หุ้นธนาคารกับค่าธรรมเนียมที่หายไป

เมื่อต้นปี ธนาคารเปิดสงครามด้วยการประกาศฟรีค่าธรรมเนียมหากทำธุรกรรมผ่านแอพพลิเคชั่นออนไลน์ของธนาคาร งานนี้ธุรกิจ BANK และ non-BANK พลิกฝ่ามือภายในชั่วข้ามคืน

ก่อนจะไปพูดถึงผลที่จะเกิดขึ้น เราลองมาดูกันก่อนดีกว่าว่า “ค่าธรรมเนียม” ของธนาคารคิดเป็นรายได้กี่เปอร์เซ็นต์ของธนาคารกันแน่

ธนาคาร KBANK
รายได้ค่าธรรมเนียมปี 2560 เท่ากับ 51,757.10 ล้านบาท
คิดเป็น 33.00% ของรายได้รวม

ธนาคาร SCB
รายได้ค่าธรรมเนียมปี 2560 เท่ากับ 36,854.86 ล้านบาท
คิดเป็น 22.75% ของรายได้รวม

ธนาคาร BBL
รายได้ค่าธรรมเนียมปี 2560 เท่ากับ 36,459.91 ล้านบาท
คิดเป็น 25.68% ของรายได้รวม

ธนาคาร KTB
รายได้ค่าธรรมเนียมปี 2560 เท่ากับ 28,638.26 ล้านบาท
คิดเป็น 18.95% ของรายได้รวม

อะไรจะเกิดขึ้นบ้างเมื่อค่าธรรมเนียมหายไปจากการโอนเงิน?

1. รายได้ค่าธรรมเนียมและบริการจะลดลง

เรื่องที่ตรงไปตรงมาที่สุดและชัดเจนที่สุดคือรายได้ในขาค่าธรรมเนียมและบริการจะลดลง ธนาคารที่มีสัดส่วนรายได้ค่าธรรมเนียมมากกว่าจะได้รับผลกระทบมากกว่าตามนัยยะเชิงตัวเลข หากเทียบใน 4 ธนาคารใหญ่แล้ว KBANK น่าจะได้รับผลกระทบสูงสุดเพราะสัดส่วนรายได้ค่าธรรมเนียมต่อรายได้รวมสูงถึง 33 เปอร์เซ็นต์ ในขณะที่ KTB น่าจะได้รับผลกระทบน้อยสุดเพราะมีสัดส่วนต่อกว่า 20 เปอร์เซ็นต์ อย่างไรก็ตาม ค่าธรรมเนียมรับของธนาคารนั้นไม่ได้มีเพียงแต่ค่าธรรมเนียมจากการโอนเงินเท่านั้น เพราะธนาคารยังมีรายได้ค่าธรรมเนียมอื่นอีก เช่น ค่าธรรมเนียมในการขายผลิตภัณฑ์ทางการเงินต่างๆ เป็นต้น แต่อย่างไรก็ตาม รายได้ค่าธรรมเนียมในสัดส่วนนี้ก็มีแนวโน้มจะลดลงค่อนข้างแน่นอน เพียงแต่จะลดมากหรือลดน้อยเท่านั้นเอง

2. แนวโน้มการปิดสาขาจะเร่งตัวมากขึ้น

แนวโน้มที่จะมาชดเชยค่าธรรมเนียมที่หายไปได้ตรงไปตรงมาที่สุดคือ “การปิดสาขา” ถึงแม้ว่าธนาคารทุกธนาคารจะไม่ได้ออกมาพูดอย่างตรงไปตรงมาว่าจะเร่งตัวการปิดสาขาให้มากขึ้น แต่จำนวนสาขาของธนาคารก็ลดลงเร็วขึ้นเรื่อยๆ บริการออนไลน์ถือเป็นฝั่งกลับกันของสาขาโดยตรง การจะพยุงกำไรของบริษัทให้ทรงตัวอยู่ได้ง่ายที่สุดระหว่างที่พยายามหารายได้มาชดเชยค่าธรรมเนียมที่หายไป คือ การลดค่าใช้จ่ายที่ไม่สร้างรายได้ ซึ่งการปิดตัวของสาขาดูจะชัดเจนที่สุด ยิ่งเมื่อคนใช้บริการออนไลน์มากขึ้น คนใช้บริการที่สาขายิ่งน้อยลง การปิดสาขาหรือยุบรวมสาขาจะช่วยประหยัดต้นทุนไปได้มาก ทั้งค่าอาคารสถานที่ ค่าเช่า ค่าพนักงาน ค่าการดูแลรักษา ทั้งหมดเปลี่ยนมาเป็นต้นทุนด้านงานไอที และหันไปลดค่าธรรมเนียมให้ผู้ใช้บริการเพื่อจูงใจคนให้หันมาใช้ออนไลน์แทน

