Highlight
- ทำความรู้จัก ‘กองทุนวายุภักษ์’
- ทำไมถึงมีโอกาสกำหนดผลตอบแทนขั้นต่ำได้
- กลไกบริหารความเสี่ยง
- ‘วายุภักษ์’ ลงทุนในสินทรัพย์อะไรบ้าง
- รายละเอียดการจองซื้อ
- ความหวังของตลาดหุ้นไทย
- ความเสี่ยงที่จำเป็นต้องรู้
‘กองทุนวายุภักษ์’ กลายเป็นปรากฏการณ์ใหม่ในวงการลงทุนไทย ด้วยโอกาสได้รับผลตอบแทนที่น่าสนใจและความเสี่ยงที่ดูเหมือนจะควบคุมได้ ทำให้กองทุนนี้กลายเป็นที่จับตามองของทั้งมือใหม่และนักลงทุนที่มีประสบการณ์
วันนี้ Finnomena Funds จะพาทุกคนไปเจาะลึกทุกแง่มุมของกองทุนวายุภักษ์ ตั้งแต่ผลตอบแทนคาดหวังที่น่าสนใจ ไปจนถึงกลไกการบริหารความเสี่ยงที่หลายคนสงสัย เพื่อให้เราตัดสินใจลงทุนได้อย่างมั่นใจ
รูปแบบและโครงสร้างกองทุนวายุภักษ์ หนึ่ง | ที่มา: กระทรวงการคลัง
ทำความรู้จัก ‘กองทุนวายุภักษ์’ ที่กำลังมาแรง
“กองทุนรวมวายุภักษ์ หนึ่ง” เป็นกองทุนรวมพิเศษที่ตั้งขึ้นมาเพื่อตอบสนองนโยบายภาครัฐ โดยเริ่มต้นมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2546 มีจุดประสงค์เพื่อบริหารจัดการสินทรัพย์ของรัฐให้เกิดประโยชน์สูงสุด สร้างผลตอบแทนที่มั่นคงในระยะยาว ส่งเสริมการเติบโตของเศรษฐกิจและตลาดทุน พร้อมทั้งเพิ่มทางเลือกในการออมและลงทุนให้กับประชาชน
โดยแบ่งผู้ถือหน่วยลงทุนเป็น 2 ประเภท คือ
- ประเภท ก. สำหรับนักลงทุนทั่วไป
- ประเภท ข. สำหรับกระทรวงการคลังและนักลงทุนภาครัฐ
ต่อมาในปี พ.ศ. 2556 มีการรับซื้อคืนหน่วยลงทุนประเภท ก. ทั้งหมด และแปรสภาพเป็นกองทุนรวมเปิด เหลือเพียงผู้ถือหน่วยลงทุนประเภท ข. เท่านั้น
ปัจจุบันกองทุนวายุภักษ์กำลังจะเปิดให้ผู้ลงทุนรายย่อยจองซื้อหน่วยลงทุนประเภท ก. อีกครั้ง ในวันที่ 16 – 20 กันยายนนี้ ที่ราคาหน่วยละ 10 บาท เริ่มต้นที่ 1,000 หน่วย หรือเท่ากับ 10,000 บาท และเพิ่มขึ้นครั้งละ 100 หน่วย หรือ 1,000 บาท
ทั้งนี้ ผู้ลงทุนรายย่อยจะได้รับการจัดสรรด้วยวิธี Small Lot First หรือก็คือผู้ที่จองซื้อด้วยจำนวนน้อยกว่าจะได้รับการจัดสรรก่อน เพื่อกระจายหน่วยลงทุนอย่างเท่าเทียม
มีโอกาสสร้างผลตอบแทนที่มากกว่าเงินฝาก
ผลตอบแทนประจำปีของกองทุนจะจ่ายให้ผู้ถือหน่วยลงทุนประเภท ก. ในรูปแบบ ‘เงินปันผล’ ตามผลตอบแทนที่เกิดขึ้นจริง มีโอกาสรับผลตอบแทนไม่น้อยกว่า 3% ต่อปี และ ไม่เกินกว่า 9% ต่อปี ซึ่งจะกำหนดไว้เป็นอัตราคงที่ 10 ปี โดยเงินปันผลจะต้องเสียภาษี 10% ไม่มีข้อยกเว้นเป็นกรณีพิเศษ (กองทุนรวมนี้ไม่ใช่กองทุนรวมมีประกันเงินลงทุนและผลตอบแทน)
