กระสุนเงินถือเป็นจุดตายของมนุษย์หมาป่า แล้วถ้าธนาคารคือมนุษย์หมาป่า จุดตายของธนาคารคืออะไร?
ผมขอเลือกตอบว่า NPL หรือสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (Non-Performing Loan)
ธุรกิจหลักของธนาคารคือระดมเงินฝากจากประชาชนทั่วไปโดยให้ดอกเบี้ยค่าหนึ่ง (ดอกเบี้ยเงินฝาก) และนำเงินที่ได้ไปปล่อยกู้ต่อโดยได้ดอกเบี้ยอีกค่าหนึ่ง (ดอกเบี้ยเงินกู้) ผลกำไรของธนาคารมาจาก NIM หรือ ส่วนต่างของอัตราสินเชื่อ (Net interest margin) ซึ่งในที่นี้หมายถึงส่วนต่างของดอกเบี้ยเงินฝากและดอกเบี้ยเงินกู้นั่นเอง
เช่น ธนาคารระดมเงินฝากมา 100 บาท โดยให้ดอกเบี้ยเงินฝาก 2% และธนาคารนำไปปล่อยกู้ต่อ โดยได้ดอกเบี้ยเงินกู้ 5% คิดแบบง่ายๆ ครบ 1 ปี ธนาคารจะมีรายได้ดอกเบี้ยเงินกู้ 5 บาท และต้องจ่ายดอกเบี้ยเงินฝาก 2 บาท เหลือเป็นส่วนต่างเบื้องต้นอยู่ที่ 3 บาท ก่อนจะไปหักรายได้อื่นอีกเพื่อจะกลายเป็นกำไรสุทธิ
จุดตายของธนาคารคือการผิดนัดชำระหนี้
เมื่อลูกหนี้ที่ขอกู้ยืมเงินไปไม่ยอมชำระเงินคืน โดยหากค้างชำระ 1 – 3 เดือนจะถูกบันทึกเป็นหนี้ชั้นกล่าวถึงเป็นพิเศษ แต่เมื่อค้างชำระเกิน 3 เดือนจะถูกระบุเป็นหนี้ชั้นต่ำกว่ามาตรฐาน ก่อนจะไล่ไปเป็นหนี้ชั้นสงสัย หนี้ชั้นสงสัยจะสูญ และหนี้สูญตามลำดับ โดยหนี้ตั้งแต่ชั้นต่ำกว่ามาตรฐาน หรือค้างชำระเกิน 3 เดือนขึ้นไปทั้งหมดจะถูกจัดเป็นสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (Non-Performing Loan) หรือจุดตายของธนาคารที่เรากล่าวถึงนั่นเอง
ธนาคารให้ลูกหนี้ยืมเงิน 100 บาท หากลูกหนี้คืนเงิน 100 บาทพร้อมดอกเบี้ย ธนาคารจะรับรู้รายได้เฉพาะส่วนดอกเบี้ย 5 บาท ส่วนเงิน 100 บาทที่เป็นเงินต้นจะไม่นับเป็นรายได้ แต่จะเป็นการเปลี่ยนจากสินเชื่อซึ่งเป็นสินทรัพย์ประเภทหนึ่งให้กลายเป็นเงินสดหรือสินทรัพย์ประเภทหนึ่งเท่านั้น
แต่เมื่อลูกหนี้ผิดนัดชำระหนี้
ธนาคารให้ลูกหนี้ยืมเงิน 100 บาท ธนาคารควรจะได้รับเงินต้นคืน 100 บาท พร้อมดอกเบี้ย 5 บาทแต่ไม่ได้ ธนาคารต้องตั้งสำรองหนี้สงสัยจะสูญทันที 105 บาท หรือคิดเป็นค่าใช้จ่ายจำนวนมหาศาลเมื่อเทียบกับดอกเบี้ยรับที่ได้รับในกรณีที่ไม่ผิดนัดชำระ นั่นก็เพราะธนาคารต้องสูญเสียเงินต้นไปเป็นจำนวนมากนั่นเอง
คุณภาพของสินเชื่อจึงเป็นหัวใจของการวิเคราะห์หุ้นกลุ่มธนาคารเสมอ
งบกำไรขาดทุนของหุ้นกลุ่มธนาคารเปรียบเสมือนยอดภูเขาน้ำแข็งที่นักลงทุนเห็น เพราะเราจะได้เห็นปลายบนสุดซึ่งคือดอกเบี้ยเงินกู้เพียงนิดเดียว แต่เราไม่เคยเห็นคุณภาพสินเชื่อที่ซ่อนอยู่ใต้ผืนน้ำเลยแม้แต่นิดเดียว วันไหนที่น้ำลดและตอผุดขึ้นมา ธนาคารอาจจะต้องตั้งสำรองปริมาณมหาศาลซึ่งอาจจะนำมาซึ่งการขาดทุนหนัก การจำเป็นต้องเพิ่มทุน หรือแม้กระทั่งการล้มละลายได้
ถึงแม้ว่าธนาคารพาณิชย์ในปัจจุบันจะถูกควบคุมอย่างเข้มงวดและไม่ค่อยมีการปล่อยเงินกู้ด้อยคุณภาพอย่างยุคต้มยำกุ้งแล้ว
แต่อย่างไรก็ตาม นักลงทุนก็จำเป็นต้องติดตามตัวเลข NPL เสมอ เพราะการตั้งสำรองเหล่านี้นำมาซึ่งการกดดันกำไรสุทธิโดยตรง ที่สำคัญที่สุด นักลงทุนควรมองให้ออกไปถึงพฤติกรรมองค์กรและลักษณะการปล่อยสินเชื่อของชุดผู้บริหารว่ามีความเสี่ยงและความโปร่งใสที่มากน้อยเพียงใด
การวิเคราะห์การบริหารถือเป็นเรื่องสำคัญของการวิเคราะห์หุ้นกลุ่มการเงินมาก มากเสียจนอาจจะเรียกได้ว่าสำคัญที่สุดกว่าหุ้นในทุกอุตสาหกรรมทีเดียว
ลงทุนศาสตร์ – Investerest