Highlight



ตลาดหุ้นเกาหลีใต้เป็นดาวเด่นแห่งเอเชียด้วยชื่อเสียงในฐานะศูนย์กลางเทคโนโลยีและนวัตกรรม แต่ปัจจุบันดัชนี KOSPI กำลังเผชิญความท้าทาย แม้จะมีพื้นฐานแข็งแกร่ง แต่กลับไม่สามารถแสดงศักยภาพได้เต็มที่ 

ในขณะที่ตลาดหุ้นทั่วโลกเฟื่องฟู KOSPI กลับเคลื่อนไหวในกรอบแคบ เหตุใดตลาดที่เคยเป็นสัญลักษณ์แห่งความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีจึงดูเหมือนจะหยุดนิ่ง? และความหวังใหม่จากดัชนี Value-Up จะพลิกโฉมตลาดหุ้นเกาหลีใต้หรือไม่?

เกิดอะไรกับตลาดหุ้นเกาหลีใต้?

ตลาดหุ้นเกาหลีใต้มีภาพลักษณ์ชัดเจนว่าเป็นตัวแทนของอุตสาหกรรมเทคโนโลยีในเอเชีย เนื่องจากมีบริษัทเทคโนโลยีชั้นนำและสตาร์ตอัปยูนิคอร์นมากมาย ซึ่งเกิดขึ้นจากการสนับสนุนของรัฐบาลในการสร้างโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีตั้งแต่ปลายทศวรรษ 1980

เปรียบเทียบดัชนีตลาดหุ้นเกาหลีใต้ (KOSPI), ไต้หวัน (TAIEX), และญี่ปุ่น (TOPIX) | Source: Bloomberg

แต่ในปัจจุบัน หากเปรียบเทียบผลการดำเนินงานของตลาดหุ้นเกาหลีใต้ (KOSPI) กับตลาดหุ้นไต้หวัน (TAIEX) ซึ่งมีภาพลักษณ์คล้าย ๆ กันคือเป็นตัวแทนของอุตสาหกรรมเทคโนโลยีในเอเชีย กลับพบว่าตลาดหุ้นไต้หวันมีการฟื้นตัวที่โดดเด่นกว่า แม้ว่าจะมีช่วงเวลาที่ตลาดหุ้นตกต่ำแต่ก็สามารถกลับมาขึ้นได้อีกครั้ง

ในขณะที่ตลาดหุ้นเกาหลีใต้ (KOSPI) ยังคงมีแนวโน้มเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบแคบ (Sideway) ซึ่งตลาดหุ้นญี่ปุ่น (TOPIX) เองก็เคลื่อนไหวในลักษณะแบบเดียวกัน อย่างไรก็ตาม ตลาดหุ้นญี่ปุ่นก็ยังคงทำผลงานได้ดีกว่าตลาดหุ้นเกาหลีใต้

พื้นฐาน KOSPI ยังแข็งแกร่ง

ข้อมูล EPS และ P/E Ratio ของ KOSPI | Source: Bloomberg

ข้อมูลสำคัญระบุว่า ปัจจุบันดัชนี KOSPI อยู่ที่ประมาณ 2,600 จุด และยังคงเคลื่อนไหวในลักษณะ Sideway อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาที่ EPS หรือกำไรต่อหุ้นของดัชนี KOSPI ในปีนี้ จะเห็นว่าอยู่ที่ 259.4 ส่วนคาดการณ์ EPS (Forward EPS) ในอีก 12 เดือนข้างหน้าคือ 305.5 และ Forward EPS ปี 2025 ซึ่งคาดว่าจะอยู่ที่ 323.7

เห็นได้ว่า Forward EPS สำหรับดัชนี KOSPI ยังคงมีแนวโน้มเติบโต แต่ทำไมราคาจึงยังไม่ปรับตัวตาม?