ทั้งนี้ ผู้ถือหน่วยลงทุนประเภท ก. จะมีโอกาสได้รับเงินปันผลอย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง คำนวณจากมูลค่าที่ตราไว้ (Par) ของหน่วยลงทุนประเภท ก. ที่ 10 บาทต่อหน่วย ซึ่งครั้งแรกจะมีโอกาสจ่ายผลตอบแทนขั้นต่ำ 3% ส่วนครั้งที่ 2 จะมีโอกาสจ่ายผลตอบแทนขั้นต่ำ 3% รวมกับผลตอบแทนส่วนเพิ่ม (ถ้ามี)
ตัวอย่าง: หากเราลงทุน 10,000 บาทในกองทุนวายุภักษ์ และกองทุนมีกำไร 3% ตามที่กำหนด (ผลตอบแทนขั้นต่ำ) เราจะมีโอกาสได้รับเงินปันผลกลางปี 135 บาท และสิ้นปีอีก 135 บาท รวมเป็น 270 บาทต่อปี (300 บาท หักภาษี 10%) ตลอดระยะเวลา 10 ปี
หมายความว่าหากเราถือหน่วยลงทุนครบ 10 ปี เราจะได้รับผลเงินปันผลทั้งหมด 2,700 บาท แถมยังได้รับเงินลงทุนตั้งต้นคืนเต็มจำนวนอีกด้วย
ผลตอบแทนที่ผู้ถือหน่วยลงทุนจะได้รับ | ที่มา: กระทรวงการคลัง
ทำไมถึงมีโอกาสสร้างผลตอบแทนขั้นต่ำได้
กองทุนรวมวายุภักษ์มีโอกาสกำหนดผลตอบแทนขั้นต่ำได้ด้วยการออกแบบโครงสร้างการลงทุนแบบ 2 ชั้น ดังนี้
– ชั้นแรกคือผู้ถือหน่วยลงทุนประเภท ก. ซึ่งเป็นนักลงทุนรายย่อย จะมีโอกาสได้รับผลตอบแทนขั้นต่ำ 3% ต่อปี และสูงสุดไม่เกิน 9% ต่อปี ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับผลการดำเนินงานจริงของกองทุน
– ชั้นที่ 2 คือผู้ถือหน่วยลงทุนประเภท ข. ซึ่งเป็นนักลงทุนภาครัฐและกระทรวงการคลัง จะมีบทบาทสำคัญในการรองรับความผันผวนของกองทุนโดยผู้ถือหน่วยประเภท ข. จะได้รับผลตอบแทนส่วนที่เหลือจากการจ่ายเงินปันผลให้ผู้ถือหน่วยลงทุนประเภท ก. ซึ่งอาจหมายถึงการรับภาระขาดทุนในกรณีที่ผลตอบแทนรวมต่ำกว่า 3% แต่ก็มีโอกาสได้รับผลตอบแทนที่สูงกว่า 9% หากกองทุนทำผลงานได้ดีเกินคาด
กลไกนี้ช่วยกระจายความเสี่ยงและผลตอบแทน ทำให้กองทุนสามารถคุ้มครองนักลงทุนรายย่อยจากความผันผวน ขณะเดียวกันก็ดึงดูดนักลงทุนภาครัฐและกระทรวงการคลังด้วยโอกาสรับผลตอบแทนที่สูงขึ้น จึงเป็นเหตุผลที่กองทุนมีโอกาสกำหนดผลตอบแทนขั้นต่ำให้กับนักลงทุนรายย่อยได้
กลไกบริหารความเสี่ยงของกองทุนวายุภักษ์ หนึ่ง | ที่มา: กระทรวงการคลัง
กลไกบริหารความเสี่ยง
ผู้ถือหน่วยลงทุนประเภท ก. มีโอกาสจะได้รับการคุ้มครองในกรณีที่กองทุนมีมูลค่าลดลง ตามแนวทางการชำระคืนเงินลงทุนแบบ Waterfall โดยผู้ถือหน่วยลงทุนประเภท ก. จะมีโอกาสได้รับคืนเงินลงทุนก่อนผู้ถือหน่วยลงทุนประเภท ข. ที่มูลค่าเงินลงทุนเริ่มต้น 10 บาทต่อหน่วย
