Valuation ตลาดหุ้นสหรัฐ

กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญของเดือนตุลาคม นำโดยดัชนีการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อที่ Fed ให้ความสำคัญในการพิจารณาลดดอกเบี้ยในอนาคต

ตัวเลขส่วนใหญ่เป็นไปตามคาด

เศรษฐกิจสหรัฐ

รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญ | Source: Bloomberg as of 28/11/24

ดัชนี PCE ซึ่งรวมหมวดอาหารและพลังงาน เพิ่มขึ้น 2.3% ในเดือนตุลาคม เมื่อเทียบรายปี (YoY) จากระดับ 2.1% ในเดือนก่อนหน้า และเมื่อเทียบรายเดือน (MoM) ดัชนี PCE เพิ่มขึ้น 0.2% สอดคล้องกับตัวเลขที่นักวิเคราะห์คาด

ด้านดัชนี Core PCE (ไม่รวมหมวดอาหารและพลังงาน) ก็มีปรับตัวเพิ่มขึ้น 2.8% เมื่อเทียบรายปี และ 0.3% เมื่อเทียบรายเดือน ซึ่งตัวเลขเหล่านี้ยังอยู่ในกรอบที่ Fed พิจารณาว่าสอดคล้องกับเป้าหมายควบคุมเงินเฟ้อในระยะยาว

โดยดัชนี PCE นั้นครอบคลุมการเปลี่ยนแปลงในพฤติกรรมผู้บริโภค รวมถึงสะท้อนราคาสินค้าและบริการในวงกว้างมากกว่าดัชนีดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ทำให้ PCE เป็นหนึ่งในตัวชี้วัดหลักสำหรับ Fed ในการกำหนดนโยบายการเงิน

ค่าครองชีพกดดันการใช้จ่าย

ในเดือนตุลาคม การใช้จ่ายส่วนบุคคลเพิ่มขึ้น 0.4% ชะลอตัวเล็กน้อยจาก 0.6% ในเดือนกันยายน แต่ยังสะท้อนถึงศักยภาพของภาคผู้บริโภคในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ 

ด้านรายได้ส่วนบุคคลเติบโต 0.6% สูงกว่าที่คาดการณ์ไว้ที่ 0.3% หลังจากเพิ่มขึ้น 0.3% ในเดือนก่อนหน้า การเพิ่มขึ้นนี้ส่งผลดีต่อศักยภาพในการบริโภคและการออมของครัวเรือน แม้ว่าจะยังคงมีความท้าทายจากอัตราดอกเบี้ยที่สูง

สำหรับการใช้จ่ายในบริการ ซึ่งเป็นสัดส่วนหลักของการบริโภค เพิ่มขึ้น 0.2% จากเดือนก่อนหน้า โดยได้รับแรงหนุนจากค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ ขณะที่การใช้จ่ายในสินค้าปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อย

อย่างไรก็ตาม ค่าครองชีพที่สูงขึ้นได้ส่งผลกระทบต่อภาคครัวเรือน โดยชาวอเมริกันหลายคนวางแผนลดงบประมาณสำหรับการซื้อของขวัญในช่วงเทศกาลนี้ แม้ว่าตลาดแรงงานจะยังคงแข็งแกร่ง

นักเศรษฐศาสตร์กำลังจับตาดูยอดขายในวัน Black Friday อย่างใกล้ชิด เพื่อวิเคราะห์พฤติกรรมผู้บริโภค โดยบรรดาร้านค้าปลีกใหญ่ เช่น Target Corp., Best Buy Co., และ Walmart Inc. ได้ขยายเวลาโปรโมชั่นเพื่อดึงดูดลูกค้าด้วยสินค้าราคาพิเศษ

ขณะเดียวกันการพึ่งพาบัตรเครดิตและสินเชื่ออื่น ๆ ก็เพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มคนรุ่นใหม่และผู้มีรายได้น้อย ซึ่งเริ่มแสดงสัญญาณความตึงเครียดทางการเงิน เช่น อัตราการค้างชำระที่สูงขึ้น

ตลาดที่อยู่อาศัยฟื้นตัว

ดัชนีการทำสัญญาขายบ้าน

ดัชนีการทำสัญญาขายบ้าน | Source: Bloomberg, National Association of Realtors 

as of 28/11/24

ด้านสมาคมนายหน้าอสังหาริมทรัพย์แห่งชาติ (NAR) เปิดเผยว่าดัชนีการทำสัญญาขายบ้านที่รอปิดการขาย (Pending Home Sales) ในเดือนตุลาคมเพิ่มขึ้น 2% สู่ระดับ 77.4 ซึ่งสูงสุดในรอบ 7 เดือน

การปรับตัวขึ้นของดัชนีนี้สวนทางกับการคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่คาดว่าจะลดลง 2% ซึ่งมีสาเหตุหลักมาจากอัตราดอกเบี้ยเงินกู้จำนองที่ปรับลดลง โดยอัตราดอกเบี้ยเฉลี่ยสำหรับเงินกู้แบบคงที่ 30 ปี ลดลงเหลือ 6.86% จาก 6.90% ในสัปดาห์ก่อนหน้า

ทั้งนี้สมาคมนายธนาคารเพื่อการจำนอง (MBA) รายงานว่าการยื่นขอสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยเพิ่มขึ้น 6.3% ในสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยแบ่งเป็นการยื่นขอสินเชื่อเพื่อซื้อบ้านที่เพิ่มขึ้น 12% และสินเชื่อเพื่อรีไฟแนนซ์ที่ลดลง 3%

แม้การรีไฟแนนซ์จะลดลงในสัปดาห์ล่าสุด แต่เมื่อเทียบรายปี ตัวเลขดังกล่าวเพิ่มขึ้นถึง 119% สะท้อนถึงความต้องการปรับปรุงเงื่อนไขการกู้ยืมของผู้บริโภค ขณะที่จำนวนผู้ขอสินเชื่อเพื่อซื้อบ้านเพิ่มขึ้นถึง 52% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

มอง Valuation ตลาดหุ้นสหรัฐฯ 

Valuation ตลาดหุ้นสหรัฐ

Valuation ของดัชนี S&P 500 | Source: Finnomena Funds as of 28/11/24

ในแง่ของ Valuation ดัชนี S&P 500 ยังคงทำ All-Time High อย่างต่อเนื่อง แต่สิ่งที่ต้องระมัดระวังก็คือ Forward P/E ซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ 22.4 เท่า ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับค่าเฉลี่ยในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา พบว่าอยู่เหนือระดับปกติถึง +2 Standard Deviation (SD)

หากย้อนกลับไปพิจารณาช่วงปี 2020-2021 จะเห็นว่ามีบริบทที่คล้ายคลึงกัน โดยขณะนั้นตลาดเริ่มฟื้นตัวจากวิกฤตโควิด-19 และมีการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภคอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะการหันมาใช้แพลตฟอร์มและบริการออนไลน์มากขึ้น ส่งผลให้ราคาหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีปรับตัวสูงขึ้นอย่างก้าวกระโดด ก่อนที่ผลประกอบการจะเติบโตตามมา

ประเด็นที่น่าสนใจคือ ในปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภคซึ่งจะเป็นปัจจัยหนุนการเติบโตของผลประกอบการบริษัทในตลาดหุ้นสหรัฐฯ หรือไม่ หลังจากที่ราคาดัชนี S&P 500 สะท้อนความคาดหวังที่สูงจากการทำ All-Time High อย่างต่อเนื่อง


อ้างอิง: Bloomberg, Bloomberg, Morning Brief by Finnomena

TSF2024