเสื่อม 1/10 x 9,000,000 = 900,000 บาท

สิ้นปีที่ 4 รถยนต์จะเหลือมูลค่าซากที่ 1,000,000 บาท

วิธีนี้จะทำให้กำไรของกิจการถูกกดดันในระยะต้น เนื่องจากมีค่าเสื่อมราคาค่อนข้างมาก จนกระทั่งเวลาผ่านไป กำไรของกิจการมีแนวโน้มจะเติบโตดีขึ้น เนื่องจากค่าเสื่อมราคาลดลงในอัตราเร่ง

วิธีคำนวณตามระดับของกิจกรรม (Activity-based Method)

วิธีนี้จะอ้างอิงจากระดับกิจกรรมรวมที่สินทรัพย์น่าจะใช้ประโยชน์ได้ โดยตัดค่าเสื่อมราคาหรือค่าตัดจำหน่ายตามระดับการใช้กิจกรรมแทนที่จะอ้างอิงไปตามอายุการใช้งาน โดยค่าเสื่อมราคาขึ้นอยู่กับระดับกิจกรรมที่ใช้ต่อระดับกิจกรรมทั้งหมดที่คาดว่าสินทรัพย์จะใช้ประโยชน์ได้

ยกตัวอย่างเช่น บริษัทซื้อสิทธิ์การใช้บริการฟิตเนสเพื่อเป็นของสมนาคุณให้ลูกค้า โดยสิทธิ์มูลค่า 1,000,000 บาท และบริษัทสามารถให้ลูกค้าเข้าใช้บริการในฟิตเนสดังกล่าวได้ 10,000 ครั้ง ดังนั้น หากในปีนี้ ลูกค้าไปใช้บริการทั้งสิ้น 750 คน บริษัทก็ต้องตัดค่าตัดจำหน่าย 75,000 บาท เป็นต้น

ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายถือเป็นรายการค่าใช้จ่ายสำคัญในงบการเงิน เนื่องจากส่วนหนึ่งมักมีมูลค่ามากและส่งผลต่องบกำไรขาดทุนและงบกระแสเงินสดได้มาก การเข้าใจการบันทึกค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายจะทำให้นักลงทุนสามารถมองหาโอกาสในการลงทุนได้ โดยนโยบายค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายและรายละเอียดเพิ่มเติมสามารถอ่านได้ที่หมายเหตุประกอบงบการเงินของบริษัทจดทะเบียน

ลงทุนศาสตร์ – Investerest

SaveSave

SaveSave