ทั้งนี้ กองทุนมีกลไกการบริหารความเสี่ยง โดยใช้ตัวชี้วัดที่เรียกว่า ACR (Asset Coverage Ratio) ซึ่งเปรียบเสมือนตัวบอกว่ากองทุนมีเงินสำรองเพียงพอที่จะจ่ายเงินคืนให้เราหรือไม่
โดยจากข้อมูล NAV รวมของกองทุน ณ วันที่ 6 กันยายน 2567 และในกรณีที่เสนอขายหน่วยลงทุนประเภท ก. เป็นมูลค่ารวม 150,000 ล้านบาท ACR จะอยู่ที่ประมาณ 3.36 เท่า
ซึ่งหาก ACR ลดลงต่ำกว่า 2 เท่า ติดต่อกัน 5 วันทำการ บริษัทจัดการจะเพิ่มสัดส่วนของสินทรัพย์สภาพคล่อง หรือกันส่วนสำรองเพื่อการจ่ายเงินปันผลให้เพียงพอ ต่อการจ่ายผลตอบแทนขั้นต่ำแก่ผู้ถือหน่วยลงทุนประเภท ก. ได้เป็นระยะเวลาประมาณ 2 ปี
และหาก ACR ลดลงต่ำกว่า 1.5 เท่า ติดต่อกัน 5 วันทำการ บริษัทจัดการอาจพิจารณาเปลี่ยนสินทรัพย์ลงทุนให้เป็นสินทรัพย์ที่มีสภาพคล่อง จำนวนไม่น้อยกว่าเงินลงทุนเริ่มต้นของหน่วยลงทุนประเภท ก. ภายในระยะเวลา 90 วัน
จากนั้นจะนำมาเก็บไว้เป็นเงินสำรองสำหรับชำระคืนเงินลงทุนของหน่วยลงทุนประเภท ก. โดยจะทยอยเปลี่ยนสินทรัพย์เพื่อผลประโยชน์ของผู้ถือหน่วยลงทุนประเภท ก. หรือรับซื้อคืนหน่วยลงทุนอัตโนมัติจากผู้ถือหน่วยลงทุนประเภท ก. ทั้งหมดหรือบางส่วน
ดังนั้น จึงเปรียบเสมือนว่าผู้ถือหน่วยลงทุนประเภท ก. ได้รับความคุ้มครองจากกลไกการบริหารความเสี่ยงก่อนผู้ถือหน่วยลงทุนประเภท ข. และเพื่อตอบแทนการให้ความคุ้มครองตามกลไกบริหารความเสี่ยงดังกล่าว ผู้ถือหน่วยลงทุนประเภท ข. จะได้รับเงินปันผลหรือสามารถขายคืนหน่วยลงทุนได้ โดยคำนวณจากส่วนที่เกินกว่า NAV เริ่มต้นของหน่วยลงทุนประเภท ข. (กองทุนรวมนี้ไม่ใช่กองทุนรวมมีประกันเงินลงทุนและผลตอบแทน)
นโยบายการลงทุนของกองทุนวายุภักษ์ หนึ่ง | ที่มา: กระทรวงการคลัง
‘วายุภักษ์’ ลงทุนในสินทรัพย์อะไรบ้าง
กองทุนวายุภักษ์มีนโยบายลงทุนแบ่งเป็น 3 ประเภท คือ
- หลักทรัพย์สภาพคล่อง เช่น ตราสารภาครัฐ ตราสารหนี้ระยะสั้น และเงินฝาก
- หลักทรัพย์ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
- และหลักทรัพย์อื่น ๆ ที่ไม่ได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์