เปรียบเทียบตลาดหุ้นเกาหลีใต้ (KOSPI) กับตลาดหุ้นทั่วโลก | Source: Bloomberg

เมื่อลองเปรียบเทียบตลาดหุ้นเกาหลีใต้กับตลาดอื่น ๆ จะพบว่าตลาดหุ้นทั่วโลกมีการปรับตัวสูงขึ้น (Index Performance) แต่ดัชนี KOSPI ของเกาหลีใต้กลับลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยตั้งแต่ต้นปี (YTD) ดัชนี KOSPI ปรับตัวลดลงไปแล้วกว่า 3%

นอกจากนี้ ยังพบว่าการปรับประมาณการกำไรในปี 2024 (Earnings Revision in 2024) ในช่วง 3 เดือนของดัชนี KOSPI เพิ่มขึ้นถึง 3.7% ในขณะที่ตลาดหุ้นประเทศพัฒนาแล้วส่วนใหญ่กลับปรับประมาณการกำไรลดลง เช่น S&P 500 -0.8%, NASDAQ 100 -2.5% และ Russell 2000 -14.6%

สำหรับการเติบโตของกำไร (Earning Growth) ในปี 2023 ดัชนี KOSPI ทำผลงานได้ไม่ดีนัก โดยติดลบไปถึง -32% ซึ่งเป็นอันดับรองสุดท้าย ทำผลงานได้ดีกว่าเพียงตลาดหุ้นอินโดนีเซีย (Jakarta Stock Exchange) ที่ติดลบถึง -35.8

จากตารางข้างต้น หากเราพิจารณาคาดการณ์การเติบโตของกำไรในปี 2024 จะพบว่า KOSPI มีโอกาสที่จะเติบโตถึง 85.6% และในปี 2025 คาดว่าจะเติบโตเพิ่มอีก 25.4%

P/E Ratio ของดัชนี KOSPI ตั้งแต่ปี 2010 – 2024 | Source: CEIC Data

ในด้านการประเมินมูลค่า พบว่าดัชนี KOSPI มี Forward P/E (12 เดือนข้างหน้า) อยู่ที่ 8.4 เท่า ถือว่าต่ำกว่าค่าเฉลี่ย P/E Ratio ของดัชนี KOSPI ตั้งแต่ปี 2010 – 2024 ซึ่งอยู่ที่ประมาณ 16.7 เท่า ทั้งยังต่ำกว่าค่าต่ำสุดที่บันทึกไว้ในปี 2021 ที่ประมาณ 9.2 เท่า

ด้วยปัจจัยพื้นฐานที่แข็งแกร่งของดัชนี KOSPI ทำไมตลาดหุ้นเกาหลีใต้จึงเคลื่อนไหวในกรอบแคบ? ยังคงเป็นคำถามที่นักลงทุนจำนวนมากสงสัย

Samsung ตัวร้ายกับนาย KOSPI

KOSPI Stock Heatmap (YTD) | Source: Tradingview

KOSPI Stock Heatmap (YTD) แสดงให้เห็นว่าหุ้นหลายตัวในเกาหลีใต้ปรับตัวสูงขึ้นตั้งแต่ต้นปี แต่ก็มีหุ้นบางตัวที่ปรับตัวลดลง โดยเฉพาะ Samsung ที่ร่วงลงเกือบ -20% YTD

หุ้น Samsung เป็นหนึ่งในปัจจัยหลักที่ส่งผลต่อตลาดหุ้นเกาหลีใต้ เนื่องจากหุ้นนี้มีความสำคัญต่ออุตสาหกรรมเทคโนโลยีและมีบทบาทสำคัญในตลาดหลักทรัพย์ นอกจากนั้น หุ้น Samsung ยังมีความถ่วงน้ำหนักสูงในดัชนี การเคลื่อนไหวของราคาหุ้น Samsung จึงมีผลกระทบโดยตรงต่อตลาดหุ้นเกาหลีใต้

 iShares MSCI South Korea ETF Top 5 Holdings | Source: Financial Times

สังเกตได้จากการที่ iShares MSCI South Korea ETF ถือหุ้น Samsung มากกว่า 20% ของพอร์ต ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความสำคัญของหุ้นนี้ในตลาด 