3. ธนาคารจะแข่งขันกันดุเดือดมากขึ้น

ทำไม KBANK ผู้มีสัดส่วนค่าธรรมเนียมต่อรายได้รวมสูงสุดถึงประกาศฟรีค่าธรรมเนียมในช่วงข้ามวัน คำตอบในจินตนาการที่ง่ายที่สุดก็คือ “SCB ประกาศมาก่อนแล้วไง” พอคู่แข่งที่มีขนาดใกล้เคียงกันเริ่มให้ฟรี คู่แข่งที่เหลือก็ต้องสู้ เพราะถ้าไม่สู้ ลูกค้าก็ไหลไปธนาคารอื่นหมด ดังนั้นหลังจากนี้ก็เหมือนเป็นการบังคับกลายๆ ให้ทุกคนต้องฟรี พอ KBANK ประกาศเสร็จ ในวันเดียวกัน ทั้ง KTB และ BBL ก็ประกาศออกมาเช่นกัน ธนาคารที่เหลือหากไม่ยอมฟรีค่าธรรมเนียมให้ ต่อไปใครจะใช้บริการ เพราะไปใช้ธนาคารที่ใหญ่กว่าและฟรีค่าธรรมเนียมดีกว่า ต่อไปต้นทุนการย้ายค่ายธนาคารจะง่ายเหมือนกว่าย้ายค่ายมือถือแล้ว เพราะปัจจุบันธนาคารจำนวนมากสามารถเปิดบัญชีออนไลน์ได้แล้ว ย้ายธนาคารก็แค่เปิดบัญชีฟรี โอนเงินในบัญชีไปฟรี ไม่ต้องไปสาขาด้วยซ้ำ ต่อไปธนาคารไหนไม่จูงใจลูกค้า ลูกค้าก็ไม่เหลือเหตุผลจะฝืนอยู่อีกต่อไป เพราะต้นทุนการย้ายค่ายแทบไม่เหลืออยู่เลย

4. ธนาคารจะหันมาบริการความมั่งคั่งส่วนบุคคลมากขึ้น

หากไปดูโมเดลธนาคารในประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างสหรัฐอเมริกา จะพบว่าธนาคารจะเน้นเรื่อง investment banking และการให้บริการ wealth management ให้ลูกค้ามาก ตั้งแต่วางแผนการเงิน วางแผนการลงทุน วางแผนเกษียณ เพราะรายได้จากการบริหารความมั่งคั่งนี้ให้ค่าธรรมเนียมในอัตราค่อนข้างดี และเป็นค่าธรรมเนียมที่ไม่ได้คิดจากผู้ใช้บริการโดยตรง แต่จะแฝงอยู่ในค่าคอมมิชชัน ดังนั้น ผู้ใช้บริการจะมีความเต็มใจจะใช้บริการมากกว่า เราจึงได้เห็นธนาคารใหญ่ๆ หลายธนาคารเริ่มหันมาเปิดศูนย์การบริหารความมั่งคั่ง ศูนย์วางแผนการลงทุน เพราะเทรนด์ของรายได้ขานี้ยังคงดูดีในระยะยาวในอนาคต ยิ่งประชาชนมีรายได้ต่อหัวสูงมากขึ้น แนวโน้มการวางแผนการเงินของประชาชนจะยิ่งสูงขึ้นตาม

ตอบได้ยากว่าอะไรจะคือก้าวต่อไปของธนาคารทั้งหลาย แต่ในแง่ของประชาชนคนใช้บริการแล้ว พวกเราได้ประโยชน์กันเต็มๆ จากต้นทุนการใช้บริการที่ถูกลง

ติดตามกันต่อไปว่าหุ้นธนาคารจะแก้เกมกันอย่างไร แต่เชื่อขนมกินได้เลยว่า …สนุกแน่นอน

ลงทุนศาสตร์ – Investerest