กองทุนมีการบริหารทั้งแบบเชิงรุก (Active Investment) และแบบเชิงรับ (Passive Investment) ส่วนใหญ่ลงทุนในหุ้นที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ โดยจะเน้นลงทุนในหุ้นของบริษัทที่มีปัจจัยพื้นฐานดี มีความมั่นคงในระยะยาว ดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน และมีการกำกับดูแลกิจการที่ดี
เช่น บริษัทที่อยู่ใน SET100 ซึ่งได้รับคะแนน SET ESG Ratings ระดับ A ขึ้นไป หรือบริษัทนอก SET100 ที่ได้รับคะแนน SET ESG Ratings สูงกว่า เป็นต้น
อีกทั้งอาจพิจารณาลงทุนในกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ และทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ (REIT) ที่มีอัตราผลตอบแทนดีหรือมีแนวโน้มเติบโตสูง มีสภาพคล่อง รวมถึงมีการกำกับดูแลกิจการที่ดี
นอกจากนี้ กองทุนอาจลงทุนในสัญญาซื้อขายล่วงหน้าเพื่อป้องกันความเสี่ยงหรือลงทุนในสัญญาซื้อขายล่วงหน้าเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารกองทุน
สัดส่วนการลงทุนของกองทุนวายุภักษ์ หนึ่ง | ที่มา: Settrade | ข้อมูล ณ วันที่ 1 กรกฎาคม 2567
สัดส่วนการลงทุน 10 อันดับแรก
*ข้อมูล ณ วันที่ 1 กรกฎาคม 2567 สัดส่วนอาจมีการเปลี่ยนแปลง
- หุ้นสามัญในประเทศ 88.49%
- พันธบัตรธนาคารแห่งประเทศไทย 7.79%
- ตั๋วเงินคลัง และเงินฝากธนาคาร 2.45%
- หุ้นกู้ 0.72%
- สินทรัพย์ และหนี้สินอื่น ๆ 0.45%
- หน่วยลงทุนตราสารทุน 0.53%
- พันธบัตรรัฐบาล 0.27%
- หน่วยลงทุนในกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน 0.18%
- ตั๋วแลกเงิน 0.16%
- หุ้นบุริมสิทธิ 0.05%
- ใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้น 0.02%
Top 5 Holdings | ที่มา: Settrade | ข้อมูล ณ วันที่ 1 กรกฎาคม 2567
หุ้นที่ ‘วายุภักษ์’ ถือครองมากที่สุด 5 อันดับแรก
*ข้อมูล ณ วันที่ 1 กรกฎาคม 2567 สัดส่วนอาจมีการเปลี่ยนแปลง
- ปตท. (PTT) 34.79%
- เอสซีบี เอกซ์ (SCB) 25.32%
- ธนาคารทหารไทยธนชาต (TTB) 5.31%
- ธนาคารกรุงไทย (KTB) 3.48%
- บางจาก คอร์ปอเรชั่น (BCP) 2.69%
เปิดโอกาสให้ใครจองซื้อบ้าง
– บุคคลทั่วไป: ผู้ลงทุนรายย่อยชาวไทยที่มีอายุ 20 ปีขึ้นไป และมีถิ่นที่อยู่ในประเทศไทย
– นิติบุคคล: นิติบุคคลที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย หรือกองทุนส่วนบุคคลของผู้ลงทุนรายย่อยข้างต้น
– สถาบันและนิติบุคคลเฉพาะกลุ่ม: เช่น ธนาคารพาณิชย์, บริษัทประกัน, กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ, กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ และกองทุนประกันสังคม