โดย iShares เป็นผู้ให้บริการ ETF รายใหญ่ ภายใต้การบริหารจัดการของ BlackRock บริษัทจัดการการลงทุนที่ใหญ่ที่สุดในโลก มีสินทรัพย์รวมกว่า 10.6 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 350 ล้านล้านบาท) เทียบได้กับทองคำประมาณ 130,000 ตัน สะท้อนถึงขนาดของการลงทุนที่สูงมาก

Samsung Electronics เป็นหุ้นหลักในตลาดเกาหลีใต้และได้รับความสนใจจากนักลงทุนทั่วโลก เพราะมีบทบาทสำคัญในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์และผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์อื่น ๆ

โดยก่อนหน้านี้ในช่วงเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา หุ้น Samsung ประสบปัญหาหลังจากชิป HBM ไม่ผ่านการทดสอบจาก Nvidia เนื่องจากปัญหาความร้อนและการใช้พลังงาน

การผ่านมาตรฐานของ Nvidia เป็นเรื่องสำคัญ เนื่องจากบริษัทครองส่วนแบ่งตลาดมากกว่า 80% สำหรับชิป AI ทำให้เกิดความกังวลว่าแนวโน้มที่ Samsung จะได้รับประโยชน์จากความต้องการ AI อาจเปลี่ยนไป หากบริษัทเสียส่วนแบ่งการตลาดในภาคชิป HBM ให้กับคู่แข่งอย่าง Micron และ SK Hynix

ราคาหุ้น Samsung ลดลงอย่างต่อเนื่อง | Source: Google Finance

ดัชนี Value-Up แรงขับเคลื่อนใหม่ของตลาดหุ้นเกาหลีใต้

เกาหลีใต้กำลังเตรียมเปิดตัวดัชนี Value-Up Index ในเดือนกันยายนนี้ เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการปรับปรุงการบริหารองค์กรและเพิ่มผลตอบแทนให้แก่ผู้ถือหุ้น โดยดัชนีนี้จะพิจารณาปัจจัยต่าง ๆ เช่น ความสามารถในการทำกำไร อัตราการจ่ายปันผล และประสิทธิภาพในการบริหารทุน

นักลงทุนคาดหวังว่าดัชนีใหม่นี้จะกระตุ้นการไหลเข้าของเงินทุนและสร้างแรงจูงใจให้บริษัทปฏิบัติตามนโยบายของรัฐบาล

อย่างไรก็ตาม Samsung Electronics ซึ่งเป็นบริษัทที่ใหญ่ที่สุดในตลาดหุ้นเกาหลีใต้ ยังไม่ได้เปิดเผยกลยุทธ์ Value-Up ขณะที่บริษัทคู่แข่งอย่าง Hyundai Motor และ LG Corp. ได้ประกาศแผนดังกล่าวไปแล้ว ทำให้ Samsung ถูกตั้งคำถามว่าจะถูกรวมอยู่ในดัชนี Value-Up นี้หรือไม่

หาก Samsung ไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของดัชนี Value-Up จะทำให้บริษัทพลาดโอกาสในการดึงดูดเงินลงทุนจำนวนมากที่คาดว่าจะไหลเข้ามาในดัชนี ซึ่งอาจทำให้ราคาหุ้นของ Samsung ไม่ได้รับอานิสงส์จากมาตรการกระตุ้นตลาดครั้งนี้

ดัชนี Value-Up นี้ได้แรงบันดาลใจมาจากดัชนี JPX Prime 150 Index ของญี่ปุ่น ซึ่งเปิดตัวในปี 2023 แม้ว่าความพยายามของญี่ปุ่นจะประสบความสำเร็จในการผลักดันดัชนีหุ้นให้สูงขึ้น แต่นักวิเคราะห์ได้ย้ำว่าความสำเร็จของ JPX Prime 150 นั้นเป็นผลมาจากการดำเนินนโยบายอย่างต่อเนื่องเป็นเวลาหลายปี