ระยะเวลาจองซื้อและประกาศผล
– ผู้ลงทุนรายย่อย: 16-20 กันยายน 2567
– ผู้ลงทุนสถาบันและนิติบุคคล: 18-20 กันยายน 2567
– มูลค่าการจองซื้อขั้นต่ำ: 1,000 หน่วย หรือ 10,000 บาท
– วิธีการจัดสรร: Small Lot First (จองซื้อด้วยจำนวนที่น้อยกว่าจะได้รับการจัดสรรก่อน)
– ประกาศผล: 25 กันยายน 2567
ช่องทางการจองซื้อกองทุนวายุภักษ์ หนึ่ง | Source: กระทรวงการคลัง
‘วายุภักษ์’ อีกหนึ่งความหวังตลาดหุ้นไทย
ตลาดหุ้นไทยในช่วงที่ผ่านมาเผชิญกับความผันผวนและความไม่แน่นอนอย่างมาก การเปิดตัวกองทุนวายุภักษ์จึงถูกจับตามองอย่างใกล้ชิดว่าจะเป็นตัวเปลี่ยนเกมที่ช่วยกระตุ้นตลาดหุ้นไทยให้กลับมาคึกคักอีกครั้งได้หรือไม่ ด้วยกลไกการทำงานที่เป็นเอกลักษณ์และโอกาสในการสร้างผลตอบแทนที่น่าสนใจ ทำให้กองทุนนี้กลายเป็นที่สนใจของนักลงทุนทั้งรายใหญ่และรายย่อย
นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยอื่น ๆ ที่สนับสนุนให้กองทุนวายุภักษ์มีความน่าสนใจ ซึ่งดึงดูดให้ทั้งนักลงทุนรายใหญ่และรายย่อยหันมาสนใจกองทุนวายุภักษ์มากขึ้น ทำให้คาดว่าจะช่วยเสริมความแข็งแรงให้ตลาดหุ้นไทยมีความผันผวนน้อยลงได้
- ดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำ
ในช่วงเวลาที่อัตราดอกเบี้ยเงินฝากอยู่ในระดับต่ำ นักลงทุนจำนวนมากมองหาช่องทางการลงทุนที่ให้ผลตอบแทนได้สูงกว่าเพื่อรักษาและเพิ่มมูลค่าของเงินทุน โดยปัจจุบันค่าเฉลี่ยเงินฝากประจำ 1 ปี จากทุกธนาคารอยู่ที่ประมาณ 1.70% ต่อปี เมื่อเทียบกับโอกาสสร้างผลตอบแทนขั้นต่ำที่ 3% ของกองทุนวายุภักษ์ก็นับว่าน่าสนใจไม่น้อย
- แนวโน้มดอกเบี้ยลดลง
ทั้งธนาคารกลางสหรัฐฯ และธนาคารแห่งประเทศไทย มีแนวโน้มที่จะปรับลดอัตราดอกเบี้ย ซึ่งอาจส่งผลให้ดอกเบี้ยเงินฝากลดลงไปอีก
- ผลตอบแทนคาดหวังที่น่าสนใจ
โอกาสสร้างผลตอบแทนขั้นต่ำ 3% ต่อปี ซึ่งสูงกว่าอัตราดอกเบี้ยเงินฝากทั่วไป พร้อมด้วยมาตรการคุ้มครองเงินลงทุน ทำให้กองทุนวายุภักษ์เป็นทางเลือกที่น่าสนใจสำหรับผู้ที่มองหาการลงทุนความเสี่ยงต่ำและมีความมั่นคง
- กระตุ้นสภาพคล่องในตลาด
การเปิดโอกาสให้ประชาชนทั่วไปเข้าถึงกองทุนวายุภักษ์ จะช่วยเพิ่มสภาพคล่องในตลาดหลักทรัพย์ฯ ทำให้ตลาดมีความแข็งแรงมากขึ้น และสร้างความเชื่อมั่นให้นักลงทุนต่างชาติกล้าเข้ามาลงทุนมากยิ่งขึ้น
ความเสี่ยงสำคัญที่จำเป็นต้องรู้
- NAV ของหน่วยลงทุนประเภท ก.
คำนวณจากอัตราผลตอบแทนที่คาดว่าจะได้รับซึ่งจะไม่ต่ำกว่าอัตราผลตอบแทนขั้นต่ำ และไม่สูงเกินกว่าอัตราผลตอบแทนขั้นสูง ดังนั้น NAV ของหน่วยลงทุนประเภท ก. อาจไม่สะท้อนมูลค่าทรัพย์สินของกองทุนรวม
- การรับประกันหรือค้ำประกันเงินลงทุน
กองทุนรวมไม่มีผู้รับประกันหรือค้ำประกันเงินลงทุน หากมูลค่าทรัพย์สินที่กองทุนรวมเข้าไปลงทุนลดลงอย่างมีนัยสำคัญ หรือดัชนีตลาดหลักทรัพย์ฯ หดตัวลงอย่างรุนแรง อาจส่งผลกระทบในเชิงลบต่อ NAV ของกองทุนรวม โดยผู้ถือหน่วยลงทุนอาจไม่ได้รับเงินลงทุนคืนบางส่วน หรือทั้งหมด
- การลงทุนในกองทุนรวมไม่ใช่การฝากเงิน
และไม่ใช่การลงทุนในพันธบัตรรัฐบาล กองทุนรวมไม่มีผู้รับประกันหรือค้ำประกันผลตอบแทน โดยในกรณีที่มีเหตุการณ์ใด ๆ ที่ส่งผลทำให้กำไรของกองทุนรวมและสำรองเงินปันผลของกองทุนรวมลดลงจนไม่เพียงพอที่จะจ่ายเงินปันผล ผู้ถือหน่วยลงทุนประเภท ก. อาจได้รับเงินปันผลจริงในอัตราที่ต่ำกว่า 3% ต่อปี หรืออาจไม่ได้รับผลตอบแทนจากการลงทุนเลย
- ความเสี่ยงจากการปิดกองทุนก่อนกำหนด
ในกรณีที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ ปรับตัวลงหรือมูลค่าทรัพย์สินของกองทุนลดลงอย่างรุนแรง บริษัทจัดการอาจตัดสินใจรับซื้อคืนหน่วยลงทุนอัตโนมัติ (Auto-Redemption) เพื่อปิดกองทุนก่อนกำหนด ตามราคาที่คำนวณ ณ สิ้นวันที่ทำการรับซื้อคืนดังกล่าว ซึ่งผู้ลงทุนอาจขาดทุนได้
- ความเสี่ยงจากความผันผวนของราคาตราสาร (Market Risk)
สภาวะตลาดของตลาดหุ้นอาจมีความผันผวนได้ตลอดเวลา โดยอาจขึ้นอยู่กับแนวโน้มของอัตราดอกเบี้ย ความผันผวนของค่าเงิน ปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจ ผลประกอบการของบริษัทผู้ออกตราสาร ปริมาณการซื้อขายหุ้นหรือตราสารหนี้ เป็นต้น ส่งผลให้ราคาหุ้นที่กองทุนรวมได้ลงทุนไว้อาจเพิ่มขึ้นหรือลดลงได้ตลอดเวลา
- ความเสี่ยงจากการเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ
หลังจากเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ ราคาหน่วยลงทุนอาจผันผวนตามแรงซื้อและแรงขายของนักลงทุน ทำให้ราคา NAV ในตลาดหลักทรัพย์ฯ อาจแตกต่างจากมูลค่า Par ที่ 10 บาท
- หน่วยลงทุนของกองทุนรวมจะอยู่ในรูปแบบไร้ใบหน่วยลงทุน (Scripless)
โดยผู้ถือหน่วยลงทุนสามารถร้องขอให้นายทะเบียนออกใบหน่วยลงทุนให้ได้โดยยื่นคำขอออกใบหน่วยลงทุนตามแบบที่นายทะเบียน และ/หรือบริษัทจัดการกำหนด กรณีฝากหน่วยลงทุนไว้กับนายทะเบียน TSD (บัญชี 600) ผู้ลงทุนจะไม่สามารถขายหน่วยลงทุนได้ทันวันแรกที่หน่วยลงทุนประเภท ก. เข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ ช่วงต้นเดือนตุลาคมนี้
- ระดับความเสี่ยงของหน่วยลงทุน : ระดับ 5 (เสี่ยงปานกลางค่อนข้างสูง)
กองทุนวายุภักษ์เหมาะกับใคร
- ผู้ที่ต้องการโอกาสได้รับผลตอบแทนที่ชัดเจน