แม้ว่าดัชนี KOSPI จะมีพื้นฐานที่ยังดูดี โดยเฉพาะการเติบโตของ EPS และค่า P/E ที่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในอดีต แต่ตลาดหุ้นเกาหลีใต้กลับไม่ปรับตัวตามเหตุผลเหล่านี้ ซึ่ง Samsung ยักษ์ใหญ่แห่งวงการเทคโนโลยี ดูเหมือนจะเป็น “ผู้ร้าย” ที่ชะลอการปรับตัวของตลาดหุ้นเกาหลีใต้

ท้ายที่สุด เมื่อพิจารณาจากข้อมูลทั้งหมด คุณคิดว่าตลาดหุ้นเกาหลีใต้มีโอกาสที่จะฟื้นกลับขึ้นมาและกลายเป็น “ม้ามืด” ในตลาดหุ้นเอเชียได้ไหม?

กองทุนหุ้นเกาหลี แนะนำโดย Finnomena Funds

  1. SCBKEQTG
  • MEVT Call แนะนำ “SCBKEQTG” กองทุนหุ้นเกาหลี ลงทุนในกองทุนหลักคือ iShares MSCI South Korea ETF ที่มีค่า Correlation กับ KOSPI Index ตั้งแต่จัดตั้งที่ 0.888
  • กลยุทธ์ลงทุนแบบ Passive เพื่อให้สามารถสร้างผลตอบแทนได้ใกล้เคียงหรือเทียบเท่ากับผลตอบแทนจากการลงทุนในดัชนี MSCI Korea 25/50
  • ดูรายละเอียดกองทุนเพิ่มเติมได้ที่ https://finno.me/mevt-scbkeqtg

 

อ่านคำแนะนำ MEVT Call เพิ่มเติมได้ที่ https://www.finnomena.com/opportunity-hub/investment-call/mevt/kospi-aug-2023

  1. DAOL-KOREAEQ
  • FundTalk Call แนะนำ “DAOL-KOREAEQ” กองทุนหุ้นเกาหลี ลงทุนในกองทุนหลักคือ JPMorgan Funds – Korea Equity Fund
  • มีนโยบายการลงทุนแบบ Active ซึ่งทำผลตอบแทน 5 ปีย้อนหลังชนะดัชนี KOSPI ของเกาหลีใต้ไปได้ถึง 20%
  • ดูรายละเอียดกองทุนเพิ่มเติมได้ที่ https://finno.me/ft-call-daol-koreaeq

 

อ่านคำแนะนำ FundTalk Call เพิ่มเติมได้ที่ https://www.finnomena.com/opportunity-hub/investment-call/fundtalk/korea-jun-2024

เศรษฐกิจเกาหลีใต้ฟื้นตัว 3 เดือนติด ภาคการผลิต-ส่งออกพุ่ง ตลาดแรงงานแกร่ง เงินเฟ้อเริ่มชะลอตัว


ที่มา: Bloomberg, Yahoo Finance, Tradingview, Financial Times, FINNOMENA, Investing.com, CEIC Data, Google Finance

คำเตือน: การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนต้องทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน และความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุน | การลงทุนในกองทุนรวมไม่ใช่การฝากเงิน | กองทุนอาจลงทุนกระจุกตัวในอุตสาหกรรมและประเทศที่ลงทุน จึงมีความเสี่ยงที่ผู้ลงทุนอาจสูญเสียเงินลงทุนจำนวนมาก ผู้ลงทุนจึงควรพิจารณาการกระจายความเสี่ยงของพอร์ตการลงทุนโดยรวมของตนเองด้วย | ผู้ลงทุนอาจมีความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน เนื่องจากการป้องกันความเสี่ยงขึ้นอยู่กับดุลพินิจของผู้จัดการกองทุน | สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมหรือขอรับหนังสือชี้ชวนได้ที่บริษัทหลักทรัพย์นายหน้าซื้อขายหน่วยลงทุน ฟินโนมีนา จำกัด ในช่วงเวลาวันทำการตั้งแต่ 09:00-17:00 . ที่หมายเลขโทรศัพท์ 02 026 5100 และทาง LINE “@FinnomenaPort”