กองทุนวายุภักษ์ ถูกออกแบบมาเพื่อให้มีโอกาสได้รับผลตอบแทนที่ค่อนข้างชัดเจน โดยมีการกำหนดโอกาสได้รับอัตราผลตอบแทนขั้นต่ำไว้ ซึ่งถือว่าสูงกว่าการฝากเงินในธนาคารทั่วไป แม้ว่าจะอาจจะไม่สูงเท่ากับการลงทุนในหุ้น แต่ก็แลกมาด้วยความเสี่ยงที่ต่ำกว่าอย่างเห็นได้ชัด เมื่อเทียบกับพันธบัตรรัฐบาลที่ให้ผลตอบแทนประมาณ 2.6% กองทุนวายุภักษ์ก็มีความน่าสนใจเพราะมีโอกาสได้รับผลตอบแทนสูงกว่า 3% โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่ตลาดหุ้นมีแนวโน้มเติบโตดี
- ผู้ที่ไม่ต้องการความเสี่ยงสูง
กองทุนวายุภักษ์ถูกออกแบบมาเพื่อบริหารความเสี่ยง โดยความผันผวนของ NAV จะถูกส่งผ่านไปยังหน่วยลงทุนประเภท ข. หมายความว่าผู้ถือหน่วยลงทุนประเภท ข. จะรับผลขาดทุนก่อนผู้ถือหน่วยลงทุนประเภท ก. ทำให้มีความเสี่ยงขาดทุนน้อยกว่าการลงทุนในกองทุนรวมแบบปกติ
- ผู้ที่ต้องการลงทุนระยะยาว
กองทุนวายุภักษ์เหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการลงทุนในระยะยาว เนื่องจากผลตอบแทนที่ได้รับจะสะสมขึ้นเรื่อยๆ ตามระยะเวลาที่ลงทุน และความเสี่ยงจากความผันผวนของตลาดในระยะสั้นจะค่อยๆ ลดลง หากคุณมีเป้าหมายทางการเงินในระยะยาว เช่น การเกษียณอายุ การศึกษาบุตรหลาน การลงทุนในกองทุนวายุภักษ์จึงเป็นทางเลือกที่น่าสนใจ
- ผู้ที่ต้องการสนับสนุนตลาดหุ้นไทย
การลงทุนในกองทุนวายุภักษ์เป็นการสนับสนุนตลาดหุ้นไทยโดยอ้อม เนื่องจากเงินที่ระดมได้จากการขายหน่วยลงทุนจะถูกนำไปลงทุนในหุ้นของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ทำให้มีเงินทุนหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจมากขึ้น ส่งผลให้ตลาดหุ้นไทยมีความแข็งแกร่งมากขึ้นในระยะยาว
ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติม และ Fund Factsheet
Filing: https://market.sec.or.th/public/mrap/MRAPView.aspx?FTYPE=M&PID=0681&PYR=2546
ที่มา: รัฐบาลไทย, มติชน,ธนาคารกสิกรไทย, Finnomena, The Standard,
คำเตือน: กองทุนนี้มีลักษณะเฉพาะและความเสี่ยงเฉพาะ ผู้ลงทุนควรทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไข ผลตอบแทน และความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุน กองทุนรวมมีนโยบายป้องกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนตามดุลยพินิจบริษัทจัดการ ผู้ลงทุนอาจจะขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนหรือได้รับเงินคืนต่ำกว่าเงินลงทุนเริ่มแรกได้ กองทุนรวมนี้ไม่ใช่กองทุนรวมมีประกันเงินลงทุนและผลตอบแทน
/กองทุนรวมไม่มีนโยบายนำเสนอการลงทุนผ่านการส่งลิงก์ส่วนตัวใด ๆ กรุณาติดตามช่องทางการจองซื้ออย่างเป็นทางการจากกองทุนรวมเท่านั้น | สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมหรือขอรับหนังสือชี้ชวนได้ที่บริษัทหลักทรัพย์นายหน้าซื้อขายหน่วยลงทุน ฟินโนมีนา จำกัด ในช่วงเวลาวันทำการตั้งแต่ 09:00-17:00 น. ที่หมายเลขโทรศัพท์ 02 026 5100 และทาง LINE “@FinnomenaPort”